backup og meta

ลูกตัวร้อน เกิดจากอะไร พ่อแม่ควรรับมืออย่างไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 31/10/2022

    ลูกตัวร้อน เกิดจากอะไร พ่อแม่ควรรับมืออย่างไร

    ลูกตัวร้อน เป็นภาวะที่อุณหภูมิร่างกายเด็กสูงเกินกว่า 38 องศาเซลเซียส เกิดจากร่างกายปรับอุณหภูมิให้สูงขึ้นเพื่อต่อสู้กับการติดเชื้อไวรัส ภาวะนี้อาจนำไปสู่การล้มป่วยได้ เพื่อความปลอดภัย คุณพ่อคุณแม่ควรลดอุณหภูมิร่างกายให้ลูกเบื้องต้น และสังเกตอาการผิดปกติอย่างใกล้ชิด

    สาเหตุที่ทำให้ ลูกตัวร้อน

    สาเหตุที่ทำให้ลูกตัวร้อน หรือมีไข้ อาจมาจากภาวะของโรค ดังต่อไปนี้

    1. ไข้หวัดใหญ่

    เด็กที่อยู่ในช่วงอายุ 2-5 ปี อาจเสี่ยงเป็นไข้หวัดใหญ่จากการติดเชื้อไวรัสในทางเดินหายใจ และก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคปอดบวม โรคหอบหืด โดยอาการเบื้องต้นของไข้หวัดใหญ่สามารถสังเกตได้จากลูกตัวร้อน มีน้ำมูก คัดจมูก ไอ เจ็บคอ

    1. หูชั้นกลางอักเสบ

    หูชั้นกลางอักเสบเกิดจากการติดเชื้อที่หูชั้นกลาง ทำให้เยื่อแก้วหูอักเสบ ส่งผลให้เด็กมีไข้ขึ้นสูง มีปัญหาเกี่ยวกับการรับประทานอาหาร และการนอนหลับ หากเป็นเด็กโตอาจบอกได้เมื่อรู้สึกเจ็บปวดภายในหู แต่สำหรับเด็กเล็ก หรือทารกอาจสังเกตได้จากพฤติกรรมการดึงหู หรือร้องไห้มากกว่าปกติ

    1. ไข้ผื่นกุหลาบ

    ไข้ผื่นกุหลาบ หรือ ส่าไข้ เป็นภาวะที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส พบได้มากในเด็กอายุระหว่าง 6 เดือน ถึง 2 ขวบ ส่งผลให้เด็กมีไข้สูงเป็นเวลาหลายวัน และมีผื่นขึ้นตามผิวหนัง นอกจากนี้ ยังอาจแพร่เชื้อติดต่อกันได้ผ่านการไอจาม

    1. ต่อมทอนซิลอักเสบ

    หน้าที่ของต่อมทอนซิลคือช่วยต่อสู้กับเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายผ่านทางปาก และจมูก ก่อนที่เชื้อโรคจะนำไปสู่การติดเชื้อในส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย แต่ในขณะเดียวกัน เชื้อไวรัส และแบคทีเรียก็อาจเข้าไปในต่อมทอนซิลจนส่งผลให้ต่อมทอนซิลอักเสบ จนเด็กอาจมีไข้ ปวดศีรษะ และต่อมทอนซิลบวมแดงได้

    1. การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ

    เมื่อแบคทีเรียเข้าไปในช่องทางเดินปัสสาวะ อาจทำให้ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ส่งผลให้เด็กอาจมีไข้ขึ้น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และแสบร้อนขณะปัสสาวะ

    1. โรคอีสุกอีใส

    โรคอีสุกอีใส เกิดจากการติดเชื้อไวรัสวาริเซลลา ซอสเตอร์ (Varicella-zoster) ซึ่งเกิดขึ้นได้บ่อยในเด็ก โดยอาการของโรคอีสุกอีใสส่วนใหญ่มักปรากฏขึ้นภายใน 10-21 วันหลังได้รับเชื้อ อาการทั่วไป เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ เหนื่อยล้า ความอยากอาหารลดลง มีตุ่มพองขึ้นบนผิวหนัง

    1. โรคไอกรน

    โรคไอกรน เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอาการรุนแรงกับคนทุกช่วงวัยได้ภายใน 5- 10 วันหลังติดเชื้อ และทำให้มีไข้ต่ำ น้ำมูกไหล และไอ ได้นาน 1-2 สัปดาห์ หลังจาก 2 สัปดาห์อาจทำให้ผู้ป่วยบางคนมีอาการอาเจียน อ่อนเพลีย และไอรุนแรงได้

    นอกจากภาวะของโรคข้างต้นแล้ว ผลข้างเคียงจากการรับประทานยาบางชนิด และการฉีดวัคซีน ก็อาจเป็นสาเหตุให้ลูกตัวร้อน หรือมีไข้ได้เช่นเดียวกัน

    ลูกตัวร้อน ควรทำอย่างไร

    เมื่อลูกตัวร้อน คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลลูกเบื้องต้น เพื่อลดอุณหภูมิในร่างกาย ด้วยวิธีดังนี้

  • ให้ลูกดื่มน้ำในปริมาณมากต่อวัน เพื่อป้องกันภาวะร่างกายขาดน้ำ
  • ควรให้ลูกสวมใส่เสื้อผ้าสบาย ๆ ไม่อึดอัด หรือรัดแน่น
  • เช็ดตัวด้วยผ้าชุบน้ำอุ่น เพื่อลดอุณหภูมิของร่างกาย
  • อาบน้ำให้ลูกด้วยน้ำอุ่น เพราะการอาบน้ำเย็นอาจทำให้เกิดอาการหนาวสั่น ส่งผลให้เด็กมีอุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นได้
  • ควรให้ลูกนอนพักผ่อนให้เพียงพอ
  • ให้ลูกรับประทานยาลดไข้ตามคำแนะนำของคุณหมอ เช่น อะเซตามิโนเฟน ไอบูโพรเฟนสำหรับเด็กที่อยู่ในช่วงอายุน้อยกว่า 2 เดือน ถึง 2 ปี คุณพ่อคุณแม่ควรเข้าขอรับคำปรึกษาจากคุณหมอ ไม่ควรให้ลูกรับประทานยาเองโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากคุณหมอ
  • อาการที่ควรพาลูกเข้าพบคุณหมอ

    อาการที่ควรพาลูกเข้าพบคุณหมอ

    อาการเจ็บป่วยในเด็กอาจแตกต่างกันไปตามสาเหตุของโรค และชนิดของเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรียที่ได้รับ อาการส่วนใหญ่อาจหายได้เอง แต่หากลูกมีอาการดังต่อไปนี้ ควรพาพบไปพบคุณหมอทันที

    • อุณหภูมิสูงกว่า 38 องศาเซลเซียส
    • ปวดศีรษะ
    • หายใจลำบาก
    • ปวดหู
    • เจ็บคอ
    • อาเจียนบ่อย
    • ผื่นขึ้นบนผิวหนัง
    • ริมฝีปาก ลิ้น เล็บ เปลี่ยนเป็นสีฟ้า
    • ปวดท้อง
    • ท้องร่วงเป็นเวลาหลายวัน
    • ปัสสาวะน้อย
    • มีอาการชัก

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 31/10/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา