backup og meta

ร้อนในที่เหงือก ในเด็ก อาการและวิธีดูแล

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอนงค์พร ผาภูมิ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 23/05/2022

    ร้อนในที่เหงือก ในเด็ก อาการและวิธีดูแล

    ร้อนในที่เหงือก ในเด็ก อาการและวิธีดูแล

    ร้อนในที่เหงือก คือภาวะที่มีแผลเปิดบริเวณเหงือก หรือบางครั้ง อาจแผลร้อนในที่บริเวณอื่นภายในช่องปากได้ เช่น กระพุ้งแก้ม เพดานอ่อน ริมฝีปาก แผลร้อนในมักมีลักษณะเป็นแผลขนาดเล็ก สีขาวและอาจบวมแดง ภาวะร้อนในที่เหงือกอาจเกิดจากการดื่มน้ำน้อย พันธุกรรม การติดเชื้อไวรัส การแพ้อาหารบางชนิด โรคประจำตัวบางอย่าง เป็นต้น ภาวะนี้สามารถเกิดได้กับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แต่มักพบบ่อยในเด็ก โดยปกติแล้ว ภาวะร้อนในที่เหงือกสามารถหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ และอาจบรรเทาได้ด้วยการใช้ยา เช่น ยาลดกรด ยาป้ายแผลในปาก ร่วมกับการดูแลตัวเองเบื้องต้น เช่น การดื่มน้ำเยอะ ๆ การงดรับประทานอาหารรสจัด พักผ่อนให้เพียงพอ รักษาสุขภาพช่องปาก แต่หากร้อนในที่เหงือกเรื้อรังและมีอาการนานเกิน 3 สัปดาห์ ควรพาเด็กไปพบคุณหมอเพื่อทำการรักษาอย่างเหมาะสม

    อาการของ ร้อนในที่เหงือก

    อาการที่เป็นสัญญาณว่าเด็กเป็นร้อนในที่เหงือก อาจมีดังนี้

    • มีแผลพุพองเล็ก ๆ บริเวณเหงือก ตรงกลางแผลเป็นสีขาว ขอบแผลเป็นสีแดง แผลมักมีขนาดประมาณ 2-3 มิลลิเมตร แต่บางครั้งก็อาจเป็นแผลลึกและกว้างได้
    • มีปัญหาในการเคี้ยวอาหารหรือแปรงฟัน
    • รับประทานอาหารได้น้อยลง ในเด็กเล็กอาจมีน้ำลายยืด ไม่ยอมกลืนน้ำลาย
    • หายใจทางปากบ่อยขึ้น
    • ลมหายใจมีไอร้อน มีกลิ่นปาก
    • มีอาการงอแงโดยไม่ทราบสาเหตุ

    สาเหตุที่อาจทำให้เกิด ร้อนในที่เหงือก

    แม้จะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดร้อนในที่เหงือก แต่ปัจจัยเหล่านี้ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะนี้ได้

    • การแปรงฟันที่รุนแรงหรือแปรงสีฟันกระแทกเหงือก
    • กรรมพันธุ์
    • เหงือกระคายเคืองจากน้ำยาฆ่าเชื้อที่มีฤทธิ์รุนแรง เช่น น้ำยาบ้วนปาก
    • การติดเชื้อไวรัส เช่น กลุ่มโรคมือเท้าปาก การติดเชื้อไวรัสเริม ที่อาจทำให้เกิดการอักเสบภายในช่องปาก
    • การดื่มน้ำหรือของเหลวน้อยเกินไป
    • การขาดสารอาหาร เช่น วิตามินบี 12 เหล็ก สังกะสี กรดโฟลิก
    • การแพ้อาหารบางชนิด เช่น อาหารรสจัด อาหารที่มีฤทธิ์เป็นกรด อย่าง ชา กาแฟ น้ำอัดลม เป็นต้น
    • การรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่ร้อนเกินไป
    • ภาวะเครียดหรือวิตกกังวล
    • โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory Bowel Disease) ซึ่งเป็นภาวะที่เยื่อบุของลำไส้ใหญ่และทวารหนักอักเสบและเป็นแผล และอาจทำให้เกิดร้อนในตั้งแต่ในช่องปากไปจนถึงบริเวณทวารหนัก
    • โรคเซลิแอค (Celiac Disease) ซึ่งเป็นภาวะที่ระบบภูมิคุ้มกันทำลายเนื้อเยื่อภายในร่างกายเมื่อรับประทานกลูเตน อาจส่งผลให้เกิดร้อนในที่เหงือกได้
    • ระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ จนอาจไปโจมตีเซลล์ในช่องปากแทนการป้องกันเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย (กลุ่มโรคแพ้ภูมิตัวเอง)

    การดูแลช่องปากเมื่อมี ร้อนในที่เหงือก

    การดูแลเหงือกเมื่อเกิดร้อนใน อาจทำได้ดังนี้

    • รักษาด้วยยา
  • เด็กอายุ 1 ปีขึ้นไป ให้รับประทานยาลดกรด (Antacids) 4 ครั้งต่อวัน เพื่อลดอาการบวมภายในช่องปาก โดยอาจให้ยาหลังมื้ออาหาร
  • เด็กอายุ 1-6 ปี อาจใช้ยาลดกรดหยดหรือแต้มตามแผลร้อนในที่เหงือก
  • เด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป ให้ใช้ยาลดกรดปริมาณ 1 ช้อนชา หรือ 5 มิลลิลิตร เป็นน้ำยาบ้วนปาก
  • เด็กอายุ 7 ปี ขึ้นไป ให้ใช้ยาไตรแอมซิโนโลน (Triamcinolone) ชนิดป้ายแผลในปากเพื่อรักษาอาการลิ้นเป็นร้อนใน แนะนำให้ใช้ในระยะเวลาที่สั้นที่สุด (5-7 วัน) เนื่องจากเด็กไวต่อยาและอาจมีอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่
  • ใช้ยาอะเซตามิโนเฟนหรือยาไอบูโพรเฟนเพื่อบรรเทาปวด โดยรับประทานให้เหมาะสมกับน้ำหนักและอายุของเด็ก
  • บ้วนปากด้วยน้ำเกลือวันละ 2-3 ครั้ง เพื่อฆ่าเชื้อโรคในช่องปาก
  • ใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของคลอเฮกซิดีนกลูโคเนต (Chlorhexidine Gluconate) ที่ใช้รักษาและป้องกันการติดเชื้อในช่องปากและลำคอ และควรเลือกที่ไม่มีแอลกอฮอล์ (ห้ามใช้น้ำยาบ้วนปากทั่วไป เพราะระคายเคืองเยื่อบุช่องปากและทำให้เจ็บแผลมากขึ้น)
  • ดื่มน้ำหรือของเหลวให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
  • รับประทานอาหารเย็น ๆ เช่น บัวลอยใส่น้ำแข็งไส ไอศกรีม
  • หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด (เปรี้ยว เผ็ด เค็ม) หรืออาหารที่เพิ่มกรดภายในช่องปาก
  • หลีกเลี่ยงการเคี้ยวหมากฝรั่ง เพื่อลดการเสียน้ำในช่องปากและการระคายเคืองในช่องปาก
  • หากแผลร้อนในเกี่ยวข้องกับความเครียด อาจต้องช่วยจัดการความเครียดของเด็ก หากไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเอง ควรปรึกษานักจิตบำบัดหรือหมอจิตวิทยาเด็ก

    เมื่อไหร่ควรไปหาคุณหมอ

    ร้อนในที่เหงือก สามารถหายไปเองได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ หรือช้าสุดไม่เกิน 3 สัปดาห์ แต่หากดูแลเด็กด้วยวิธีดูแลช่องปากที่เหมาะสมแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น หรือมีอาการรุนแรงดังต่อไปนี้ ควรพาเด็กไปพบคุณหมอ เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม

    • แผลร้อนในมีขนาดใหญ่ผิดปกติ
    • แผลร้อนในพุพองลุกลามมากขึ้น
    • ร้อนในเป็น ๆ หายๆ เและมีแผลร้อนในเกิดขึ้นใหม่ก่อนแผลเก่าจะหาย
    • เด็กเป็นร้อนในมากกว่า 3 สัปดาห์
    • มีแผลร้อนในและมีไข้สูง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอนงค์พร ผาภูมิ

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 23/05/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา