พัฒนาการทารก 5 เดือน เป็นช่วงวัยที่บอบบางแม้จะเป็นระยะเวลาเกือบครึ่งหนึ่งของขวบปีแล้วก็ตาม ในช่วงนี้ก็ยังจำเป็นต้องได้รับการเอาใจใส่จากคุณพ่อคุณแม่อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในเรื่องของอาหาการกิน ทั้งยังต้องระมัดระวังและใส่ใจเป็นพิเศษ เพื่อให้ลูกน้อยมีสุขภาพที่แข็งแรง พร้อมสำหรับการเจริญเติบโต และได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน โดยอาหารที่เหมาะสำหรับพัฒนาการทารก 5 เดือนั้น ได้แก่ นมแม่ ผักบด ผลไม้บด เนื้อสัตว์บด เป็นต้น นอกจากนั้น ก็มีอาหารบางอย่างที่ไม่เหมาะสำหรับทารก 5 เดือน ที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้
[embed-health-tool-vaccination-tool]
อาหารที่เหมาะสำหรับพัฒนาการทารก 5 เดือน
ในช่วง พัฒนาการทารก 5 เดือน ทารกบางคนอาจเริ่มมีฟันน้ำนมขึ้นบ้างแล้ว แต่สำหรับบางคนอาจมีฟันขึ้นเมื่ออายุได้ 1 ปี หรืออย่างเร็วที่สุดก็คือ มีฟันซี่แรกขึ้นตั้งแต่ 3 เดือนแรก อย่างไรก็ตาม การมีฟันขึ้นของทารกที่อายุยังไม่ถึงขวบปี หรืออายุเพียง 5 เดือนนี้ ไม่ได้หมายความว่าทารกพร้อมสำหรับการรับประทานอาหารที่ต้องมีการบดเคี้ยวแล้ว เพราะทารกในวัย 5 เดือน ยังจำเป็นที่จะต้องได้รับอาหารเหลวหรืออาหารอ่อนอยู่ โดยอาหารต่อไปนี้ เป็นอาหารที่ช่วยให้เด็กรับประทานได้ง่าย และได้รับสารอาหารที่เพียงพอ เหมาะสมแก่การเจริญเติบโต
- นมแม่ ถือเป็นน้ำนมที่ดีที่สุดสำหรับช่วงพัฒนาการทารก 5 เดือน เพราะให้สารอาหารและเสริมระบบภูมิคุ้มกัน และยังไม่มีนมชนิดใดที่ให้คุณค่าทางสารอาหารแบบเดียวกันกับนมแม่ด้วย
- นมผงสำหรับเด็กทารก ในส่วนของนมผงสำหรับเด็กทารก คุณพ่อคุณแม่ควรเลือกสูตรที่ให้สารอาหารครบถ้วน และไม่มีสารที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อทารก
- ผักบด เช่น ถั่วลันเตาบด แครอทบด มันเทศบด ฟักทองบด ผักเหล่าอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะ โปรตีนกับแคลเซียมที่มีส่วนช่วยในการเจริญเติบโต ทั้งยังให้สารต้านอนุมูลอิสระ เสริมให้ระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรงอีกด้วย
- ผลไม้บด เช่น กล้วยบด อะโวคาโดบด แอปเปิ้ลบด จะให้สารอาหารจำพวกวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ ซึ่งมีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตและระบบภูมิคุ้มกัน
- เนื้อสัตว์บด เช่น เนื้อหมูบด เนื้อไก่บด เพื่อให้เด็กได้โปรตีนที่ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ และเสริมพลังงานให้แก่ทารก
อาหารที่เด็ก 5 เดือน ไม่ควรรับประทาน
แม้ในช่วงพัฒนาการทารก 5 เดือน เด็กทารกอาจรับประทานอาหารได้หลายชนิดเมื่อเทียบกับเด็กที่อายุน้อยกว่า แต่ก็ยังมีอาหารบางประเภทที่อาจไม่เหมาะกับพัฒนาการทารก 5 เดือน ซึ่งควรระวังและควรหลีกเลี่ยง ดังนี้
- อาหารหรือผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวและให้วิตามินซีสูง เช่น ส้ม ซิตรัส ส้มโอ เพราะมีความเป็นกรดสูง เสี่ยงทำให้เกิดอาการท้องไส้ปั่นป่วน หรือมีปัญหากรดไหลย้อน
- น้ำผึ้ง เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปี ไม่ควรรับประทานน้ำผึ้งในทุกรูปแบบ เพราะจะเกิดการกักเก็บแบคทีเรียจำพวกคลอสทริเดียม โบทูลินัม (Clostridium Botulinum) ที่จะสร้างสปอร์และก่อให้เกิดสารพิษในร่างกาย ซึ่งลำไส้ของทารกยังไม่แข็งแรงพอที่จะต่อสู้กับสารพิษเหล่านี้ จึงเสี่ยงที่จะส่งผลให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง ทารกดูดนมได้ไม่ดี ท้องผูก หรืออาจร้ายแรงถึงขั้นเป็นอัมพาต
- นมวัว เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปี ไม่ควรดื่มนมวัว เนื่องจากร่างกายของทารกยังไม่สามารถย่อยเอนไซม์ แร่ธาตุบางชนิด และโปรตีนในน้ำนมวัวได้ เสี่ยงที่จะทำให้ไตเสียหาย
- ไข่ เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปี ไม่ควรรับประทานไข่ เพราะเสี่ยงที่จะเกิดอาการแพ้ หรืออาจนำไปสู่อาการแพ้ในอนาคต โดยเฉพาะไข่ขาว ซึ่งก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ง่ายกว่าและมากกว่าไข่แดง
- อาหารทะเล การบดเนื้อสัตว์ให้ ทารก 5 เดือน รับประทาน ควรหลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ที่เป็นอาหารทะเล หรือปลาทะเล เพราะเสี่ยงที่จะเป็นสารก่อภูมิแพ้ต่อทารก
- อาหารที่ต้องมีการบดเคี้ยว เช่น ขนมขบเคี้ยว เยลลี่ ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ที่ไม่ผ่านการบดให้ละเอียด เพราะเสี่ยงเกิดการสำลัก หรือติดคอ