backup og meta

โรคพฤติกรรมอันธพาล สัญญาณของโรค สาเหตุ วิธีรักษาและรับมือ

โรคพฤติกรรมอันธพาล สัญญาณของโรค สาเหตุ วิธีรักษาและรับมือ

โรคพฤติกรรมอันธพาล เป็นกลุ่มโรคทางพฤติกรรมและอารมณ์ที่พบในเด็กและวัยรุ่น ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีปัญหาในการปฏิบัติตามกฎระเบียบ ชอบละเมิดสิทธิของผู้อื่น ไม่รู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และมักจะแสดงพฤติกรรมที่สังคมไม่ยอมรับ

โรคพฤติกรรมอันธพาล คืออะไร

โรคพฤติกรรมอันธพาล (Conduct Disorder) บางครั้งเรียกว่า โรคคอนดักต์ โรคพฤติกรรมเกเร โรคเด็กเกเร โรคความประพฤติผิดปกติ เป็นต้น โรคนี้เป็นกลุ่มโรคทางพฤติกรรมและอารมณ์ที่พบในเด็กและวัยรุ่น ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีปัญหาในการปฏิบัติตามกฎระเบียบ ชอบละเมิดสิทธิของผู้อื่น ไม่รู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และมักจะแสดงพฤติกรรมที่สังคมไม่ยอมรับ ซึ่งเด็กคนอื่น หรือผู้ใหญ่เห็นแล้วก็อาจจะบอกว่า การแสดงออกของเด็กหรือวัยรุ่นที่เป็นโรคพฤติกรรมอันธพาลนั้นเป็นสิ่งผิด หรือสิ่งไม่ดี โดยที่ไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วนี่คือโรคจิตเภทชนิดหนึ่ง

สัญญาณของโรคพฤติกรรมอันธพาล

พฤติกรรมของโรคพฤติกรรมอันธพาลนั้นมีหลากหลาย ทั้งนี้ อาจขึ้นอยู่กับอายุของเด็กและระดับความรุนแรงของโรค แต่โดยปกติแล้ว พฤติกรรมที่เป็นสัญญาณของโรคนี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 พฤติกรรมใหญ่ ๆ ได้แก่

พฤติกรรมก้าวร้าว (Aggressive Behavior)

เช่น

  • ล้อเลียน หรือรังแกผู้อื่น
  • จงใจทำให้ผู้อื่น หรือสัตว์ต่าง ๆ ได้รับบาดเจ็บ หรือได้รับอันตราย
  • ชอบต่อสู้ ชกต่อยกับผู้อื่น
  • ใช้อาวุธ
  • บังคับใจ ข่มขืน หรือล่วงเกินทางเพศผู้อื่นโดยที่อีกฝ่ายไม่ยินยอม
  • ขโมยของจากคนที่ตัวเองทำร้าย

พฤติกรรมเชิงทำลาย (Destructive Behavior)

เช่น

  • เจตนาก่อเพลิงไหม้ เพื่อให้สถานที่นั้น หรือสิ่งของนั้นเสียหาย
  • เจตนาทำลายทรัพย์สิน หรือที่อยู่อาศัยของผู้อื่น

พฤติกรรมหลอกลวง (Deceitful Behavior)

เช่น

  • โกหก
  • แอบเข้าบ้าน รถยนต์ หรืออาคารของผู้อื่น
  • ชอบลักขโมย
  • ปลอมแปลงลายมือ หรือปลอมแปลงเอกสาร

การละเมิดกฎระเบียบอย่างรุนแรง

คือ ไม่ทำตามกฎเกณฑ์ หรือกฎระเบียบของสังคม แสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมกับวัย เช่น

  • โดดเรียน
  • หนีออกจากบ้าน
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือใช้ยาเสพติด
  • แสดงพฤติกรรมทางเพศตั้งแต่อายุยังน้อยมาก

นอกจากสัญญาณที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว เด็กหรือวัยรุ่นที่เป็นโรคพฤติกรรมอันธพาลยังมักเป็นคนขี้โมโห มีความพอใจในตัวเองต่ำ หรือไม่ค่อยเห็นคุณค่าในตัวเอง (Low Self-Esteem) ชอบอาละวาดเวลาโกรธ หรือไม่พอใจ เช่น ร้องไห้ งอแง ลงไปชักดิ้นชักงอกับพื้น กรีดร้อง ทำร้ายผู้อื่น ทำร้ายตัวเอง และเวลาทำร้ายผู้อื่น ก็ไม่ค่อยจะรู้สึกผิด ไม่สำนึกผิด และไม่เห็นใจผู้ที่ถูกตัวเองทำร้ายด้วย

สาเหตุของโรคพฤติกรรมอันธพาล

ในปัจจุบัน ผู้เชี่ยวชาญยังไม่ทราบว่าโรคพฤติกรรมอันธพาลนี้มีสาเหตุมาจากอะไรกันแน่ แต่เชื่อว่าโรคนี้อาจเกิดจากปัจจัยดังต่อไปนี้

ปัจจัยทางพันธุกรรม

สมองกลีบหน้า (Frontal Lobe) ที่ถูกทำลายนั้นเกี่ยวข้องกับโรคพฤติกรรมอันธพาล เนื่องจากสมองส่วนนี้มีหน้าที่ควบคุมทักษะการรู้คิด (Cognitive Skills) ที่สำคัญ เช่น การแก้ปัญหา ความจำ การแสดงอารมณ์และความรู้สึก อีกทั้งยังเกี่ยวข้องกับบุคลิกภาพของแต่ละคนด้วย ผู้เชี่ยวชาญเผยว่า ผู้ที่เป็นโรคพฤติกรรมอันธพาลอาจเป็นเพราะสมองกลีบหน้าทำงานผิดปกติ จึงส่งผลให้เกิดพฤติกรรม เช่น

  • ควบคุมความต้องการของตนเอง หรือความหุนหันพลันแล่น (Impulse Control) ไม่ได้ หรือที่เรียกว่า ยั้งใจไม่ได้
  • ไม่สามารถวางแผนเกี่ยวกับการกระทำของตัวเองได้
  • เรียนรู้จากประสบการณ์ร้ายแรง หรือประสบการณ์ในแง่ลบที่เคยประสบได้น้อยเกินไป

ความพิการของสมองกลีบหน้าอาจเกิดจากพันธุกรรม หรือเสียหายเนื่องจากอาการบาดเจ็บ นอกจากนี้ เด็กที่เป็นโรคพฤติกรรมอันธพาลมักจะมีลักษณะบุคลิกภาพที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมด้วย

ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม

ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ ก็อาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคพฤติกรรมอันธพาลได้

  • การทารุณกรรมเด็ก
  • ครอบครัวที่ไม่สามารถทำหน้าที่พื้นฐานที่ครอบครัวหนึ่ง ๆ พึงกระทำได้ (Dysfunctional Family) หรือที่เรียกว่า ครอบครัวมีปัญหา
  • พ่อแม่ หรือผู้ปกครองดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือใช้ยาเสพติด
  • ความยากจน

เด็กกลุ่มไหนบ้างที่เสี่ยงเป็นโรคนี้

เด็กหรือวัยรุ่นที่มีภาวะดังต่อไปนี้ อาจเสี่ยงเกิดโรคพฤติกรรมอันธพาลมากขึ้น

  • เป็นผู้ชาย เนื่องจากผู้ชายมีการแสดงออกอย่างก้าวร้าวได้ง่ายกว่าผู้หญิง
  • อาศัยอยู่ในเมือง
  • ยากจน
  • คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคพฤติกรรมอันธพาล
  • คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคทางจิตเวช
  • พ่อแม่ หรือผู้ปกครองใช้ยาเสพติด หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ครอบครัวมีปัญหา
  • เคยประสบเหตุการณ์ที่สะเทือนจิตใจ
  • เคยถูกทารุณ หรือถูกละเลย ไม่ได้รับการเอาใจใส่

วิธีรักษาและรับมือกับโรคพฤติกรรมอันธพาล

การรักษาและรับมือกับโรคพฤติกรรมอันธพาลขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อายุของผู้ป่วย ระดับความรุนแรงของอาการ ซึ่งวิธีรักษาที่นิยมใช้ ได้แก่

  • การใช้ยา เพื่อรักษาอาการบางอย่าง หรืออาการทางจิตอื่น ๆ ถ้ามี
  • ครอบครัวบำบัด โดยให้สมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัว เช่น พ่อแม่ พี่น้อง ปู่ย่าตายาย ได้เข้าร่วมการบำบัดพร้อมผู้ป่วย เพราะหากความสัมพันธ์ในครอบครัวดีขึ้น ก็อาจทำให้อาการของโรคดีขึ้นได้
  • จิตบำบัด วิธีนี้อาจช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ที่ช่วยให้เขารับมือกับอาการของโรคได้ดีขึ้น เช่น การจัดการกับความโกรธ การควบคุมความต้องการของตัวเอง หรือการรู้จักยับยั้งชั่งใจ
  • การอบรมพ่อแม่ หรือผู้ปกครอง เช่น การสอนเคล็ดลับในการจัดการกับพฤติกรรมของเด็ก การเพิ่มความปลอดภัยในบ้าน เวลาที่เด็กแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว หรือพฤติกรรมรุนแรง
  • การย้ายที่อยู่อาศัย หากใช้วิธีการอื่น ๆ แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น หรือคุณหมอพบว่า โรคที่เกิดขึ้นอาจเกิดจากปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม การย้ายที่อยู่อาศัยอาจเป็นวิธีรับมือกับโรคที่เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม การเข้าพบจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเด็กหรือจิตวิทยาครอบครัว เพื่อทำการวินิจฉัยและบำบัดอาการอย่างถูกต้องเหมาะสมก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลยเช่นกัน

[embed-health-tool-vaccination-tool]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Conduct Disorder. https://www.aacap.org/AACAP/Families_and_Youth/Facts_for_Families/FFF-Guide/Conduct-Disorder-033.aspx#:~:text=”Conduct%20disorder”%20refers%20to%20a,in%20a%20socially%20acceptable%20way. Accessed September 23, 2020

Mental Health and Conduct Disorder. https://www.webmd.com/mental-health/mental-health-conduct-disorder#1. Accessed September 23, 2020

Conduct Disorder. https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/conduct-disorder. Accessed October 28, 2021

Quick Guide to Conduct Disorder. https://childmind.org/guide/quick-guide-to-conduct-disorder/. Accessed October 28, 2021

Conduct Disorder. https://mhanational.org/conditions/conduct-disorder. Accessed October 28, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

16/11/2022

เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

เลี้ยงลูกยุคดิจิทัล กับ 4 รูปแบบการเลี้ยงดูลูกที่คุณพ่อคุณแม่ต้องใส่ใจ

โรคไบโพลาร์ในวัยรุ่น สัญญาเตือนและการรับมือที่ถูกต้อง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 16/11/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา