backup og meta

นมแม่เก็บได้กี่ชั่วโมง และวิธีเก็บรักษานมแม่ที่ควรรู้

นมแม่เก็บได้กี่ชั่วโมง และวิธีเก็บรักษานมแม่ที่ควรรู้

คุณแม่ที่ต้องการปั๊มน้ำนมเก็บไว้ให้ลูกกินในภายหลัง อาจสงสัยว่า นมแม่เก็บได้กี่ชั่วโมง โดยทั่วไป ระยะเวลาในการเก็บน้ำนมแม่อาจขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของสถานที่เก็บน้ำนม หากวางถุงเก็บน้ำนมไว้ที่อุณหภูมิห้องจะสามารถเก็บไว้ได้ประมาณ 6 ชั่วโมง หากเก็บไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดาจะสามารถเก็บไว้ได้ประมาณ 8 วัน และหากเก็บไว้ในช่องฟรีซอาจเก็บไว้ได้นาน 6-12 เดือน คุณแม่ควรศึกษาวิธีเก็บนมแม่อย่างถูกวิธี เพื่อรักษาคุณภาพของของน้ำนมไว้ให้ได้นานที่สุด เพราะยิ่งน้ำนมแม่มีคุณภาพดีเท่าไหร่ ก็ยิ่งส่งผลดีต่อสุขภาพของลูกเท่านั้น

ประโยชน์ของการให้นมแม่

น้ำนมแม่เป็นอาหารหลักของทารกที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ให้สารอาหารที่จำเป็นแก่ทารกอย่างครบถ้วน สามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ มีแอนตีบอดีและเอนไซม์ที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงกับทารกแรกเกิด มีฮอร์โมนออกซิโตซิน (Oxytocin) และโปรแลคติน (Prolactin) ที่ช่วยลดความเครียดและปลอบประโลมทารก คุณแม่จึงควรให้ลูกกินนมแม่เป็นอาหารหลักเพียงอย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือนก่อนเริ่มให้อาหารชนิดอื่น เช่น น้ำเปล่า นมผง อาหารเสริม อาหารตามวัยอื่น ๆ เนื่องจากการกินนมแม่เพียงอย่างเดียวก็ให้สารอาหารที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของทารกในวัยนี้แล้ว

ประโยชน์ของการให้ทารกกินนมแม่ อาจมีดังนี้

  • ช่วยให้ทารกมีระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรง ไม่เจ็บป่วยง่าย
  • ทารกที่กินนมแม่เสี่ยงเกิดโรคหรืออาการไม่พึงประสงค์ เช่น โรคกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กอักเสบ (Gastroenteritis) โรคกรดไหลย้อน โรคลำไส้เน่า อาการท้องเสีย อาการท้องผูก น้อยกว่าทารกที่ไม่กินนมแม่
  • ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไข้หวัดและโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคปอดบวม โรคไวรัสระบบทางเดินหายใจ (RSV) โรคไอกรน
  • ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะติดเชื้อที่หู โดยเฉพาะการติดเชื้อชนิดที่ทำลายการได้ยิน
  • ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากแบคทีเรีย
  • ช่วยบำรุงสายตา ทำให้ทารกมองเห็นชัดเจนขึ้น และลดความเสี่ยงในการเกิดโรคจอประสาทตาผิดปกติในทารกเกิดก่อนกำหนด (Retinopathy of prematurity หรือ ROP)
  • ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะไหลตายในทารก (Sudden Infant Death Syndrome หรือ SIDS)
  • เสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างทารกและมารดา
  • ช่วยคุมกำเนิดมารดาหลังคลอด
  • ประหยัดค่าใช้จ่าย

นมแม่เก็บได้กี่ชั่วโมง

ระยะเวลาในการเก็บน้ำนมแม่ที่เพิ่งปั๊มหรือบีบออกมาและน้ำนมแม่ที่ละลายแล้วให้คงคุณภาพไว้ได้มากที่สุด ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของแหล่งที่ใช้เก็บน้ำนม ซึ่งอาจแบ่งได้ดังนี้

นมแม่ที่เพิ่งปั๊มใหม่

  • เก็บน้ำนมในอุณหภูมิห้อง ที่อุณหภูมิไม่เกิน 26 องศาเซลเซียส สามารถเก็บไว้ได้นาน 4 ชั่วโมง แต่หากอากาศร้อนกว่านั้น ควรรีบใช้ให้หมดโดยเร็วที่สุด
  • เก็บน้ำนมในตู้เย็น ที่อุณหภูมิไม่เกิน 4 องศาเซลเซียส สามารถเก็บไว้ได้นาน 8 วัน และควรวางไว้ด้านในสุดของตู้เย็นซึ่งเป็นบริเวณที่เย็นที่สุด ไม่เก็บบริเวณประตูตู้เย็น ทั้งนี้ หากไม่แน่ใจเกี่ยวกับอุณหภูมิภายในตู้เย็นหรือไม่มีเทอร์โมมิเตอร์ไว้วัดอุณหภูมิในตู้เย็น ควรใช้ให้หมดภายใน 3 วัน
  • เก็บน้ำนมในช่องใส่น้ำแข็งของตู้เย็น (Ice compartment) สามารถเก็บไว้ได้นาน 14 วัน หรือ 2 สัปดาห์
  • เก็บน้ำนมในช่องฟรีซหรือช่องแช่แข็ง ที่อุณหภูมิไม่เกิน -18 องศาเซลเซียส สามารถเก็บไว้ได้นาน 6-12 เดือน และควรวางไว้ด้านในสุดของช่องแช่แข็งเพื่อรักษาอุณหภูมิไว้ให้เย็นที่สุด

นมแม่แช่แข็งที่ย้ายมาวางให้ละลายในช่องแช่เย็นแต่ไม่ได้อุ่นร้อน

  • เก็บน้ำนมในอุณหภูมิห้อง ที่อุณหภูมิไม่เกิน 26 องศาเซลเซียส สามารถเก็บไว้ได้นาน 4 ชั่วโมง เมื่อนำออกมาแล้วไม่ควรนำไปแช่แข็งซ้ำ ควรทิ้งหากเก็บไว้นานเกินเวลาดังกล่าวเนื่องจากเสี่ยงเกิดการปนเปื้อนและมีเชื้อโรค
  • เก็บน้ำนมในตู้เย็น สามารถเก็บไว้ได้นาน 4 ชั่วโมง หรือจนกว่าจะนำไปป้อนลูกในครั้งต่อไป ควรวางไว้ด้านในสุดของตู้เย็นเพื่อรักษาอุณหภูมิให้เย็นและคงที่มากที่สุด

เคล็ดลับการเก็บรักษานมแม่ที่ควรรู้

เคล็ดลับการเก็บรักษานมแม่สำหรับคุณแม่มือใหม่ อาจมีดังนี้

  • ใช้ถุงเก็บน้ำนมแม่ที่สะอาด ได้มาตรฐาน และผลิตขึ้นสำหรับบรรจุน้ำนมโดยเฉพาะ เพื่อรักษาคุณภาพของน้ำนมให้ดีที่สุด
  • ควรให้ลูกกินนมแต่ละครั้งประมาณ 2-4 ออนซ์ หากเทนมแม่ใส่ขวดนมให้ลูกกินแล้วลูกกินนมไม่หมดภายใน 2 ชั่วโมงควรทิ้งนมแม่ที่เหลือในขวดนั้นทันที คุณแม่ควรกะปริมาณน้ำนมที่จะใช้แต่ละครั้งให้พอดี ลูกจะได้ลูกกินหมดภายในครั้งเดียว ไม่ต้องทิ้งน้ำนมแม่ให้เสียเปล่า
  • ควรเขียนวันที่ที่ปั๊มนมไว้บนถุงเก็บน้ำนมอย่างชัดเจน จะได้ตรวจสอบวันหมดอายุได้สะดวก และควรใช้น้ำนมที่ใกล้ถึงวันหมดอายุมากที่สุดก่อนเสมอ
  • นมแม่จากช่องแช่แข็งที่นำมาละลายแล้ว ไม่ควรนำกลับไปแช่ซ้ำ ควรใช้ให้หมดทันที เพราะน้ำนมอาจด้อยคุณภาพกว่าตอนแช่แข็งไว้ครั้งแรก
  • นมแม่ที่จะนำไปแช่แข็ง ไม่ควรเติมน้ำนมให้เต็มถึงขอบถุงเก็บน้ำนม แต่ควรให้มีที่ว่างประมาณ 1 นิ้ว เพราะนมแม่จะขยายตัวเมื่อแข็งตัว และอาจทำให้ถุงเก็บน้ำนมปริแตกได้
  • หลีกเลี่ยงการเก็บนมแม่ที่ไว้ช่องแช่เย็นบริเวณประตูตู้เย็น เนื่องจากการเปิดปิดตู้เย็นจะทำให้อุณหภูมิของน้ำนมไม่คงที่และนมแม่เสียได้ง่าย ควรเก็บน้ำนมไว้ด้านในสุดของตู้เย็นเสมอ ไม่ว่าจะเป็นช่องธรรมดาหรือช่องแช่แข็ง เพื่อรักษาอุณหภูมิของน้ำนมให้คงที่และให้น้ำนมได้รับความเย็นมากที่สุด

[embed-health-tool-vaccination-tool]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Proper Storage and Preparation of Breast Milk. https://www.cdc.gov/breastfeeding/recommendations/handling_breastmilk.htm. Accessed August 24, 2022

Breast milk storage: Do’s and don’ts. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/infant-and-toddler-health/in-depth/breast-milk-storage/art-20046350. Accessed August 24, 2022

Expressing and storing breast milk. https://www.nhs.uk/conditions/baby/breastfeeding-and-bottle-feeding/breastfeeding/expressing-breast-milk/. Accessed August 24, 2022

Pumping and storing breastmilk. https://www.womenshealth.gov/breastfeeding/pumping-and-storing-breastmilk. Accessed August 24, 2022

Breast Milk: Storing. https://my.clevelandclinic.org/health/articles/12255-breast-milk-storing. Accessed August 24, 2022

Expressing and storing breastmilk. https://raisingchildren.net.au/babies/breastfeeding-bottle-feeding-solids/expressing-working-travelling/expressing-breastmilk. Accessed August 24, 2022

The Benefits of Breastfeeding for Baby & for Mom. https://my.clevelandclinic.org/health/articles/15274-the-benefits-of-breastfeeding-for-baby–for-mom. Accessed August 24, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

25/09/2022

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

วิธีเก็บนมแม่ เก็บอย่างไรให้ถูกวิธีและคงคุณค่าสารอาหาร

นมแม่ กับข้อสังเกตอื่น ๆ ที่คุณแม่มือใหม่ควรใส่ใจ


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 25/09/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา