backup og meta

วิธีป้อนยาเด็ก ที่อาจช่วยให้ลูกกินยาง่ายขึ้น

วิธีป้อนยาเด็ก ที่อาจช่วยให้ลูกกินยาง่ายขึ้น

การดูแลเด็กในช่วงที่เด็กป่วยถือเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะเวลาต้องป้อนยาลูก เพราะเด็กส่วนใหญ่ไม่ชอบกินยา บ้างอาจเป็นเพราะไม่ชอบรสชาติของยา บ้างก็ไม่เข้าใจว่าจะต้องกินยาไปทำไม หรือเด็กบางคนอาจกลืนยาเม็ดหรือยาแคปซูลไม่เป็น ยิ่งหากพยายามบังคับให้ลูกกินยา ก็อาจทำให้ลูกกินยายากขึ้น อย่างไรก็ตาม การเรียนรู้ วิธีป้อนยาเด็ก อย่างถูกวิธี อาจช่วยให้เด็กกินยาง่ายขึ้น ซึ่งอาจส่งผลดีต่อสุขภาพของเด็กเป็นอย่างมาก

วิธีป้อนยาเด็ก ที่อาจช่วยให้ลูกกินยาง่ายขึ้น

1. หาวิธีป้อนยาที่เหมาะสม

คุณต้องหาว่าลูกคุณชอบกินยาวิธีไหน หรือที่ผ่านมาคุณป้อนยาลูกวิธีไหนแล้วได้ผลที่ดีสุด เช่น ให้กินยาจากช้อนตวง ใช้ไซรินจ์ ใช้หลอดหยดยา ใช้หลอดดูด ให้ดื่มจากแก้ว หากลูกโตพอรู้เรื่องแล้ว คุณอาจให้ลูกได้มีโอกาสเลือกด้วย เช่น เขาอยากกินยาวิธีไหน อยากกินยาตอนก่อนอาบน้ำหรือหลังอาบน้ำ อยากกินยาที่โต๊ะกินข้าวหรือบนโซฟา หากลูกอยากกินยาเอง คุณควรปล่อยให้เขาทำโดยดูแลอยู่ใกล้ๆ

2. ระวังอย่าให้สำลัก

เวลาป้อนยา คุณต้องค่อยๆ ป้อน หรืออาจต้องแบ่งยาเป็นส่วนเล็กๆ อย่าพยายามยัดเยียดให้ลูกกินยาจนเขาสำลัก หากเป็นทารกหรือเด็กเล็ก ควรป้อนยาที่กระพุ้งแก้มแทนการป้อนยาที่บนลิ้นส่วนหลัง โดยให้เด็กอยู่ในท่านั่งหรือหลังตรง เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กสำลัก และต้องรอให้เด็กกลืนยาลงคอก่อนจึงค่อยป้อนยาเพิ่ม

3. อธิบายให้ลูกฟังว่าทำไมต้องกินยา

หากลูกโตพอรู้ภาษา คุณควรอธิบายให้ลูกฟังว่าทำไมเขาต้องกินยา ให้ลูกรู้ว่ายาจะช่วยให้เขาหายป่วย เขาจะได้ไปโรงเรียน เล่นกับเพื่อน หรือทำกิจกรรมที่เขาชอบได้โดยเร็ว เด็กชอบเล่นหรือทำกิจกรรมต่างๆ มากกว่านอนพักนิ่งๆ อยู่ในบ้านอยู่แล้ว ยิ่งคุณพ่อคุณแม่อธิบายแบบนี้ ก็จะยิ่งทำให้เขาอยากกินยา เพราะจะได้รีบหายจากอาการป่วยและไปเล่นได้ไวๆ

4. ขอความช่วยเหลือจากคุณหมอ

ยาบางตัวอาจมีรสชาติดีกว่ายาอีกตัว หรือยาบางตัวอาจกินแค่วันละสองครั้งในขณะที่ยาอีกตัวต้องกินวันละสี่ครั้ง ดังนั้น หากลูกกินยายาก เวลาคุณหมอสั่งจ่ายยา คุณพ่อคุณแม่สามารถสอบถามถึงตัวเลือกยาที่เหมาะสม และขอคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีป้อนยาเด็กที่ถูกต้องจากคุณหมอได้

5. ผสมยากับอาหารของเด็ก

ยาเม็ดและยาแคปซูลส่วนใหญ่สามารถบดตัวยาเป็นผง หรือแกะแคปซูลออกแล้วนำผงยาข้างในมาผสมกับอาหารโปรดของลูกได้อย่างปลอดภัย วิธีนี้จะช่วยให้ลูกกินยาง่ายขึ้น อย่างไรก็ดี คุณควรปรึกษาคุณหมอก่อนใช้วิธีนี้ เพราะยาบางรูปแบบ เช่น ยาออกฤทธิ์นาน อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงได้หากคุณบดหรือแกะแคปซูล และหากคุณผสมยาในอาหารให้เด็กกิน ต้องแน่ใจด้วยว่าเด็กกินอาหารหมดจาน เพราะไม่อย่างนั้น เด็กอาจได้รับยาไม่ครบขนาดยา

6. หากป้อนยาทารก ควรผสมยากับนมแม่

วิธีป้อนยาเด็กทารกที่ได้ผลดีก็คือ การผสมยากับน้ำนมแม่หรือนมผงชงที่เด็กกินเป็นประจำ จากนั้นจึงป้อนยาผสมน้ำนมให้เด็กโดยใช้ไซรินจ์ หรือจะให้เด็กดูดนมจากขวดเองก็ได้ แต่หากใช้วิธีนี้ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรผสมยากับน้ำนมปริมาณมากเกินไป เพราะหากเด็กกินนมไม่หมดขวด อาจทำให้ได้รับยาไม่ครบขนาดยาได้

7. เพิ่มรสชาติให้ยาเด็ก

คุณอาจสอบถามคุณหมอหรือเภสัชกรว่ายาที่ลูกคุณต้องกินนั้น สามารถเลือกรสชาติได้หรือไม่ เช่น รสองุ่น รสเชอร์รี่ รสแตงโม รสสตรอว์เบอร์รี่หากมีรสชาติต่างๆ ให้เลือก คุณอาจถามลูกว่าเขาชอบรสไหน และเลือกรสที่เขาชอบที่สุด ก็จะช่วยให้เด็กอยากกินยามากขึ้น

8. ตกรางวัลเมื่อลูกยอมกินยา

เด็กวัยประถมส่วนใหญ่จะกระตือรือร้นหรืออยากทำกิจกรรมต่างๆ เมื่อมีของรางวัลให้ คุณอาจทำบอร์ดสะสมคะแนนการกินยาไว้ให้ลูก เมื่อเขากินยาหนึ่งครั้งก็จะได้คะแนนสะสม เพื่อไว้แลกของรางวัลที่ตัวเองอยากได้เมื่อกินยาครบ อาจเป็นรางวัลใหญ่ครั้งเดียวเมื่อกินยาครบกำหนด หรือมีรางวัลเล็กๆ สำหรับการกินยาในแต่ละวันด้วยก็ได้ วิธีนี้จะช่วยให้เด็กอยากกินยามากขึ้น แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องตกลงในสิ่งที่ตัวเองให้ลูกได้ด้วย เพราะหากคุณทำตามสัญญาไม่ได้ ครั้งต่อไปที่คุณใช้วิธีนี้ ลูกอาจไม่ยอมทำตาม

9. ลดรสชาติไม่พึงประสงค์ของยา

ต่อมรับรสส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณลิ้นส่วนหลัง ฉะนั้น เวลาป้อนยาเด็ก คุณพ่อคุณแม่ควรป้อนยาที่กระพุ้งแก้ม เพื่อให้เด็กรับรสชาติยาได้น้อยลง หากเป็นเด็กโตหน่อย อาจให้ดื่มน้ำเย็นๆ หรืออมน้ำแข็งก้อนเล็กๆ ก่อนกินยา ก็จะช่วยลดการรับรสชาติของยาได้

10. หัดให้ลูกกลืนยา

เด็กในวัยอนุบาล หรืออายุประมาณ 4-5 ปี สามารถเรียนรู้วิธีกลืนยาเองได้แล้ว โดยคุณพ่อคุณแม่อาจเริ่มจากการสอนให้ลูกกลืนลูกอมเม็ดเล็กๆ แล้วจึงค่อยๆ เพิ่มขนาดลูกอมให้ใหญ่ขึ้น หากเป็นยาชนิดแคปซูล คุณพ่อคุณแม่อาจจุ่มยาลงในน้ำเย็นเพื่อให้ยาลื่นขึ้น ลูกจะได้กลืนยาสะดวก หรือหากเป็นยาเม็ด คุณอาจหักยาเป็นเสี้ยวเล็กๆ แล้วใส่ไว้ในเยลลี่ ให้ลูกกินง่ายขึ้นก็ได้

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Does Your Child Refuse to Take Medicine? Some Helpful Tips. http://www.safemedication.com/safemed/PharmacistsJournal/Does-Your-Child-Refuse-to-Take-Medicine. Accessed November 29, 2019

Tips to help your child to take medicine. https://www.ouh.nhs.uk/patient-guide/leaflets/files/11990Pmedicine.pdf. Accessed November 29, 2019

Nine Stress-Free Tips for Giving Your Child Medicine. https://www.chla.org/blog/rn-remedies/nine-stress-free-tips-giving-your-child-medicine. Accessed November 29, 2019

Quick Tips: Helping Children Take Medicine. https://www.uofmhealth.org/health-library/abs2316. Accessed February 1, 2022

Top Tricks to Get Your Child to Take Medicine. https://health.clevelandclinic.org/top-tricks-to-get-your-child-to-take-medicine/. Accessed February 1, 2022

Medicine – Refusal to Take. https://www.seattlechildrens.org/conditions/a-z/medicine-refusal-to-take/. Accessed February 1, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

01/02/2022

เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

อาการแพ้ยา และ ผลข้างเคียงของยา สองอาการที่คล้ายแต่ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน

เด็กเป็นไข้ อาการ และวิธีการรับมือ


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 01/02/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา