backup og meta

ลักษณะอุจจาระทารกปกติ เป็นอย่างไร และทารกถ่ายบ่อยแค่ไหน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 02/03/2023

    ลักษณะอุจจาระทารกปกติ เป็นอย่างไร และทารกถ่ายบ่อยแค่ไหน

    ลักษณะอุจจาระทารกปกติ จะเป็นก้อนนิ่ม เนื้ออาจเหลวเล็กน้อย และอาจมีหลายสี เช่น สีเทา สีเขียว สีเหลือง สีน้ำตาล แตกต่างไปตามอายุและอาหารที่ทารกรับเข้าสู่ร่างกาย อีกทั้งทารกแต่ละคนยังมีความถี่ในการขับถ่ายไม่เหมือนกันด้วย ทารกบางคนอาจถ่ายอุจจาระทุกครั้งหลังกินนม หรือบางคนอาจถ่ายอุจจาระเพียงสัปดาห์ละครั้ง ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติในทารกที่กินเพียงนมแม่หรือนมผงและไม่จำเป็นต้องขับถ่ายของเสียมากนัก ปัญหาการขับถ่ายของทารกส่วนใหญ่อาจเกิดขึ้นในช่วงที่ทารกเริ่มกินอาหารแข็ง หากทารกถ่ายน้อยลง ร่วมกับมีอาการอื่น ๆ เช่น อุจจาระมีเลือดปน ร้องไห้งอแง มีอาการขาดน้ำ อาจเป็นสัญญาณของปัญหาการขับถ่ายที่ควรพาไปพบคุณหมอ

    ลักษณะอุจจาระทารกปกติ เป็นอย่างไร

    ลักษณะอุจจาระทารกปกติ อาจมีหลายสี เช่น สีเขียว สีเหลือง สีน้ำตาล และมีเนื้อสัมผัสที่ต่างกันไปตามอายุและอาหารที่รับเข้าสู่ร่างกาย ในช่วงประมาณ 2-3 วันแรกหลังคลอด ทารกจะถ่ายอุจจาระออกมาเป็นสีเทา เนื้อเหนียว หรือที่เรียกว่าขี้เทา (Meconium) ซึ่งเป็นของเสียที่สะสมอยู่ในระบบย่อยอาหารของทารกตลอดการตั้งครรภ์ หลังจากนั้น อุจจาระของทารกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองมัสตาร์ด อาจมีเนื้อนิ่มและเหลวเล็กน้อย ซึ่งเป็น ลักษณะอุจจาระทารกปกติ เมื่อทารกกินนมแม่ แต่หากทารกกินนมผงอาจมีอุจจาระสีเหลืองเข้มขึ้น และเมื่อคุณพ่อคุณแม่เริ่มให้ทารกกินอาหารแข็ง (Solid food) อุจจาระของทารกอาจเป็นสีเขียว สีเหลือง สีน้ำตาล หรือสีส้ม ตามอาหารที่ทารกรับเข้าสู่ร่างกาย และเมื่ออายุมากขึ้นเรื่อย ๆ อุจจาระของทารกจะเป็นสีน้ำตาลที่เหมือนกับอุจจาระของผู้ใหญ่

    ทารกถ่ายบ่อยแค่ไหน

    โดยทั่วไป ความถี่ในการขับถ่ายของทารกแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน ทารกบางคนอาจถ่ายอุจจาระหลังจากกินนมเสร็จทุกครั้ง ทารกบางคนอาจถ่ายอุจจาระทุก ๆ 2-3 วัน และบางครั้งอาจทิ้งช่วงนานจนทำให้คุณพ่อคุณแม่กังวลว่าทารกอาจมีปัญหาในการขับถ่ายหรือมีอาการท้องผูก ทั้งนี้ หากทารกดูแข็งแรงสมบูรณ์ดี ไม่ว่าจะถ่ายอุจจาระเพียง 1 ครั้ง/สัปดาห์ หรือวันละ 6-7 ครั้งก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากในนมแม่อุดมด้วยสารอาหารที่เป็นประโยชน์ ร่างกายจึงอาจดูดซึมสารอาหารไปเกือบทั้งหมดและขับเป็นของเสียออกมาได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น นอกจากนี้ ความถี่ของการขับถ่ายของทารกยังขึ้นอยู่กับอายุของทารกและลักษณะอาหารที่กินแต่ละวัน หากทารกกินนมผง อาจขับถ่ายทุกครั้งหลังกินนม หรือ 1-2 วัน/ครั้ง

    ปัญหาการขับถ่ายของทารกมักเริ่มขึ้นในช่วงที่ทารกเริ่มเปลี่ยนมากินอาหารแข็ง เช่น ผักนึ่งบด ปลาต้ม โจ๊ก กุ้งบดละเอียด โดยทารกสามารถเริ่มกินอาหารแข็งร่วมกับน้ำนมแม่ได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป หากพบว่าทารกมีอาการผิดปกติ เช่น ทารกกินนมแม่หรืออาหารน้อยลง อุจจาระแห้งหรือแข็ง ท้องบวม อาจเป็นสัญญาณของอาการท้องผูกในทารก

    ปัญหาการขับถ่ายของทารก

    ปัญหาการขับถ่ายของทารก อาจมีดังนี้

  • ท้องผูก เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ทารกเปลี่ยนจากการกินนมแม่หรือนมผงมากินอาหารแข็ง (Solid food) ทำให้ร่างกายทารกได้รับของเหลวน้อยเกินไป จนอาจส่งผลให้ทารกถ่ายอุจจาระออกมาแห้งหรือแข็งกว่าปกติ อุจจาระมีเลือดปนหรือมีสีดำ มีอาการเหมือนเจ็บขณะขับถ่าย มีอาการหงุดหงิดหรืองอแงมากกว่าปกติ มีรอยแผลบริเวณรอบรูทวารหนักและอาจมีเลือดออก หน้าท้องบวม ไม่กินอาหารตามปกติ ไม่ถ่ายอย่างน้อย 1 ครั้ง ใน 5-10 วัน
  • ท้องเสีย อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การเปลี่ยนอาหาร การใช้ยาปฏิชีวนะ การติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือปรสิต ทำให้ทารกขับถ่ายออกมามากและบ่อยกว่าปกติ ถ่ายอุจจาระออกมาเป็นน้ำ อาเจียน ไม่อยากอาหาร มีภาวะขาดน้ำ (สังเกตได้จากทารกร้องไห้ออกมาแบบไม่มีน้ำตา ปากแห้ง ผิวแห้ง ถ่ายปัสสาวะน้อยลง)
  • โรคลำไส้ใหญ่โป่งพองแต่กำเนิดหรือโรคเฮิร์ซปรุง (Hirschsprung disease) พบได้ในทารกแรกเกิด มีสาเหตุจากเซลล์ประสาทบางส่วนในลำไส้ใหญ่หายไป ส่งผลให้ลำไส้ใหญ่บางส่วนไม่สามารถหดรัดตัวและเคลื่อนอุจจาระไปยังทวารหนักเพื่อขับออกนอกร่างกายได้ตามปกติ ทำให้ทารกมีอาการท้องผูกเรื้อรัง ไม่ขับถ่ายขี้เทา ท้องบวมเนื่องจากมีของเสียตกค้าง
  • เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ

    ลักษณะอุจจาระทารกที่ผิดปกติ และควรพาไปพบคุณหมอ มีดังนี้

  • อุจจาระมีสีแดงปน อาจเกิดจากทารกท้องผูกจนทำให้มีเลือดออกบริเวณทวารหนัก
  • อุจจาระสีดำ หากทารกถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ สีเทา หรือสีเขียวในช่วง 2-3 วันหลังคลอด ส่วนใหญ่มักไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด แต่หากผ่านมาสักระยะแล้วทารกยังถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ อาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติ เช่น เลือดออกในระบบทางเดินอาหาร ที่ควรพาทารกไปพบคุณหมอ
  • อุจจาระสีเทาหรือสีขาว หากผ่านช่วงสัปดาห์แรก ๆ หลังคลอดมาแล้วแต่ทารกยังถ่ายอุจจาระเป็นสีเทาหรือสีขาวอยู่ อาจเป็นอาการที่เกิดจากความผิดปกติของตับ
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 02/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา