backup og meta

ปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยของเด็กวัยเรียน ที่พ่อแม่ควรระวัง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 25/09/2022

    ปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยของเด็กวัยเรียน ที่พ่อแม่ควรระวัง

    ปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยของเด็กวัยเรียน เป็นปัญหาที่อาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางด้านร่างกายและสติปัญญา เพราะเมื่อเกิดปัญหาสุขภาพ ร่างกายของเด็กก็จะอ่อนแอ เกิดความเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย จนไม่สามารถเรียนหรือออกไปวิ่งเล่นได้ตามปกติ รวมถึงอาจส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ จนทำให้เด็กเกิดความรู้สึกเศร้าและโดดเดี่ยว

    ปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยของเด็กวัยเรียน มีอะไรบ้าง

    ปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยของเด็กวัยเรียน อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อไวรัส ซึ่งติดต่อจากคนสู่คน ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรทราบถึงสาเหตุของการเกิดโรคและวิธีรับมือเมื่อลูกเกิดความเจ็บป่วย ดังนี้

    • การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ

    การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคติดเชื้อไวรัสเป็นส่วนใหญ่ แต่อาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรียได้เช่นกัน พบได้บ่อยในเด็กวัยเรียน สามารถแพร่กระจายได้จากการไอหรือจาม ซึ่งมักทำให้เด็กมีอาการมีไข้ หนาวสั่น คัดจมูก น้ำมูกไหล เจ็บคอ ต่อมทอนซิลอักเสบ คอบวมแดง ไอ จาม ปวดเมื่อยตามตัว เหนื่อยล้า เบื่ออาหาร และปวดท้อง

    การรักษา โดยทั่วไปสามารถทำได้ด้วยการให้เด็กนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ ดื่มน้ำมาก ๆ และกินยาเพื่อช่วยบรรเทาอาการ เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) พาราเซตามอล ยาแก้เจ็บคอ ยาฆ่าเชื้อ

    • โรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ

    โรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ เกิดจากการติดเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อปรสิต จากการเป็นหวัดหรือมีอาการในระบบทางเดินหายใจนำมาก่อน รวมถึงการรับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อก่อโรค จนทำให้กระเพาะและลำไส้อักเสบ จึงอาจทำให้เด็กมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย มีไข้ต่ำ ๆ ปวดท้องเกร็ง

    โดยปกติอาการของโรคจะค่อย ๆ ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน แต่เพื่อให้อาการดีขึ้นอย่างรวดเร็ว สามารถรักษาได้ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมาก ๆ หรืออาจกินยาลดไข้ ยาบรรเทาอาการปวด ยารักษาอาการคลื่นไส้อาเจียน เพื่อช่วยบรรเทาอาการที่อาจรุนแรงขึ้น

    • การติดเชื้อในหู

    การติดเชื้อในหู เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัสที่เข้าไปในช่องว่างหลังแก้วหู จนทำให้เกิดการติดเชื้อและอักเสบขึ้น อาจทำให้เด็กเจ็บปวดเมื่อกดบริเวณแก้วหู หูมีหนอง มีน้ำหรือหนองไหลออกจากหู มีไข้ กลืนหรือนอนลำบาก

    การรักษา อาจทำได้ด้วยการให้เด็กกินยาพาราเซตามอล หรือไอบูโพรเฟน เป็นเวลา 12-36 ชั่วโมง เพื่อบรรเทาอาการไข้และปวด ไม่ใส่อะไรเข้าไปในหูของเด็กโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากคุณหมอ เช่น น้ำ น้ำมัน ไม้เขี่ยหู เพราะอาจทำให้เกิดการอักเสบรุนแรง หากอาการไม่ดีขึ้นควรพาเด็กไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยอาการเพิ่มเติม

    • เยื่อบุตาอักเสบ

    เยื่อบุตาอักเสบ เป็นโรคติดต่อที่อาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัส โรคภูมิแพ้ หรืออาจไม่ใช่โรคติดต่อซึ่งเกิดจากสิ่งที่ระคายเคืองตา เช่น สารเคมี ฝุ่น ควัน อาจทำให้เด็กมีอาการระคายเคืองตา ตาแดง บวม มีขี้ตามาก น้ำตาไหล คัน

    การรักษา ควรพาเด็กเข้าพบคุณหมอ เพื่อรับการวินิจฉัยหาสาเหตุว่าโรคเยื่อบุตาอักเสบเกิดจากสาเหตุอะไร หากเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย คุณหมอจะรักษาด้วยยาปฏิชีวนะชนิดหยอดตา หากเกิดจากการติดเชื้อไวรัส โรคภูมิแพ้ หรือสิ่งระคายเคือง คุณหมออาจให้ยาหยอดตาเพื่อลดความระคายเคืองตา และอาจแนะนำให้ล้างตาด้วยน้ำเกลือหรือน้ำสะอาด ประคบร้อนหรือเย็นเพื่อช่วยบรรเทาอาการ

    • เหา

    เหา เป็นโรคติดต่อจากคนสู่คนที่มักพบได้บ่อยในเด็กวัยเรียน เนื่องจากเด็กวัยนี้อาจต้องทำกิจกรรมที่มีความใกล้ชิดกันเป็นอย่างมาก จึงอาจทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะติดเหาจากเด็กคนอื่น ๆ ได้ อาการของเหาที่พบบ่อย ได้แก่ รู้สึกเหมือนมีแมลงเดินบนหนังศีรษะ พบแมลงตัวเล็ก ๆ หรือไข่เหา มีตุ่มเล็ก ๆ เกิดอาการคัน และอาจมีแผลจากการเกา

    การรักษา โดยทั่วไปอาจใช้ยาหรือแชมพูที่มีคุณสมบัติฆ่าตัวเหาได้ ซึ่งอาจซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป เพื่อกำจัดตัวเหาที่มีชีวิต จากนั้น ควรใช้หวีเสนียดสางเอาไข่เหาออกจากเส้นผม เนื่องจากไข่เหาอาจฟักตัวและกลายเป็นตัวเหา ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการซ้ำได้อีก

    • โรคโมโนนิวคลิโอซิส (Infectious Mononucleosis)

    โรคโมโนนิวคลิโอซิส เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอ็บสไตบาร์ (Epstein-Barr Virus หรือ EBV) ที่แพร่กระจายผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่ง เช่น ไอ จาม จูบ มักทำให้มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ เหนื่อยล้า เจ็บคอ ร่วมกับมีต่อมน้ำเหลืองโตได้

    การรักษา ควรให้เด็กนอนพักผ่อนอย่างเพียงพอ ร่วมกับการกินยาพาราเซตามอล หรือไอบููโพรเฟน เพื่อบรรเทาอาการไข้ ปวดเมื่อย และเจ็บคอการบาดเจ็บ

    การบาดเจ็บเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้กับเด็กวัยเรียน เพราะเด็กวัยนี้เป็นวัยแห่งการเรียนรู้ จึงชอบการวิ่งเล่น และสำรวจสิ่งต่าง ๆ รอบตัว จนอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุและการบาดเจ็บ เช่น หกล้ม วิ่งชนสิ่งของ ผิวหนังถลอก ซึ่งส่วนใหญ่การบาดเจ็บมักเกิดขึ้นเมื่อเด็กออกไปวิ่งเล่นนอกบ้านหรืออยู่ที่โรงเรียน

    ผู้ปกครองอาจไม่สามารถป้องกันการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นได้ในทุกสถานการณ์ เนื่องจากเด็กวัยนี้มีความซุกซนและว่องไวมาก ดังนั้น นอกจากการเฝ้าระวังอยู่เสมอ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุหรือการบาดเจ็บร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ พ่อแม่ควรพูดคุยกับเด็กให้ระวังการเกิดอุบัติเหตุ เช่น ไม่เล่นของแหลมหรือของมีคม ไม่ควรปีนป่ายที่สูง ไม่ควรวิ่งเร็วเกินไปเพราะอาจหกล้มหรือชนสิ่งของจนอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ รวมถึงควรแนะนำเด็กด้วยว่าหากเกิดการบาดเจ็บให้รีบมาบอกทันที เพื่อจะได้ทำการปฐมพยาบาลได้อย่างรวดเร็ว

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 25/09/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา