backup og meta

สีอุจจาระทารก ที่แตกต่างกันสะท้อนสุขภาพลูกน้อยอย่างไรบ้าง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ออมสิน แสนล้อม · แก้ไขล่าสุด 18/11/2021

    สีอุจจาระทารก ที่แตกต่างกันสะท้อนสุขภาพลูกน้อยอย่างไรบ้าง

    สีอุจจาระทารก นั้นมีความสำคัญมากกว่าที่คุณพ่อ และคุณแม่คิด เพราะสีและลักษณะเนื้ออุจจาระอาจช่วยบ่งบอกถึงสุขภาพของลูกน้อยในขณะนั้นได้ การสังเกตสีและลักษณะของอุจจาระทารกจึงถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่คนในครอบครัวไม่ควรละเลย หากเกิดความผิดปกติกับลูกน้อย จะได้รักษาทันท่วงที  

    สีอุจจาระทารก บ่งบอกโรคอะไรได้บ้าง

    สีที่แตกต่างกันของอุจจาระทารกนั้นสะท้อนสุขภาพของทารกแตกต่างกันไปด้วย โดยสีอุจจาทารกนั้น อาจมีสีต่างๆ ได้ดังนี้

    • สีดำอมเขียว

    หากลูกน้อยอยู่ในช่วงอายุ 2-4 วัน โดยส่วนใหญ่แล้วอุจจาระมักมีสีดำอมเขียว มีลักษณะข้นๆ เหนียวๆ คล้ายน้ำมันรถ เป็นผลมาจากการย่อยสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น นม อาหาร น้ำคร่ำ น้ำมูก เซลล์ผิวหนัง ในช่วงที่ทารกยังอยู่ในครรภ์ตลอดระยะเวลา 9 เดือน สิ่งเหล่านี้จะถูกคัดกรองออกมาในรูปแบบของอุจจาระจึงทำให้เกิดเป็นสีดำอมเขียวขึ้น ถึงแม้อุจจาระสีนี้จะดูน่าเกลียดน่ากลัว แต่มักไม่มีกลิ่นเหม็น  หลังจากถ่ายอุจจาระออกมาเป็นสีนี้สองสามครั้ง อุจจาระของลูกน้อยก็จะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีอ่อนขึ้น โดยเริ่มจากสีเขียวเข้มเรื่อยไปจนถึงสีเหลืองมัสตาร์ด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าทารกเริ่มย่อยนมแม่และนมผงได้แล้ว ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี

    • สีเหลืองมัสตาร์ด

    ลูกน้อยจะเปลี่ยนจากการถ่ายอุจจาระสีดำอมเขียวมาเป็นสีเหลืองมัสตาร์ด หรือสีส้ม หากให้ลูกน้อยกินนมแม่เพียงอย่างเดียว ซึ่งอุจจาระสีเหลืองนี้ถือเป็นเรื่องปกติ นอกจากนี้ อุจจาระยังมีลักษณะเหลวๆ เช่นเดียวกับมัสตาร์ดจริงๆ และยังไม่ส่งกลิ่นเหม็น 

    • สีเหลืองเข้ม

    ถ้าลูกน้อยกินนมผงมากกว่านมแม่ อุจจาระมักเป็นสีเหลืองเข้ม นอกจากนี้ ยังมีเนื้ออุจจาระที่ค่อนข้างหนากว่า และอาจส่งกลิ่นเหม็นเล็กน้อย  แต่ก็ยังถือว่าเป็นอุจจาระที่อยู่ในระดับปกติ เนื่องจากกระเพาะของลูกน้อยนั้นสามารถย่อยนมแม่ และนมผงได้แตกต่างกัน

    • สีเขียวสด

    อุจจาระสีนี้มักจะพบได้กับเด็กทารกที่กินนมแม่ สาเหตุที่พบได้โดยทั่วไปก็เกิดจากการที่ทารกได้รับนมส่วนหน้า (ที่มีไขมันต่ำ) เกินปริมาณที่เหมาะสม ในขณะที่ได้รับนมส่วนหลัง (ที่มีแคลอรี่มากกว่า) ซึ่งน้ำนมที่ลูกน้อยดูดกินในช่วงแรกๆ นั้นมักเป็นน้ำตาลแลคโตส ซึ่งถ้าได้รับเข้าไปภายในร่างกายของลูกน้อยปริมาณมากก็อาจทำให้อุจจาระเป็นสีเขียวได้ ส่วนถ้าลูกน้อยกินนมผงแล้วมีอุจจาระสีนี้ ก็อาจบ่งบอกว่านมยี่ห้อนั้นไม่เข้ากับร่างกายของลูกน้อย คุณแม่อาจต้องเพียงจำกัดปริมาณ และเลือกนมที่ถูกกับสุขภาพลูกน้อย พร้อมตรวจสอบดูว่าอุจจาระยังเป็นสีเขียวสดอยู่หรือไม่ 

    • สีเขียวเข้ม

    อุจจาระที่มีสีเขียวเข้มอาจมีสาเหตุมาจากการที่ลูกน้อยกินอาหารเสริมธาตุเหล็ก ซึ่งก่อนที่จะให้ลูกน้อยกินอาหารเสริมชนิดนี้ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางถึงความจำเป็นเสียก่อน ไม่เช่นนั้นอาจทำให้ลูกน้อยมีปัญหาสุขภาพตามมาได้

    • สีน้ำตาล  

    อุจจาระทารกสีน้ำตาล เป็นสีที่คุณแม่ส่วนใหญ่คาดคิดไว้ว่าลูกน้อยหลังคลอดออกมาจะถ่ายเป็นสีน้ำตาล แต่อุจจาระสีน้ำตาลนี้จะเกิดขึ้นเมื่อทารกเริ่มกินอาหารแข็งได้มากขึ้นแล้ว อย่างไรก็ตามสีและกลิ่นอุจจาระของลูกน้อยอาจผันแปรไปตามอาหารที่ลูกน้อยกินเข้าไป อย่างเช่น การกินแครอทบดเละๆ อาจทำให้อุจจาระกลายเป็นสีส้ม หรือการกินบีทรูทก็อาจทำให้สีอุจจาระทารกกลายเป็นสีแดงอมชมพูได้เช่นเดียวกัน

    สีอุจจาระทารกที่คุณแม่ควรสังเกตเป็นพิเศษ

    สีอุจจาระทารกอาจบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพบางอย่างได้ ซึ่งถ้าลูกน้อยถ่ายอุจจาระเป็นสีต่อไปนี้ ควรรีบปรึกษาคุณหมอทันที

    • สีขาว ถ้าลูกอุจจาระเป็นสีขาวหรือสีซีด อาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าลูกน้อยมีการย่อยอาหารที่ผิดปกติ นอกจากนี้ ยังอาจบ่งบอกว่าระบบการทำงานของตับผลิตน้ำดีได้ไม่เพียงพอด้วย
    • สีแดง อุจจาระสีแดงอาจบ่งบอกถึงอาการแพ้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม หากลูกกินนมแม่ก็ควรหยุดป้อนนม แล้วสังเกตดูว่ามีอาการดีขึ้นหรือไม่ หรือแย่ลง แต่ก่อนจะให้ลูกงดอาหารหลักใดๆ ก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเสียก่อน นอกจากนี้ ถ้ามีริ้วสีแดงปะปนอยู่กับอุจจาระแห้งๆ ด้วย ก็อาจบ่งบอกถึงอาการท้องผูก ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ด้วยเช่นกัน
    • สีดำ ถึงแม้อุจจาระสีดำจะถือเป็นเรื่องปกติในช่วงสองสามวันแรก แต่ถ้าเลยจากนั้นแล้วยังเป็นสีดำ ก็อาจบ่งบอกว่าลูกน้อยมีอาการเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งจำเป็นต้องรีบพาไปพบคุณหมอเป็นการด่วน นอกจากนี้ ก็อาจเกิดจากการที่ลูกน้อยย่อยเลือดของแม่ตอนป้อนนมได้เหมือนกัน (ถ้าหัวนมเป็นแผลมีเลือดออก) ซึ่งไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อลูกน้อย แต่จะส่งผลต่อผู้เป็นแม่มากกว่า เนื่องจากจะป้อนนมลูกได้ไม่สะดวกสบายมากนัก

     

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ออมสิน แสนล้อม · แก้ไขล่าสุด 18/11/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา