เจ็บเหงือก ในเด็กทารกเป็นสัญญาณว่าฟันซี่แรกของลูกเริ่มขึ้นแล้ว อาจทำให้ร้องไห้งอแงเนื่องจากรู้สึกไม่สบายตัว จนทำให้คุณพ่อคุณแม่กังวลใจ ทั้งนี้ ควรหมั่นสังเกตร่างกายของลูกน้อย และศึกษาวิธีดูแลเหงือกเพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บเหงือกในเบื้องต้น
เจ็บเหงือก เกิดจากอะไร
ทารกเจ็บเหงือกส่วนใหญ่อาจเกิดจากฟันซี่แรกกำลังขึ้น ซึ่งฟันซี่แรกมักขึ้นเมื่อทารกมีอายุระหว่าง 4-11 เดือน ในบางรายอาจช้ากว่านั้นแต่เด็กทารกส่วนใหญ่มักมีฟันซี่แรกขึ้นเมื่ออายุได้ 6 เดือน โดยฟันซี่แรกที่เริ่มงอกก่อนมักจะเป็นฟันสองซี่ล่างด้านหน้า หลังจากนั้นจะเป็นฟันสองซี่บนด้านหน้า
อาการ เจ็บเหงือก สังเกตได้อย่างไร
อาการที่บ่งบอกว่าลูกกำลังเจ็บเหงือก มีดังนี้
- เหงือกมีอาการบวมและแดง
เมื่อลูกน้อยร้องไห้โยเย อาจลองสังเกตช่องปาก อาจพบว่าเหงือกบวม นอกจากนั้น อาจมีอาการน้ำลายไหลย้อยมากกว่าปกติ
- นอนไม่หลับหรือนอนหลับไม่สนิท
เนื่องจากลูกเจ็บเหงือก อาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัว อาจหลับยาก หรือเมื่อหลับไปแล้วอาจตื่นร้องไห้โยเยกลางดึก อาจกอดและกล่อมนอนจนกว่าลูกจะหลับสนิท
- เริ่มกัดสิ่งของรอบตัว
คุณพ่อคุณแม่ สามารถสังเกตจากการที่ทารกอาจเริ่มกัดสิ่งของต่าง ๆ ที่สามารถนำเข้าปาก เช่น ของเล่นยาง ผ้าอ้อม นิ้วมือ เนื่องจากเมื่อฟันซี่แรกเริ่มขึ้นมักมีอาการคันเหงือก
- ร้องไห้ง่ายขึ้น
ในช่วงเวลาที่ฟันของลูกกำลังจะขึ้น อาจมีอาการหงุดหงิด จนถึงขั้นร้องไห้ออกมา เนื่องจากบางทีเวลาที่ฟันกำลังดันขึ้นมาจากเหงือก อาจจะทำให้ลูกรู้สึกเจ็บหรือปวด
- ทำพฤติกรรมแปลก ๆ
ลูกอาจมีพฤติกรรมเอามือไปถูแก้ม คาง หู เนื่องจากในช่องปากมีเส้นประสาทที่เชื่อมโยงกับหู แก้ม คาง หากมีอาการเจ็บเหงือกขึ้นอาจนำไปสู่อาจการเจ็บในส่วนอื่น ๆ จนลูกอาจทำท่าทางแปลก ๆ โดยอาจใช้มือเกาหรือบีบบริเวณต่าง ๆ ตามใบหน้า เพื่อหาวิธีกำจัดอาการคันหรือเจ็บเหล่านั้น
- มีไข้
ลูกอาจมีไข้ต่ำ มีน้ำมูก ท้องเสีย ในบางรายหากอุจจาระมีเลือดปน คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกเข้าพบคุณหมอในทันที
วิธีดูแลสุขภาพช่องปากเด็ก
วิธีดูแลสุขภาพช่องปากเด็กเพื่อบรรเทาอาการเจ็บเหงือก มีดังนี้
- ให้ลูกหลีกเลี่ยงหรืองดการรับประทานอาหารแข็ง ๆ ขณะเจ็บเหงือกหรือเหงือกบวม
- หาอุปกรณ์ที่ทำจากวัสดุที่นิ่มให้ลูกกัดเล่น เช่น ของเล่นยาง ผ้าอ้อม
- งดการทายาหรือครีมหรือเจลบริเวณที่ลูกเจ็บเหงือก
- คุณพ่อคุณแม่ควรทำความสะอาดเหงือกลูกด้วยผ้าเปียกและผ้าก๊อซอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง
- หากฟันลูกน้อยขึ้นเต็มซี่ คุณพ่อคุณแม่ควรทำความสะอาดฟันและเหงือกลูกอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง อาจใช้ผ้าหรือผ้าก๊อซชุบน้ำอุ่นแล้วเช็ด
- หลังจากลูกอายุ 6 เดือน คุณพ่อคุณแม่อาจเริ่มใช้แปรงสีฟันเด็กที่มีขนอ่อนนุ่มและยาสีฟันสำหรับเด็กที่มีฟลูออไรด์แปรงฟันให้ลูก และอาจเริ่มใช้ไหมขัดฟันกำจัดเศษอาหารตามซอกฟันของลูก
- เมื่อลูกมีตั้งแต่อายุ 1 ปี ขึ้นไป ควรพาไปหาทันตแพทย์เด็กเพื่อเข้ารับการตรวจสุขภาพช่องปากและฟันอย่างสม่ำเสมอ
[embed-health-tool-vaccination-tool]