backup og meta

ลูกปวดฟัน อาการ สาเหตุและการรักษา

ลูกปวดฟัน อาการ สาเหตุและการรักษา

ลูกปวดฟัน อาจมีสาเหตุมาจากปัญหาฟันผุ หนองในฟัน เคลือบฟันแตก โรคเหงือก อาหารติดซอกฟัน หรือปัญหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขอนามัยภายในช่องปากที่ไม่เหมาะสม จนทำให้ลูกมีอาการปวดฟันเกิดขึ้น ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรดูแลสุขภาพช่องปากของลูกอยู่เสมอ และหากลูกปวดฟันควรพาลูกเข้าพบคุณหมอเพื่อทำการรักษา

[embed-health-tool-vaccination-tool]

ลูกปวดฟัน เกิดจากสาเหตุอะไร

อาการลูกปวดฟันอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการไม่รักษาสุขอนามัยภายในช่องปาก จนทำให้เยื่อฟันที่เต็มไปด้วยเส้นประสาท เนื้อเยื่อ และหลอดเลือดที่บอบบางระคายเคืองหรือติดเชื้อแบคทีเรีย จนก่อให้เกิดอาการปวดฟันรุนแรงตามมา ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ลูกปวดฟันที่พบได้บ่อยนั่นคือฟันผุ นอกจากนี้ อาการลูกปวดฟันยังอาจเกิดขึ้นได้จากสาเหตุอื่น ๆ ดังนี้

  • หนองในฟัน เกิดขึ้นเมื่อมีปัญหาฟันผุทำให้เกิดหนองภายในรากฟันซี่ที่ผุ ส่งผลให้มีอาการปวดรุนแรงและปวดมากขึ้นเมื่อสัมผัสกับฟัน หากปล่อยไว้เป็นเวลานานอาจทำให้หนองเพิ่มมากขึ้นภายในเหงือกและทำให้เหงือกบวมแดง
  • เคลือบฟันแตก เกิดจากการกัดวัตถุแข็ง ๆ จนทำให้ฟันแตก โดยแนวการแตกหักของฟันอาจอยู่ต่ำกว่าขอบเหงือกที่อาจมองเห็นได้ยาก และอาจทำให้มีอาการเสียวฟัน ปวดฟันเมื่อรับประทานของเหลวร้อนหรือเย็น
  • โรคเหงือก เป็นปัญหาเหงือกอักเสบเนื่องจากการไม่รักษาสุขอนามัยภายในช่องปาก ส่งผลให้มีอาการเหงือกระคายเคือง บวมแดง เจ็บปวด และอาจมีเลือดออก
  • อาหารติดซอกฟัน การรับประทานอาหารอาจทำให้มีเศษอาหารติดตามซอกฟัน ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอาการปวดฟัน ดังนั้น การแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันหลังรับประทานอาหารอาจช่วยลดอาการปวดฟันได้
  • ฟันคุด เป็นการงอกขึ้นมาของฟันกรามซี่ในสุด ซึ่งส่วนใหญ่ฟันคุดจะเกิดขึ้นในช่วงอายุประมาณ 18-21 ปีขึ้นไป แต่สำหรับเด็กที่ฟันคุดงอกเร็วอาจทำให้มีอาการปวดฟันเกิดขึ้นได้
  • การเคลื่อนไหวฟันในการบดเคี้ยวซ้ำ ๆ เช่น เคี้ยวหมากฝรั่ง นอนกัดฟัน เคี้ยวอาหารแข็ง ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้อาจทำให้ฟันสึกกร่อนได้ง่าย และอาจทำให้เกิดอาการปวดฟันได้

ลูกปวดฟัน มีอาการอย่างไร

คุณพ่อคุณแม่อาจสังเกตอาการลูกปวดฟันได้ ดังนี้

  • ปวดฟันตลอดเวลา
  • ปวดฟันรุนแรงขึ้นเมื่อสัมผัสฟันซี่ที่ปวด
  • อาการปวดฟันแย่ลงเมื่อรับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มร้อนหรือเย็น
  • เจ็บกรามเบา ๆ รอบฟันที่ปวด
  • มีไข้ ปวดศีรษะ
  • เหนื่อย อึดอัดและรู้สึกไม่สบายตัว
  • ปากมีกลิ่นเหม็น และอาจมีหนองที่มีกลิ่นเหม็นร่วมด้วย

ลูกปวดฟันควรรักษาอย่างไร

เมื่อลูกปวดฟันรุนแรง คุณหมออาจรักษาโดยพิจารณาจากอายุ อาการ และสุขภาพทั่วไปของเด็ก นอกจากนี้ ยังอาจขึ้นอยู่กับสภาพความรุนแรงของปัญหาช่องปากที่ทำให้เกิดอาการปวดฟัน ดังนี้

  • ยาปฏิชีวนะ สำหรับฆ่าเชื้อแบคทีเรียภายในช่องปาก
  • ยาแก้ปวด ช่วยบรรเทาอาการปวด และลดไข้
  • การกลั้วและบ้วนปากด้วยน้ำเกลือ อาจช่วยขจัดเชื้อแบคทีเรียและบรรเทาอาการปวดได้
  • การถอนฟัน สำหรับเด็กที่มีอาการฟันผุรุนแรง อาจต้องถอนฟันเพื่อไม่ให้อาการปวดฟันเกิดซ้ำ
  • การระบายหนองที่เต็มไปด้วยเชื้อแบคทีเรีย คุณหมออาจทำในกรณีที่จำเป็น เพื่อกำจัดหนองและเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดอาการปวดฟัน
  • การอุดฟัน หากฟันผุไม่รุนแรง คุณหมออาจวินิจฉัยให้อุดฟัน
  • การรักษารากฟัน (Root Canal) เป็นการผ่าตัดเพื่อเอาเนื้อเยื่อที่อักเสบและติดเชื้อออกจากบริเวณโพรงฟัน และทำความสะอาดภายในโพรงฟัน จากนั้นจะอุดคลองรากฟันเพื่อบูรณะตัวฟันให้สวยงาม

การป้องกันไม่ให้ลูกปวดฟัน

คุณพ่อคุณแม่อาจป้องกันอาการปวดฟันของลูก ด้วยการให้ลูกแปรงฟันเป็นประจำทุกวัน อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้าและก่อนนอน หรืออาจแปรงฟันหลังรับประทานอาหารด้วย เพื่อกำจัดเศษอาหารที่ติดอยู่ตามซอกฟัน จากนั้นควรสอนให้ลูกใช้ไหมขัดฟันร่วมด้วย อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง เพื่อกำจัดเศษอาหารที่แปรงสีฟันอาจเข้าไม่ถึง

นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการให้ลูกรับประทานอาหารหรือกัดวัตถุแข็งที่อาจทำให้เกิดปัญหาฟันแตกได้ รวมถึงควรพาเด็กเข้าพบทันตแพทย์ทุก ๆ 6 เดือนหรือ 1 ปี เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากและฟัน

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Toothache (Pulpitis) in Children. https://www.nationwidechildrens.org/conditions/health-library/toothache-pulpitis-in-children#:~:text=Key%20points%20about%20a%20toothache%20in%20children&text=Most%20toothaches%20are%20caused%20by,or%20removal%20of%20the%20tooth. Accessed November 21, 2022

Toothache. https://www.seattlechildrens.org/conditions/a-z/toothache/. Accessed November 21, 2022

Toothache. https://www.nhs.uk/conditions/toothache/#:~:text=Causes%20of%20toothache&text=a%20cracked%20or%20damaged%20tooth,problems%20with%20your%20braces. Accessed November 21, 2022

Toothache. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/10957-toothache. Accessed November 21, 2022

An Overview of Toothaches. https://www.webmd.com/oral-health/toothache. Accessed November 21, 2022

Dental Health and Toothaches. https://www.webmd.com/oral-health/guide/toothaches. Accessed November 21, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

30/12/2022

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

สุขภาพฟันเด็ก กับปัญหาและสาเหตุที่แค่แปรงฟันอย่างเดียวอาจไม่พอ

วิธีแปรงฟัน สำหรับเด็ก และประโยชน์ของการแปรงฟันเด็ก


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 30/12/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา