backup og meta

ผ้าอ้อมเด็กแรกเกิด เลือกแบบไหนดี และวิธีป้องกันผื่นผ้าอ้อม

ผ้าอ้อมเด็กแรกเกิด เลือกแบบไหนดี และวิธีป้องกันผื่นผ้าอ้อม

ผ้าอ้อม เด็ก แรก เกิด สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่ ผ้าอ้อมแบบผ้า และผ้าอ้อมสำเร็จรูป หลายบ้านมักเลือกใช้ผ้าอ้อมเด็กแรกเกิดทั้ง 2 ประเภทสลับกันไปตามความสะดวก เช่น ใส่ผ้าอ้อมแบบผ้าในตอนกลางวันแล้วใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูปในตอนกลางคืน ทั้งนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรศึกษาวิธีเปลี่ยนผ้าอ้อมที่ถูกต้อง เพราะอาจช่วยป้องกันการเกิดผื่นผ้าอ้อมได้

[embed-health-tool-baby-poop-tool]

ผ้าอ้อม เด็ก แรก เกิด ควรเลือกอย่างไร

การเลือกใช้ผ้าอ้อมเด็กแรกเกิดอาจพิจารณาจากข้อดีและข้อเสียของผ้าอ้อมแต่ละประเภท ดังนี้

ผ้าอ้อมเด็กแรกเกิดแบบผ้า (Cloth diaper)

ผ้าอ้อมเด็กแรกเกิดแบบผ้า เช่น ผ้าอ้อมผ้าสาลู ผ้าอ้อมหนังไก่ (ทำจากผ้าสำลีกับผ้าสาลู) สามารถระบายอากาศได้ดีและไม่ทำให้ผิวระคายเคือง ทั้งยังเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย เนื่องจากผ้าอ้อมเด็กแรกเกิดแบบผ้าสามารถซักให้สะอาดและนำกลับมาใช้ใหม่ได้

ข้อดี

  • อ่อนโยนต่อผิวเด็กที่บอบบาง
  • ระบายอากาศได้ดี ลดการเกิดผื่นผ้าอ้อม
  • มีชนิดของเนื้อผ้าให้เลือกเยอะ
  • ประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่าแบบใช้แล้วทิ้ง
  • สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้อีก

ข้อเสีย

  • ซึมเปื้อนได้ง่าย อาจต้องใช้กางเกงหรือแผ่นรองซับ
  • ต้องซักผ้าอ้อมเป็นประจำทุกวัน
  • ไม่สะดวกเมื่อต้องเดินทาง

ผ้าอ้อมเด็กแรกเกิดแบบสำเร็จรูป (Disposable diaper)

หรือผ้าอ้อมเด็กแบบใช้แล้วทิ้ง เป็นผ้าอ้อมเด็กที่มีคุณสมบัติดูดซับของเสียได้ดี มีทั้งแบบเทปกาวและแบบกางเกง สำหรับเด็กแรกเกิด คุณพ่อคุณแม่อาจเลือกใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูปแบบเทปกาวที่มีราคาถูกกว่าเนื่องจากเด็กในวัยนี้จะขับถ่ายบ่อย โดยเฉพาะหลังกินนมทุกครั้ง ทำให้อาจต้องเปลี่ยนผ้าอ้อมประมาณ 10 ครั้ง/วัน อีกทั้งผ้าอ้อมสำเร็จรูปแบบเทปกาวยังสวมใส่ได้ง่ายกว่าแบบกางเกงด้วย

ข้อดี

  • สามารถถอดทิ้งได้ทันทีเมื่อผ้าอ้อมเต็ม
  • มีคุณสมบัติดูดซับความชื้นได้ดี จึงอาจช่วยป้องกันผื่นผ้าอ้อมได้
  • สะดวกในการใช้งานขณะเดินทาง

ข้อเสีย

  • เมื่อทิ้งแล้วจะเป็นขยะที่ย่อยสลายไม่ได้
  • คุณพ่อคุณแม่มักไม่เปลี่ยนผ้าอ้อมจนกว่าจะเต็ม จึงอาจทำให้เกิดผื่นผ้าอ้อมหรือเสี่ยงติดเชื้อได้ง่าย
  • มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าผ้าอ้อมเด็กแรกเกิดแบบผ้า

อุปกรณ์ที่ใช้ในการเปลี่ยนผ้าอ้อม เด็ก แรก เกิด

อุปกรณ์ที่ใช้ในการเปลี่ยนผ้าอ้อมเด็กแรกเกิด อาจมีดังนี้

  • ผ้าอ้อมเด็กแรกเกิด
  • สายรัดผ้าอ้อม (สำหรับผู้ที่ใช้ผ้าอ้อมแบบผ้า)
  • น้ำอุ่นและผ้าขนหนูสะอาด หรือทิชชูเปียกสำหรับทารก (อาจใช้สำลีก้อนแทนผ้าขนหนูสำหรับทารกที่มีผิวบอบบาง)
  • ครีมป้องกันผื่น หรือปิโตรเลียมเจลลี (Petroleum Jelly)
  • ผ้าหรือแผ่นยางรองแบบกันน้ำ

คุณพ่อคุณแม่ควรวางอุปกรณ์เปลี่ยนผ้าอ้อมไว้ใกล้มือ เพื่อให้หยิบใช้งานได้สะดวก ทั้งนี้ หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนผ้าอ้อมเด็กโดยวางเด็กไว้บนที่สูง เช่น เคาน์เตอร์ห้องน้ำ และไม่ควรทิ้งเด็กไว้คนเดียวโดยไม่มีผู้ใหญ่คอยดูแลเป็นอันขาด

ขั้นตอนการเปลี่ยน ผ้าอ้อม เด็ก แรก เกิด

ขั้นตอนการเปลี่ยนผ้าอ้อมเด็กแรกเกิดที่ถูกต้อง อาจมีดังนี้

  1. ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำเปล่าและสบู่ แล้วเช็ดมือให้แห้ง
  2. วางให้เด็กนอนหงายบนแผ่นรองเปลี่ยนผ้าอ้อม
  3. ใช้ทิชชูเปียก ผ้าขนหนูหรือสำลีก้อนชุบน้ำเช็ดทำความสะอาดอวัยวะเพศและก้นของทารกให้สะอาด สำหรับเด็กผู้หญิงให้เช็ดจากหน้าไปหลังเพื่อป้องกันเชื้อจากทวารหนักมาสัมผัสกับอวัยวะเพศ และสำหรับเด็กผู้ชายให้วางผ้าปิดองคชาตของเด็กไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กปัสสาวะรดขณะเปลี่ยนผ้าอ้อม
  4. สำหรับผ้าอ้อมแบบผ้าให้พับผ้าอ้อมตามทรงที่ต้องการ เช่น ทรงซูโม่ ทรงสามเหลี่ยม แล้วยกขาและเท้าทั้ง 2 ข้างของเด็กขึ้นช้า ๆ พร้อมสอดผ้าไว้ใต้ตัวเด็ก จากนั้นวางเด็กลงทับผ้าอ้อมที่อยู่ด้านหลัง ผูกปลายผ้าอ้อมให้พอดีตัวเด็ก โดยให้ขอบผ้าอ้อมอยู่ต่ำกว่าสะดือของเด็กประมาณ 1 เซนติเมตร เพื่อลดการเสียดสีบริเวณสะดือที่อาจยังไม่แห้งสนิทดีหลังคลอด เสร็จแล้วจึงจัดขอบผ้าอ้อมให้ดี เพื่อป้องกันการระคายเคืองและการซึมเปื้อน
  5. สำหรับผ้าอ้อมสำเร็จรูป (แบบเทปกาว) ให้กางผ้าอ้อมชิ้นใหม่ออก แล้วยกขาและเท้าทั้ง 2 ข้างของเด็กขึ้นช้า ๆ พร้อมสอดผ้าอ้อมไปใต้ตัวเด็ก จากนั้นวางเด็กลงให้ทับผ้าอ้อมด้านหลัง ยกผ้าอ้อมส่วนหน้าขึ้นมาปิดหว่างขาและหน้าท้องของเด็ก โดยให้ขอบผ้าอ้อมด้านหน้าอยู่ต่ำกว่าสะดือของเด็กประมาณ 1 เซนติเมตรเช่นเดียวกับการใส่ผ้าอ้อมเด็กแรกเกิดแบบผ้า เสร็จแล้วแปะแถบกาวให้แนบสนิทกับตัวเด็ก แต่ไม่ควรรัดแน่นเกินไป และระวังอย่าให้แถบกาวสัมผัสโดนผิวของทารก จากนั้นจัดขอบผ้าอ้อมให้ดี เพื่อป้องกันการระคายเคืองและการซึมเปื้อน

วิธีป้องกันผื่นผ้าอ้อม

วิธีป้องกันผื่นผ้าอ้อม อาจมีดังนี้

  • ล้างมือทั้งก่อนและหลังเปลี่ยนผ้าอ้อมให้เด็กทุกครั้ง
  • ทำความสะอาดผิวเด็กอย่างเบามือ หลีกเลี่ยงการถูผิวเด็กแรง ๆ เพราะอาจทำให้ผิวระคายเคือง หรือเกิดแผลได้
  • หากใช้ผ้าอ้อมแบบผ้า ต้องเปลี่ยนผ้าอ้อมใหม่ทุกครั้งที่เด็กขับถ่าย หากใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูปควรเปลี่ยนผ้าอ้อมทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง ไม่ควรให้เด็กสวมผ้าอ้อมผืนเดิมนานเกินไปหรือรอให้ผ้าอ้อมเปียกชุ่ม เพราะอาจทำให้เด็กไม่สบายตัวจนร้องไห้งอแง และอาจเกิดผื่นหรือติดเชื้อได้
  • ควรซักผ้าอ้อมแบบผ้าประมาณ 1-2 ครั้งก่อนนำมาใช้งานครั้งแรก เพื่อให้ผ้านุ่มและไม่ระคายเคืองผิวเด็ก และควรใช้ผลิตภัณฑ์ซักผ้าที่อ่อนโยนต่อผิวเด็กที่บอบบาง ไม่มีส่วนประกอบที่อาจทำให้เกิดอาการแพ้หรือระคายเคืองอย่างน้ำหอม สารเคมี
  • ก่อนเปลี่ยนผ้าอ้อม คุณพ่อคุณแม่อาจทาครีมกันผื่นผ้าอ้อมหรือปิโตรเลียมเจลลีบาง ๆ ที่ก้นและขอบขาของเด็ก เพื่อลดการเสียดสีที่อาจทำให้เกิดผื่นผ้าอ้อม
  • หมั่นสังเกตว่าผ้าอ้อมแบบไหนที่เด็กใช้แล้วเกิดผื่นผ้าอ้อม หากพบควรเปลี่ยนไปใช้ผ้าอ้อมแบบอื่นที่ระคายเคืองน้อยกว่า

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Diapering Your Baby. https://kidshealth.org/en/parents/diapering.html. Accessed March 28, 2023

How to Diaper Your Baby. https://www.webmd.com/parenting/baby/ss/slideshow-diapering. Accessed March 28, 2023

Diaper Changing Steps at Home. https://www.cdc.gov/hygiene/childcare/in-the-home.html. Accessed March 28, 2023

Nappies. https://www.nhsinform.scot/ready-steady-baby/early-parenthood/caring-for-your-new-baby/nappies. Accessed March 28, 2023

How to Choose Baby Diapers. https://www.webmd.com/parenting/baby/how-to-choose-baby-diapers. Accessed March 28, 2023

เวอร์ชันปัจจุบัน

09/06/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

เปลี่ยนแพมเพิส ให้รวดเร็วและปลอดภัย คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ก็ทำได้

ผื่นผ้าอ้อม เกิดขึ้นได้อย่างไร รักษาอย่างไรจึงจะหาย


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 09/06/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา