ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตบุตรหลานว่ามี สัญญาณโรคระบบประสาทในเด็ก หรือไม่? เพราะโรคระบบประสาทอาจสร้างความลำบากในการใช้ชีวิตของลูกน้อย หากตรวจพบตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้รับมือและรักษาอาการของโรคได้อย่างทันท่วงที ทำให้ลูกน้อยสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ
[embed-health-tool-vaccination-tool]
ประเภทของโรคระบบประสาทในเด็ก
โรคระบบประสาทนั้นมีอยู่มากกว่า 100 ชนิด แบ่งตามประเภทของเส้นประสาทที่ได้รับผลกระทบ และลักษณะความเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ โรคระบบประสาทที่พบได้มากในเด็กคือ โรคปลายประสาทอักเสบ (Polyneuropathy หรือ Peripheral Neuropathy) ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทหลัก ดังนี้
- โรคปลายประสาทอักเสบเรื้อรัง (Chronic symmetrical peripheral neuropathy) หมายถึง โรคปลายประสาทอักเสบที่มีอาการนานหลายเดือนขึ้นไป
- โรคปลายประสาทอักเสบหลายเส้น (Multiple mononeuropathy) หมายถึง โรคปลายประสาทอักเสบที่เกิดความเสียหายกับเส้นประสาทอย่างน้อย 2 เส้นขึ้นไป
- โรคปลายประสาทอักเสบเฉียบพลัน (Acute symmetrical peripheral neuropathy) เป็นโรคที่พบได้น้อย แต่อาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิต โดยปกติมักจะมีสาเหตุมาจาก กลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร (Guillain Barre Syndrome) ซึ่งเป็นความผิดปกติของกลุ่มระบบประสาทจนเป็นสาเหตุให้เกิดโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง
สัญญาณโรคระบบประสาทในเด็ก มีอะไรบ้าง?
สัญญาณของโรคระบบประสาทในเด็ก อาจแตกต่างกันไปตามประเภทของเส้นประสาทที่ได้รับผลกระทบ โดยสัญญาณโรคระบบประสาทในเด็ก ที่พบได้บ่อย มีดังนี้
- มีอาการชา เหน็บ รู้สึกเสียวซ่าที่เท้าหรือมือ ซึ่งสามารถลุกลามไปบริเวณขาและแขนได้
- มีอาการตัวสั่น ปวดแสบปวดร้อน
- ไวต่อการสัมผัส
- มีอาการปวดตามร่างกายระหว่างทำกิจกรรม
- ขาดสมดุลของร่างกาย อาจทำให้หกล้ม ทรงตัวไม่อยู่
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- เป็นอัมพาตหากเส้นประสาทสั่งการได้รับผลกระทบ
สัญญาณบอกว่าเส้นประสาทอัตโนมัติได้รับผลกระทบ
- ไม่สามารถทนต่อความร้อน
- เหงื่อออกมากเกินไปหรือไม่สามารถขับเหงื่อได้
- ปัญหาลำไส้ กระเพาะปัสสาวะ หรือระบบย่อยอาหาร
- ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดอาการวินเวียนศีรษะหรือหน้ามืด
หากสังเกตว่าลูกน้อยมีอาการข้างต้นควรรีบพาไปพบคุณหมอทันที เพื่อจะได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ และทันท่วงที ช่วยลดความเสี่ยงต่อความเสียหายของเส้นประสาทที่อาจลุกลามได้
ปัจจัยเสี่ยงของ โรคระบบประสาทในเด็ก
ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดเส้นประสาทส่วนปลายอักเสบ มีดังนี้
- โรคเบาหวาน โดยเฉพาะผู้ที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้
- ขาดวิตามิน โดยเฉพาะวิตามินบี
- การติดเชื้อโรค เช่น โรคงูสวัด HIV ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี
- โรคแพ้ภูมิตัวเอง
- ความผิดปกติของตับ ไต หรือไทรอยด์
- การสัมผัสกับสารพิษ
- การเคลื่อนไหวซ้ำ ๆ
- กรรมพันธุ์ที่เกี่ยวกับโรคประสาท
ภาวะแทรกซ้อน
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นหากลูกน้อยมีอาการเส้นประสาทส่วนปลายอักเสบ
- เกิดแผลไหม้หรืออาการบาดเจ็บที่ผิวหนัง เมื่อเส้นประสาทส่วนปลายอักเสบ อาจทำให้สูญเสียการรับรู้ทางความรู้สึก และทำให้ไม่รู้สึกเจ็บปวดหรือเกิดอาการชา เมื่อถูกน้ำร้อนลวก หรือโดนมีดบาด
- การติดเชื้อ เมื่อร่างกายได้รับบาดเจ็บแต่ลูกน้อยไม่รู้สึกถึงอาการบาดเจ็บนั้น อาจทำให้บาดแผลเกิดการติดเชื้อได้ จึงควรตรวจสอบร่างกายอยู่เสมอเพื่อป้องกันการเกิดบาดแผลเรื้อรังและลุกลาม
- ขาดสมดุลในการทรงตัว การขาดความรู้สึกทางร่างกายอาจทำให้ลูกน้อยขาดสมดุลในการทรงตัว ที่ส่งผลต่อการเดินและการทรงตัว อาจสังเกตได้จากท่าทางการเดินที่อาจเดินไม่ตรง