ลูกมีรังแค อาจเกิดขึ้นจากโรคผิวหนังที่มีชื่อว่า เซ็บเดิร์ม (Seborrheic Dermatitis) หรืออาจเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น ผิวแห้ง ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผม กลาก เกลื้อน ความเครียด ทำให้หนังศีรษะลอกออกเป็นขุยสีขาว ๆ ตกสะเก็ด อาการคัน รวมถึงรอยแดงในบริเวณที่ได้รับผลกระทบ การรักษารักแคอาจทำได้ด้วยวิธีการดูแลลูกน้อย เช่น สระผมให้ลูกเป็นประจำ หวีผม ใช้แชมพูกำจัดรังแค หรืออาจปรึกษาคุณหมอเพื่อหาวิธีจัดการกับรังแคอย่างเหมาะสม
สาเหตุทำให้ ลูกมีรังแค
รังแค หรือชื่อหนึ่งคือ “เซ็บเดิร์ม” เป็นโรคผิวหนังที่พบได้บ่อยมากในเด็กและผู้ใหญ่ ลักษณะของรังแคก็คือทำให้เกิดผิวเป็นขุยสีขาวหรือเหลือบนหนังศีรษะ และส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นคิ้ว เปลือกตา หู รอยพับของจมูก หลังคอ รักแร้ ขาหนีบ และหน้าท้อง
นอกจากนั้น รังแค ยังอาจทำให้เกิดรอยแดงในบริเวณที่ได้รับผลกระทบ รวมไปถึงอาจก่อให้เกิดอาการคัน และ ผมร่วงได้ด้วยหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดรังแคในเด็กนั้นยังไม่มีสาเหตุที่แท้จริง แต่นักวิจัยบางคนเชื่อว่า อาจเกิดจากการผลิตน้ำมันของผิวในต่อมน้ำมันและรูขุมขนที่มากเกินไป ทำให้เชื้อราที่เรียกว่า มาลาสซีเซีย (Malassezia) สามารถเจริญเติบโตได้ในไขมันพร้อมกับแบคทีเรีย นอกจากนั้นมันยังมีสาเหตุมาจากสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้
- ผิวแห้ง ซึ่งอาจเกิดจากอากาศหนาวในฤดูหนาว
- อาจเกิดจากกลาก สิว หรือโรคสะเก็ดเงิน ที่สามารถทำให้เซลล์ผิวที่ตายแล้วสร้างขึ้นบนหนังศีรษะ
- สระผมบ่อยเกินไป หรือสระผมไม่เพียงพอ
- ใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม หรือสีย้อมผม ที่ทิ้งสิ่งสกปรกตกค้างเอาไว้ หรือมีปฏิกิริยาที่ไม่ดีต่อผลิตภัณฑ์เหล่านี้
- ความเครียด และสภาพทางระบบประสาท เช่น โรคพาร์กินสัน
- เกิดจากเชื้อเอชไอวี (HIV) ซึ่งทำให้ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง
โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ชายมักจะมีโอกาสเป็นรังแค ได้มากกว่าผู้หญิงเล็กน้อย
วิธีรับมือกับปัญหาลูกมีรังแค
การปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับการรักษารังแคในเด็ก คุณหมออาจจะแนะนำให้ใช้แชมพูขจัดรังแค หรือขี้ผึ้งที่ช่วยในการรักษารังแค นอกจากนั้นคุณหมออาจจะแนะนำวิธีต่าง ๆ เหล่านี้
- สระผมและหนังศีรษะให้ลูกน้อยอย่างสม่ำเสมอ
- ใช้แปรงขมนุ่มที่สะอาดในการหวีผม
- ใช้แชมพูขจัดรังแค
- หากซื้อแชมพูขจัดรังแคตามร้านขายยามาใช้แล้วไม่ได้ผล แพทย์อาจแนะนำให้ใช้แชมพูที่มีส่วมผสมของสเตียรอยด์ หรือครีมต้านเชื้อรา ซึ่งทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัญหาที่เกิดขึ้น
- แพทย์อาจแนะนำให้ใช้แชมพูที่มีกรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) ซึ่งมีคุณสมบัติในการช่วยลดรังแค
- ใช้แชมพูที่มีสารอื่น ๆ (ควรใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์) เช่น
- ซีลีเนียมซัลไฟด์ 1% (Selenium Sulfide)
- กำมะถัน (Sulfur)
- น้ำมันดิน (Tar)
- สังกะสี (Zinc)
- คีโตโคนาโซล (Ketoconazole)
- จำกัดการบริโภคอาหารบางชนิด เช่น ขนมปัง ชีส อาหารที่ทำจากยีสต์หรือรา
ก่อนที่จะทำการดูแลปัญหารังแค ที่เกิดขึ้นในลูกน้อย การปรึกษาคุณหมอเพื่อขอคำแนะนำถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ถือเป็นเรื่องที่ควรทำเป็นอย่างมาก เพื่อจะได้รับข้อมูลและวิธีการรักษาปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
[embed-health-tool-vaccination-tool]