โรคขาดการยับยั้งการสมาคม (Disinhibited Social Engagement Disorder หรือ DSED) มักเกิดขึ้นกับเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี เป็นโรคที่เกี่ยวกับทักษะการเข้าสังคมของเด็ก โดยเด็กจะรู้สึกไว้วางใจและสนิทสนมกับคนแปลกหน้าได้ง่ายกว่าปกติ อาจมีสาเหตุมาจากเด็กถูกละเลยและไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดจากคนในครอบครัว ทำให้เด็กไม่สนิทสนมหรือผูกพันกับคนในครอบครัวเท่าที่ควร แต่กลับต้องการทำความรู้จักและรู้สึกสบายใจเมื่อพบเจอกับคนแปลกหน้า ทำให้เด็กเสี่ยงที่จะหลงเชื่อคำชักชวนจนส่งผลให้เป็นอันตรายต่อตัวเด็กได้
โรคขาดการยับยั้งการสมาคม คืออะไร
โรคขาดการยับยั้งการสมาคม จัดอยู่ในกลุ่มความผิดปกติทางความผูกพัน (Attachment Disorder) ที่อาจเกิดขึ้นเมื่อเด็กไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่และความรักจากพ่อแม่เท่าที่ควร ส่งผลให้เด็กไม่รู้สึกสนิทสนมหรือผูกพันกับพ่อแม่ตัวเอง แต่กลับสบายใจเวลาอยู่กับคนอื่น หรือคนแปลกหน้ามากกว่า โรคนี้มักเกิดกับเด็กที่อายุต่ำว่า 18 ปี และผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสมจึงจะสามารถหายจากโรคได้
สัญญาณของโรคขาดการยับยั้งการสมาคม
คู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต (Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders หรือ DSM) ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์การวินิจฉัยความผิดปกติทางจิตซึ่งจัดทำโดยสมาคมจิตเวชศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกา (American Psychiatric Association) ที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายในหมู่แพทย์และนักวิจัยหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยด้วย ระบุว่า หากเด็กมีอาการดังต่อไปนี้มากกว่า 2 ข้อขึ้นไป อาจเข้าข่ายเป็นโรคขาดการยับยั้งการสมาคม
- เด็กอาจตื่นเต้นมากเกินไป ไม่รู้สึกกลัว ไม่รู้สึกเขินอาย หรือขาดการยับยั้งชั่งใจเวลาพบเจอหรือมีปฏิสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า หรือผู้ใหญ่ที่ไม่คุ้นเคยกันมาก่อน
- เด็กอาจแสดงพฤติกรรมที่ดูเป็นมิตรหรือสนิทสนมกับคนแปลกหน้ามากเกินไป พูดเก่งกว่าปกติ มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับวัยหรือขนมธรรมเนียมประเพณี
- เด็กอาจเต็มใจ ไว้วางจนและต้องการจะออกจากสถานที่ปลอดภัย เพื่อไปกับคนแปลกหน้าอย่างไม่ลังเล
- เด็กอาจไม่ต้องการหรือไม่สนใจที่จะแจ้งให้คนในครอบครัว หรือผู้ใหญ่ที่ตัวเองไว้ใจทราบก่อนที่จะออกไปเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคยหรือไม่ปลอดภัย
พฤติกรรมที่กล่าวมาข้างต้นอาจเป็นสัญญาณของเด็กที่เป็นโรคขาดการยับยั้งการสมาคม ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อตัวเด็กได้ ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองเห็นว่าลูกหลานมีพฤติกรรมดังกล่าว ควรรีบพาเด็กไปพบคุณหมอทันที เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุของอาการโรคขาดการยับยั้งสมาคม หรือโรคสุขภาพจิตอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้
ควรรีบเข้าพบคุณหมอเมื่อไหร่
หากสังเกตเห็นว่าเด็กมีพฤติกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นบ่อยควรรีบปรึกษาคุณหมอทันที
- เด็กไม่กลัวคนแปลกหน้าเลย
- เด็กออกจากบ้าน หรือสถานที่ที่ปลอดภัยสำหรับเขาได้อย่างไม่ลังเล
- เด็กชอบมีปฏิสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าอย่างสนิทสนม
สาเหตุของโรคขาดการยับยั้งการสมาคมในเด็ก
เด็กอาจเป็นโรคขาดการยับยั้งการสมาคมได้ตั้งแต่ตอนเป็นทารก โดยโรคนี้อาจเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ เช่น เด็กไม่มีผู้ดูแลอย่างจริงจัง เด็กขาดคนดูแลเป็นเวลานาน เด็กขาดความรักและความอบอุ่นจากคนในครอบครัว ซึ่งปกติแล้ว เด็กควรมีผู้ดูแลที่คอยอบรมสั่งสอน จัดสรรสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตเด็ก เช่น เตรียมอาหารการกิน เตรียมที่พัก คอยเป็นกำลังใจ ให้การสนับสนุนด้านอารมณ์และความรู้สึก เมื่อเด็กไม่มีคนคอยดูแลเลี้ยงดูก็อาจทำให้เป็นโรคขาดการยับยั้งการสมาคมได้
รวมทั้งเด็กที่โตมาในสภาพแวดล้อมที่มีผู้ดูแลไม่สอดคล้องกับจำนวนของเด็ก เช่น ผู้ดูแลหนึ่งคนต้องดูแลเด็กหลายคน อย่างในบ้านเด็กกำพร้าหรือสถานสงเคราะห์ ก็อาจทำให้เด็กรู้สึกโดดเดี่ยว ขาดการเอาใจใส่อย่างจริงจังจนอาจกลายเป็นโรคนี้ได้ ยิ่งไปกว่านั้นหากเด็กมีผู้รับเลี้ยงแต่ถูกส่งตัวกลับ และต้องเปลี่ยนครอบครัวที่รับเลี้ยงบ่อย ๆ หรือเด็กที่ไม่เคยมีผู้รับเลี้ยงเลยก็อาจเป็นสาเหตุที่ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจจนกลายเป็นโรคขาดการยับยั้งการสมาคมได้เช่นกัน
นอกจากนี้ หากเด็กเคยเจอเหตุการณ์สะเทือนใจ เช่น โดนทารุณกรรมอย่างหนัก ถูกล่วงละเมิดทางเพศตั้งแต่อายุยังน้อยมาก ถูกละเลย พ่อหรือแม่เสียชีวิต ถูกเลี้ยงดูโดยพ่อหรือแม่ที่ทำหน้าที่บกพร่อง เช่น กินเหล้า ใช้ยาเสพติด แต่กลับไม่มีผู้ใหญ่คอยดูแลและช่วยบรรเทาความเจ็บปวดทางใจที่เกิดขึ้น ก็สามารถทำให้เด็กเป็นโรคขาดการยับยั้งการสมาคมได้
วิธีรักษา โรคขาดการยับยั้งการสมาคม
ผู้ที่เป็นโรคขาดการยับยั้งการสมาคมส่วนใหญ่ไม่สามารถหายได้เอง จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาและการดูแลที่เหมาะสม โดยการรักษาโรคนี้คุณหมอจำเป็นจะต้องให้สมาชิกในครอบครัวทุกคนมีส่วนร่วมด้วย เช่น
- การบำบัดด้วยการพูดคุยทั้งแบบกลุ่มและแบบส่วนตัว
- การเล่นบำบัด (Play Therapy) หมายถึงการเล่นที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ทั้งในด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์และจิตใจ รวมถึงด้านสังคมด้วย
- ศิลปะบำบัด (Art Therapy) คือ การใช้กิจกรรมทางศิลปะแขนงต่าง ๆ เช่น ดนตรี การวาดภาพ การระบายสี การปั้น ในการปรับสมดุลทางจิตใจและร่างกายของเด็ก
คุณหมอจะแนะนำวิธีปฏิสัมพันธ์กับเด็กให้กับพ่อแม่ ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลทราบอย่างถูกต้อง เพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างเหมาะสม เพื่อช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจ ช่วยให้เด็กรู้สึกปลอดภัยและมีพฤติกรรมที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาการของเด็กจะค่อย ๆ ดีขึ้นตามลำดับ ทั้งนี้ อาจขึ้นอยู่กับอายุ สถานการณ์ สภาพจิตใจ การดูแลจากผู้ปกครองและการรักษาอย่างต่อเนื่องด้วย
[embed-health-tool-vaccination-tool]