backup og meta

เด็กเป็นสะเก็ดเงิน การรักษาและวิธีดูแลที่ควรรู้

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย อนันตา นานา · แก้ไขล่าสุด 07/10/2022

    เด็กเป็นสะเก็ดเงิน การรักษาและวิธีดูแลที่ควรรู้

    เด็กเป็นสะเก็ดเงิน หรือโรคสะเก็ดเงินในเด็ก เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันกระตุ้นให้ผิวหนังของเด็กเจริญเติบโตผิดปกติ จนอาจมีอาการ เช่น ผิวหนังหนาเป็นปื้นแดง มีรอยแผลบนใบหน้า และอาจส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ได้ เช่น ปัญหาสุขภาพหัวใจ ความดันโลหิตสูง ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรพาเด็กเข้าพบคุณหมอ เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง และควรดูแลเด็กที่เป็นสะเก็ดเงินอย่างถูกวิธีด้วย เพื่อช่วยให้รับมือกับโรคนี้ได้ดีขึ้น

    เด็กเป็นสะเก็ดเงิน เพราะอะไร

    โรคสะเก็ดเงินในเด็ก (Psoriasis) เป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่อาจเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องและกระตุ้นให้เซลล์ผิวหนังเจริญเติบโตไวกว่าปกติ จึงส่งผลให้ผิวหนังหนาตัวขึ้น และมีสะเก็ดผิวหนังสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก โรคนี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผิวหนัง หนังศีรษะ และเล็บ เมื่อเด็กเป็นสะเก็ดเงินจะทำให้ผิวหนังบริเวณใบหน้า หนังศีรษะ ลำตัว แขนและขา หนาตัวเป็นปื้นแดงยาว ผิวบริเวณรอยพับอักเสบ

    โรคสะเก็ดเงินมีอยู่หลายชนิด แต่ชนิดที่พบได้บ่อยที่สุดในเด็ก คือ โรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นหนา (Plaque Psoriasis) ลักษณะเป็นผื่นแห้ง แดง ซึ่งอาจมีขุยหรือสะเก็ดสีเงินปกคลุมอยู่ด้วย พบมากบริเวณหัวเข่า ข้อศอก แผ่นหลัง และหนังศีรษะ บางครั้งอาจทำให้มีอาการคันหรือมีเลือดซึมจากผื่น อีกชนิด คือ โรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นขนาดเล็ก (Guttate Psoriasis) ซึ่งมักจะปรากฏผื่นนูนแดงหรือจุดเล็ก ๆ ขนาดประมาณหยดน้ำหรือเหรียญกระจายอยู่ทั่วตัว หากมีประวัติครอบครัวเป็นโรคสะเก็ดเงิน ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคสะเก็ดเงินในเด็ก และทำให้อาการของโรคชัดเจนขึ้น

    ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เมื่อเด็กเป็นสะเก็ดเงิน

    เมื่อเกิดโรคสะเก็ดเงิน โดยเฉพาะในเด็ก จำเป็นต้องได้รับการรักษาทันที เพราะอาการของโรคอาจส่งผลให้เด็กรู้สึกไม่สบายตัว มีผื่นขึ้น หรืออาจส่งผลกระทบต่อจิตใจ เช่น เกิดอาการสับสน ดูวิตกกังวล หงุดหงิด นอกจากนี้ เมื่อเด็กเป็นสะเก็ดเงิน อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพหัวใจของเด็กได้ด้วย โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร JAAD (Journal of the American Academy of Dermatology) เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2560 ศึกษาเกี่ยวกับโรคสะเก็ดเงินในเด็กและโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยการทบทวนข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างอายุ 0-17 ปี จำนวน 4,884,448 คนที่รวบรวมไว้ตั้งแต่ปี 2545-2555 พบว่า เด็กเป็นสะเก็ดเงินเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคลิ้นหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคอ้วน

    เด็กเป็นสะเก็ดเงิน รักษาอย่างไร

    ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรคสะเก็ดเงินโดยเฉพาะ ส่วนใหญ่จึงต้องรักษาตามอาการ วิธีรักษาที่นิยมใช้คือ การใช้ยา โดยชนิดและปริมาณของยาอาจแตกต่างกันไปขึ้นในแต่ละบุคคล อย่างไรก็ตาม วิธีการรักษาโรคสะเก็ดเงินในเด็กที่ได้รับการยอมรับยังมีไม่มากนัก ส่วนใหญ่จะรักษาด้วยวิธีดังต่อไปนี้

    • การใช้ยาทา เช่น ยาแอนทราลิน (Anthralin) ยาแคลซิโปไตรอีน (Calcipotriene) หรือยากลุ่มอนุพันธ์วิตามินดี ยาโคลทาร์หรือน้ำมันดิน ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เหมาะสำหรับโรคสะเก็ดเงินในเด็กระดับไม่รุนแรง การใช้ยาทาพบผลข้างเคียงน้อย และค่อนข้างปลอดภัยสำหรับเด็ก
    • การบำบัดด้วยการส่องไฟ (Phototherapy) เช่น รังสียูวีสังเคราะห์ แสงเลเซอร์ นิยมใช้เมื่อรักษาด้วยยาทาไม่ได้ผล โดยก่อนที่จะวางแผนการรักษา ผู้ปกครองควรปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับผลข้างเคียงในระยะยาวที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเด็ก
    • การกินยาหรือฉีดยา ใช้เมื่อเด็กเป็นสะเก็ดเงินระดับรุนแรง อย่างไรก็ตาม การรักษาโรคสะเก็ดเงินด้วยการฉีดยาหรือกินยาอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรง จึงควรปรึกษาคุณหมอก่อนตัดสินใจรักษาด้วยวิธีนี้

    วิธีดูแลเด็กเป็นสะเก็ดเงิน ที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้

    • ปรึกษาคุณหมอผิวหนังที่มีประสบการณ์ในการรักษาโรคสะเก็ดเงินในเด็ก
    • แนะนำให้เด็กทำความเข้าใจถึงความสำคัญของการวางแผนการรักษา และปฏิบัติตัวตามแผนการรักษา
    • เลือกวิธีการบำบัดที่เหมาะสมกับอาการและช่วงอายุของเด็กที่สุด
    • ให้กำลังใจบุตรหลานอย่างสม่ำเสมอระหว่างการรักษา
    • ควรกระตุ้นให้เด็กบอกอารมณ์ความรู้สึกของตนเองออกมา เมื่อเกิดอาการของโรคสะเก็ดเงิน ซึ่งจะสามารถช่วยให้ผู้ปกครองเข้าใจว่าโรคนั้นส่งผลกระทบความรู้สึกของเด็กอย่างไร
    • ควรให้เด็กรู้สึกว่า มีอำนาจตัดสินใจในการรักษา เช่น หากเด็กชอบยาแบบครีมมากกว่าแบบขี้ผึ้ง ก็ควรปล่อยให้เด็กตัดสินใจเลือกเอง

    นอกจากนี้ ผู้ปกครองทุกคนให้ความรู้ที่เหมาะสมเกี่ยวกับโรคสะเก็ดเงินแก่บุตรหลานตั้งแต่อายุยังน้อย โดยควรแนะนำเด็กว่า หากจำเป็นก็สามารถบอกเพื่อน ๆ ได้ว่าเป็นโรคนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับเพื่อนคนอื่น ๆ เช่น การดูแลโรคที่เหมาะสมเมื่ออยู่ที่โรงเรียน โรคสะเก็ดเงินไม่ใช่โรคติดต่อ ซึ่งอาจช่วยป้องกันการถูกล้อเลียนหรือกลั่นแกล้ง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของเด็กในระยะยาวได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย อนันตา นานา · แก้ไขล่าสุด 07/10/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา