backup og meta

พัฒนาการเด็ก สัปดาห์ที่ 48 ของลูกน้อย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ออมสิน แสนล้อม · แก้ไขล่าสุด 14/12/2022

    พัฒนาการเด็ก สัปดาห์ที่ 48 ของลูกน้อย

    พัฒนาการเด็ก สัปดาห์ที่ 48 คือ ช่วงที่เด็กกำลังพยายามเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นการยืน การเดิน การบอกความต้องการของตัวเองด้วยวิธีการอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากการร้องไห้ รวมถึงอาจมีพัฒนาการด้านภาษา ซึ่งในช่วงนี้คุณพ่อคุณแม่ควรให้เด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย รวมถึงช่วยส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ และอย่าปล่อยให้พวกเขารู้สึกว่าไม่ได้รับความสนใจ

    การเจริญเติบโต พฤติกรรมและ พัฒนาการเด็ก สัปดาห์ที่ 48

    ลูกน้อยจะเติบโตอย่างไร

    ในช่วงสัปดาห์ที่ 48 หากเด็กยังเดินไม่ได้ ก็มีแนวโน้มจะเดินได้ด้วยตัวเองในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นกังวล พราะเด็กส่วนใหญ่อาจเริ่มเดินในช่วงเดือนที่ 16-17

    พัฒนาการด้านต่าง ๆ ของเด็กสัปดาห์ที่ 48

  • ยืนได้ด้วยตัวเอง
  • เดินได้อย่างคล่องแคล่ว
  • สามารถบอกความต้องการของตัวเองได้ด้วยวิธีอื่นแทนที่จะร้องไห้
  • เล่นลูกบอลได้ และสามารถกลิ้งลูกบอลกลับไปหาคุณพ่อคุณแม่ได้
  • ดื่มจากแก้วได้ด้วยตัวเอง
  • ใช้ภาษาเฉพาะสำหรับเด็ก เช่น การพูดเจื้อยแจ้วที่มีเสียงเหมือนกำลังพูดภาษาต่างประเทศอยู่
  • ทำตามคำสั่งได้โดยไม่ต้องใช้ท่าทาง
  • พูดได้อีก 2-3 คำนอกเหนือจากคำว่า มาม๊า
  • ควรดูแลลูกน้อยอย่างไร

    คุณพ่อคุณแม่ควรให้เด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย เพื่อช่วยส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ และอย่าปล่อยให้พวกเขารู้สึกไม่ได้รับความสนใจ นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ยังอาจช่วยส่งเสริมทักษะการเดินให้แก่เด็กได้ด้วยการยืนหรือคุกเข่าอยู่ตรงหน้าแล้วรอให้เด็กเดินมาหา หรือจับมือไว้ทั้ง 2 ข้างแล้วให้เด็กเดินมาหาก็ได้เช่นกัน

    โดยทั่วไป เด็กจะเริ่มเดินด้วยท่าทางที่กางแขนทั้ง 2 ข้างออกและงอข้อศอก เท้าชี้ออกไปทางด้านนอก และท้องยื่นไปทางด้านหน้า ในขณะที่ก้นยื่นไปด้านหลังเพื่อการทรงตัว

    สุขภาพและความปลอดภัย

    ควรปรึกษาคุณหมออย่างไร

    คุณหมอส่วนใหญ่มักไม่ได้นัดหมายการตรวจสุขภาพของเด็กช่วยวัยนี้ เพราะเด็กอาจไม่ชอบให้อุ้มในระหว่างที่ไปพบคุณหมอ เด็กที่กลัวคนแปลกหน้าอาจไม่อยากพบหมอ ไม่ว่าคุณหมอจะใจดีหรือเป็นมิตรเพียงใดก็ตาม ถ้าคุณพ่อคุณแม่มีความกังวลใด ๆ ที่ไม่สามารถรอให้ถึงวันนัดครั้งต่อไปไม่ได้ ควรใช้วิธีโทรปรึกษาคุณหมอแทน

    สิ่งที่ควรรู้

    คุณพ่อคุณแม่ควรรู้ถึงอาการของโรคอีสุกอีใสแต่เนิ่น ๆ ควรสังเกตจุดสีแดง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเด็กไปเล่นกับเด็กคนอื่น ๆ ที่เป็นโรคอีสุกอีใส ซึ่งอาการของโรคจะแสดงให้เห็นได้ภายใน 10-21 วันหลังจากที่ได้รับเชื้อ

    อาการของโรคอีสุกอีใส

    คุณพ่อคุณแม่อาจสังเกตเห็นผื่นคันที่เป็นจุดแดง ๆ บนผิวหนัง แล้วพัฒนาไปเป็นตุ่มน้ำใส ๆ ก่อนจะแห้งและตกสะเก็ดในเวลาต่อมา ซึ่งอาการอาจเกิดขึ้นตามร่างกายและหนังศีรษะก่อน จากนั้นก็แพร่กระจายไปยังใบหน้า แขน และขา โดยเด็กอาจจะมีอาการเหนื่อย ไม่อยากอาหาร และมีไข้ร่วมด้วย

    จะทำอย่างไรเมื่อพบว่าลูกเป็นโรคอีสุกอีใส

    เมื่อพบว่าเด็กเป็นอีสุกอีใส คุณพ่อคุณแม่อาจปรึกษาคุณหมอ และควรตัดเล็บมือให้เด็ก เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กเกาหรือแกะแผล เพราะอาจทำให้ติดเชื้อและเป็นแผลเป็นได้ คุณพ่อคุณแม่บางคนอาจสวมถุงมือผ้าฝ้ายให้เด็ก นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่อาจลดอาการคันให้เด็กได้ ด้วยการให้แช่น้ำเย็นที่ผสมเบคกิ้งโซดาหรือข้าวโอ๊ต และทาคาลาไมน์หลังอาบน้ำเสร็จ รวมถึงอาจให้เด็กรับประทานยาอะเซตามิโนเฟนเพื่อลดไข้ แต่ไม่ควรให้รับประทานแอสไพริน

    แต่หากเด็กมีอาการเหล่านี้ ควรปรึกษาคุณหมอทันที

    • มีตุ่มเกิดขึ้นหลายที่ตามร่างกาย
    • มีตุ่มขึ้นในปากหรือดวงตา
    • มีไข้ติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน
    • ผิวหนังบวม อ่อนนุ่ม หรือแดง

    สิ่งที่ต้องเป็นกังวล

    ต้องกังวลในเรื่องใด

    ในสัปดาห์ที่ 48 ของลูกน้อย คุณพ่อคุณแม่อาจมีความกังวลหลายอย่าง  ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือการดูดจุกนมปลอม คุณพ่อคุณแม่อาจรู้สึกเหมือนกำลังจะทำให้เด็กต้องพรากจากสิ่งที่รักไป แต่ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าการให้เด็กหยุดดูดจุกนมปลอมในช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมแล้ว

    มีเหตุผลที่ควรให้เด็กหยุดดูดจุกนมปลอมอาจมีอยู่ 2 ประการ คือ

    1. ยิ่งปล่อยให้เด็กใช้จุกนมปลอมนานเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำให้เลิกได้ยากมากขึ้นเท่านั้น
    2. ในช่วงเวลานี้เป็นช่วงของการพัฒนาทางด้านการพูด การดูดจุกนมปลอมอาจทำให้เด็กมีโอกาสพูดได้น้อยลง

    การให้เด็กเลิกดูดจุกนมปลอมอาจเป็นเรื่องยาก คุณพ่อคุณแม่จึงควรทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยจำกัดการใช้ในช่วงกลางวัน แล้วหลังจากนั้นก็จำกัดการใช้ในช่วงกลางคืนด้วย นอกจากนี้ อาจลองให้เด็กเปลี่ยนจากจุกนมไปเล่นตุ๊กตายัดนุ่นแทน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


    เขียนโดย ออมสิน แสนล้อม · แก้ไขล่าสุด 14/12/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา