backup og meta

เด็ก1ขวบ มีพัฒนาการสำคัญอะไรบ้างที่ควรรู้

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 27/04/2023

    เด็ก1ขวบ มีพัฒนาการสำคัญอะไรบ้างที่ควรรู้

    เด็ก1ขวบ มีการเปลี่ยนแปลงทางพัฒนาการในหลายส่วนทั้งทางร่างกาย สติปัญญา การเรียนรู้ การสื่อสาร ภาษา สังคมและอารมณ์ ซึ่งพัฒนาการเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมจากคุณพ่อคุณแม่และสิ่งแวดล้อมรอบข้าง เนื่องจากเด็ก1ขวบเป็นวัยแห่งการเรียนรู้ ทำความเข้าใจและลอกเลียนแบบสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ดังนั้น การเป็นตัวอย่างที่ดีและการให้เด็กอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี จึงอาจช่วยส่งเสริมพัฒนาการและทักษะของเด็กให้เหมาะสมตามวัย

    เด็ก1ขวบ มีพัฒนาการอะไรเกิดขึ้นบ้าง

    เด็ก1ขวบมีพัฒนาการที่เกิดขึ้นในหลายด้านที่บ่งบอกถึงพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัยและมีสุขภาพดี ดังนี้

    • การเจริญเติบโตทางร่างกาย

    น้ำตัวของเด็กทารกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 3 เท่าตั้งแต่แรกเกิด และเมื่ออายุครบ 1 ขวบ เด็กจะตัวโตขึ้นประมาณ 9-11 นิ้ว หลังจากนั้น น้ำหนักตัวของเด็กจะเพิ่มขึ้นช้าลงหรืออาจคงที่ เนื่องจากระดับกิจกรรมที่มากขึ้น ดังนั้น การให้เด็กกินอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน เช่น ผลไม้ ผัก โปรตีน คาร์โบไฮเดรต เพื่อช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตและใช้เป็นพลังงานในการทำกิจกรรมจึงเป็นสิ่งสำคัญ

    • ทักษะการเคลื่อนไหวและการประสานงานของกล้ามเนื้อ

    เด็ก1ขวบจะมีพัฒนาการในการเคลื่อนไหวและการประสานงานของร่างกายทั้งกล้ามเนื้อมัดเล็กและกล้ามเนื้อมัดใหญ่ โดยเด็กจะเรียนรู้ทักษะในการหยิบจับสิ่งของด้วยการใช้มือและนิ้วมือ เช่น การส่งของจากมือหนึ่งไปอีกมือหนึ่ง การหยิบของเข้าปาก การเปิดหน้าหนังสือ รวมทั้งการเคลื่อนไหวร่างกายในส่วนอื่น ๆ เช่น การพลิกตัว การคลาน การยืนด้วยการจับวัตถุรอบข้าง การยืนด้วยตัวเอง การเดินพร้อมกับการจับวัตถุรอบข้าง

    • การสื่อสารและภาษา

    เด็ก1ขวบจะเริ่มเรียนรู้คำศัพท์สั้น ๆ ง่าย ๆ เช่น พ่อ แม่ หม่าม้า ด่าด๊า ซึ่งเป็นการเรียนรู้คำศัพท์จากการเลียนแบบคำพูดของคุณพ่อคุณแม่หรือคนรอบตัว และเมื่อเด็กเข้าสังคมมากขึ้นก็จะเริ่มเรียนรู้พฤติกรรมการแสดงอารมณ์ การยอมรับ และการปฏิเสธจากคนรอบข้าง อาจเริ่มสื่อสารคำว่า ไม่ ได้ หรือเอา จากคนในสังคมเพื่อแสดงความต้องการในสิ่งนั้น ๆ

    • การเข้าสังคม

    เมื่อเริ่มเดินได้เด็กจะแสดงความเป็นอิสระมากขึ้นและพยายามเดินให้ห่างจากคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครอง ซึ่งอาจทำให้ความวิตกกังวลของเด็กในเรื่องของคนแปลกหน้า หรือการแยกจากคุณพ่อคุณแม่ลดน้อยลงตามไปด้วย โดยเด็กบางคนอาจมีการร่วมเล่น พูดคุยกับผู้อื่นมากขึ้น เริ่มแสดงออกทางอารมณ์โดยการพูดคำว่า ไม่ มากขึ้น เพื่อต่อต้านคำสั่งหรือแสดงความต้องการบางสิ่งบางอย่าง นอกจากนี้เด็กยังอาจใช้ผ้าห่มหรือตุ๊กตามาเป็นเพื่อนหรือเป็นสิ่งที่ช่วยรักษาความปลอดภัยให้ตัวเองแทนคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งเป็นการแสดงถึงความเป็นอิสระที่มากขึ้น

    • การนอนหลับ

    เด็ก1ขวบอาจนอนน้อยลงในช่วงกลางวันและนอนมากขึ้นในช่วงกลางคืน เนื่องจากเด็กจะมีความสนใจและเรียนรู้สิ่งรอบตัวมากขึ้น จึงอาจทำให้ความสำคัญในการนอนกลางวันลดลง แต่นอนมากขึ้นและยาวนานขึ้นในช่วงกลางคืน อย่างไรก็ตาม เด็ก1ขวบยังคงต้องนอนหลับให้ได้ 11-14 ชั่วโมง/วัน

    • การกินอาหาร

    เด็กที่มีอายุครบ 1 ขวบสามารถเปลี่ยนจากการกินนมแม่เป็นนมผงสำหรับเด็ก1ขวบได้แล้ว และสามารถให้อาหารแข็งเสริมที่หลากหลายมากขึ้นได้ เช่น ผักปรุงสุก ผลไม้เนื้ออ่อน (เช่น กล้วย แอปเปิ้ล องุ่น สตรอว์เบอร์รี่ มะละกอ มะม่วงสุก) เนื้อสัตว์ปรุงสุกสับหยาบ นมวัว เนื่องจากเด็กในวัยนี้มีทักษะที่สามารถเคี้ยวและหยิบอาหารเข้าปาก หรือใช้ช้อนส้อมเพื่อตักอาหารได้ด้วยตัวเอง

    สิ่งที่ควรระวังในเด็ก1ขวบ

    เด็ก1ขวบแต่ละคนอาจมีพัฒนาการที่แตกต่างกัน คุณพ่อคุณแม่จึงควรสังเกตสิ่งที่ควรระวังเหล่านี้ หากพบปัญหาควรพาเด็กเข้าพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยปัญหาด้านพัฒนาการที่ไม่เหมาะสมตามวัย

    • อายุครบ 1 ขวบ แต่เด็กยังไม่คลานหรือเดิน
    • เด็กไม่สามารถยืนได้ด้วยตัวเอง และยังคงต้องการความช่วยเหลือในการยืนอยู่ตลอด
    • เด็กนิ่งเฉย ไม่สนใจสิ่งรอบตัว ไม่สำรวจหรือค้นหาวัตถุที่ซ่อนอยู่
    • เด็กไม่ชี้นิ้วไปทางสิ่งที่ตัวเองสนใจ
    • เด็กไม่ยอมพูดแม้แต่คำง่าย ๆ เช่น พ่อ แม่
    • เด็กสูญเสียทักษะที่เคยทำได้ เช่น เด็กเคยยืนได้แต่กลับไม่ยืนอีก

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 27/04/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา