เด็กทารก หมายถึง เด็กในช่วงอายุ 0-12 เดือน ซึ่งเป็นช่วงที่เด็กมีพัฒนาการทั้งด้านร่างกายและการเรียนรู้จากสิ่งรอบตัวอย่างรวดเร็ว คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตพัฒนาการ รวมถึงสิ่งผิดปกติต่าง ๆ ที่อาจเกิดกับลูกน้อย ทั้งเรื่องการเจริญเติบโต การรับประทานอาหาร การสื่อสาร หากพบความผิดปกติใด ๆ ควรรีบปรึกษากุมารแพทย์ เพื่อรักษาหรือรับมือได้อย่างทันท่วงที
[embed-health-tool-vaccination-tool]
เด็กทารก คือช่วงวัยใด
เด็กทารก หมายถึง เด็กในช่วงอายุ 0-12 เดือน เด็กวัยนี้จะมีพัฒนาการทั้งด้านร่างกาย อย่างน้ำหนักและส่วนสูง รวมถึงพัฒนาการด้านการเรียนรู้ที่หลากหลายและเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเดือน เช่น การพลิกคว่ำ การนั่ง การยืน การก้าวเดินครั้งแรก การส่งเสียงอ้อแอ้ การยิ้ม การหัวเราะ โดยปัจจัยที่อาจส่งผลต่อพัฒนาการเด็ก ได้แก่ สภาพแวดล้อม การเลี้ยงดู และโภชนาการ
อย่างไรก็ตาม เด็กทารกบางคนอาจมีพัฒนาการล่าช้ากว่าเด็กในวัยเดียวกัน คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตเด็กทารกอยู่เสมอ เพราะอาจมีสัญญาณเตือนบางอย่างว่าเด็กมีความบกพร่องด้านใดด้านหนึ่ง จึงส่งผลให้มีพัฒนาการล่าช้ากว่าเด็กในวัยเดียวกัน
พัฒนาการเด็กทารก
พัฒนาการที่สำคัญของทารกในแต่ละเดือน มีดังต่อไปนี้
พัฒนาการด้านน้ำหนักและส่วนสูง
ส่วนสูงและน้ำหนักของเด็กทารกควรอยู่ในเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(หากตัวเลขคลาดเคลื่อนจากตารางนี้เล็กน้อย อาจสังเกตโดยใกล้ชิดไปก่อนสัก 1-2 เดือน แต่หากตัวเลขต่างจากเกณฑ์มาก แนะนำให้พาเด็กทารกไปตรวจกับกุมารแพทย์ทันที)
อายุ | น้ำหนักชาย | น้ำหนักหญิง | ส่วนสูงชาย | ส่วนสูงหญิง |
1 เดือน | 4.5 กก. | 4.2 กก. | 54.7 ซม. | 53.7 ซม. |
2 เดือน | 5.6 กก. | 5.1 กก. | 58.4 ซม. | 57.1 ซม. |
3 เดือน | 6.4 กก. | 5.8 กก. | 61.4 ซม. | 59.8 ซม. |
4 เดือน | 7.0 กก. | 6.4 กก. | 63.9 ซม. | 62.1 ซม. |
5 เดือน | 7.5 กก. | 6.9 กก. | 65.9 ซม. | 64.0 ซม. |
6 เดือน | 7.9 กก. | 7.3 กก. | 67.6 ซม. | 65.7 ซม. |
7 เดือน | 8.3 กก. | 7.6 กก. | 69.2 ซม. | 67.3 ซม. |
8 เดือน | 8.6 กก. | 7.9 กก. | 70.6 ซม. | 68.7 ซม. |
9 เดือน | 8.9 กก. | 8.2 กก. | 72.0 ซม. | 70.1 ซม. |
10 เดือน | 9.2 กก. | 8.5 กก. | 73.3 ซม. | 71.5 ซม. |
11 เดือน | 9.4 กก. | 8.7 กก. | 74.5 ซม. | 72.8 ซม. |
12 เดือน | 9.6 กก. | 8.9 กก. | 75.7 ซม. | 74.0 ซม. |
พัฒนาการด้านการเรียนรู้
เด็กทารกอายุ 1-3 เดือน
- สามารถยกและหันศีรษะได้ขณะนอนหงาย
- เริ่มเอามือเข้าปาก และเอื้อมมือคว้าวัตถุที่ห้อยอยู่
- มองตามสิ่งที่เคลื่อนไหว
- ใช้เสียงเพื่อส่งสัญญาณความต้องการ เช่น ความหิว ความเจ็บปวด เป็นต้น
เด็กทารกอายุ 4-6 เดือน
- เริ่มพลิกตัวจากหน้าไปหลัง หรือหลังมาหน้า (คว่ำ/หงาย)
- นั่งเองโดยไม่ต้องประคองได้เป็นระยะเวลาสั้น ๆ
- เอื้อมมือคว้าสิ่งของต่าง ๆ ได้
- แสดงอารมณ์ท่าทาง เช่น ยิ้ม หัวเราะ ดีใจ ขัดใจ เริ่มส่งเสียง เพื่อส่งสัญญาณบางอย่างให้คุณพ่อ คุณแม่รับรู้
- ควบคุมกล้ามเนื้อตาได้ดีขึ้น มองเห็นได้ไกลขึ้น
เด็กทารกอายุ 7-9 เดือน
- เริ่มหัดคลาน
- นั่งได้มั่นคงโดยไม่ต้องประคองได้นานขึ้น
- เริ่มมีการส่งเสียงเป็นคำพยางค์เดียว เช่น พ่อ แม่
- เล่นจ๊ะเอ๋ ปรบมือ มองหาของที่ซ่อนเอาไว้
เด็กทารกอายุ 10-12 เดือน
- เริ่มเรียนรู้ที่จะยืนด้วยตนเอง โดยการเกาะยืนแล้วเริ่มอยากก้าวเดิน
- พูดคำที่มี 1 พยางค์ได้ 1-2 คำ
- เริ่มเข้าใจ และเลียนแบบท่าทางต่าง ๆ เช่น โบกมือบ๊ายบาย
- เริ่มดื่มน้ำ หรือใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้คีบอาหารชิ้นเล็ก ๆ กินเองได้
โภชนาการสำหรับเด็กทารก
อาหารที่จำเป็นสำหรับเด็ก คือ นมแม่ เพราะน้ำนมแม่มีวิตามินและแร่ธาตุที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของทารกค่อนข้างครบถ้วน เช่น วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 6 แคลเซียม เหล็ก ไอโอดีน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เมื่อเด็กทารกเจริญเติบโตขึ้น สารอาหารในน้ำนมแม่อาจไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย จึงแนะนำให้เริ่มอาหาร 1 มื้อควบคู่กับการรับประทานนมแม่เมื่อทารกอายุประมาณ 4-6 เดือนขึ้นไป (ปรึกษากุมารแพทย์ตามความเหมาะสมของเด็กแต่ละคน) โดยสารอาหารที่เด็กทารกต้องการเพิ่มเพื่อการเจริญเติบโต มีพัฒนาการที่สมวัย และมีสุขภาพดี มีดังนี้
- แคลเซียม ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กระดูกและฟัน
- ไขมัน มีส่วนช่วยในการพัฒนาของสมอง ช่วยให้ผิวและผมให้แข็งแรง ทั้งยังอาจช่วยป้องกันการติดเชื้อ
- ธาตุเหล็ก ช่วยพัฒนาสมอง และเสริมสร้างเซลล์เม็ดเลือด
- โปรตีนและคาร์โบไฮเดรต ช่วยเพิ่มพลังงานให้กับร่างกาย
- สังกะสีช่วยในการเจริญเติบโตของเซลล์ในร่างกาย และซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ
- วิตามินเอ ช่วยบำรุงสายตา ผิว ผม และระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
- วิตามินบี 6 ช่วยบำรุงเซลล์สมอง และระบบภูมิคุ้มกัน
- วิตามินบี 12 ช่วยบำรุงเซลล์ประสาทและเซลล์เม็ดเลือด
- วิตามินซี ช่วยสร้างกระดูกและกล้ามเนื้อ รวมถึงอาจช่วยป้องกันการติดเชื้อ
- วิตามินดี ช่วยในการดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัสจากอาหาร
- วิตามินเค ช่วยทำให้เลือดแข็งตัว
คุณพ่อคุณแม่ควรปรึกษาคุณหมอประจำตัวเด็ก หรือนักโภชนาการเด็กในแต่ละวัย เพื่อให้ลูกได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนและเหมาะสมที่สุด
โรคและปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในเด็กทารก
อาการที่อาจพบได้บ่อยในเด็กทารก เช่น
- ท้องอืด อาจเกิดจากระบบทางเดินอาหารของเด็กทารกยังพัฒนาไม่เต็มที่ จึงย่อยโปรตีนและแลคโตสได้ไม่ดีนัก หรืออาจเกิดจากการไม่ได้ไล่ลมให้เด็กเรอออกมาหลังดื่มนม
- ไอหรือสำลักนมแม่ หากเด็กทารกดูดนมแม่เร็วเกินไป อาจทำให้ไอหรือสำลักได้ ซึ่งอาจเป็นผลจากการที่น้ำนมแม่ไหลเร็วและแรง ส่วนใหญ่แล้วอาการนี้จะหายไปเมื่อเด็กดูดนมแม่เสร็จแล้ว แต่หากอาการไม่หายไปหรือมีอาการเรื้อรัง ควรปรึกษาคุณหมอ เพราะอาจเป็นสัญญาณว่าปอดหรือทางเดินอาหารของเด็กทารกมีปัญหา
- ร้องไห้หนัก เด็กทารกมักร้องไห้โดยไม่ทราบสาเหตุ หากทารกร้องไห้แม้จะกินอิ่ม เรอ และสวมผ้าอ้อมที่สะอาดแล้ว อาจใช้วิธีอุ้มทารกไว้และพูดคุยหรือร้องเพลงให้ฟังจนกว่าทารกจะหยุดร้องไห้
- การนอนหลับ เด็กทารกมักตื่นนอนทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง กินอิ่ม ร่าเริง และตื่นตัวในตอนกลางวัน ถือเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าหากเด็กทารกไม่ค่อยตื่นตัว ดูเหนื่อยล้า ไม่ตื่นมากินอาหาร หรือไม่อยากอาหาร ควรปรึกษาคุณหมอ เพราะอาจเป็นสัญญาณของการเจ็บป่วยที่รุนแรงได้
- ถ่ายอุจจาระผิดปกติ อุจจาระสีดำหรือสีเขียวเข้ม หรือที่เรียกว่า ขี้เทา เป็นอุจจาระครั้งแรกของทารก ทารกจำเป็นต้องขับขี้เทาออกจากลำไส้ให้หมดภายใน 2-3 วันหลังคลอด หากไม่ถ่ายขี้เทาออกมาภายใน 48 ชั่วโมงแรก อาจมีปัญหาลำไส้อุดตัน นอกจากนี้ หากอุจจาระทารกเป็นสีแดง หรือถ่ายเป็นเลือด อาจเป็นสัญญาณว่าทารกมีแผลบริเวณทวารหนักจากการถ่ายอุจจาระ บางกรณีอาจมีเลือดออกภายในลำไส้ หากปริมาณเลือดไม่เยอะและเป็นเพียง 1 ครั้ง โดยทั่วไปมักไม่เป็นอันตราย อย่างไรก็ตาม หากมีอาการต่อเนื่อง หรือปริมาณเลือดออกมาก ควรแจ้งคุณหมอเพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัด
- บาดเจ็บจากการคลอด ปัจจัยบางประการ เช่น ทารกตัวใหญ่ คลอดยาก ใช้ระยะเวลาในการทำคลอดนาน อาจทำให้เด็กทารกบาดเจ็บจากการคลอด เช่น กระดูกไหปลาร้าหัก ซึ่งอาจสามารถรักษาได้ภายใน 2-3 สัปดาห์ ทั้งนี้ต้องได้รับการดูแลรักษาโดยกุมารแพทย์/ศัลยแพทย์กระดูกและข้อร่วมด้วย
- Blue Baby เป็นโรคที่ทำให้ผิวหนังของทารกเปลี่ยนเป็นสีฟ้า หรือม่วงอ่อน ซึ่งอาจเป็นสัญญาณว่า หัวใจ หรือปอดทำงานผิดปกติ หรือได้รับออกซิเจนในเลือดไม่เพียงพอ หากมีภาวะนี้ควรรีบพาเด็กทารกไปพบคุณหมอทันที
- ดีซ่าน “บิลิรูบิน” เป็นสารสีเหลืองที่ถูกเปลี่ยนมาจากฮีโมโกลบินในเลือด ผ่านกระบวนการที่ตับและขับออกจากร่างกายผ่านทางปัสสาวะและอุจจาระ โดยปกติตับจะขับบิลิรูบินออกจากร่างกาย แต่สำหรับทารกในช่วง 2-3 วันหลังคลอด ตับยังทำงานไม่เต็มที่ ส่งผลให้ระดับบิลิรูบินในเลือดสูงเกินไป จึงอาจทำให้ทารกมีภาวะตัวเหลือง หรือที่เรียกว่าดีซ่าน
- ปัญหาเกี่ยวกับสะดือ เช่น มีเลือดออกจากสะดือ หากมีเลือดออกมาก ควรรีบพาทารกไปพบคุณหมอทันที เพราะอาจเกิดการติดเชื้อ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที นอกจากนี้ ทารกอาจมีปัญหาสะดืออักเสบเรื้อรัง ทำให้สะดือแฉะอยู่ตลอดเวลา ภาวะนี้มักหายภายในประมาณ 1 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม หากอาการไม่ดีขึ้นภายในเวลาดังกล่าว หรืออาการแย่ลง ควรรีบพาทารกไปพบคุณหมอทันที
ข้อควรระวังในการดูแลเด็กทารก
- หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ล้างขวดนมและจุกนมแล้วนึ่งหรืออบฆ่าเชื้อให้สะอาดอยู่เสมอ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของทารกยังไม่แข็งแรงพอ จึงเสี่ยงติดเชื้อได้ง่าย
- ไม่ควรวางเด็กทารกบนเตียงสูง เพราะอาจทำให้ตกเตียงได้ และพยายามให้เด็กทารกนอนหงาย เพราะหากนอนคว่ำหน้าอาจทำให้หายใจไม่ออก เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจได้
- ไม่ควรเขย่าตัวเด็กทารกแรง ๆ หรือโยนเด็กทารกขึ้นกลางอากาศ เพราะกล้ามเนื้อคอยังอ่อนแอไม่สามารถรองรับศีรษะได้ อีกทั้งการเขย่าทารกแรง ๆ อาจส่งผลกระทบต่อสมอง ทำให้เลือดออกที่เยื่อหุ้มสมอง อาจร้ายแรงถึงขั้นทำให้ทารกเสียชีวิตได้
- ระวังอย่าให้เด็กคว้าของเล่น วัตถุต่าง ๆ รวมถึงอาหารแข็งหรืออาหารชิ้นใหญ่เข้าปาก เพราะอาจติดคอหรือทำให้สำลักได้
- ปกป้องเด็กทารกจากควันบุหรี่ เพราะทารกอาจแพ้ควัน ที่สำคัญ ควันบุหรี่ยังส่งผลร้ายต่อสุขภาพของเด็กด้วย