backup og meta

ทารกตัวเหลือง อาการ สาเหตุและการรักษา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 08/05/2023

    ทารกตัวเหลือง อาการ สาเหตุและการรักษา

    ทารกตัวเหลือง (Jaundice) มักพบในทารกที่คลอดก่อนกำหนด ทารกแรกเกิด และทารกที่กินนมแม่ ซึ่งเป็นภาวะที่ทารกมีระดับบิลิรูบิน (Bilirubin) ซึ่งเป็นสารที่เกิดจากการแตกตัวของเซลล์เม็ดเลือดแดงในหลอดเลือดมากเกินไป เนื่องจากร่างกายไม่สามารถขับบิลิรูบินออกได้หมด จึงส่งผลให้ทารกมีอาการตัวเหลือง

    คำจำกัดความ

    ทารกตัวเหลือง คืออะไร

    ทารกตัวเหลือง คือ ภาวะที่ตับของทารกยังพัฒนาไม่สมบูรณ์จนไม่สามารถขับสารบิลิรูบินในกระแสเลือดได้ ซึ่งเป็นสารที่เกิดจากการแตกตัวของเซลล์เม็ดเลือดแดงในหลอดเลือด ทำให้มีบิลิรูบินในกระแสเลือดมากเกินไป ส่งผลให้ทารกมีอาการตัวเหลือง ซึ่งภาวะนี้มักพบในทารกคลอดก่อนกำหนด ทารกแรกเกิดประมาณ 2-3 วันหลังคลอด และทารกที่กินนมแม่ไม่เพียงพอ

    อาการ

    อาการของทารกตัวเหลือง

    อาการที่แสดงว่าทารกมีภาวะตัวเหลืองมักสังเกตเห็นได้ประมาณวันที่ 2-4 หลังคลอด โดยทารกจะมีผิวหนังบริเวณต่าง ๆ เริ่มจากใบหน้า หน้าอก ท้อง และขา รวมทั้งตาขาวเป็นสีเหลือง นอกจากนี้ ทารกอาจมีอาการหหงุดหงิด ร้องไห้งอแง หรืออาจมีปัญหาในการกินอาหารร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม หากสังเกตว่าทารกเริ่มมีอาการป่วย ไม่กินอาหาร ง่วงนอนกว่าปกติ และอาการตัวเหลืองรุนแรงขึ้น ควรเข้าพบคุณหมอทันที

    สาเหตุ

    สาหตุของทารกตัวเหลือง

    สาเหตุหลักของอาการตัวเหลืองในทารก คือ ในกระแสเลือดมีสารบิลิรูบินมากกว่าปกติ เนื่องจากตับของทารกยังพัฒนาไม่สมบูรณ์จนไม่สามารถขับสารบิลิรูบินได้อย่างเต็มที่ ส่งผลให้สารบิลิรูบินสะสมในกระแสเลือดมากเกินไปและมีอาการตัวเหลืองเกิดขึ้น โดยเฉพาะร่างกายของทารกแรกเกิดประมาณ 2-3 วันแรก เนื่องจากร่างกายอาจผลิตสารบิลิรูบินมากกว่าผู้ใหญ่ ซึ่งการผลิตสารบิลิรูบินที่มากอาจทำให้การสลายตัวของเม็ดเลือดมากตามไปด้วย

    นอกจากนี้ ยังอาจมีสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้ทารกตัวเหลืองได้ ดังนี้

    • เลือดออกภายใน โดยเฉพาะใต้เยื่อหุ้มกระโหลกซึ่งเกิดจากภาวะบีบรัดขณะคลอดผ่านทางช่องคลอด หรือเกิดจากการใช้เครื่องมือช่วยในกรณีคลอดยาก
    • ทารกติดเชื้อในกระแสเลือด
    • ติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย
    • เลือดของแม่กับเลือดของทารกไม่เข้ากัน
    • ตับทำงานผิดปกติ
    • ภาวะท่อน้ำดีของทารกอุดตันหรือมีแผลเป็น
    • ขาดเอนไซม์
    • ความผิดปกติของเซลล์เม็ดเลือดแดงของทารกที่ทำให้เซลล์แตกตัวอย่างรวดเร็ว

    ปัจจัยเสี่ยง

    ปัจจัยเสี่ยงของทารกตัวเหลือง

    ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้ทารกมีภาวะตัวเหลือง มีดังนี้

    • การคลอดก่อนกำหนด ทารกที่คลอดก่อนอายุครรภ์ 38 สัปดาห์ ตับและร่างกายอาจยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้ไม่สามารถขับบิลิรูบินได้เร็วเท่ากับทารกที่คลอดตามกำหนด
    • การฟกช้ำระหว่างการคลอด ทารกแรกเกิดที่มีรอยฟกช้ำระหว่างการคลอด อาจมีระดับบิลิรูบินสูงเนื่องจากการสลายตัวของเม็ดเลือดแดง
    • กรุ๊ปเลือด หากกรุ๊ปเลือดของแม่แตกต่างจากทารก ทารกอาจได้รับแอนติบอดีผ่านทางรกที่ทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงแตกตัวเร็วผิดปกติ
    • การให้นมบุตร ทารกที่กินนมแม่ โดยเฉพาะทารกที่มีปัญหาในการดูดนมหรือได้รับสารอาหารไม่เพียงพอจากการให้นม อาจมีความเสี่ยงสูงที่จะมีอาการตัวเหลือง

    การวินิจฉัยและการรักษา

    ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

    การวินิจฉัยทารกตัวเหลือง

    คุณหมอจะตรวจจากลักษณะภายนอกของทารก และวัดระดับบิลิรูบินในเลือดของทารกเพื่อกำหนดแนวทางในการรักษา ดังนี้

    • ตรวจร่างกาย
    • เก็บตัวอย่างเลือดของทารกเพื่อตรวจระดับบิลิรูบิน และตรวจค่าเลือดอื่น ๆ ที่จำเป็น
    • ตรวจผิวหนังด้วยอุปกรณ์บิลิรูบิโนมิเตอร์ (Bilirubinometer) เพื่อวัดการสะท้อนแสงที่ส่องผ่านผิวหนัง

    การรักษาทารกตัวเหลือง

    การรักษาทารกตัวเหลืองอาจมีเป้าหมายเพื่อลดระดับบิลิรูบินในกระแสเลือด ซึ่งอาจทำได้ดังนี้

    • โภชนาการที่ดีขึ้น คุณหมออาจแนะนำให้ทารกกินนมบ่อยขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำหนักของทารกลดลง
    • การรักษาด้วยแสง เป็นการฉายแสงสีน้ำเงินอมเขียว โดยแสงจะช่วยเปลี่ยนโครงสร้างโมเลกุลบิลิรูบิน เพื่อช่วยขับบิลิรูบินออกทางปัสสาวะหรืออุจจาระ
    • การให้ยาอิมมูโนโกลบูลินทางหลอดเลือดดำ (Intravenous Immunoglobulin หรือ IVIG) อาการทารกตัวเหลืองอาจเกี่ยวข้องกับความแตกต่างของกรุ๊ปเลือดระหว่างแม่และทารก ซึ่งการให้ยาอิมมูโนโกลบูลินทางหลอดเลือดดำอาจช่วยลดระดับแอนติบอดีจึงช่วยลดอาการตัวเหลืองของทารกได้
    • การถ่ายเลือด ใช้รักษาทารกที่มีอาการตัวเหลืองรุนแรงและไม่ตอบสนองต่อการรักษาอื่น ๆ ซึ่งทารกอาจต้องได้รับการถ่ายเลือด เพื่อทำให้บิลิรูบินและแอนติบอดีเจือจางลง

    การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

    การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อจัดการกับภาวะทารกตัวเหลือง

    การดูแลทารกแรกเกิดด้วยการปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารอาจช่วยลดระดับบิลิรูบินได้ ดังนี้

    • การให้นมบ่อยขึ้น การให้นมบ่อยขึ้นช่วยให้ทารกได้รับน้ำมากขึ้น ซึ่งดีต่อการเคลื่อนไหวของลำไส้ และช่วยให้ขับสารบิลิรูบินออกทางอุจจาระได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้น ทารกจึงควรกินนมแม่ประมาณ 8-12 ครั้ง/วัน โดยเฉพาะในช่วง 2-3 วันแรกหลังคลอด และสำหรับทารกที่กินนมผงควรให้กินนมผงประมาณ 1-2 ออนซ์ (ประมาณ 30-60 มิลลิลิตร) ทุก ๆ 2-3 ชั่วโมงในสัปดาห์แรกหลังคลอด
    • การให้อาหารเสริม หากทารกมีปัญหาในการดูดนม น้ำหนักลด หรือร่างกายขาดน้ำ แนะนำให้ป้อนนมผงเพื่อเสริมจากการกินนมแม่ หรือบางกรณีคุณหมออาจแนะนำให้ใช้นมผงเพียงอย่างเดียวเป็นเวลา 2-3 วัน จากนั้นจึงให้นมแม่ต่อเพื่อให้ทารกได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 08/05/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา