backup og meta

พัฒนาการเด็ก สัปดาห์ที่ 43 ของลูกน้อย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 31/12/2022

    พัฒนาการเด็ก สัปดาห์ที่ 43 ของลูกน้อย

    พัฒนาการเด็ก สัปดาห์ที่ 43 ช่วงนี้ลูกน้อยอาจสามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น เช่น การยืน การเดิน การแต่งตัว โดยมีผู้ปกครองคอยช่วยเหลืออยู่ข้าง ๆ อีกทั้งอาจมีความซุกซน ชอบกัดชอบจับสิ่งของต่าง ๆ ตามประสาเด็ก ผู้ปกครองควรดูแลอย่างใกล้ชิด และคอยสังเกตอาการผิดปกติ เนื่องจากเด็กอาจเจ็บป่วยจากเชื้อโรคต่าง ๆ รอบตัวได้

    การเจริญเติบโต พฤติกรรมและ พัฒนาการเด็ก สัปดาห์ที่ 43

    ลูกน้อยจะเติบโตอย่างไร

    ลูกน้อยอาจเริ่มมีการพัฒนาในเรื่องของการช่วยเหลือตนเองได้มากขึ้น แต่ยังคงต้องการให้คุณพ่อคุณแม่คอยช่วยเขาอยู่ข้าง  ๆ เช่น การเดินในขณะที่จูงมือเขาไปด้วย หรือมีการยื่นแขน และขาเพื่อช่วยให้แต่งตัวให้เขาได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกัน หากลูกรักมีการเติบโตอย่างรวดเร็วก็อาจทำให้พวกเขานั้นเริ่มหยิบจับแก้วน้ำ ช้อน ตักอาหารด้วยตัวเองได้ แต่ก็คงยังมีการเคลื่อนไหวไม่แข็งมากซึ่งอาจใช้เวลาสักระยะพร้อมกับการฝึกฝนจึงจะสามารถทำให้พวกเขานั้นทานอาหารเองได้อย่างคล่องขึ้น โดยส่วนมากพวกเขามักจะเผยพฤติกรรมต่อไปนี้ ที่อาจทำให้คุณพ่อคุณแม่ถึงกับตื้นตันใจ ร่วมด้วย

    • ยืนด้วยตัวเองได้ชั่วขณะ
    • พูดคำว่า  “มาม๊า” อย่างรู้ความหมาย
    • ชี้ไปที่บางสิ่งเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ

    ควรดูแลลูกน้อยอย่างไร

    ทารกจะตั้งใจ ทิ้งสิ่งของเพื่อให้ใครบางคน ซึ่งก็อาจจะเป็นคุณพ่อหรือคุณแม่ เก็บมันขึ้นมา หากรู้สึกเหนื่อย กับเกมส์ทิ้งสิ่งของ ก็อาจจำเป็นต้องนำสิ่งของออกไปห่าง  ๆ ซัก 2-3 นาที แล้วหาอะไรมาเบี่ยงเบนความสนใจจากลูกน้อยแทน อย่างการเล่นกับลูกรักโดยไม่ใช้อุปกรณ์ เช่น การเล่นจ๊ะเอ๋ ปูไต่ เป็นต้น

    สุขภาพและความปลอดภัย

    ควรปรึกษาคุณหมออย่างไร

    คุณหมอส่วนใหญ่จะไม่นัดตรวจสุขภาพสำหรับเด็กในวัยนี้ หากมีข้อกังวลใด  ๆ หรืออาการบางอย่างที่เป็นอันตราย ผู้ปกครองทุกคนจึงควรโทรปรึกษา หรือเข้ารับคำปรึกษาจากคุณหมอในโรงพยาบาลใกล้แหล่งที่อยู่อาศัยในทันที โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงวันนัดครั้งต่อไป

    สิ่งที่ควรรู้

    ในช่วงนี้ทารกอาจป่วยจากอาการไข้หวัด หรือมีไข้ ซึ่งควรเรียนรู้เกี่ยวกับยาปฎิชีวนะ หรือการบรรเทาอาการเบื้องต้นเอาไว้

    ควรรู้อะไรเกี่ยวกับยาปฏิชีวนะ

    พึงระวังในเรื่องการให้ลูกน้อยทานยาปฏิชีวนะ เพราะยาปฏิชีวนะอาจช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้เท่านั้น แต่ไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อไวรัส ซึ่งเป็นตัวการของของไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ และอาการเจ็บป่วยทางระบบหายใจต่าง  ๆ ได้

    ควรให้กินยาปฎิชีวนะเมื่อไร

    ควรให้ยาปฏิชีวนะตามคำสั่งของคุณหมอเท่านั้น และควรให้ลูกน้อยกินยาจนหมด เนื่องจากการหยุดทานยาก่อนอาจไม่ช่วยให้อาการป่วยหายขาด อีกทั้งยังอาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่น  ๆ ที่รุนแรงขึ้นได้

    ให้ยาปฏิชีวนะอย่างไร

    หากลูกน้อยอาเจียนหลังได้รับยาปฏิชีวนะ และมียาที่กินเข้าไปเกือบทั้งหมดออกมาด้วย ก็สามารถให้ลูกน้อยกินยาเข้าไปใหม่ได้ แต่ในกรณที่เกิดการอาเจียนหลังจากทานยาเข้าไปหนึ่งชั่วโมง อาจไม่จำเป็นต้องทำการให้ยาซ้ำ เพราะเป็นช่วงระยะเวลาที่ร่างกายได้ดูดซึมยาเข้าไปหมดแล้ว มิเช่นนั้นอาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงของการกินยาเกินขนาดได้

    ยาบางชนิดสามารถนำมาผสมกับอาหารได้ เช่น แอ๊ปเปิ้ลซอส เพื่อช่วยทำให้ยามีรสชาติดีขึ้นได้ หรืออีกวิธีหนึ่งคือใช้หลอดหยดยา หรือหลอดฉีดยา ในการส่งยาเข้าไปที่ลำคอของลูกน้อย เพราะวิธีนี้น่าจะได้ผลกว่าการใช้ช้อนป้อนโดยตรง

    สิ่งที่ต้องเป็นกังวลใน พัฒนาการเด็ก สัปดาห์ที่ 43

    การขบฟัน

    ก็เหมือนกับการโขกศีรษะ การกลิ้งตัว การดึงผม หรือการดูดนิ้วมือนั่นแหละ เพราะเด็กบางคนนั้นมักชอบขบฟัน เพื่อปลดปล่อยความเครียด แต่การขบฟันที่บ่อยจนเกินไปก็อาจมีผลกระทบต่อพัฒนาการของฟันน้ำนม และฟันแท้ ดังนั้นผู้ปกครองทุกคน ควรหมั่นให้ความรัก และความเอาใจใส่เป็นพิเศษก่อนปล่อยที่พวกเขาจะงีบหลับ เนื่องจากอาจช่วยลดความเครียดรวมไปถึงการขบฟันลงได้

    แต่บางกรณีความเครียดก็ไม่ใช่สาเหตุของการขบฟันเสมอไป บางครั้งเด็กก็ค้นพบการกระทำโดยบังเอิญ เมื่อมีฟันซี่ใหม่กำลังขึ้น จากนั้นก็รู้สึกสนุกกับความตื่นเต้น และเสียงของมัน หากพบว่าการขบฟันของเด็กถี่ขึ้นเรื่อย ๆ แทนที่จะลดลง และรู้สึกเป็นกังวลว่าเขาอาจจะสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นกับฟันได้ ควรปรึกษาคุณหมอ หรือทันตแพย์ร่วมเพื่อขอคำแนะนำในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้หายไปจะเป็นการดีที่สุดค่ะ

    การกัด

    เป็นธรรมชาติของเด็กที่จะทดสอบการใช้ฟันกับทุกสิ่งทุกอย่าง จนทำให้การกัดอาจกลายเป็นนิสัยที่ไม่ดีเมื่อมีฟันเพิ่มมากขึ้น ซึ่งใครที่ตกเป็นเหยื่อถูกลูกกัดเข้าก็อาจส่งผลให้รู้สึกเจ็บปวดได้ ในการกัดครั้งแรกนั้นเป็นการหยั่งเชิง ที่ลูกน้อยไม่รู้ตัวเลยสักนิดว่าทำให้ใครเจ็บหรือเปล่า

    วิธีตอบโต้การกัดของลูกน้อยที่ดีที่สุดก็คือ ดึงตัวเจ้านักกัดตัวน้อยออกจากรอยกัดอย่างสงบ พร้อมกับพูดด้วยเสียงหนักแน่นว่า “ทำแบบนี้ไม่ดี ทำคุณแม่เจ็บนะ” แล้วหันเหความสนใจอย่างรวดเร็วด้วยเพลง ของเล่น หรืออะไรอย่างอื่น ทำแบบนี้ทุกครั้งที่เขากัด แล้วเขาจะรู้ได้เองว่าไม่ควรทำอย่างนั้น

    ที่สำคัญอย่ากัดเขากลับ เพราะการกัดตอบจะยิ่งทำให้เรื่องเลวร้ายเข้าไปกันใหญ่ การกระทำแบบนั้นไม่เพียงแต่ทำให้ดูดุร้ายเท่านั้น แต่เป็นการบอกลูกแบบไม่สุภาพนักว่า นี่คือการกระทำที่ยึกหลักตาต่อตาฟันต่อฟัน เพราะเรื่องพวกนี้จะทำให้เด็กมีนิสัยใจคอที่เปลี่ยนไปได้ตั้งแต่เยาว์วัยเลยทีเดียว

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 31/12/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา