ลูกไม่สบายหรือมีไข้อาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียบางชนิด หากพบว่า ลูกตัวร้อน ไข้ไม่ลด ควรดูแลเบื้องต้นที่บ้านด้วยการเช็ดตัวเพื่อลดอุณหภูมิร่างกาย ดื่มน้ำและพักผ่อนให้มาก ๆ หรือบางรายอาจต้องใช้ยาลดไข้ตามคำสั่งแพทย์ วิธีเหล่านี้มักช่วยให้ลูกหายไข้ได้ภายใน 5-7 วัน แต่หากมีอาการต่อเนื่องหรืออาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบคุณหมอทันที
[embed-health-tool-vaccination-tool]
สาเหตุที่ทำให้ลูกเป็นไข้
โดยทั่วไป อุณหภูมิของเด็กเล็กและเด็กโตจะอยู่ที่ประมาณ 36.4 องศาเซลเซียส หากพบว่าลูกมีอุณหภูมิร่างกายเกิน 38 องศาเซลเซียส สัมผัสหน้าผากหรือแผ่นหลังแล้วรู้สึกว่าลูกตัวร้อนผ่าว มีเหงื่อออกเยอะ ดูเซื่องซึมกว่าปกติ แสดงว่าลูกกำลังมีไข้ ซึ่งเป็นการตอบสนองตามธรรมชาติของร่างกายต่อการติดเชื้อ เช่น เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เมื่อเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย ร่างกายจะเพิ่มอุณหภูมิเพื่อทำให้เชื้อโรคที่ก่อให้เกิดการติดเชื้ออยู่รอดได้ยากขึ้น การดูแลเบื้องต้นที่เหมาะสม อาจทำให้อาการไข้ของลูกหายไปเองภายใน 3-4 วัน
ภาวะที่อาจทำให้ลูกเป็นไข้ เช่น
- โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ (Respiratory tract infections หรือ RTI) เช่น โรคหวัด โรคปอดอักเสบ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย อาจทำให้เด็กมีไข้สูงหรือต่ำตามชนิดของเชื้อ ไอ เจ็บคอ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้
- โรคหูติดเชื้อในเด็ก เป็นโรคที่พบมากในเด็กทารกและเด็กเล็ก เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในหู อาจทำให้เกิดอาการไข้ร่วมด้วย
- โรคส่าไข้หรือหัดกุหลาบ (Roseola) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มเดียวกับโรคเริม มักพบในทารกและเด็กเล็ก แพร่กระจายผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วย อาจทำให้เด็กตัวร้อนตลอดเวลาร่วมกับมีผื่นคันบนผิวหนัง
- ต่อมทอนซิลอักเสบ (Tonsillitis) มักพบในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ทำให้มีไข้สูง อ่อนเพลีย เจ็บคอ กลืนลำบาก
- โรคติดเชื้อในไตหรือทางเดินปัสสาวะ (UTIs) เช่น โรคกรวยไตอักเสบ โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ อาจทำให้เด็กตัวร้อน มีไข้สูง และร้องไห้งอแง
- โรคทั่วไปในเด็ก เช่น โรคอีสุกอีใส โรคไอกรน อาจทำให้เด็กมีอาการไข้ ตัวร้อน
- การฉีดวัคซีนป้องกันโรค เช่น วัคซีนคอตีบ บาดทะยัก และไอกรน อาจทำให้เด็กมีไข้สูง ผิวหนังบริเวณที่ฉีดวัคซีนบวมแดง อ่อนเพลีย เป็นต้น
ลูกตัวร้อน ไข้ไม่ลด ควรดูแลอย่างไร
วิธีดูแลเมื่อลูกเป็นไข้ ตัวร้อน สามารถทำได้ดังนี้
- ให้ลูกสวมใส่เสื้อผ้าที่สบายตัว ไม่รัดแน่นจนเกินไป และควรระบายอากาศได้ดี
- ไม่ควรห่มผ้าห่มที่หนาเกินไปให้ลูก เนื่องจากอาจทำให้มีความร้อนสะสมในร่างกาย จนอุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นได้
- ให้ลูกดื่มน้ำและของเหลวบ่อย ๆ เช่น น้ำเปล่า นม น้ำผลไม้ไม่เติมน้ำตาล เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายสูญเสียน้ำมากเกินไปหรือเกิดภาวะขาดน้ำ หากเป็นทารกอายุไม่เกิน 6 เดือน ควรให้ดื่มน้ำนมแม่เท่านั้น
- เช็ดตัวให้ลูกบ่อย ๆ เพื่อลดอุณหภูมิร่างกายและกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต โดยใช้ผ้าชุบน้ำธรรมดาหรืออุ่นเล็กน้อยบิดหมาด เช็ดสวนรูขุมขนตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายโดยเฉพาะซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ และอาจใช้ผ้าบิดหมาดซุกไว้ตามตำแหน่งดังกล่าวเพื่อช่วยลดอุณหภูมิได้เร็วขึ้น หลังจากนั้นใช้ผ้าแห้งอีกผืนซับน้ำออกจากตัวลูกให้แห้ง
- ให้ลูกพักผ่อนในห้องที่ระบายอากาศได้ดี ไม่ร้อนหรือเย็นจนเกินไป
- ประคบเย็นที่หน้าผากด้วยน้ำชุบน้ำเย็นบิดหมาดหรือแผ่นเจลเย็น อาจช่วยให้อุณหภูมิลดลงได้
- ให้ลูกรับประทานยาลดไข้ แต่ควรปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกรเกี่ยวกับขนาดยาที่เหมาะสมกับอายุและน้ำหนักของลูกก่อนใช้ยา
- หมั่นวัดอุณหภูมิร่างกายของลูกด้วยเทอร์โมมิเตอร์ โดยเฉพาะหากลูกดูเซื่องซึมมาก หรือเคยมีประวัติชักเมื่อเป็นไข้สูง หากอุณหภูมิร่างกายสูงควรเช็ดตัวให้บ่อยขึ้น
- หากลูกอยู่ในวัยเรียน ควรให้หยุดอยู่บ้านเพื่อพักผ่อนให้เพียงพอและป้องกันการแพร่เชื้อไปให้ผู้อื่นที่โรงเรียน
เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ
หากลูกมีอาการต่อไปนี้ ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม
- ลูกอายุน้อยกว่า 3 เดือนและมีไข้สูง 38.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป อาจเป็นสัญญาณของภาวะติดเชื้อ
- ลูกอายุน้อยกว่า 2 ปี และมีไข้สูง 38.5 องศาเซลเซียสขึ้นไปมากกว่า 1 วัน
- ลูกอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป และมีไข้สูง 38.5 องศาเซลเซียสขึ้นไปมากกว่า 3 วัน
- ลูกกลับมาเป็นไข้บ่อย ๆ และมีไข้สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส
- ลูกมีไข้ร่วมกับอาการผิดปกติ เช่น ชัก เจ็บคอรุนแรง ปวดหูหรือปวดศีรษะอย่างรุนแรง อาเจียนหรือท้องเสียซ้ำ ๆ ง่วงนอนหรือเซื่องซึมผิดปกติ ลูกร้องไห้งอแงและไม่สามารถปลอบให้สงบลงได้