backup og meta

วิธีทำให้ลูกเรอ และการดูแลลูก สำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงหทัยทิพย์ ชัยประภา · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 14/03/2023

    วิธีทำให้ลูกเรอ และการดูแลลูก สำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่

    วิธีทำให้ลูกเรอ อาจทำได้ด้วยการอุ้มลูกเรอในท่าต่าง ๆ พร้อมกับตบหลังเบา ๆ หรือลูบหลังลูกเบา ๆ เพื่อช่วยขับแก๊สในกระเพาะอาหารที่อาจเกิดจากการที่ลูกกลืนอากาศเข้าไประหว่างกินนม หรือเกิดจากอาการแพ้นมและสารก่อภูมิแพ้อื่น ๆ เช่น ไข่ ถั่ว น้ำผลไม้ ที่ปะปนมาในนมแม่ หรืออาหารที่คุณแม่รับประทาน อาจทำให้เกิดแก๊สได้มาก เพื่อช่วยให้ลูกได้ระบายแก๊สในกระเพาะอาหาร ที่อาจนำไปสู่อาการจุกเสียด ท้องอืด หรือปวดท้องได้

    ท่าอุ้มที่อาจทำให้ลูกเรอ

    ท่าอุ้มที่อาจทำให้ลูกเรอ มีดังนี้

    • ท่าอุ้มแบบนอนคว่ำหน้าบนหน้าท้อง

    คุณพ่อคุณแม่อาจเริ่มจากการอุ้มลูกมาไว้บนหน้าท้องเพื่อให้ลูกนอนสบายขึ้น โดยหันศีรษะของลูกออกด้านข้างให้หายใจได้สะดวก และนำมือประคองลำตัวลูก จากนั้นนำมืออีกข้างตบหลังของลูกเบา ๆ เพื่อขับแก๊สในกระเพาะอาหารออก

    • ท่าอุ้มแบบนอนคว่ำหน้าบนแขน

    ผู้ที่ต้องการอุ้มลูกในท่านี้ควรมีแขนที่แข็งแรงพอที่จะประคองลูกได้อย่างมั่นคง โดยอุ้มลูกนอนคว่ำหน้าวางบนแขนข้างใดข้างหนึ่ง ให้ศีรษะของลูกอยู่บริเวณข้อพับแขน หันหน้าออกไปด้านข้าง จากนั้นนำมืออีกข้างลูบหลังของลูกเป็นวงกลมหรือตบหลังเบา ๆ ไม่แนะนำทำกับเด็กที่ตัวใหญ่เพราะเด็กอาจจะดิ้นและพลัดตกมือได้

    • ท่าอุ้มแบบนอนคว่ำหน้าบนหน้าตัก

    คุณพ่อคุณแม่อาจอุ้มลูกนั่งบนหน้าตัก ตั้งขาข้างหนึ่งขึ้นเล็กน้อย และใช้มือข้างหนึ่งประคองบริเวณใต้คาง ลำคอ และศีรษะของลูก จากนั้นจึงค่อย ๆโน้มตัวของลูกลงบนหน้าตัก แล้วใช้มืออีกข้างตบหลังลูกเบา ๆ หรือนวดที่หลังเบา ๆ

    • ท่าอุ้มลูกพาดไหล่

    ควรอุ้มลูกพาดไหล่ โดยใช้แขนข้างหนึ่งประคองไว้ใต้ก้น และจับศีรษะลูกให้พิงกับไหล่เอาไว้ เพื่อประคองกระดูกและศีรษะที่ยังไม่แข็งแรง จากนั้นใช้มืออีกข้างตบหลังเบา ๆ

    • อุ้มลูกนั่งบนตัก

    คุณพ่อคุณแม่อาจอุ้มลูกนั่งหลังตรง หันด้านข้างพิงกับหน้าอก และใช้มือประคองบริเวณใต้คางและหน้าอก จากนั้นใช้มืออีกข้างหนึ่งลูบหลังลูกเป็นวงกลมอย่างช้า ๆ หากลูกไม่เรอให้ตบหลังหรือลูบหลังเบา ๆ

    การดูแลลูกสำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่

    การดูแลลูกสำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ อาจทำได้ดังนี้

    การให้นม และวิธีป้องกันการเพิ่มแก๊สในกระเพาะอาหารของลูก

    ทารกแรกเกิดจำเป็นต้องกินนมทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง โดยอาจสังเกตอาการหิวของลูกได้จากอาการอมนิ้วมือ และร้องไห้ นอกจากนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกกลืนอากาศมากเกินไประหว่างกินนม ควรทำดังนี้

    • ทดสอบการไหลของจุกนม โดยการจับขวดนมพลิกคว่ำ หากนมในขวดไหลออกมาอย่างรวดเร็ว อาจหมายความว่าจุกนมเสื่อมสภาพ รูขยายใหญ่ขึ้น หรือมีตำหนิ อาจทำให้ลูกได้รับอากาศมากเกินไปขณะกินนม ควรเปลี่ยนในทันที
    • ตรวจสอบน้ำนมจากเต้าของคุณแม่ว่าไหลเร็วเกินไปหรือไม่ หากน้ำนมไหลเร็วควรใช้นิ้วมือคีบบริเวณใกล้ ๆ ลานนมเพื่อชะลอน้ำนม จนกว่าน้ำนมจะไหลช้าลง จากนั้นจึงให้ลูกกินนมตามปกติ
    • ตรวจดูว่าปากของลูกแนบชิดกับจุกนมหรือเต้านมหรือไม่ เพื่อป้องกันอากาศเข้าไปขณะกินนม
    • ควรถือขวดนมให้ลูกในลักษณะเอียงขวดเล็กขึ้นเล็กน้อย เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกกลืนอากาศมากเกินไประหว่างกินนม

    การเลือกใช้ผ้าอ้อมให้ทารก

    ควรเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูกประมาณ 10 ครั้ง/วัน หรือหลังจากที่ลูกขับถ่าย อีกทั้งยังควรทำความสะอาดบริเวณก้นและอวัยวะเพศของลูกให้สะอาด เพื่อป้องกันการสะสมของเชื้อโรคและสิ่งสกปรก

    กรณีที่ลูกมีผื่นแดงขึ้น ควรเปลี่ยนชนิดของผ้าอ้อมที่ใช้อยู่ หรือใช้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดผื่นอับชื้น ลดอาการระคายเคือง ให้เหมาะสมกับผิวของลูกน้อย หากลูกเป็นผื่นนานเกิน 3 วัน หรือมีอาการแย่ลง ควรพบคุณหมอในทันที เนื่องจากอาจมีการติดเชื้อ โดยเฉพาะเชื้อราที่ผิวหนังร่วมด้วย

    วิธีห่อตัวทารกแรกเกิด

    การห่อตัวอาจทำให้ลูกรู้สึกได้ถึงความอบอุ่น และปลอดภัย แต่ไม่จำเป็นต้องห่อตลอดทั้งวัน เมื่อทารกโตขึ้นให้ค่อยคลายผ้าที่ห่อตัวทารก เพื่อทารกจะได้เปลี่ยนท่าทางได้ตลอด โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถทำการห่อตัวได้ดังนี้

  • กางผ้าที่ต้องการใช้ห่อตัวออก อุ้มลูกลงบนผ้าในท่านอนหงายให้ศีรษะอยู่เหนือผ้าเล็กน้อย
  • จับผ้ามุมซ้ายห่อสอดเข้าไปด้านหลัง ให้อยู่ใต้แขนขวาของลูก
  • จับมุมผ้าด้านล่างห่อขึ้นมา แต่ควรระวังไม่ให้รัดแน่นจนเกินไป เพื่อให้ลูกยืดขา งอขาได้สะดวก
  • จับผ้ามุมขวาด้านบนสอดเข้าไปใต้แขนซ้ายของลูก ทำให้เหลือแต่เพียงศีรษะที่โผล่ออกมาพ้นผ้า คุณพ่อคุณแม่สามารถเช็กว่าผ้าแน่นเกินไปหรือไม่ด้วยการลองนำมือสอดเข้าไปใต้ผ้าบริเวณหน้าอก หากผ้ารัดแน่นเกินไปอาจทำให้ลูกหายใจไม่สะดวก
  • ไม่ควรห่อตัวลูกที่มีอายุ 2 เดือนขึ้นไป เพราะเป็นช่วงวัยที่เริ่มพลิกตัวคว่ำหน้า อาจทำให้ลูกขาดอากาศและเสียชีวิตกะทันหัน

    การอาบน้ำให้ลูก

    คุณพ่อคุณแม่ควรอาบน้ำให้ทารกแรกเกิดด้วยฟองน้ำหรือผ้าสำหรับถูตัวจนกว่าสายสะดือจะหลุดออกเอง ซึ่งอาจใช้เวลา 1-2 สัปดาห์ แล้วจึงจะสามารถเริ่มอาบน้ำให้ด้วยมือตามปกติได้ ควรเตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น ผ้าขนหนู สบู่เด็กอ่อน แปรงขนนุ่มไว้นวดหนังศีรษะ ผ้าอ้อม เสื้อผ้า ให้พร้อมไว้ข้างตัว เพื่อจะได้ไม่ต้องอุ้มลูกเดินไปมาและช่วยลดโอกาสการเกิดอุบัติเหตุพลัดหล่นมือได้

    การอาบน้ำให้ทารกแรกเกิดทุกครั้งควรใช้น้ำอุ่น ระวังไม่ให้ร้อนจนเกินไป ระดับความลึกของอ่างไม่เกิน 2-3 นิ้ว และควรระวังอย่าให้น้ำเข้าตา จมูก ปาก หรือหูลูก หรืออาจใช้ผ้าชุบน้ำหมาด ๆ เช็ดตัวให้ลูกแทนการอาบน้ำ

    การดูแลสายสะดือทารก

    หลังจากที่หมอตัดสายสะดือ และสายสะดือยังนิ่ม ๆ อยู่ ให้ทำความสะอาดด้วย 70% แอลกอฮอล์ หรือใช้น้ำยาทำความสะอาดจากที่โรงพยาบาลให้มาเท่านั้น หลังจากที่สายสะดือของลูกหลุดออก ช่วงแรกอาจยังมีเลือดที่ค้างในสายสะดือไหลออกมากระปริบกระปรอย ให้ใช้แอลกอฮอล์หรือน้ำยาเช็ดสะดือที่โรงพยาบาลให้มา เช็ดทำความสะอาดต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะมีเนื้อหนังบาง ๆ มาปิด

    นอกจากนี้ หากสังเกตว่าบริเวณสะดือของลูกมีกลิ่นเหม็น มีหนอง บวม แดง อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อ ควรพาไปพบคุณหมอให้เร็วที่สุด และถ้าหลังสะดือหลุดออกอย่างน้อย 1 สัปดาห์ สะดือยังไม่แห้ง ก็ควรไปพบคุณหมอเช่นกัน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงหทัยทิพย์ ชัยประภา

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 14/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา