backup og meta

Cerebral palsy คือ ภาวะสมองพิการในเด็ก สาเหตุ อาการ การรักษา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 30/12/2022

    Cerebral palsy คือ ภาวะสมองพิการในเด็ก สาเหตุ อาการ การรักษา

    ภาวะสมองพิการ หรือ Cerebral palsy คือ กลุ่มอาการของโรคทางสมองที่ส่งผลให้เด็กมีความผิดปกติด้านเคลื่อนไหวและการประสานงานของกล้ามเนื้ออย่างถาวร เช่น ควบคุมการเคลื่อนไหวไม่ได้ กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง แขนขาอ่อนแรง เดินเขย่งปลายเท้า โดยอาการที่พบในเด็กแต่ละคนจะแตกต่างกันไปตามระดับความเสียหายในสมอง แม้จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การรับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ อาจช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตและช่วยให้เด็กสามารถเจริญเติบโตและมีพัฒนาการใกล้เคียงปกติได้มากที่สุด

    Cerebral palsy คือ อะไร

    ภาวะสมองพิการ หรือ Cerebral palsy คือ กลุ่มอาการผิดปกติในระบบประสาทที่เกิดขึ้นบริเวณส่วนสั่งการของเปลือกสมองซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ ความผิดปกตินี้เกิดขึ้นในช่วงที่เปลือกสมองยังพัฒนาไม่เต็มที่ ทำให้เปลือกสมองเสียหายและส่งผลกระทบต่อความสามารถของสมองในการควบคุมการเคลื่อนไหวและความสมดุลของร่างกายอย่างถาวร

    ความเสียหายของสมองอาจเกิดขึ้นตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ระหว่างคลอด หรือภายใน 1-2 ปีแรกหลังคลอด ทั้งนี้ อาการของภาวะสมองพิการจะไม่ปรากฏตั้งแต่แรกเกิด แต่จะค่อย ๆ แสดงให้เห็นในช่วงเป็นเด็กทารกหรือเด็กก่อนวัยเรียน ส่วนใหญ่แล้ว ขอบเขตความเสียหายภายในสมองของเด็กที่มีภาวะนี้จะไม่เพิ่มขึ้นตามอายุ แต่อาการของโรคอาจเปลี่ยนแปลงไป เช่น มีอาการชัดเจนขึ้น มีอาการน้อยลง

    สาเหตุของ Cerebral palsy คืออะไร

    โดยทั่วไปแล้ว สาเหตุของภาวะสมองพิการ หรือ Cerebral palsy คือ ความผิดปกติของพัฒนาการสมอง หรือสมองได้รับความเสียหายขณะที่ยังพัฒนาไม่เต็มที่ ซึ่งมักเกิดขึ้นขณะทารกยังอยู่ในครรภ์ แต่ก็สามารถเกิดขึ้นหลังคลอด หรือในวัยทารกตอนต้นได้เช่นกัน

    ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะสมองพิการ อาจมีดังนี้

    • การกลายพันธุ์ของยีน เป็นปัจจัยที่อาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติทางพันธุกรรมหรือความผิดปกติของพัฒนาการทางสมอง
    • การติดเชื้อของหญิงตั้งครรภ์ เช่น โรคหัดเยอรมัน โรคท็อกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis) โรคติดเชื้อจากปรสิต อาจกระทบต่อพัฒนาการทางสมองของทารกในครรภ์ได้
    • การติดเชื้อของทารก เช่น โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคไข้สมองอักเสบ ภาวะตัวเหลืองอย่างรุนแรง อาจทำให้เกิดการอักเสบภายในหรือรอบ ๆ สมอง จนทำให้สมองผิดปกติ
    • โรคหลอดเลือดสมองในเด็ก ภาวะหลอดเลือดสมองอุดตันหรือแตก อาจส่งผลให้เลือดที่ไปหล่อเลี้ยงสมองของทารกในครรภ์หรือเด็กแรกเกิดหยุดชะงัก และกระทบต่อสมองที่กำลังพัฒนาการของเด็ก
    • ภาวะเลือดออกในสมอง เมื่อทารกในครรภ์หรือเด็กแรกเกิดมีเลือดออกในสมอง อาจส่งผลให้เกิดภาวะสมองพิการได้
    • อาการบาดเจ็บที่ศีรษะ เช่น อุบัติเหตุทางรถยนต์ การหกล้ม การทำร้ายร่างกาย อาจทำให้สมองของเด็กเสียหายจนเกิดภาวะสมองพิการได้
    • การขาดออกซิเจน ปัญหาบางประการที่เกิดขึ้นขณะคลอด เช่น รกพันคอ คลอดยาก หรือภาวะสุขภาพของแม่ เช่น โรคหัวใจ โรคโลหิตจาง อาจทำให้มีเลือดจากแม่ไปหล่อเลี้ยงสมองของทารกในครรภ์ไม่เพียงพอ และส่งผลให้เกิดภาวะสมองพิการได้

    ประเภทของ Cerebral palsy

    Cerebral palsy หรือ ภาวะสมองพิการ อาจแบ่งเป็นประเภทได้ดังต่อไปนี้

    • กลุ่มอาการ Spastic cerebral palsy พบได้บ่อยที่สุด ผู้ป่วยจะมีอาการกล้ามเนื้อกระตุกหรือแข็งเกร็ง โดยเฉพาะแขนขา ทำให้การเดินหรือการพูดผิดปกติ ทั้งยังมีปฏิกิริยาตอบสนองที่เร็วผิดปกติด้วย
    • กลุ่มอาการ Dyskinetic cerebral palsy ผู้ป่วยจะไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อได้ตามปกติ โดยเฉพาะแขนขาและลำตัว ทำให้เคลื่อนไหวเนิบคล้ายรำ หรืออาจเคลื่อนไหวแบบกระตุกเร็ว ๆ หากภาวะนี้ส่งผลต่อกล้ามเนื้อที่ใบหน้า อาจทำให้คิ้วขมวดเอง น้ำลายไหล และมีปัญหาในการพูด
    • กลุ่มอาการ Ataxic cerebral palsy พบได้น้อย อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวกระตุกและดูเงอะงะ เดินได้ไม่มั่นคง และไม่สามารถเคลื่อนไหวเร็ว ๆ ได้ ทั้งยังอาจทำให้มีอาการมือสั่นแบบควบคุมไม่ได้ด้วย
    • กลุ่มอาการแบบผสม Mixed cerebral palsy ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการมากกว่า 1 ประเภท ส่วนใหญ่แล้วจะมีอาการ Spastic ร่วมกับอาการ Dyskinetic

    อาการของ Cerebral palsy

    ผู้ป่วยแต่ละคนอาจมีลักษณะและระดับความรุนแรงของอาการมากน้อยแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับบริเวณที่ได้รับความเสียหายและระดับของความเสียหายที่เกิดขึ้น

    อาการของ Cerebral palsy หรือภาวะสมองพิการ อาจแบ่งออกได้ดังต่อไปนี้

    ปัญหาด้านการเคลื่อนไหวและการทํางานประสานสัมพันธ์ของร่างกาย

    • กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง
    • มีภาวะที่กล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานสัมพันธ์กันขณะเคลื่อนไหว (Ataxia)
    • เคลื่อนไหวได้เชื่องช้าและบิดเบี้ยวผิดไปจากปกติ
    • ใช้ร่างกายเพียงฝั่งเดียว เช่น เอื้อมมือหยิบสิ่งของด้วยมือเพียงข้างเดียว คลานด้วยขาเพียงข้างใดข้างหนึ่งแล้วลากขาอีกข้างตาม
    • มีปัญหาในการเดิน เช่น เดินแบบเขย่งปลายเท้า เดินแบบท่าย่องหรือแบบหย่อนตัวงอเข่าและสะโพก (Crouch gait) เดินแบบขาทั้งสองข้างหุบเข้าหากันคล้ายกรรไกร (Scissors-like gait) เดินด้วยท่าที่ไม่สมมาตร (Asymmetrical gait)
    • มีปัญหาในการเคลื่อนไหว เช่น ไม่สามารถติดกระดุมเสื้อได้ ไม่สามารถใช้มือหยิบจับสิ่งของได้ตามปกติ

    ปัญหาด้านการพูดและการรับประทานอาหาร

    • มีพัฒนาการในการพูดล่าช้า
    • ไม่สามารถพูดได้ตามปกติ
    • มีปัญหาในการดูด เคี้ยว หรือรับประทานอาหาร
    • น้ำลายไหลออกมามาก หรือมีปัญหาในการกลืน

    ปัญหาด้านสมองและสติปัญญา

    • มีพัฒนาการล่าช้า เช่น นั่งหรือคลานได้ช้ากว่าเด็กในวัยเดียวกัน
    • มีปัญหาในการเรียนรู้
    • มีความบกพร่องทางสติปัญญา
    • เจริญเติบโตช้า ส่งผลให้ตัวเล็กกว่าปกติ

    ปัญหาทางระบบประสาทอื่น ๆ

    • มีอาการชัก
    • มีปัญหาด้านการได้ยิน
    • มีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น และดวงตาเคลื่อนไหวผิดปกติ
    • มีการรับสัมผัสแตะต้อง (Touch sensation) และการรับความเจ็บปวด (Pain sensation) ผิดปกติ
    • มีปัญหาด้านระบบขับถ่าย เช่น กลั้นปัสสาวะไม่ได้ มีอาการท้องผูก
    • มีภาวะทางสุขภาพจิต เช่น ความผิดปกติทางอารมณ์ ปัญหาด้านพฤติกรรม

    การรักษา Cerebral palsy

    Cerebral palsy หรือภาวะสมองพิการไม่สามารถรักษาได้หายขาดได้ การรักษาจะมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด สิ่งสำคัญคือ การเริ่มการรักษาให้เร็วที่สุด ยิ่งวินิจฉัยโรคนี้ได้เร็วเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนการรักษามากเท่านั้น การรักษาโดยทั่วไปจะเป็นการใช้ยารักษาตามอาการเพื่อคลายกล้ามเนื้อหรือยืดกล้ามเนื้อที่หดเกร็ง การทำกายภาพบำบัด การบำบัดการพูดและการใช้ภาษา การแก้ปัญหาการกินและน้ำลายไหล เป็นต้น ซึ่งแนวทางการรักษาในผู้ป่วยแต่ละคนจะแตกต่างไปตามอาการและความรุนแรงของโรค

    เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ

    หากเด็กมีอาการต่อไปนี้ อาจเป็นสัญญาณของภาวะสมองพิการหรือ Cerebral palsy ที่ควรพาไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุและวางแผนการรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ

    ทารกที่อายุน้อยกว่า 6 เดือน

  • ศีรษะตกเมื่ออุ้มขึ้นมาตอนนอนหงาย
  • กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง ไม่เป็นธรรมชาติ
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรงผิดปกติ
  • เมื่ออุ้มขึ้นมาแล้ว ขาของทารกอยู่ในท่าแข็งเกร็ง หรือขาทั้งสองข้างหุบเข้าหากันคล้ายกรรไกร
  • ทารกที่อายุมากกว่า 6 เดือน

    • ไม่พลิกตัวไปด้านใดด้านหนึ่ง
    • ทำท่าเอามือเข้าหากันไม่ได้
    • ไม่สามารถยกมือเข้าปากได้ตามปกติ
    • เอื้อมหยิบจับสิ่งของด้วยมือเพียงข้างเดียว และกำมืออีกข้างไว้เฉย ๆ

    ทารกที่อายุมากกว่า 10 เดือน

    • คลานเอียงผิดปกติ ใช้ร่างกายเพียงฝั่งเดียวแล้วลากมือและขาอีกข้างหนึ่งไปข้างหน้า ไม่ใช้มือและขาทั้งสองข้างพร้อมกัน
    • ไม่สามารถลุกขึ้นยืนแล้วจับเฟอร์นิเจอร์หรือผนังเพื่อประคองตัวให้ยืนอยู่ได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 30/12/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา