backup og meta

เด็กตัวเหลือง สาเหตุ อาการ วิธีรักษา

เด็กตัวเหลือง สาเหตุ อาการ วิธีรักษา

เด็กตัวเหลือง เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายมีปริมาณบิลิรูบิน ซึ่งเป็นสารสีเหลืองที่เกิดจากการสลายตัวของเซลล์เม็ดเลือดแดงในปริมาณมากเกินไป มักพบในช่วง 2-3 วันหลังคลอด เนื่องจากตับของเด็กแรกเกิดยังพัฒนาไม่เต็มที่ ทำให้ขับสารชนิดนี้ออกไปได้ไม่เร็วพอ จนทำให้ตาขาวและผิวหนังของเด็กมีสีเหลือง อาการนี้มักไม่อันตราย และการให้เด็กดื่มนมแม่อย่างเพียงพออาจช่วยให้อาการหายไปได้เองภายในไม่กี่สัปดาห์ แต่ในกรณีที่ระดับสารบิลิรูบินสูง หรืออาการของโรคอยู่ในขั้นรุนแรง คุณหมออาจให้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยวิธีที่เหมาะสมกับเด็กมากที่สุด เช่น การฉายแสง การถ่ายเลือด

เด็กตัวเหลือง เกิดจากอะไร

ภาวะตัวเหลือง หรือดีซ่าน (Jaundice) มักพบในเด็กแรกเกิดอายุ 2-3 วัน สาเหตุที่ทำให้ผิวหนังของเด็กเป็นสีเหลืองเกิดจากร่างกายมีบิลิรูบิน (Bilirubin) ซึ่งเป็นสารสีเหลืองในกระแสเลือดมากเกินไป สารชนิดนี้เกิดจากเซลล์เม็ดเลือดแดงสลายตัว เมื่อมีบิลิรูบินสะสมอยู่ในกระแสเลือดจำนวนมาก จะทำให้ผิวหนังกลายเป็นสีเหลือง ในบางครั้งอาจมองเห็นเยื่อบุตามีสีเหลืองขึ้นได้

โดยปกติแล้ว ตับจะทำหน้าที่กรองบิลิรูบินออกไปทางลำไส้และขับออกจากร่างกายปนไปกับอุจจาระ แต่ร่างกายเด็กแรกเกิดจะผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงและสลายเซลล์เม็ดเลือดแดงอย่างรวดเร็ว อีกทั้งตับของเด็กยังพัฒนาไม่เต็มที่ จึงไม่สามารถกำจัดบิลิรูบินออกไปได้เร็วเหมือนผู้ใหญ่ จึงทำให้มีบิลิรูบินในกระแสเลือดมากกว่าปกติ หากไม่มีอาการผิดปกติร่วมด้วย อาการตัวเหลืองอาจดีขึ้นและสีผิวจะกลับเป็นปกติภายในไม่กี่วันถึงเป็นสัปดาห์

อาการของ เด็กตัวเหลือง

อาการตัวเหลืองในเด็กแรกเกิดมักปรากฏในวันที่ 2-3 หลังคลอด โดยอาการจะเริ่มจากผิวหน้าและตาขาวกลายเป็นสีเหลือง ก่อนจะลามไปที่ท้องและที่ขาเมื่อระดับบิลิรูบินสูงขึ้น ร่วมกับมีอาการง่วงนอนตลอดเวลา เซื่องซึม ไม่มีแรง ดูดนมได้น้อยกว่าที่ควร

บางครั้ง หากปริมาณบิลิรูบินพุ่งสูงผิดปกติและไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายดังต่อไปนี้

  • อาการทางสมองเฉียบพลัน (Acute bilirubin encephalopathy) เกิดขึ้นเมื่อมีบิลิรูบินปริมาณมากในกระแสเลือด เมื่อสารที่เป็นพิษต่อเซลล์สมองชนิดนี้ผ่านเข้าไปในเนื้อสมอง จะทำให้เด็กเซื่องซึม ไม่ดูดนม เป็นไข้ ร้องไห้เสียงแหลม หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
  • อาการทางสมองจากภาวะตัวเหลือง (Kernicterus) เกิดขึ้นเมื่อมีอาการทางสมองเฉียบพลันต่อเนื่องเป็นเวลานาน จนทำให้เซลล์สมองเสียหายถาวร อาการอาจมีดังนี้
    • ภาวะสมองพิการชนิดเคลื่อนไหวผิดปกติ (Athetoid cerebral palsy) ทำให้ไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวร่างกายได้ อาจมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงและแข็งตึงสลับไปมา เด็กอาจเคลื่อนไหวช้ามาก เร็วมาก หรือเคลื่อนไหวไม่เป็นจังหวะ
    • สูญเสียการได้ยิน
    • ไม่สามารถขยับตาขึ้นและลงได้ตามปกติ
    • ชั้นเคลือบฟันพัฒนาไม่สมบูรณ์

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เด็กตัวเหลือง

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เด็กตัวเหลือง อาจมีดังต่อไปนี้

  • การคลอดก่อนกำหนด หากคลอดก่อนอายุครรภ์ครบ 38 สัปดาห์ จะมีการสร้างและสลายเม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้น ร่วมกับความไม่สมบูรณ์ของตับ ร่างกายเด็กอาจไม่สามารถกำจัดบิลิรูบินจากผิวหนังได้รวดเร็วเหมือนเด็กที่คลอดตามกำหนด นอกจากนี้ เด็กที่คลอดก่อนกำหนดยังอาจดื่มน้ำนมแม่หรือน้ำนมเสริมได้น้อย ส่งผลให้กำจัดบิลิรูบินออกทางอุจจาระได้น้อยลง
  • การบาดเจ็บระหว่างคลอด เด็กแรกเกิดที่มีรอยฟกช้ำหรือเลือดออกระหว่างคลอด มีภาวะติดเชื้อในครรภ์ อาจมีปริมาณบิลิรูบินสูงเนื่องจากเซลล์เม็ดเลือดแดงสลายตัวมากกว่าปกติ
  • กรุ๊ปเลือดของทารก เด็กที่มีเลือดคนละกรุ๊ปกับแม่จะมีเซลล์เม็ดเลือดแดงอายุสั้นกว่าปกติ เมื่อเด็กได้รับแอนตีบอดีเฉพาะจากแม่ผ่านสายรกในครรภ์จะทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงสลายตัวเร็วผิดปกติ จนเกิดภาวะตัวเหลืองในเด็กได้
  • โรค Glucose-6-phosphate Dehydrogenase (G6PD deficiency) เป็นโรคที่เม็ดเลือดแดงขาดเอนไซม์ที่จำเป็นจึงแตกตัวได้มากขึ้น
  • การให้นมบุตร เด็กที่รับน้ำนมแม่ในปริมาณน้อยหรือคุณแม่มีปัญหาน้ำนมน้อย อาจได้รับสารอาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ลำไส้จะดูดกลับสารอาหารรวมถึงสารต่างๆในลำไส้รวมถึงบิลิรูบินกลับเข้าสู่กระแสเลือดซ้ำ ๆ

การรักษาเมื่อ เด็กตัวเหลือง

โดยทั่วไปอาการตัวเหลืองของเด็กแรกเกิดจะหายไปเองภายใน 1-2 สัปดาห์ เนื่องจากร่างกายจะขับบิลิรูบินส่วนเกินออกไปได้เอง สำหรับเด็กที่กินนมแม่แล้วตัวเหลือง ควรให้เด็กกินนมบ่อยขึ้น เพื่อให้ร่างกายเด็กได้รับสารอาหารเพียงพอและกำจัดบิลิรูบินออกจากร่างกายผ่านการถ่ายอุจจาระได้ดีขึ้น หากคุณแม่มีปัญหาน้ำนมน้อย คุณหมออาจแนะนำให้เด็กดื่มนมผงไปก่อน

ในกรณีที่อาการรุนแรงและไม่สามารถหายได้เอง อาจต้องรักษาด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • รักษาด้วยการส่องไฟ (Phototherapy) เพื่อเปลี่ยนโครงสร้างของบิลิรูบินจากละลายในไขมันเป็นละลายในน้ำแทน ซึ่งจะทำให้ถูกกำจัดออกจากร่างกายได้ง่ายกว่าเดิม ช่วยลดระดับบิลิรูบินได้
  • เปลี่ยนถ่ายเลือด (Exchange Transfusion) เป็นวิธีที่ช่วยลดระดับบิลิรูบินในกระแสเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด เหมาะในกรณีที่คุณแม่และเด็กมีเลือดต่างกรุ๊ปกันหรือเลือดไม่เข้ากัน รวมถึงในกรณีที่เซลล์เม็ดเลือดแดงสลายตัวง่าย มีข้อบ่งชี้เมื่อรักษาด้วยการส่องไฟแล้วไม่ได้ผล และอาการเข้าสู่ระดับรุนแรงแล้วเท่านั้น
  • ให้สารละลายผ่านหลอดเลือดดำ (Intravenous Immunoglobulin หรือ IVIg) เป็นวิธีรักษาที่ช่วยลดแอนตีบอดีที่โจมตีเซลล์เม็ดเลือดแดงจนทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงสลายตัว อาจทำให้อาการตัวเหลืองทุเลาลงได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายเลือด แต่เช่นเดียวกับการเปลี่ยนถ่ายเลือดคือจะไม่เลือกการรักษานี้ในลำดับแรก ทำเมื่อวิธีอื่นไม่ได้ผลหรืออาการรุนแรงเท่านั้น

เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ

หากทารกมีอาการต่อไปนี้ ควรพาเด็กไปพบคุณหมอให้เร็วที่สุด

  • เด็กมีผิวบริเวณท้อง แขน ขา เป็นสีเหลือง
  • ผิวของเด็กกลายเป็นสีเหลืองเข้มขึ้น
  • เยื่อบุตาขาวของเด็กกลายเป็นสีเหลือง
  • เด็กไม่ค่อยขยับตัว และปลุกยาก
  • น้ำหนักของเด็กไม่เพิ่มขึ้น
  • เด็กไม่ค่อยดูดนม
  • เด็กมีอาการอื่น ๆ เช่น มีไข้ อ่อนเพลีย ร้องไห้บ่อย ร่วมกับอาการตัวเหลือง

[embed-health-tool-vaccination-tool]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Newborn Jaundice. https://www.webmd.com/parenting/baby/digestive-diseases-jaundice#:~:text=Newborn%20Jaundice%20Prevention-,What%20Is%20Newborn%20Jaundice%3F,builds%20up%20in%20the%20blood. Accessed August 4, 2022

Infant jaundice. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/infant-jaundice/symptoms-causes/syc-20373865. Accessed August 4, 2022

Jaundice in Newborns. https://kidshealth.org/en/parents/jaundice.html. Accessed August 4, 2022

Jaundice. https://raisingchildren.net.au/guides/a-z-health-reference/jaundice. Accessed August 4, 2022

Jaundice & Kernicterus. https://www.cdc.gov/ncbddd/jaundice/facts.html. Accessed August 4, 2022

เพิ่มเติม

https://he01.tci-thaijo.org/index.php/bcnsurin/article/download/195104/135664/

 

เวอร์ชันปัจจุบัน

01/12/2022

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

ลูกตัวเหลือง ดูแลอย่างไรหลังคลอดและเมื่อกลับมาอยู่บ้าน

โรคดีซ่านในเด็ก สาเหตุและการรักษา


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 01/12/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา