backup og meta

วัคซีน เด็ก ที่ควรได้รับ และเคล็ดลับไม่ให้ลูกงอแงตอนรับวัคซีน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอนงค์พร ผาภูมิ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 30/07/2022

    วัคซีน เด็ก ที่ควรได้รับ และเคล็ดลับไม่ให้ลูกงอแงตอนรับวัคซีน

    เมื่อต้องไปฉีด วัคซีน เด็ก เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้สามารถป้องกันเชื้อโรคต่าง ๆ เช่น ไวรัสตับอักเสบบี โปลิโอ บาดทะยัก หัด คางทูม  สุกใส ไข้หวัดใหญ่ เด็ก ๆ อาจยังไม่เข้าใจถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการฉีดวัคซีนมากพอ และสนใจเพียงความรู้สึกเจ็บที่เคยได้รับจากการฉีดวัคซีนเท่านั้น ทำให้มีอาการงอแงเมื่อรู้ว่าต้องไปฉีดวัคซีนในครั้งต่อไป คุณพ่อคุณแม่จึงจำเป็นต้องศึกษาวิธีที่ช่วยให้ลูกสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนได้ราบรื่น รวมถึงวิธีดูแลลูกหลังฉีดวัคซีน เพื่อให้การฉีดวัคซีนของลูกในแต่ละครั้งเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพน้อยที่สุด

    วัคซีน เด็ก ที่ควรฉีดในแต่ละช่วงวัย

    วัคซีนพื้นฐานที่ควรฉีดให้กับเด็ก มีดังนี้

  • วัคซีนป้องกันบีซีจี หรือวัคซีนป้องกันวัณโรค (BCG) เป็นวัคซีนป้องกันวัณโรคปอดและวัณโรคเยื่อหุ้มสมองในเด็กเล็ก เด็กจะได้รับวัคซีนชนิดนี้เพียงครั้งเดียวภายในเวลา 24 ชั่วโมงหลังคลอด และไม่ต้องฉีดซ้ำอีกตลอดชีวิต
  • วัคซีนป้องกันตับอักเสบบี (HB1 และ HB2) เป็นวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี ควรฉีดภายในเวลา 24 ชั่วโมงหลังคลอด และอาจฉีดซ้ำเข็มที่ 2 เมื่อเด็กมีอายุ 1 เดือน ในกรณีที่ตรวจพบว่าคุณแม่เป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบบี กรณีคุณแม่ไม่เป็นพาหะตับอักเสบบี จะฉีดวัคซีนที่อายุ 2 เดือน
  • วัคซีนป้องกันคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-ตับอักเสบบี (DTP-HB1) เป็นวัคซีนรวมโรคชนิดทั้งเซลล์ (DTWP) โดยในปี 2562 เป็นต้นไป กระทรวงสาธารณสุขได้วางแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคและกำหนดให้ใช้วัคซีนรวม 5 โรค ได้แก่ คอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-ตับอักเสบบี-ฮิบ (DTP-HB-Hib) แทนแบบ DTP-HB1 ที่ไม่ได้ป้องกันเชื้อฮิบ (Hib) หรือโรคติดเชื้อที่ทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เด็กต้องได้รับวัคซีนชนิดนี้ทั้งหมด 5 ครั้ง ตอนอายุ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน 1 ปี 6 เดือน และ 12 ปี
  • วัคซีนป้องกันโปลิโอชนิดหยอด (OPV) เป็นวัคซีนป้องกันเชื้อโปลิโอรูปแบบหยอดหรือกิน โดยมีส่วนประกอบเป็นเชื้อโปลิโอสายพันธุ์ 1 และ 3 เด็กควรได้รับทั้งหมด 5 ครั้ง เมื่อเด็กมีอายุ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน 1 ปี 6 เดือน และในช่วงอายุ 4-6 ปี
  • วัคซีนป้องกันโปลิโอชนิดฉีด (IPV) เป็นวัคซีนป้องกันเชื้อโปลิโอรูปแบบฉีดที่มีส่วนประกอบของโปลิโอทั้งหมด 3 สายพันธุ์เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ฉีดทั้งหมด 1 ครั้ง เมื่อเด็กมีอายุ 4 เดือน โดยการรับวัคซีนโปลิโอสามารถสลับระหว่างการฉีดและการหยอดได้  (สรุปว่าต้องได้รับวัคซีนโปลิโอชนิดฉีดหรือหยอดไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง)
  • วัคซีนป้องกันหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน (MMR) ใช้ฉีดทั้งหมด 2 ครั้ง เมื่อเด็กมีอายุ 9-12 เดือน และ 2 ปี 6 เดือน หากให้เร็วกว่านี้วัคซีนอาจกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ไม่เต็มที่ และอาจทำให้วัคซีนไม่สามารถป้องกันเชื้อได้
  • วัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบเจอี (LAJE) เป็นวัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบที่มียุงเป็นพาหะนำโรค ใช้ฉีดทั้งหมด 2 ครั้ง เมื่อเด็กมีอายุ 1 ปี และ 2 ปี 6 เดือน
  • วัคซีนป้องกันเอชพีวี (HPV) เป็นวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกจากเชื้อเอชพีวี ใช้ฉีดทั้งหมด 2 ครั้ง เมื่อเด็กมีอายุ 11 ปีขึ้นไป โดยฉีดห่างกัน 6 เดือน
  • วัคซีนป้องกันคอตีบ-บาดทะยัก (dT) ในเด็กโตจำเป็นต้องฉีดป้องกันเชื้อเพิ่มเติมเฉพาะโรคคอตีบและบาดทะยักเท่านั้น ใช้ฉีดทั้งหมด 1 ครั้ง เมื่อเด็กมีอายุได้ 12 ปี
  • เคล็ดลับสำหรับพ่อแม่เมื่อลูกต้องไปฉีด วัคซีน เด็ก

    วิธีดูแลสำหรับพ่อแม่เมื่อลูกต้องไปฉีดวัคซีนเด็ก อาจมีดังนี้

    สำหรับเด็กเล็ก

    • ทำให้เด็กรู้สึกสบายใจ การปลอบประโลมทารกด้วยการห่อตัวในผ้าที่คุ้นเคย ให้สัมผัสที่แนบชิดทางผิวหนัง หรือการให้นมในระหว่างหรือหลังการฉีดวัคซีน อาจช่วยให้เด็กสงบ ไม่ร้องไห้หรือดิ้นหนีการฉีดยา
    • ให้ดูดจุกนมยางระหว่างฉีดยา สำหรับเด็กเล็กอาจให้ดูดจุกนมยางเล่น เพื่อช่วยให้เด็กเพลิดเพลิน และอาจไม่สังเกตว่ากำลังถูกฉีดยาหรือเกิดความเจ็บปวด
    • เบี่ยงเบนความสนใจ ชักชวนให้เด็กสนใจสิ่งรอบตัว เช่น การชี้ไปทั่ว ๆ ให้เด็กมองไปรอบห้อง อาจปลอบเด็กด้วยการกอด อุ้มขึ้นตัก ร้องเพลง หรือพูดคุยเบา ๆ เพื่อช่วยให้เด็กรู้สึกผ่อนคลาย ไม่รู้สึกเครียดที่ต้องเจอเข็มฉีดยา
    • นำของเล่นโปรดมาด้วย คุณพ่อคุณแม่อาจพกสิ่งของที่เด็กชื่นชอบและช่วยให้เด็กรู้สึกสงบไปในวันที่ฉีดวัคซีนด้วย เช่น ของเล่น ผ้าห่ม หนังสือเล่มโปรด ระหว่างคุณหมอตรวจก็หยิบออกมาให้เล่นเพลิน ๆ เพื่อช่วยให้เด็กจดจ่อกับของที่ชอบจนลืมสนใจความเจ็บปวดจากการฉีดยา
    • ใช้ของหวานเป็นสิ่งปลอบใจ หลังฉีดยาเสร็จแล้ว อาจให้รางวัลเป็นของหวานหรือลูกอมที่เด็กชอบ แต่อย่าลืมให้เด็กแปรงฟันให้สะอาดทุกครั้งหลังรับประทานของหวาน และไม่ควรเด็กให้รับประทานของหวานมากเกินไป  (ไม่ควรใช้วิธีนี้บ่อย)
    • แต่งตัวเด็กให้เหมาะกับการไปฉีดยา ควรเลือกเสื้อผ้าที่หลวม สวมใส่สบาย ไม่ทำให้เด็กอึดอัด หรือถกแขนเสื้อยาก (แนะนำเสื้อแขนสั้น, กางเกงขาสั้นหรือกระโปรง ที่คุณหมอสามารถเปิดฉีดยาได้สะดวกรวดเร็ว) เสื้อผ้าที่เหมาะสมอาจทำให้เด็กไม่ทันสังเกตถึงความผิดปกติและอาจทำให้ฉีดยาเสร็จภายในเวลาอันรวดเร็ว

    สำหรับเด็กโต

    • ให้เด็กดูวิดีโอที่สนใจ สำหรับเด็กโต การเปิดวิดีโอหรือการ์ตูนที่ชื่นชอบอาจช่วยให้เด็กให้ความสนใจกับสิ่งตรงหน้าและลืมความรู้สึกเจ็บปวดได้
    • ให้คุณหมอช่วย หากจำเป็น คุณหมออาจช่วยให้การฉีดยาเป็นไปด้วยดี โดยการใช้ยาชาแบบครีมหรือสเปรย์บริเวณผิวที่จะถูกเข็มจิ้ม นอกจากนี้ สถานที่ฉีดวัคซีนบางแห่งอาจมีอุปกรณ์ที่สามารถช่วยเบี่ยงเบนความสนใจของเด็กได้
    • ไม่ดุว่าเมื่อเด็กร้องไห้ การกลัวเข็มเป็นเรื่องปกติของเด็กหลายคน คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรดุว่าเด็ก แต่ควรพูดให้กำลังใจและคอยกุมมือเด็กไว้อย่างอ่อนโยนเพื่อช่วยให้เด็กไม่รู้สึกแย่หรือเสียกำลังใจ
    • บอกล่วงหน้าและให้ข้อมูลตามตรง ไม่ควรหลอกเด็กไปฉีดยาโดยที่เด็กไม่รู้ล่วงหน้า เพื่อไม่ให้เด็กเกิดความรู้สึกไม่ไว้วางใจกับพ่อแม่ ควรบอกตามตรงว่าจะเกิดอะไรขึ้น และอาจทำให้เด็กรู้ว่าการฉีดยาอาจทำให้รู้สึกเจ็บได้ แต่อาจมีอาการแค่เพียงไม่กี่วินาทีเท่านั้น
    • สอนให้เด็กรู้ว่าการรับวัคซีนเป็นสิ่งที่ดี สำหรับเด็กโต พ่อแม่ควรสอนให้เด็กเห็นถึงความสำคัญของการฉีดวัคซีน อาจยกเหตุผลว่าจะทำให้เด็กสุขภาพดี ไม่เจ็บปวดได้ง่าย และเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับร่างกาย เพื่อโน้มน้าวให้เด็กเห็นด้วยกับการเข้ารับการฉีดวัคซีน

    วิธีดูแลการหลังฉีด วัคซีน เด็ก

    หลังฉีดวัคซีน ให้สังเกตว่าเด็กมีอาการแพ้หรือไม่ เช่น ผื่นขึ้น ตาบวม ปากบวม  แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก โดยทั่วไปหากแพ้วัคซีนอาการจะแสดงออกหลังการฉีดเพียงไม่กี่นาทีถึงไม่กี่ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม อาการแพ้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ไม่บ่อยนัก ส่วนใหญ่แล้ว เด็กจะมีอาการไข้ขึ้น (ซึ่งไม่ใช่อาการแพ้วัคซีน) ที่เกิดจากแอนติบอดีภายในร่างกายทำหน้าที่จัดการกับเชื้อโรคแปลกปลอมที่เข้ามาหลังฉีดวัคซีน หากกลับบ้านไปแล้วเด็กมีไข้สูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส (ºC) ควรให้เด็กรับประทานยาลดไข้พาราเซตามอลหรือกรณีไข้สูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส ให้ยาไอบูโพรเฟนสำหรับเด็กในปริมาณที่เหมาะสมกับอายุและน้ำหนักตัวของเด็กได้ ตามที่คุณหมอหรือเภสัชกรแนะนำ หมั่นเช็ดตัวเด็กเพื่อลดอุณหภูมิ และให้ดื่มน้ำเยอะ ๆ อาการป่วยอาจทุเลาลงและหายไปเองภายใน  24-48 ชม. แต่หากอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง ควรรีบพาเด็กไปพบคุณหมอโดยเร็วที่สุด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอนงค์พร ผาภูมิ

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 30/07/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา