เด็กตาเหล่ สามารถรักษาได้หากพบอาการตั้งแต่เด็กอายุยังน้อย ยิ่งพบในอายุน้อยเท่าไหร่ โอกาสประสบความสำเร็จในการรักษายิ่งสูง คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตลูกน้อยว่ามีพัฒนาการทางสายตาเหมาะแก่วัยหรือไม่ หากพบอาการผิดปกติหรือไม่แน่ใจว่าเป็นอาการตาเหล่หรือไม่ ควรปรึกษาคุณหมอ เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาจเกิดอาการแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายแก่ดวงตาได้ เช่น โรคตาขี้เกียจ (Amblyopia)
เด็กตาเหล่ มีอาการอย่างไร
ตาเหล่ หรือตาเข คืออาการที่ดวงตาทั้งสองข้างอยู่ในตำแหน่งที่ผิดปกติหรือไม่เท่ากัน โดยอาจเห็นได้ว่าดวงตาข้างหนึ่ง อาจมองตรงไปข้างหน้า ในขณะที่ดวงตาอีกข้างอาจจะเหลือกขึ้นบน เหลือกลงล่าง พลิกกลับเข้าด้านใน หรือโปนออกด้านนอก เป็นต้น
โดยปกติแล้ว ดวงตาจะมีกล้ามเนื้อ 6 มัด ทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหว เพื่อให้ดวงตาทั้งสองข้างทำงานร่วมกันได้อย่างสอดคล้อง อาการตาเหล่จะเกิดขึ้นเมื่อระบบควบคุมกล้ามเนื้อดวงตาในสมองทำงานผิดปกติ ส่งผลให้มัดกล้ามเนื้อในดวงตาไม่สามารถทำงานสอดประสานกันเพื่อเคลื่อนไหวดวงตาไปมา ทำให้ดวงตามองไปในตำแหน่งที่ต่างกัน และไม่สามารถมองไปในทิศทางเดียวกันพร้อมกันได้
อาการตาเหล่อาจเป็นตั้งแต่เกิด หรือเกิดขึ้นได้เมื่อดวงตาได้รับผลกระทบจากการหักเหของแสงผิดปกติ เช่น จากภาวะสายตายาว สายตาสั้น หรือสายตาเอียง รวมถึงอาจเกิดขึ้นได้จากความป่วยไข้ หรือการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อและเส้นประสาทได้เช่นกัน หากปล่อยไว้อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพดวงตา เช่น โรคตาขี้เกียจ (Amblyopia)
จะรู้ได้อย่างไรว่า เด็กตาเหล่
หากเด็กมีอาการตาเหล่ จะสังเกตเห็นว่าตาดำสองข้างจะไม่อยู่ในแนวเดียวกัน และมองไปคนละทิศทาง ในเด็กทารก อาจพบว่ามีอาการตาเขได้เวลาที่เด็กรู้สึกเหนื่อยล้า แต่ไม่ได้หมายความว่าจะมีอาการตาเหล่โดยกำเนิด อย่างไรก็ตาม หลังจากอายุ 4 เดือนไปแล้ว ผู้ปกครองควรนำลูกไปพบคุณหมอเพื่อเข้ารับการตรวจ และหากทารกต้องหมุนศีรษะเวลามองสิ่งของ หรือหลับตาลงเพียงข้างเดียวเวลาเห็นแสงแดดจ้า อาจถือได้ว่ามีสัญญาณของอาการตาเหล่ ในกลุ่มเด็กที่โตขึ้นมาอีกหน่อยนั้น อาจพบว่ามีการเห็นภาพซ้อน เห็นภาพมัว หรือดวงตามีอาการอ่อนล้า ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของอาการตาเหล่ได้ด้วยเช่นกัน
การรักษาอาการ เด็กตาเหล่
อาการตาเหล่จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที หากพบในช่วงที่อายุน้อย มีโอกาสรักษาให้หายได้ โดยวิธีการรักษาอาจมีดังนี้
- สวมแว่นตาสำหรับเด็กโดยเฉพาะเพื่อแก้ไขอาการตาเหล่
- ถ้าเด็กเป็นโรคตาขี้เกียจร่วมด้วย คุณหมอก็จะให้ใช้ที่คาดตาปิดดวงตาข้างที่ปกติเอาไว้ เพื่อให้เด็กใช้ดวงตาข้างที่อ่อนแอจนแข็งแรงขึ้น และช่วยกระตุ้นให้ดวงตาทั้งสองข้างทำงานสอดคล้องกันมากขึ้น
- วิธีการรักษาอื่น ๆ อาจรวมถึงการรับประทานยา และการออกกำลังกายดวงตาโดยเฉพาะ ส่วนการผ่าตัดนั้นคุณหมอจะพิจารณาเมื่อวิธีการรักษาชนิดอื่นใช้ไม่ได้ผลแล้วเท่านั้น
[embed-health-tool-vaccination-tool]