โรคปอดเรื้อรังในทารกแรกเกิด เป็นภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงชนิดหนึ่งที่พบมากในทารกคลอดก่อนกำหนด หรือทารกที่มีน้ำหนักตัวน้อย อย่างไรก็ตาม การทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคปอดเรื้อรังในทารกแรกเกิดให้มากขึ้น ทั้งอาการที่ควรสังเกต สาเหตุ วิธีรักษาและดูแลที่เหมาะสม อาจช่วยคลายความกังวลให้กับคุณพ่อคุณแม่ได้
โรคปอดเรื้อรังในทารกแรกเกิด คืออะไร
โรคปอดเรื้อรังในทารกแรกเกิด (Bronchopulmonary dysplasia : BPD) เป็นโรคที่เกี่ยวกับปัญหาการหายใจและปอดในระยะยาว จัดเป็นภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงที่เกิดจากปอดของทารกยังพัฒนาไม่เต็มที่ โรคนี้มักพบในทารกที่มีน้ำหนักตัวน้อย ทารกที่คลอดก่อนกำหนด หรือทารกที่มีภาวะหายใจลำบาก (Respiratory distress syndrome : RDS) โดยความรุนแรงของโรคปอดเรื้อรังในทารกแรกเกิดมีตั้งแต่ระดับเบาไปจนถึงรุนแรงมาก
ทารกที่เป็นโรคปอดเรื้อรังอาจพบภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ได้
- ปัญหาสุขภาพที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจต่อเนื่อง
- เสี่ยงเกิดโรคไข้หวัดธรรมดา โรคไข้หวัดใหญ่ และการติดเชื้ออื่น ๆ ได้ง่าย
- ปัญหาการกลืน
- ปัญหาการเจริญเติบโตและพัฒนาการล่าช้า
- ปัญหาการหายใจในวัยเด็ก และอาจเรื้อรังไปจนถึงวัยผู้ใหญ่
อาการ โรคปอดเรื้อรังในทารกแรกเกิด
อาการที่พบได้บ่อย มีดังนี้
- ปัญหาการหายใจ เช่น หายใจเร็ว หายใจสั้น มีเสียงเมื่อหายใจ หน้าอกมีการหดและขยายอย่างชัดเจน
- อาจหยุดหายใจชั่วขณะ
- ปีกจมูกขยับแรงกว่าปกติขณะหายใจ
- อาจมีอาการหายใจหอบ
- ผิวปลายมือปลายเท้าหรือริมฝีปากมีสีเขียว
- ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเพื่อให้ออกซิเจนอย่างต่อเนื่องหลังจากทารกคลอดก่อนกำหนด มีอายุประมาณ 36 สัปดาห์
สาเหตุของโรคปอดเรื้อรังในทารกแรกเกิด
- ปัญหาสุขภาพ เช่น ภาวะหายใจลำบาก ภาวะปอดติดเชื้อ ภาวะเลือดออกในปอด
- การคลอดก่อนกำหนด ทารกที่คลอดก่อนกำหนดยังพัฒนาปอดอย่างไม่เต็มที่ จึงทำให้ปอดอ่อนแอกว่าปกติและอาจบาดเจ็บได้ง่าย เช่น เซลล์ปอดเสียหาย ปอดบาดเจ็บ เนื้อเยื่อภายในปอดอักเสบ เนื้อเยื่อแตกตัวจนเกิดแผลเป็น และเมื่อปอดของทารกมีแผลเป็นก็อาจทำให้หายใจลำบาก
- สารลดแรงตึงผิวปริมาณต่ำ เป็นสารที่มีหน้าที่ช่วยให้ปอดหดและขยายได้อย่างปกติ ในทารกที่คลอดก่อนกำหนดปอดอาจยังผลิตสารลดแรงตึงผิวไม่เพียงพอ
- การให้ออกซิเจน การได้รับออกซิเจนในปริมาณมากเกินไปอาจเป็นอันตรายต่อเซลล์ในปอด
- เครื่องช่วยหายใจ แรงดันจากเครื่องช่วยหายใจอาจเป็นอันตรายต่อปอดของทารกได้
ปัจจัยเสี่ยง ปอดเรื้อรังในทารกแรกเกิด
ปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลให้ทารกเป็นโรคปอดเรื้อรัง มีดังนี้
- ทารกคลอดก่อนกำหนด ยิ่งทารกคลอดก่อนกำหนดเร็วเท่าไหร่ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงมากเท่านั้น
- น้ำหนักแรกเกิดต่ำ
- ทารกหายใจลำบากเนื่องจากสารลดแรงตึงผิวมีปริมาณน้อย
- ภาวะถุงลมโป่งพองในปอด (Pulmonary interstitial emphysema : PIE)
- โรคหลอดเลือดหัวใจเกิน (Patent ductus arteriosus : PDA)
- คุณแม่ติดเชื้อขณะตั้งครรภ์ ขณะคลอด หรือหลังคลอด
- กรรมพันธุ์
การวินิจฉัยโรคปอดเรื้อรังในทารกแรกเกิด
การวินิจฉัยสามารถทำได้เมื่อทารกคลอดก่อนกำหนดมีอายุครบ 28 วัน ด้วยวิธีดังนี้
- การเอกซเรย์ทรวงอก เพื่อตรวจสุขภาพของปอด
- การตรวจเลือด เพื่อตรวจสอบออกซิเจนในเลือดของทารก
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และใช้คลื่นเสียงเพื่อสร้างภาพเคลื่อนไหวของหัวใจ วิธีนี้สามารถแยกแยะข้อบกพร่องของหัวใจ ที่เป็นสาเหตุของปัญหาการหายใจ
การรักษาโรคปอดเรื้อรังในทารกแรกเกิด
คุณหมอจะต้องประเมินโรคปอดเรื้อรังในทารกแรกเกิดที่เกิดขึ้นกับทารกก่อน โดยพิจารณาจากอายุครรภ์ ขอบเขตความรุนแรงของโรค ความอดทนต่อยาของทารก และประสิทธิภาพการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย จากนั้นจึงฟื้นฟูความเสียหายของปอด และรักษาโรคปอดเรื้อรังในทารกแรกเกิดด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- ใช้เครื่องช่วยหายใจ เพื่อช่วยให้ทารกได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอ
- ใช้ยา ดังนี้
- ยาขยายหลอดลม เพื่อช่วยเปิดทางเดินหายใจ
- ยาสเตียรอยด์ เพื่อช่วยลดอาการอักเสบ
- ยาขับปัสสาวะ เพื่อช่วยลดของเหลวส่วนเกินในปอด
- ยาขยายหลอดเลือด เพื่อช่วยลดความดันโลหิตในปอด
- ยาปฏิชีวนะ เพื่อต่อสู้กับการติดเชื้อ
- รักษาภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้อง เช่น กรดไหลย้อน ภาวะความดันโลหิตสูงในปอด
- ใช้เครื่องอุ่น เช่น เครื่องให้ความอบอุ่นทารกชนิดแผ่รังสี (Radiant Warmer) ตู้อบทารก (Infant Incubator) เพื่อให้ความอบอุ่นแก่ทารกและลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ
- ควบคุมโภชนาการ เพื่อช่วยให้ร่างกายและปอดของทารกเติบโต
- สร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันการติดเชื้อในปอด เช่น ไวรัสระบบทางเดินหายใจ (Respiratory syncytial virus : RSV) ไข้หวัดใหญ่ และป้องกันแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อในปอด
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองที่ช่วยจัดการกับปอดเรื้อรังในทารกแรกเกิด
การดูแลครรภ์ของคุณให้มีสุขภาพดีอาจสามารถช่วยลดความเสี่ยงการคลอดก่อนกำหนด หรือภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นกับทารกได้ ดังนี้
- ฝากครรภ์และตรวจสุขภาพก่อนคลอดอย่างสม่ำเสมอ
- รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ
- ไม่สูบบุหรี่และอยู่ห่างจากควันบุหรี่
- ไม่ดื่มสุราหรือใช้ยาเสพติด
- ป้องกันการติดเชื้อ เช่น หมั่นล้างมือให้สะอาด อยู่ไกลผู้ที่ป่วยเป็นโรคติดเชื้ออย่างโรคหวัด โรคโควิด 19 เป็นต้น
- หากคุณแม่มีปัญหาสุขภาพเรื้อรังหรือมีโรคประจำตัว ควรควบคุมโรคให้ดี
- หากคุณแม่มีอาการไม่ปกติหรือคาดว่าจะคลอดก่อนกำหนด ควรรีบไปพบคุณหมอเพื่อตรวจครรภ์และรับการรักษาในขั้นต่อไป
[embed-health-tool-vaccination-tool]