กรดไหลย้อนในเด็ก (Infant Reflux) เป็นภาวะที่อาหารไหลย้อนกลับออกมาจากกระเพาะอาหาร ส่งผลให้เด็กอาเจียน หรือที่มักเรียกกันว่า “แหวะนม” มักเกิดกับเด็กทารก เป็นอาการที่มักไม่ส่งผลกระทบรุนแรง และส่วนใหญ่จะหายไปเมื่อเด็กมีอายุเกิน 18 เดือน
คำจำกัดความ
กรดไหลย้อนในเด็ก (Infant Reflux) คืออะไร
กรดไหลย้อนในเด็ก (Infant Reflux) เกิดขึ้นเมื่ออาหารไหลย้อนกลับออกมาจากกระเพาะอาหารของเด็ก จนทำให้เด็กอาเจียน หรือแหวะนม เป็นอาการที่มักไม่ส่งผลกระทบรุนแรง กรดไหลย้อน นี้มักหายไปเมื่อเด็กโตขึ้น แต่หากเด็กอายุ 18 เดือนแล้วอาการยังไม่หายไป หรือมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น เด็กอาจเป็นโรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease หรือ GERD)
เด็กบางคนอาจเกิดภาวะกรดไหลย้อนวันละหลายครั้ง แต่หากเด็กสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงดี เติบโตและมีพัฒนาการตามปกติ กรดไหลย้อนในเด็กนี้ไม่ใช่อาการที่น่าเป็นห่วงมากนัก
ในกรณีหายาก กรดไหลย้อนในเด็กอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพ เช่น โรคภูมิแพ้ ระบบทางเดินอาหารถูกรบกวน หรือโรคกรดไหลย้อน
พบได้บ่อยแค่ไหน
กรดไหลย้อนในเด็กนั้นพบได้ทั่วไปในเด็กแรกเกิดไปจนถึงเด็กทารก โดยในช่วงสามเดือนแรก เด็กมักอาเจียน หรือแหวะนมวันละหลายครั้ง และอาการนี้มักหายไปในช่วงอายุ 12-14 เดือน สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมโปรดปรึกษาแพทย์
อาการ
อาการของ กรดไหลย้อนในเด็ก
โดยทั่วไปแล้วกรดไหลย้อนในเด็กไม่ใช่ปัญหาที่น่ากังวล และไม่ใช่เรื่องง่ายที่ในกระเพาะอาหารจะมีกรดมากพอจนทำให้ลำคอหรือหลอดอาหารเกิดการระคายเคือง หรือทำให้มีสัญญาณหรืออาการแทรกซ้อนใด ๆ อย่างไรก็ตาม อาจมีอาการอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น หากมีข้อสงสัยใดๆ โปรดปรึกษาแพทย์
ควรไปพบหมอเมื่อใด
หากทารกมีอาการดังต่อไปนี้ ควรพาไปพบคุณหมอ
- น้ำหนักตัวไม่เพิ่ม
- อาเจียนรุนแรงบ่อยครั้ง และเป็นการอาเจียนพุ่ง (Projectile Vomiting)
- อาเจียนเป็นของเหลวสีเขียวหรือสีเหลือง
- อาเจียนเป็นเลือดหรือคล้ายกากกาแฟ
- ปฏิเสธอาหาร
- อุจจาระมีเลือดปน
- หายใจติดขัด หรือไอเรื้อรัง
- เริ่มอาเจียนตั้งแต่อายุ 6 เดือน หรือมากกว่านั้น
- มีอาการหงุดหงิดงอแงผิดปกติหลังรับประทานอาหาร
หากมีอาการใด ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น หรือมีข้อสงสัยใด ๆ ควรปรึกษาคุณหมอ เนื่องจากร่างกายของแต่ละคนแตกต่างกัน จึงควรพูดคุยกับคุณหมอเพื่อหาแนวทางในการรักษาที่ดีที่สุด
สาเหตุ
สาเหตุของกรดไหลย้อนในเด็ก
กล้ามเนื้อหูรูดมีหน้าที่กั้นระหว่างหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร เมื่อทารกกลืนอาหารลงไป กล้ามเนื้อนี้จะคลายตัวและปล่อยให้อาหารไหลลงไปสู่กระเพาะ และจะปิดกลับไปตามปกติ ทำให้ของในกระเพาะอาหารไม่ไหลย้อนกลับมาทางหลอดอาหาร แต่สำหรับทารกบางราย กล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่างนี้อาจยังพัฒนาไม่เต็มที่ จึงทำให้ของในกระเพาะอาหาร เช่น นม ไหลย้อนออกมาผ่านทางหลอดอาหาร ทารกจึงอาเจียนออกมา และเมื่อกล้ามเนื้อหูรูดนี้พัฒนาเต็มที่แล้วทารกก็จะไม่อาเจียนหรือแหวะนมอีก
ปัจจัยเสี่ยงกรดไหลย้อนในเด็ก
ปัจจัยที่ทำให้เกิดกรดไหลย้อนของทารก มีดังต่อไปนี้
- ทารกนอนราบเกือบตลอดเวลา
- อาหารเหลวเกือบสมบูรณ์
- ทารกที่คลอดก่อนกำหนด
บางครั้งการไหลย้อนของเด็กอาจทำให้เกิดอาการรุนแรงมากขึ้น เช่น
- โรคกรดไหลย้อน กรดไหลย้อนมีปริมาณกรดที่อาจทำให้เกิดการระคายเคืองและอาจทำลายเยื่อบุของหลอดอาหาร
- การแพ้อาหาร คือการแพ้โปรตีนในนมวัว ซึ่งอาจเป็นการกระตุ้นในภาวะไหลย้อนในเด็ก
- โรคหลอดอาหารอักเสบจากเม็ดเลือดขาวอีโอสิโนฟิล การที่พบเม็ดเลือดขาวอีโอสิโนฟิล (Eosinophil) ในเยื่อบุหลอดอาหารมากกว่าปกติทั่วไป
การวินิจฉัยและการรักษา
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยกรดไหลย้อนในเด็ก
คุณหมอจะตรวจร่างกายและถามอาการเด็กทารก หากทารกมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ เติบโตและมีพัฒนาการตามปกติ ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องตรวจอะไรเพิ่มเติม สำหรับการตรวจเพิ่มเติมที่คุณหมออาจแนะนำ มีดังนี้
- การตรวจด้วยภาพ เพื่อตรวจวัดความหนาตัวของผิวหนังบริเวณกระเพาะอาหารส่วนท้าย (Pyloric Stenosis) ที่ทำให้เกิดการอุดตัน
- การตรวจสอบในห้องแล็บ การตรวจเลือดและตรวจปัสสาวะ เพื่อบ่งชี้ หรือบอกความเป็นไปได้ของสาเหตุที่ทำให้เด็กอาเจียนบ่อย และน้ำหนักที่เพิ่มน้อย
- การตรวจวัดความเป็นกรด (Esophageal pH Monitoring) เพื่อวัดระดับความเป็น กรดในหลอดอาหารของทารก โดยคุณหมอจะสอดท่อเล็ก ๆ ที่ติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดความเป็นกรดลงไปยังหลอดอาหารผ่านทางจมูกหรือปาก และทารกอาจต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาลขณะที่ทำการตรวจนี้
- เอ็กซเรย์ หรือฉายภาพ เพื่อตรวจจับความผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร เช่น การอุดตัน ทารกอาจต้องได้รับสารทึบรังสีแบเรียม (Barium) ในขวดก่อนการตรวจสอบ
- การส่องกล้องด้านบน ใช้ท่อพิเศษที่ติดตั้งกล้องและไฟ เรียกว่ากล้องเอ็นโดสโคป (Endoscope) ผ่านเข้าไปทางปากของทารก ผ่านหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนบน และอาจมีการนำเนื้อเยื่อตัวอย่างมาเพื่อวิเคราะห์ โดยอาจต้องมีการให้ยาระงับความรู้สึกทั่วไปในระหว่างตรวจด้วย
การรักษากรดไหลย้อนในเด็ก
โดยปกติแล้ว กรดไหลย้อนในเด็กมักจะหายได้เอง โดยคุณหมออาจแนะนำให้ปฏิบัติดังนี้ร่วมด้วย
- ป้อนอาหารทารกแต่ละมื้อให้น้อยลง แต่เพิ่มให้หลายมื้อขึ้น
- ระหว่างป้อนอาหาร ควรพักให้เด็กเรอเป็นช่วง ๆ
- หลังป้อนอาหารเสร็จ ควรประคองให้เด็กนั่งตัวตรงเป็นเวลาะเป็นเวลา 20-30 นาที
- หากกำลังอยู่ในช่วงให้นมบุตร ควรงดอาหารจำพวกนม เนื้อวัว หรือไข่ เพื่อดูว่าลูกมีอาการแพ้หรือไม่
- อย่าป้อนอาหารลูกด้วยเมนูเดิมตลอด ควรเปลี่ยนเมนูบ้าง
- ใช้จุกขวดนมที่ขนาดพอดีกับเด็ก เพราะจุกขวดนมที่ใหญ่หรือเล็กเกินไป อาจทำให้ลูกกลืนอากาศเข้าไปมากกว่าที่ควร
การใช้ยา
- ไม่ควรใช้ยารักษากรดไหลย้อนในเด็กที่ไม่ได้มีอาการของโรคไหลย้อนที่ซับซ้อน เนื่องจากยานี้ป้องกันการดูดซึมแคลเซียมและธาตุเหล็ก และเพิ่มความเสี่ยงการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจและลำไส้เล็ก
อย่างไรก็ตาม อาจจำเป็นต้องใช้ยาป้องกันกรดในเวลาสั้นๆ เช่น แรนิทิดีน (Ranitidine) สำหรับทารกอายุ 1 เดือนจนถึง 1 ปี หรือยาโอเมพราโซล (Omeprazole) เช่น พิโลเสค (Prilosec) สำหรับเด็กอายุ 1 ปีหรือมากกว่า หากมีอาการดังนี้
- น้ำหนักเพิ่มน้อย และรักษาแบบธรรมดาไม่ได้ผล
- ไม่ยอมกินอาหาร
- มีหลักฐานบ่งชี้ว่าหลอดอาหารอักเสบ (inflamed esophagus)
- เป็นโรคหอบหืดเรื้อรัง และโรคกรดไหลย้อน
การผ่าตัด
- ในกรณีหายาก อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดกระชับกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่างให้แน่นขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้กรดไหลย้อนกลับไปสู่หลอดอาหาร โดยวิธีรักษานี้ มักใช้เมื่อมีอาการกรดไหลย้อนรุนแรงซึ่งขัดขวางการเจริญเติบโต หรือส่งผลต่อการหายใจของเด็ก
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเอง
การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์หรือการเยียวยาที่จะช่วยรับมือกรดไหลย้อนในเด็ก
ลักษณะไลฟ์สไตล์และการเยียวยาด้วยตนเองต่อไปนี้ อาจจะช่วยรับมือกับอาการของโรคได้
- ให้เด็กนั่งตัวตรงระหว่างกินอาหาร และประคองให้เด็กนั่งตรง 20-30 นาที หลังป้อนอาหารเสร็จ แรงโน้มถ่วงจะช่วยให้สิ่งที่อยู่ในกระเพาะอาหาร เช่น น้ำย่อย น้ำนม อยู่ในที่ ๆ ควรอยู่ ระวังอย่ากระแทกหรือทำให้ทารกกระตุกขณะกำลังกลืนอาหารลงกระเพาะ
- ป้อนอาหารในแต่ละมื้อในปริมาณที่น้อยลง แต่เพิ่มมื้ออาหารในแต่ละวันให้มากขึ้น
- ทำให้ลูกเรอ เพราะการที่เด็กเรอบ่อย ๆ ทั้งระหว่างและหลังกินอาหาร จะช่วยให้ไม่มีการก่อตัวของอากาศในกระเพาะ
- ให้เด็กนอนหงาย ทารกส่วนใหญ่ควรจะนอนหงาย แม้จะเป็นโรคกรดไหลย้อนก็ตาม
[embed-health-tool-vaccination-tool]