backup og meta

ตัวเหลืองเกิดจากอะไร และวิธีรักษาอย่างเหมาะสม

ตัวเหลืองเกิดจากอะไร และวิธีรักษาอย่างเหมาะสม

ภาวะตัวเหลืองเป็นภาวะมักพบในทารกแรกเกิด และเมื่อลูกเกิดมาตัวเหลือง คุณพ่อคุณแม่ก็อาจสงสัยว่า ตัวเหลืองเกิดจากอะไร สาเหตุที่พบบ่อยของภาวะตัวเหลือง คือ ร่างกายของทารกมีบิลิรูบิน (Bilirubin) ซึ่งเป็นสารสีเหลืองในกระแสเลือดมากเกินไป ส่งผลให้ผิวหนังของทารกเปลี่ยนเป็นสีเหลือง มักเกิดขึ้นหลังคลอด 2-3 วัน และอาจหายไปเองภายใน 10-14 วันหลังคลอด การรักษาเบื้องต้นทำได้ด้วยการให้ทารกดูดนมแม่บ่อยขึ้นเพื่อให้ถ่ายบิลิรูบินส่วนเกินออกไปทางอุจจาระ แต่หากมีระดับบิลิรูบินสูงมาก อาจต้องรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น การส่องไฟ การถ่ายเลือด การให้ของเหลวทางหลอดเลือดดำ

[embed-health-tool-vaccination-tool]

ตัวเหลืองเกิดจากอะไร

ภาวะตัวเหลือง หรือ ดีซ่าน (Jaundice) มีสาเหตุมาจากทารกมีระดับบิลิรูบินในกระแสเลือดมากเกินไป สารชนิดนี้เป็นสารสีเหลืองที่เกิดจากกระบวนการสลายตัวของเซลล์เม็ดเลือดแดงที่ร่างกายจะขับออกทางอุจจาระ แต่เมื่อใดที่ตับไม่สามารถขับบิลิรูบินออกได้ทัน จะทำให้มีบิลิรูบินสะสมอยู่ในเลือด ส่งผลให้ผิวหนังและลูกตาขาวเปลี่ยนเป็นสีเหลือง โดยเริ่มจากบริเวณใบหน้า ก่อนจะกระจายไปทั่วร่างกาย จนเป็นภาวะตัวเหลือง

ภาวะตัวเหลืองเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในทารก โดยเฉพาะทารกที่คลอดก่อนกำหนดหรือคลอดก่อนอายุครรภ์ครบ 38 สัปดาห์ มักเกิดจากตับของทารกยังพัฒนาได้ไม่สมบูรณ์นัก ประสิทธิภาพในการกำจัดบิลิรูบินในกระแสเลือดจึงยังไม่มากพอ นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น พันธุกรรม คุณแม่มีเลือดกรุ๊ปโอหรืออาร์เอชลบ สารบางชนิดในน้ำนมแม่ (Breast milk jaundice) การบาดเจ็บขณะคลอด การติดเชื้อในกระแสเลือด ภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD ความผิดปกติของเซลล์เม็ดเลือดแดงของทารกที่ทำให้เซลล์สลายตัวอย่างรวดเร็ว

อาการตัวเหลืองเป็นอย่างไร

ภาวะตัวเหลือง อาจทำให้ทารกมีอาการดังต่อไปนี้

  • ผิวหนังที่ใบหน้าและศีรษะเป็นสีเหลือง
  • ผิวหนังบริเวณท้อง แขน หรือขาของทารกเป็นสีเหลือง
  • ลูกตาเปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีเหลือง
  • เซื่องซึม ไม่กินนมแม่ น้ำหนักตัวไม่เพิ่มขึ้น
  • ถ่ายอุจจาระสีซีดหรือถ่ายปัสสาวะสีเข้ม

ภาวะแทรกซ้อนของภาวะตัวเหลือง

ภาวะตัวเหลืองที่รุนแรงอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เรียกว่าเคอร์นิกเทอรัส (Kernicterus) ที่เกิดจากบิลิรูบินเดินทางผ่านเนื้อเยื่อชั้นบาง ๆ ที่กั้นระหว่างสมองและเลือด แล้วเข้าไปจับตัวกับเนื้อสมอง บิลิรูบินเป็นพิษต่อเซลล์สมอง จึงอาจทำลายสมองได้ ทั้งยังอาจทำลายไขสันหลังและระบบประสาทส่วนกลางด้วย ทารกที่มีภาวะตัวเหลืองอาจเสี่ยงเกิดภาวะนี้หากมีระดับบิลิรูบินในกระแสเลือดสูงมาก หรือสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมและทันท่วงที

อาการที่เป็นสัญญาณของภาวะเคอร์นิกเทอรัส เช่น

  • ไม่ยอมกินนมตามปกติ
  • มีอาการหงุดหงิด งอแงหนัก
  • ร้องไห้เสียงแหลมสูง
  • ตื่นยาก มีท่าทางกระสับกระส่าย
  • ไม่มีปฏิกิริยาตอบสนองหรือไม่แสดงท่าทีตกใจเมื่อได้ยินเสียงดังหรือเห็นการเคลื่อนไหวเร็ว ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว
  • มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ (Obstructive Sleep Apnea: OSA)
  • ตัวอ่อนปวกเปียก
  • มีอาการชัก
  • กล้ามเนื้อกระตุกหรือเกร็งจนหลังแอ่น คอเอียง

หากความเสียหายลุกลามมาก อาจทำให้ร่างกายเสียหายในระยะยาว เช่น ภาวะสมองพิการ (Cerebral palsy) การสูญเสียการได้ยิน การเคลื่อนไหวของดวงตาผิดปกติ ภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ พัฒนาการของฟันผิดปกติ

ตัวเหลือง แก้ยังไง

การรักษาภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและสาเหตุที่ทำให้ตัวเหลือง โดยทั่วไปแล้วภาวะนี้มักหายไปเองภายใน 10-14 วันหลังคลอดโดยไม่ต้องรับการรักษาใด ๆ คุณหมออาจแนะนำให้คุณแม่ให้นมทารกบ่อยขึ้น อย่างน้อย 8-12 ครั้ง/วัน เพื่อให้ทารกถ่ายอุจจาระและบิลิรูบินออกจากร่างกายได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ภาวะตัวเหลืองหายไปในที่สุด แต่หากภาวะตัวเหลืองยังไม่ดีขึ้นหรือทารกมีระดับบิลิรูบินเพิ่มสูงจนขับได้ไม่ทัน อาจต้องใช้วิธีรักษาอื่น ๆ ดังต่อไปนี้

  • การส่องไฟ (Phototherapy) เป็นการรักษาภาวะตัวเหลืองที่มีระดับบิลิรูบินสูงด้วยการส่องแสงสีฟ้าไปที่ตัวของทารกที่นอนอยู่บนเตียงหรือในตู้อบทารกแรกเกิดที่มีฝาครอบมิดชิดเพื่อช่วยรักษาอุณหภูมิให้คงที่ โดยทารกจะสวมเพียงผ้าอ้อมเพื่อให้แสงส่องได้ทั่วถึง และสวมผ้าปิดตากันแสงเพื่อป้องกันแสงทำลายดวงตา
  • การให้อิมมูโนโกลบูลินทางหลอดเลือดดำ (Intravenous immunoglobulin หรือ IVIg) เป็นวิธีการรักษาเมื่อชนิดของเม็ดเลือดของมารดาและลูกเป็นคนละชนิดกัน โดยมารดาสร้างแอนติบอดีมาต่อต้านและทำลายเม็ดเลือดของลูก เมื่อให้ IVIg จะไปช่วยเพื่อเจือจางแอนติบอดีดังกล่าว
  • การเปลี่ยนถ่ายเลือด (Exchange transfusion) ใช้เมื่อทารกไม่ตอบสนองต่อการรักษาแบบอื่น และมีอาการตัวเหลืองถึงขั้นวิกฤติ การถ่ายเลือดจะช่วยลดระดับบินลิรูบินในเลือดและเจือจางแอนติบอดีของคุณแม่ที่อยู่ในเลือดทารกได้อย่างรวดเร็ว

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Infant jaundice. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/infant-jaundice/symptoms-causes/syc-20373865.  Accessed December 30, 2022

What are Jaundice and Kernicterus?. https://www.cdc.gov/ncbddd/jaundice/facts.html#:~:text=When%20severe%20jaundice%20goes%20untreated,cerebral%20palsy%20and%20hearing%20loss. Accessed December 30, 2022

Newborn jaundice. https://medlineplus.gov/ency/article/001559.htm. Accessed December 30, 2022

Jaundice in Newborns. https://kidshealth.org/en/parents/jaundice.html. Accessed December 30, 2022

Jaundice in newborns. https://raisingchildren.net.au/newborns/health-daily-care/health-concerns/jaundice-in-newborns. Accessed December 30, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

02/03/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

เด็กตัวเหลือง สาเหตุ อาการ วิธีรักษา

ทารกตัวเหลือง วิธีแก้ ทำได้อย่างไรบ้าง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 02/03/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา