backup og meta

ร้อนในที่เหงือก ในเด็ก อาการและวิธีดูแล

ร้อนในที่เหงือก ในเด็ก อาการและวิธีดูแล

ร้อนในที่เหงือก ในเด็ก อาการและวิธีดูแล

ร้อนในที่เหงือก คือภาวะที่มีแผลเปิดบริเวณเหงือก หรือบางครั้ง อาจแผลร้อนในที่บริเวณอื่นภายในช่องปากได้ เช่น กระพุ้งแก้ม เพดานอ่อน ริมฝีปาก แผลร้อนในมักมีลักษณะเป็นแผลขนาดเล็ก สีขาวและอาจบวมแดง ภาวะร้อนในที่เหงือกอาจเกิดจากการดื่มน้ำน้อย พันธุกรรม การติดเชื้อไวรัส การแพ้อาหารบางชนิด โรคประจำตัวบางอย่าง เป็นต้น ภาวะนี้สามารถเกิดได้กับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แต่มักพบบ่อยในเด็ก โดยปกติแล้ว ภาวะร้อนในที่เหงือกสามารถหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ และอาจบรรเทาได้ด้วยการใช้ยา เช่น ยาลดกรด ยาป้ายแผลในปาก ร่วมกับการดูแลตัวเองเบื้องต้น เช่น การดื่มน้ำเยอะ ๆ การงดรับประทานอาหารรสจัด พักผ่อนให้เพียงพอ รักษาสุขภาพช่องปาก แต่หากร้อนในที่เหงือกเรื้อรังและมีอาการนานเกิน 3 สัปดาห์ ควรพาเด็กไปพบคุณหมอเพื่อทำการรักษาอย่างเหมาะสม

อาการของ ร้อนในที่เหงือก

อาการที่เป็นสัญญาณว่าเด็กเป็นร้อนในที่เหงือก อาจมีดังนี้

  • มีแผลพุพองเล็ก ๆ บริเวณเหงือก ตรงกลางแผลเป็นสีขาว ขอบแผลเป็นสีแดง แผลมักมีขนาดประมาณ 2-3 มิลลิเมตร แต่บางครั้งก็อาจเป็นแผลลึกและกว้างได้
  • มีปัญหาในการเคี้ยวอาหารหรือแปรงฟัน
  • รับประทานอาหารได้น้อยลง ในเด็กเล็กอาจมีน้ำลายยืด ไม่ยอมกลืนน้ำลาย
  • หายใจทางปากบ่อยขึ้น
  • ลมหายใจมีไอร้อน มีกลิ่นปาก
  • มีอาการงอแงโดยไม่ทราบสาเหตุ

สาเหตุที่อาจทำให้เกิด ร้อนในที่เหงือก

แม้จะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดร้อนในที่เหงือก แต่ปัจจัยเหล่านี้ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะนี้ได้

  • การแปรงฟันที่รุนแรงหรือแปรงสีฟันกระแทกเหงือก
  • กรรมพันธุ์
  • เหงือกระคายเคืองจากน้ำยาฆ่าเชื้อที่มีฤทธิ์รุนแรง เช่น น้ำยาบ้วนปาก
  • การติดเชื้อไวรัส เช่น กลุ่มโรคมือเท้าปาก การติดเชื้อไวรัสเริม ที่อาจทำให้เกิดการอักเสบภายในช่องปาก
  • การดื่มน้ำหรือของเหลวน้อยเกินไป
  • การขาดสารอาหาร เช่น วิตามินบี 12 เหล็ก สังกะสี กรดโฟลิก
  • การแพ้อาหารบางชนิด เช่น อาหารรสจัด อาหารที่มีฤทธิ์เป็นกรด อย่าง ชา กาแฟ น้ำอัดลม เป็นต้น
  • การรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่ร้อนเกินไป
  • ภาวะเครียดหรือวิตกกังวล
  • โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory Bowel Disease) ซึ่งเป็นภาวะที่เยื่อบุของลำไส้ใหญ่และทวารหนักอักเสบและเป็นแผล และอาจทำให้เกิดร้อนในตั้งแต่ในช่องปากไปจนถึงบริเวณทวารหนัก
  • โรคเซลิแอค (Celiac Disease) ซึ่งเป็นภาวะที่ระบบภูมิคุ้มกันทำลายเนื้อเยื่อภายในร่างกายเมื่อรับประทานกลูเตน อาจส่งผลให้เกิดร้อนในที่เหงือกได้
  • ระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ จนอาจไปโจมตีเซลล์ในช่องปากแทนการป้องกันเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย (กลุ่มโรคแพ้ภูมิตัวเอง)

การดูแลช่องปากเมื่อมี ร้อนในที่เหงือก

การดูแลเหงือกเมื่อเกิดร้อนใน อาจทำได้ดังนี้

  • รักษาด้วยยา
    • เด็กอายุ 1 ปีขึ้นไป ให้รับประทานยาลดกรด (Antacids) 4 ครั้งต่อวัน เพื่อลดอาการบวมภายในช่องปาก โดยอาจให้ยาหลังมื้ออาหาร
    • เด็กอายุ 1-6 ปี อาจใช้ยาลดกรดหยดหรือแต้มตามแผลร้อนในที่เหงือก
    • เด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป ให้ใช้ยาลดกรดปริมาณ 1 ช้อนชา หรือ 5 มิลลิลิตร เป็นน้ำยาบ้วนปาก
    • เด็กอายุ 7 ปี ขึ้นไป ให้ใช้ยาไตรแอมซิโนโลน (Triamcinolone) ชนิดป้ายแผลในปากเพื่อรักษาอาการลิ้นเป็นร้อนใน แนะนำให้ใช้ในระยะเวลาที่สั้นที่สุด (5-7 วัน) เนื่องจากเด็กไวต่อยาและอาจมีอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่
    • ใช้ยาอะเซตามิโนเฟนหรือยาไอบูโพรเฟนเพื่อบรรเทาปวด โดยรับประทานให้เหมาะสมกับน้ำหนักและอายุของเด็ก
  • บ้วนปากด้วยน้ำเกลือวันละ 2-3 ครั้ง เพื่อฆ่าเชื้อโรคในช่องปาก
  • ใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของคลอเฮกซิดีนกลูโคเนต (Chlorhexidine Gluconate) ที่ใช้รักษาและป้องกันการติดเชื้อในช่องปากและลำคอ และควรเลือกที่ไม่มีแอลกอฮอล์ (ห้ามใช้น้ำยาบ้วนปากทั่วไป เพราะระคายเคืองเยื่อบุช่องปากและทำให้เจ็บแผลมากขึ้น)
  • ดื่มน้ำหรือของเหลวให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
  • รับประทานอาหารเย็น ๆ เช่น บัวลอยใส่น้ำแข็งไส ไอศกรีม
  • หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด (เปรี้ยว เผ็ด เค็ม) หรืออาหารที่เพิ่มกรดภายในช่องปาก
  • หลีกเลี่ยงการเคี้ยวหมากฝรั่ง เพื่อลดการเสียน้ำในช่องปากและการระคายเคืองในช่องปาก

หากแผลร้อนในเกี่ยวข้องกับความเครียด อาจต้องช่วยจัดการความเครียดของเด็ก หากไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเอง ควรปรึกษานักจิตบำบัดหรือหมอจิตวิทยาเด็ก

เมื่อไหร่ควรไปหาคุณหมอ

ร้อนในที่เหงือก สามารถหายไปเองได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ หรือช้าสุดไม่เกิน 3 สัปดาห์ แต่หากดูแลเด็กด้วยวิธีดูแลช่องปากที่เหมาะสมแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น หรือมีอาการรุนแรงดังต่อไปนี้ ควรพาเด็กไปพบคุณหมอ เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม

  • แผลร้อนในมีขนาดใหญ่ผิดปกติ
  • แผลร้อนในพุพองลุกลามมากขึ้น
  • ร้อนในเป็น ๆ หายๆ เและมีแผลร้อนในเกิดขึ้นใหม่ก่อนแผลเก่าจะหาย
  • เด็กเป็นร้อนในมากกว่า 3 สัปดาห์
  • มีแผลร้อนในและมีไข้สูง

[embed-health-tool-vaccination-tool]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Canker Sore (Aphthous Ulcer). https://www.webmd.com/oral-health/guide/canker-sores.  Accessed April 12, 2022

Mouth Ulcers. https://www.seattlechildrens.org/conditions/a-z/mouth-ulcers/. Accessed April 12, 2022

Canker sore. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/canker-sore/symptoms-causes/syc-20370615. Accessed April 12, 2022

Canker Sores. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/10945-canker-sores. Accessed April 12, 2022

Mouth ulcers. https://www.betterhealth.vic.gov.au/health/conditionsandtreatments/mouth-ulcers. Accessed April 12, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

23/05/2022

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอนงค์พร ผาภูมิ

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

แผลร้อนในในช่องปาก อาการเจ็บปวดที่พบบ่อย จัดการยังไงได้บ้าง

ปากเปื่อยร้อนใน มีสาเหตุจากโรคไข้หวัดจริงหรือ


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงอนงค์พร ผาภูมิ

พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 23/05/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา