backup og meta

เมื่อลูกเป็น อีสุกอีใส ควรดูแลอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอนงค์พร ผาภูมิ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 23/05/2022

    เมื่อลูกเป็น อีสุกอีใส ควรดูแลอย่างไร

    อีสุกอีใส เป็นโรคติดเชื้อไวรัสบริเวณผิวหนังที่พบสามารถพบได้ในคนทุกวัย แต่พบได้บ่อยในเด็กเล็ก อาจทำให้เกิดผื่น บวมแดง มีตุ่มน้ำพองทั่วร่างกาย ทั้งใบหน้าและลำตัว และอาจมีอาการคันร่วมด้วย อาการคันมักรุนแรงและอาจทำให้ลูกรู้สึกไม่สบายตัวเป็นอย่างมาก คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับลูก หากลูกมีไข้ เบื่ออาหาร และมีตุ่มน้ำเล็ก ๆ จำนวนมากขึ้นบนผิวหนัง อาจเป็นสัญญาณของโรคอีสุกอีใส ควรรีบพาลูกไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาอย่างเร่งด่วน และควรแยกตัวลูกให้ห่างจากเด็กคนอื่น เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค

    อีสุกอีใส คืออะไร

    อีสุกอีใส (Chickenpox) คือ โรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลลาซอสเตอร์ (Varicella Zoster Virus) ซึ่งเป็นเชื้อที่แพร่กระจายได้ง่ายผ่านการสัมผัสเชื้อโดยตรงและการหายใจเอาละอองฝอยที่มีเชื้อปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกาย ตุ่มน้ำพองที่เกิดจากการติดเชื้ออีสุกอีใสจะเริ่มขึ้นบนผิวหนังหลังจากได้รับเชื้อประมาณ 10-21 วัน โดยระยะที่สามารถแพร่เชื้อได้ไวที่สุดอยู่ในช่วง 1-2 วันก่อนตุ่มน้ำจะขึ้นบนร่างกาย และจะหมดระยะแพร่เชื้อหลังจากที่แผลแห้งและตกสะเก็ดแล้ว เด็กที่สุขภาพดีมักจะมีอาการไม่รุนแรงและสามารถหายจากอีสุกอีใสได้ภายใน 5-10 วัน แต่ในรายที่มีอาการรุนแรง ผื่นคันอาจลามไปทั่วร่างกาย หลังแผลแห้งและตกสะเก็ดอาจเกิดรอยโรคบริเวณลำคอ ดวงตา เนื้อเยื่อท่อปัสสาวะ ทวารหนัก ไปจนถึงบริเวณช่องคลอด

    อีสุกอีใส อันตรายหรือไม่

    ส่วนใหญ่แล้ว อีสุกอีใสไม่เป็นอันตรายและสามารถหายได้เองภายในเวลาไม่กี่วัน อย่างไรก็ตาม เชื้อไวรัสที่ส่งผลให้เกิดอีสุกอีใสจะไม่ได้หายไปเลย แต่จะซ่อนตัวอยู่ในปมประสาท ผู้ที่เคยเป็นอีสุกอีใสจึงเสี่ยงเกิดโรคงูสวัด (Shingles) ซึ่งเกิดจากไวรัสชนิดเดียวกันได้ในอนาคต หากอยู่ในช่วงที่ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เชื้อที่ซ่อนตัวอยู่ตามปมประสาทใต้ผิวหนังจะแบ่งตัว เพิ่มจำนวน และกระจายไปตามปมประสาท จนส่งผลให้เส้นประสาทอักเสบ เกิดผื่นแดงขึ้นบริเวณผิวหนังตามแนวเส้นประสาท ทั้งยังมักมีอาการปวดแสบปวดร้อนและมีอาการคันร่วมด้วย งูสวัดเป็นโรครุนแรงกว่าอีสุกอีใส ผู้ที่เคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อนจึงควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคงูสวัดในอนาคต อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันอาจช่วยป้องกันโรคอีสุกอีใสและโรคงูสวัดได้

    นอกจากนี้ ผู้หญิงที่ติดเชื้ออีสุกอีใสในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ อาจให้กำเนิดทารกที่มีความผิดปกติบางประการ เช่น น้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่าเกณฑ์ มีแขนและขาผิดปกติ หากติดเชื้ออีสุกอีใสในช่วงใกล้คลอด อาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ หากหญิงตั้งครรภ์พบว่ามีอาการผิดปกติเกิดขึ้นกับผิวหนังหรือมีความเสี่ยงในการเกิดอีสุกอีใสขณะตั้งครรภ์ ควรปรึกษาคุณหมอโดยด่วน

    อาการของ อีสุกอีใส

    อาการของอีสุกอีใส อาจแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้

    • ระยะที่ 1 เริ่มมีตุ่มเล็ก ๆ สีแดง สีชมพู หรือสีอื่น ๆ ปรากฏขึ้นบนผิวหนัง โดยอาจพบที่อวัยวะส่วนใดก็ได้ และเมื่อเวลาผ่านไปภายใน 24-48 ชั่วโมง ตุ่มจะแพร่กระจายไปทั่วร่างกาย รวมไปถึงเนื้อเยื่อภายในช่องปาก ทวารหนัก และบริเวณองคชาต ซึ่งอาจทำให้รู้สึกเจ็บและคันได้
    • ระยะที่ 2 ตุ่มคันกลายเป็นตุ่มพองน้ำ อาจทำให้รู้สึกคันหรือแสบผิว
    • ระยะที่ 3 ตุ่มตามร่างกายเริ่มตกสะเก็ด แต่บางส่วนอาจเป็นรอยแผลที่มีของเหลวหรือหนองไหลออกมา

    อาการอื่น ๆ ของอีสุกอีใสที่พบได้ อาจมีดังนี้

    • มีไข้
    • ปวดศีรษะ
    • ปวดเมื่อยและรู้สึกไม่สบายตัว
    • เบื่ออาหาร

    กลุ่มเสี่ยงโรคอีสุกอีใส

    อีสุกอีใสสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่ผู้ที่มีภาวะดังต่อไปนี้อาจเสี่ยงเกิดโรคอีสุกอีใสได้ง่ายขึ้น

    • ทารกแรกเกิดที่คุณแม่ไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสหรือไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อน
    • ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ติดเชื้อได้ง่าย
    • ผู้ที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ร่วมกับเด็ก
    • ผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์สำหรับรักษาโรค เช่น โรคหอบหืด
    • ผู้รับประทานยากดภูมิคุ้มกัน เช่น โรคเอสแอลอี (SLE) หรือโรคลูปัส กลุ่มผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ
    • ผู้ที่สูบบุหรี่

    ภาวะแทรกซ้อนจากอีสุกอีใส

    อีสุกอีใสเป็นโรคที่ไม่รุนแรงมาก แต่ก็อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงดังต่อไปนี้ได้

    • ภาวะขาดน้ำ (Dehydration)
    • โรคปอดอักเสบหรือที่เรียกว่าปอดบวม (Pneumonia)
    • โรคไข้สมองอักเสบ (Encephalitis)
    • กลุ่มอาการท็อกซิกช็อก (Toxic Shock Syndrome) เป็นอาการช็อกจากสารพิษ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ซึ่งอาจทำให้อวัยวะล้มเหลว บางรายรุนแรงเสียชีวิตได้
    • การติดเชื้อแบคทีเรียในเนื้อเยื่อชั้นใต้ผิวหนัง
    • การติดเชื้อในกล้ามเนื้อและกระดูก
    • การติดเชื้อในกระแสเลือด

    วิธีรักษาและดูแลเมื่อลูกเป็น อีสุกอีใส

    วิธีรักษาและดูแลเมื่อลูกเป็นโรคอีสุกอีใส มีดังนี้

    • ให้ลูกสวมเสื้อผ้าหลวม ๆ และทำจากผ้าที่ไม่ระคายเคืองผิว ระบายอากาศและความชื้นได้ดี เช่น ผ้าใยไผ่ ผ้าฝ้าย
    • อย่าให้ลูกแกะหรือเกาแผล เพราะอาจทำให้เกิดแผลเป็นและทำให้แผลติดเชื้อแบคทีเรียได้ หากลูกหยุดเกาไม่ได้ อาจตัดเล็บลูกให้สั้นลง หรือใส่ถุงมือให้ลูกขณะลูกนอนหลับ
    • ทายาบรรเทาอาการคัน เช่น คาลาไมน์ (Calamine) บริเวณตุ่มแผล เพื่อลดอาการคันและระคายเคืองผิว (รายที่คันมาก แนะนำปรึกษาแพทย์เพื่อรับยารับประทานแก้แพ้แก้คันร่วมด้วย)
    • หากเกิดตุ่มแผลอีสุกอีใสภายในปาก ให้ลูกกินอาหารเนื้ออ่อน นิ่ม และเคี้ยวง่าย
    • ให้ลูกดื่มน้ำเยอะ ๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ เด็กอายุ 1-3 ปี ควรดื่มน้ำอย่างน้อย 5 แก้ว หรือ 1.3 ลิตร ส่วนเด็กอายุ 3-8 ปี ควรดื่มน้ำอย่างน้อย 6-7 แก้ว หรือ 1.7 ลิตร
    • ให้ลูกอาบน้ำเย็นและซับผิวเบา ๆ ให้แห้ง ไม่ขัดหรือถูผิวแรง ๆ และไม่ให้ลูกใช้ผ้าเช็ดตัวหรือของใช้ส่วนตัวร่วมกับคนอื่นในบ้าน
    • หากต้องการให้ลูกกินยาแก้ปวดลดไข้ ให้ใช้ยาพาราเซตามอลตามปริมาณที่เหมาะสมกับน้ำหนักและอายุของลูก และไม่ควรใช้ยาพาราเซตามอลปริมาณมากเกินขนาด หรือนานเกิน 7 วัน เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดกลุ่มอาการเรย์ (Reye’s Syndrome) ที่ส่งผลต่ออวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกาย โดยเฉพาะสมองและตับ ทำให้อาเจียนรุนแรง และมีอาการทางสมอง เช่น สับสน ซึม หมดสติ ซึ่งอาจร้ายแรงจนถึงแก่ชีวิตได้ ทั้งนี้ ภาวะ Reye’s syndrome นี้พบได้น้อยมาก

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอนงค์พร ผาภูมิ

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 23/05/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา