backup og meta

การวัดอุณหภูมิร่างกาย ทารก ที่คุณแม่ควรรู้

การวัดอุณหภูมิร่างกาย ทารก ที่คุณแม่ควรรู้

การวัดอุณหภูมิร่างกาย หรือการวัดไข้สำหรับทารกสามารถทำได้หลายแบบ คุณพ่อคุณแม่ควรเลือกวิธีตามความเหมาะสมของอายุเด็ก การวัดอุณหภูมิร่างกาย สำหรับทารก ซึ่งเป็นวัยที่มักขยับร่างกายตลอดเวลา ไม่ชอบอยู่นิ่ง ๆ  ให้ใช้การวัดไข้ทางรักแร้และทวารหนัก ทั้งนี้ ค่าอุณหภูมิร่างกายปกติของทารกอยู่ที่ 36.5-37.5 องศาเซลเซียส หากวัดอุณหภูมิร่างกายทารกได้มากกว่า 37.5 องศาเซลเซียล แสดงว่าทารกมีไข้ ควรพาไปพบคุณหมอทันที

[embed-health-tool-vaccination-tool]

การวัดอุณหภูมิร่างกายทารก ทำได้อย่างไรบ้าง

การวัดอุณหภูมิร่างกาย ทารก อาจทำได้ด้วยวิธีนี้ต่อไปนี้

  • การวัดอุณหภูมิทางหน้าผาก ด้วยแถบเทอร์โมมิเตอร์ หรือเทอร์โมมิเตอร์แบบอินฟาเรด ใช้ได้กับเด็กทุกวัย วิธีนี้ให้ความแม่นยำน้อยกว่าวิธีอื่น เนื่องจากเป็นการวัดอุณหภูมิของผิวหนัง ไม่ใช่การวัดอุณหภูมิของร่างกาย
  • การวัดอุณหภูมิทางหู ด้วยเทอร์โมมิเตอร์ดิจิตอล เหมาะสำหรับทารกอายุ 3 เดือนขึ้นไป แต่เนื่องจากทารกแรกเกิดมีช่องหูหรือรูหูแคบ จึงอาจทำให้ได้ผลการวัดอุณหภูมิที่ไม่แม่นยำนัก (ควรวัดอย่างน้อย 2 ครั้งเพื่อเปรียบเทียบกัน)
  • การวัดอุณหภูมิทางรักแร้ ด้วยเทอร์โมมิเตอร์แบบปรอทแก้วหรือแบบดิจิตอล เป็นวิธีการวัดไข้ที่สะดวกและรวดเร็ว แต่อาจคลาดเคลื่อนได้หากสอดที่วัดไข้เข้าไปในตำแหน่งที่ไม่ถูกต้อง ควรให้ปลายเทอร์โมมิเตอร์อยู่แนบผิวหนังบริเวณใต้วงแขน ค้างไว้ 2-4 นาทีเพื่อให้ได้อุณหภูมิที่แม่นยำที่สุด
  • การวัดอุณหภูมิทางทวารหนัก ด้วยเทอร์โมมิเตอร์แบบปรอทแก้วหรือแบบดิจิตอล วิธีนี้เหมาะกับเด็กเล็ก โดยเฉพาะเด็กทารกที่มีอายุน้อยกว่า 3 เดือน การวัดไข้ทางทวารหนักอาจได้ค่าอุณหภูมิสูงกว่าการวัดไข้ทางรักแร้เนื่องจากเป็นการวัดด้วยการสอดเข้าไปในผิวหนังที่ลึกกว่า หากวัดได้มากกว่า 38 องศาเซลเซียล แสดงว่าทารกตัวร้อนและอาจมีไข้ การวัดอุณหภูมิร่างกายทารกวิธีนี้ควรให้คุณหมอหรือพยาบาลเป็นผู้ดำเนินการตรวจวัดเนื่องจากผิวของทารกบอบบาง หรือหากคุณพ่อคุณแม่ต้องการดำเนินการเองควรระมัดระวังเป็นพิเศษ ฝึกฝนจนชำนาญเสียก่อน และอย่าสอดที่วัดไข้เข้าไปลึกเกินไป

ขั้นตอนการวัดอุณหูมิร่างกายทารก

ขั้นตอนการวัดอุณหภูมิของทารกอาจทำได้ดังต่อไปนี้

การวัดอุณหภูมิร่างกายทางรักแร้

  • เช็ดรักแร้ของทารกให้แห้ง แล้วสอดปลายกระเปาะเทอร์โมมิเตอร์ให้ถึงบริเวณกลางรักแร้ทารก
  • จับให้ทารกหุบแขน พยายามอย่าขยับแขนหรือเคลื่อนไหวร่างกาย เพื่อให้เทอร์โมมิเตอร์แนบผิวหนังมากที่สุด
  • สำหรับเทอร์โมมิเตอร์แบบปรอทแก้วให้หนีบแขนค้างไว้เป็นเวลา 4-5 นาที หรือนานกว่านั้นเพื่อให้แถบปรอทหยุดเคลื่อนไหว พอครบเวลาให้ดึงออกมาอ่านค่าอุณหภูมิ หากใช้เทอร์โมมิเตอร์แบบดิจิตอลให้รอจนเสียงเตือนดังจึงค่อยนำออกมาอ่านค่าอุณหภูมิ

การวัดอุณหภูมิร่างกายทางทวารหนัก

  • เช็ดเทอร์โมมิเตอร์ให้สะอาด จากนั้นทาวาสลีนที่ปลายเทอร์โมมิเตอร์และบริเวณรูทวารของทารก เพื่อป้องกันเทอร์โมมิเตอร์เสียดสีกับผิวหนังและเนื้อเยื่อจนเกิดแผลหรือรอยถลอก
  • อุ้มทารกนอนคว่ำบนตักของผู้วัดอุณหภูมิ หรือให้นอนหงายแล้วงอขาขึ้นมาบริเวณหน้าอกหรือยกขาทั้งสองข้างขึ้น
  • ค่อย ๆ สอดปลายเทอร์โมมิเตอร์เข้าไปในทวารหนักของทารกประมาณ ½ นิ้วสำหรับทารกอายุน้อยกว่า 6 เดือน และประมาณ 1 นิ้วสำหรับทารกที่อายุมากกว่า 6 เดือน ในขั้นตอนนี้ ควรจับเทอร์โมมิเตอร์ให้แน่นเพื่อไม่ให้เทอร์โมมิเตอร์ไหลเข้าไปในทวารหนักของทารกลึกเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดแผลฉีกขาด และอาจได้ผลลัพธ์ไม่แม่นยำ
  • หากใช้เทอร์โมมิเตอร์แบบปรอทแก้วให้สอดเทอร์โมมิเตอร์ค้างไว้ประมาณ 2 นาที หากใช้เทอร์โมมิเตอร์แบบดิจิตอลให้รอจนมีเสียงเตือน จึงค่อยนำออกมาอ่านค่าอุณหภูมิ

การวัดอุณหภูมิร่างกายทางหู

  • เช็ดเทอร์โมมิเตอร์แบบดิจิตอลให้สะอาด และเปลี่ยนฝาครอบเทอร์โมมิเตอร์ใหม่ทุกครั้งก่อนใช้งาน
  • สำหรับเด็กที่อายุน้อยกว่า 1 ปี อาจดึงติ่งหูทารกลงเบา ๆ ให้มองเห็นรูหูได้ถนัดและสอดเทอร์โมมิเตอร์เข้ารูหูได้ง่ายขึ้น สำหรับเด็กที่อายุมากกว่า 1 ปี อาจดึงติ่งหูขึ้นเบา ๆ และเอียงศีรษะเด็กไปไปด้านหลัง เพื่อให้วัดอุณหภูมิร่างกายได้สะดวกขึ้น
  • เมื่อเทอร์โมมิเตอร์อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ให้กดปุ่มวัดอุณหภูมิแล้วรอเสียงเตือนดัง จากนั้นค่อย ๆ ดึงเทอร์โมมิเตอร์ออกมาอ่านค่าอุณหภูมิที่ได้ ควรวัดอย่างน้อย 2 ครั้ง เพื่อเปรียบเทียบกัน

การวัดอุณหภูมิร่างกาย ทางหน้าผาก

  • สำหรับเทอโมมิเตอร์แบบอินฟาเรดให้ถือเครื่องห่างจากหน้าผากประมาณ 2-10 เซนติเมตร แล้วหน้าจอจะแสดงอุณหภูมิให้ทราบทันที หากใช้แถบเทอโมมิเตอร์เพื่อวัดอุณหภูมิให้วางไว้บนหน้าผากที่แห้งสนิท ไม่เปียกชื้นหรือมีเหงื่อ ทิ้งไว้อย่างน้อย 15 วินาที หรือกระทั่งสีบนแถบไม่เปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ แถบอุณหภูมิสามารถใช้ซ้ำได้หลังเช็ดทำความสะอาด

ทั้งนี้ ควรอ่านวิธีใช้งานและคำแนะนำบนบรรจุภัณฑ์ เพื่อสามารถใช้งานเทอร์โมมิเตอร์แต่ละชนิดได้อย่างถูกต้องและให้ผลลัพธ์ที่แม่นยำที่สุด

ควรไปพบคุณหมอเมื่อไหร่

หากทารกมีอุณหภูมิร่างกายสูงกว่าปกติ และมีภาวะต่อไปนี้ ควรพาทารกไปพบคุณหมอโดยเร็วที่สุด

  • หากทารกอายุต่ำกว่า 3 เดือน มีอุณหภูมิร่างกาย 38 องศาเซลเซียลขึ้นไป
  • หากทารกอายุ 3-6 เดือน มีอุณหภูมิร่างกาย 39 องศาเซลเซียลขึ้นไป
  • ทารกมีอาการไม่สบาย ซึมลง เหมือนเป็นไข้ กินนมน้อยลง มีผื่นคัน อาเจียน หรือท้องเสียร่วมด้วย

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Taking Your Baby’s Temperature. https://www.webmd.com/baby/taking-babys-temperature. Accessed April 18, 2022

Your Baby’s Temperature and Fever. https://www.webmd.com/parenting/baby/temperature-fever. Accessed April 18, 2022

How to Take Your Child’s Temperature. https://www.healthychildren.org/English/health-issues/conditions/fever/Pages/How-to-Take-a-Childs-Temperature.aspx. Accessed April 18, 2022

How to take your baby’s temperature. https://www.nhs.uk/conditions/baby/health/how-to-take-your-babys-temperature/. Accessed April 18, 2022

Thermometer basics: Taking your child’s temperature. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/infant-and-toddler-health/in-depth/thermometer/art-20047410#. Accessed April 18, 2022

มารู้จักภาวะไข้กันเถอะ. http://203.157.123.7/ssopanom/?news=%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84#:~:text=%23. Accessed April 18, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

28/02/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอนงค์พร ผาภูมิ

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

การดูแลทารกในหน้าหนาว เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกป่วย

ทำความรู้จัก ปรอทวัดไข้ หลากหลายชนิด


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงอนงค์พร ผาภูมิ

พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 28/02/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา