โรคแอสเพอร์เกอร์ หรือ Asperger syndrome คือ กลุ่มอาการที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติด้านพัฒนาการและการทำงานของสมองและระบบประสาท จัดเป็นโรคในกลุ่มอาการออทิสติกสเปกตรัมเช่นเดียวกับโรคออทิสติก โรคนี้ส่งผลต่อพัฒนาการด้านสังคม ภาษาและการสื่อสาร และพฤติกรรม ผู้ป่วยมักแสดงอาการน้อยและไม่รุนแรงมาก และมักมีระดับสติปัญญาสูงกว่าค่าเฉลี่ย ผู้ที่เป็นโรคแอสเพอร์เกอร์จะมีทักษะทางภาษาที่ดีกว่าผู้ที่เป็นโรคอื่นในกลุ่มอาการออทิสติกสเปกตรัม แต่มีข้อบกพร่องด้านทักษะทางสังคม อารมณ์ ความรู้สึก โรคนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เป้าหมายของการรักษาจะอยู่ที่การกระตุ้นและฟื้นฟูพัฒนาการของเด็กให้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด เพื่อให้เด็กสามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้
[embed-health-tool-vaccination-tool]
Asperger syndrome คือ อะไร
โรคแอสเพอร์เกอร์ หรือ Asperger syndrome คือ กลุ่มอาการที่เกิดจากความผิดปกติของพัฒนาการทางสมองและระบบประสาทที่ส่งผลต่อพัฒนาการของเด็ก ทั้งด้านพฤติกรรมการแสดงออก การมองและเข้าใจโลก การใช้ภาษา และการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ภาวะนี้จัดอยู่ในกลุ่มอาการออทิสติกสเปกตรัม (Autism Spectrum Disorder) แต่จะมีอาการรุนแรงน้อยกว่าโรคอื่น ๆ ในกลุ่มอาการเดียวกัน ผู้ที่มีอาการของแอสเพอร์เกอร์จัดเป็นกลุ่มออทิสติกที่มีศักยภาพสูง (High functioning autism) หรือที่เรียกว่าเด็กอัจฉริยะ ส่วนใหญ่มักมีระดับสติปัญญาเป็นปกติหรือสูงกว่าคนทั่วไป มีทักษะการใช้ภาษาและการพูดอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่อาจไม่เข้าใจเนื้อหาที่ซับซ้อน ลึกซึ้ง การเปรียบเทียบ หรือความหมายโดยนัย อาจมีความสนใจในด้านใดด้านหนึ่งเป็นพิเศษ มีพฤติกรรมซ้ำ ๆ เป็นแบบแผนไม่ยืดหยุ่น จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และมักจะอยู่อย่างโดดเดี่ยวเนื่องจากมีทักษะทางสังคมต่ำ และมีความสนใจแคบ จำกัด หรือเป็นเรื่องที่คนอื่นไม่ค่อยสนใจ บางครั้งเด็กอาจเข้าหาคนอื่น แต่ไม่สามารถสนทนากับคนอื่นได้อย่างราบรื่นเนื่องจากมีพฤติกรรมที่ดูผิดแปลกไปจากปกติ
สาเหตุของ Asperger syndrome คือ อะไร
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ใจของ Asperger syndrome แต่พบว่าอาจเกิดจากปัจจัยต่อไปนี้
- เด็กมีโครโมโซมผิดปกติ
- คุณแม่ใช้ยารักษาโรคบางชนิดในขณะตั้งครรภ์ เช่น วาลโปรเอท (Valproate) หรือกรดวาโปอิก (Valproic acid) ที่ใช้รักษาโรคลมชัก ทาลิโดไมด์ (Thalidomide) ที่ใช้รักษาอาการวิตกกังวล
- คุณแม่ตั้งครรภ์ตอนอายุมากกว่า 35 ปี
อาการของ Asperger syndrome
เด็กบางคนอาจแสดงออกถึงภาวะ Asperger syndrome ตั้งแต่อายุยังน้อย โดยอาการและสัญญาณที่พบอาจมีดังนี้
- หมกมุ่นอยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพียงอย่างเดียว
- ต้องการทำกิจวัตรประจำวันตามแบบแผน ตอบสนองได้ไม่ดีนักเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง
- ไม่รับรู้ความรู้สึกของคนอื่น
- พูดคุยในลักษณะที่ผิดไปจากปกติ เช่น ใช้ภาษาทางการในการสื่อสารทั่วไป พูดเสียงดังเกินไป พูดด้วยน้ำเสียงราบเรียบไม่แสดงอารมณ์
- ไม่สบตาคนที่คุยด้วย
- ไม่เข้าใจความคิดเชิงนามธรรม (Abstract thinking) คำพูดที่ซับซ้อน คำพูดเชิงเปรียบเทียบ หรือข้อความที่มีความหมายโดยนัย
- มีทักษะทางสังคมต่ำ
- ขาดการรับรู้เรื่องการแสดงออกในเชิงบริบททางสังคม (Social cues) เช่น เมื่อเพื่อนบอกว่าจะไปเดินเล่นกัน เด็กจะเข้าใจว่าเพื่อนไปเดินเล่น แต่ไม่เข้าใจความหมายของภาษาที่เพื่อนต้องการชวนตัวเองไปด้วย
- ไม่เล่นแสดงบทบาทสมมติ (Pretend play)
- ไม่ชอบให้ใครมาสัมผัสตัวหรืออุ้ม
- มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อประสาทสัมผัสอย่างเสียง กลิ่น หรือรส ที่มากหรือน้อยกว่าคนทั่วไป เช่น แสดงท่าทางหวาดกลัวหรือมีอารมณ์แปรปรวนเมื่อเกิดฟ้าแลบ ฟ้าร้อง หรืออาจให้ความสนใจกับความเคลื่อนไหวบางอย่างมากกว่าปกติ เช่น ชอบนั่งดูน้ำพุหรือน้ำไหล
โรคแอสเพอร์เกอร์ ต่างจากโรคออทิสติก อย่างไร
โรคแอสเพอร์เกอร์และโรคออทิสติกจัดเป็นโรคในกลุ่มอาการออทิสติกสเปกตรัม หรือกลุ่มความบกพร่องของพัฒนาการแบบรอบด้าน (Pervasive Developmental Disorder) เหมือนกัน แต่ต่างกันตรงที่ผู้ที่เป็นโรคแอสเพอร์เกอร์จะมีพัฒนาการด้านการพูดปกติ มักใช้ภาษาหรือพูดคุยได้ในระดับทั่วไป แต่จะไม่เข้าใจความหมายลึก ๆ หรือความซับซ้อนของภาษา เช่น ไม่สามารถทำความเข้าใจมุกตลกได้เหมือนกับคนทั่วไป จึงอาจทำให้เข้ากับคนรอบข้างได้ยากกว่าปกติ แต่ผู้ที่เป็นโรคออทิสติกจะมีปัญหาด้านพัฒนาการหลายด้านกว่า รุนแรงกว่า และมักมีพัฒนาการด้านภาษาและการสื่อสารที่ล่าช้าผิดปกติ
เนื่องจากโรคในกลุ่มออทิสติกมีอาการแสดงที่หลากหลาย และมีความรุนแรงของโรคแตกต่างกันไป ลักษณะเป็นเฉดหลายสีคล้ายกับรุ้ง จึงมีชื่อเรียกรวมว่า กลุ่มอาการออทิสติกสเปกตรัม และสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (American Psychiatric Association หรือ APA) จัดให้โรคแอสเพอร์เกอร์ (Asperger syndrome) อยู่ในกลุ่มอาการออทิสติกสเปกตรัม เมื่อพ.ศ. 2556 โดยกลุ่มอาการออทิสติกสเปกตรัมเป็นชื่อกลุ่มอาการที่รวบรวมออทิสติกหลายประเภทเข้าด้วยกัน ปัจจุบันมีด้วยกัน 5 โรค ได้แก่
- โรคออทิสติก (Autistic Disorder)
- โรคแอสเพอร์เกอร์ (Asperger syndrome)
- กลุ่มอาการเร็ทท์ (Rett’s Disorder)
- โรคซีดีดี (Childhood Disintegrative Disorder)
- โรคพีดีดี เอ็นโอเอส (Pervasive Developmental Disorder, Not Otherwise Specified)
วิธีรักษา Asperger syndrome
การรักษา Asperger syndrome จะแตกต่างไปตามลักษณะอาการของเด็กแต่ละคน โดยทั่วไปจะมุ่งเน้นไปที่การรักษาอาการหลักของโรค ได้แก่ ความบกพร่องด้านทักษะการสื่อสาร พฤติกรรมที่หมกมุ่นและซ้ำซาก และความบกพร่องด้านทักษะการเคลื่อนไหว ยิ่งวินิจฉัยพบตั้งแต่เนิ่น ๆ และเริ่มวางแผนการรักษาได้เร็วเท่าไหร่ก็จะยิ่งทำให้รักษาได้ผลดีมากขึ้นเท่านั้น โดยคุณหมอและทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอาจรักษาด้วยวิธีต่อไปนี้
- การฝึกทักษะทางสังคม (Social skills training) ผู้บำบัดอาจช่วยให้เด็กเรียนรู้วิธีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นและการแสดงออกในลักษณะที่เหมาะสม และอาจช่วยให้เด็กเรียนรู้ทักษะทางสังคมด้วยเทคนิคการใช้ตัวแบบ (Modeling) คือให้เด็กฝึกสังเกตหรือเลียนแบบจากตัวแบบหรือตัวอย่างที่อยู่ใกล้ชิดที่จะแสดงให้เด็กเห็นว่าสิ่งไหนควรทำ สิ่งไหนไม่ควรทำ และควรจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างไร
- การแก้ไขการพูด (Speech-language therapy) เป็นการรักษาที่ช่วยปรับปรุงลักษณะการพูดของเด็กให้เป็นธรรมชาติมากขึ้น เช่น สอนให้เด็กพูดด้วยเสียงสูงต่ำตามอารมณ์เหมือนทั่วไปแทนการพูดด้วยน้ำเสียงราบเรียบทั้งประโยค และอาจฝึกการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นในขณะสนทนาและการทำความเข้าใจบริบททางสังคม เช่น ท่าทางประกอบการพูด การสบตากับคู่สนทนา
- การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (Cognitive behavioral therapy หรือ CBT) เป็นการรักษาที่มุ่งเน้นให้เด็กปรับเปลี่ยนวิธีคิด เพื่อช่วยให้เด็กสามารถควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมซ้ำซากได้ดีขึ้น และอาจช่วยให้รับมือกับอารมณ์ที่ผิดปกติของตัวเองได้เมื่อระเบิดอารมณ์ ร้องไห้คร่ำครวญ หมกมุ่นกับอะไรมากเกินไป เป็นต้น
- การฝึกอบรมผู้ปกครอง (Parent education and training) ผู้บำบัดอาจสอนทักษะหรือเทคนิคที่ผู้ปกครองสามารถนำไปใช้ดูแลเด็กได้ที่บ้าน เพื่อช่วยสนับสนุนให้เด็กสามารถเรียนรู้และพัฒนาทักษะทางสังคมได้อย่างต่อเนื่อง และอาจให้คำแนะนำเกี่ยวกับการรับมือเมื่อต้องใช้ชีวิตร่วมกับผู้ที่เป็น Asperger syndrome
- การวิเคราะห์พฤติกรรมแบบประยุกต์ (Applied behavior analysis) เป็นการประยุกต์ใช้ทฤษฎีด้านพฤติกรรมเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ที่เป็น Asperger syndrome วิธีนี้จะช่วยส่งเสริมทักษะทางสังคมและการสื่อสารของเด็ก และสอนให้เด็กหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์และมีพฤติกรรมที่เหมาะสมขึ้น โดยอาจมีการพูดชมและให้รางวัลตอบแทนทันทีที่เด็กสามารถตอบสนองต่อการรักษาได้ดี เพื่อจูงใจให้เด็กทำพฤติกรรมที่เหมาะสมซ้ำ ๆ
- การใช้ยารักษา ในขณะนี้ยังไม่มียารักษา Asperger syndrome และโรคในกลุ่มอาการออทิสติกสเปกตรัมโดยเฉพาะ แต่ยาบางชนิด เช่น ยาต้านเศร้าเอสเอสอาร์ไอ (SSRIs) ยาต้านอาการทางจิต (Antipsychotic drugs) ยากระตุ้น (Stimulant drugs) อาจช่วยบรรเทาอาการร่วมที่เกิดขึ้นได้ เช่น อาการวิตกกังวล อาการซึมเศร้า
เมื่อได้รับการรักษาที่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง อาจช่วยให้เด็กที่เป็น Asperger syndrome สามารถรับมือกับความบกพร่องด้านพัฒนาการของตัวเองและความท้าทายในการใช้ชีวิตประจำวันได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะเมื่อต้องปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น เด็กที่เป็น Asperger syndrome ส่วนใหญ่สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ โดยอาจอาศัยการสนับสนุนและกำลังใจจากครอบครัวและคนรอบข้างร่วมด้วย