Jaundice คือ ภาวะตัวเหลือง หรือที่เรียกว่า ดีซ่าน พบได้บ่อยในทารกแรกเกิด ทารกแรกเกิดที่มีภาวะตัวเหลืองจะมีสีผิวและสีตาขาวเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเนื่องจากร่างกายผลิตสารเคมีสีเหลืองที่ชื่อว่าบิลิรูบิน (Bilirubin) มากเกินไป หรือตับไม่สามารถขับบิลิรูบินออกได้ทัน โดยทั่วไปแล้วอาการนี้จะหายไปเองภายใน 2 สัปดาห์ คุณแม่อาจให้ทารกกินนมแม่ให้มากและบ่อยขึ้นเพื่อช่วยเร่งการขับบิลิรูบิน แต่หากอาการตัวเหลืองไม่ดีขึ้น ร่วมกับทารกมีอาการเซื่องซึม กินนมน้อยลง ร้องไห้งอแง ควรพาไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม
[embed-health-tool-vaccination-tool]
Jaundice คือ อะไร
ดีซ่าน หรือ Jaundice คือภาวะตัวเหลือง มักเกิดขึ้นกับทารกหลังคลอดอายุประมาณ 2 วัน เกิดจากระดับบิลิรูบินในร่างกายสูงกว่าปกติ บิลิรูบิน คือ สารประกอบสีเหลืองที่เกิดจากกระบวนการสลายเซลล์เม็ดเลือดแดง มักถูกขับออกจากร่างกายผ่านทางน้ำดี ปัสสาวะ และอุจจาระ แต่ร่างกายของทารกแรกเกิดอาจยังไม่สามารถขับบิลิรูบินได้ทัน เนื่องจากตับยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ทำให้มีบิลิรูบินสะสมอยู่ในกระแสเลือดจนส่งผลให้สีผิวและตาขาวเปลี่ยนเป็นสีเหลือง โดยทั่วไปแล้ว ภาวะ Jaundice ไม่เป็นอันตรายและมักหายไปภายใน 2 สัปดาห์หรือ 10-14 วันหลังคลอด แต่หากเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่งแล้ว ภาวะ Jaundice ยังไม่ดีขึ้นรวมถึงเป็นมากขึ้น อาจจำเป็นต้องรับการรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์เพื่อลดระดับบิลิรูบินในร่างกาย
สาเหตุของ Jaundice คือ อะไร
สาเหตุของ Jaundice หรือภาวะตัวเหลือง อาจแบ่งออกได้ดังนี้
- ภาวะตัวเหลืองของทารกแรกเกิดในภาวะปกติ (Physiological/normal jaundice) เกิดจากร่างกายขับบิลิรูบินได้ไม่เร็วพอ ซึ่งอาการจะทุเลาและหายไปได้เองภายใน 2 สัปดาห์เมื่อตับสามารถกำจัดบิลิรูบินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ภาวะนี้พบได้บ่อยในทารกแรกเกิด โดยเฉพาะในทารกที่คลอดก่อนกำหนด เนื่องจากตับมีพัฒนาการไม่สมบูรณ์เหมือนทารกที่คลอดตามกำหนด
- ทารกได้รับน้ำนมแม่น้อยเกินไป (Breastfeeding jaundice) หากทารกได้รับน้ำนมแม่ไม่เพียงพอหรือกินนมได้น้อยกว่าปกติ จะทำให้ทารกถ่ายอุจจาระได้น้อยกว่าที่ควร ร่างกายจะดูดกลับบิลิรูบินมากขึ้นทำให้สะสมในร่างกายมากเกินไปจนเกิดภาวะตัวเหลือง
- ภาวะตัวเหลืองของทารกที่เกิดจากปัจจัยด้านสุขภาพ (Pathologic Jaundice) ปัญหาสุขภาพ เช่น ทารกเป็นโรคท่อน้ำดีตีบตัน (Biliary Atresia) ทารกติดเชื้อในกระแสเลือด ทารกมีภาวะเม็ดเลือดแดงขาดเอ็มไซม์ G6PD จนทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงแตกตัวง่ายกว่าปกติ จึงเกิดภาวะตัวเหลือง ทั้งนี้ ทารกที่มีภาวะตัวเหลืองจากปัจจัยด้านสุขภาพจำเป็นต้องได้รับการรักษาภาวะสุขภาพดังกล่าวอย่างเหมาะสม เพื่อบรรเทาอาการตัวเหลืองและปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
- สารบางชนิดในน้ำนมแม่ (Breast milk jaundice) ทารกที่กินนมแม่บางรายอาจมีอาการตัวเหลืองเนื่องจากสารเคมีในน้ำนมไปขัดขวางความสามารถในการกำจัดบิลิรูบินของตับ ส่วนใหญ่จะเกิดช้าเมื่อเทียบกับภาวะอื่น และหากอาการตัวเหลือเป็นไม่มากยังคงแนะนำให้ทารกกินนมแม่ต่อ
- การบาดเจ็บขณะคลอดหรือหลังคลอด หากทารกมีปัญหาขณะคลอด คลอดยาก ทารกได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะขณะคลอด อาจทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงสลายตัวและสร้างบิลิรูบินมากเกินไปจนส่งผลให้เกิดภาวะตัวเหลืองได้
- การตัดสายสะดือช้ากว่าปกติ หากตัดสายสะดือช้ากว่าที่ควร อาจทำให้มีเซลล์เม็ดเลือดแดงสะสมอยู่ในร่างกายทารกมากเกินไป เมื่อเซลล์เม็ดเลือดแดงสลายตัวจะส่งผลให้มีบิลิรูบินปริมาณมากสะสมในร่างกาย จนทำให้เกิดภาวะตัวเหลืองได้
อาการ Jaundice
อาการ Jaundice อาจมีดังนี้
- สีผิวและเยื่อบุดวงตาของทารกเปลี่ยนเป็นสีเหลือง เริ่มจากใบหน้า จากนั้นจึงกระจายไปยังผิวหนังส่วนอื่น ๆ เช่น หน้าอก ท้อง ขา
- ทารกถ่ายอุจจาระเป็นสีซีดแทนที่จะเป็นสีเหลืองหรือสีส้มตามปกติ
- ทารกถ่ายปัสสาวะสีเหลืองเข้มแทนที่จะเป็นสีเหลืองอ่อนใส
- ทารกกินนมน้อยลง
- ทารกที่มีภาวะตัวเหลืองรุนแรง อาจมีอาการเซื่องซึม ง่วงนอน ร้องไห้งอแงกว่าปกติ รวมถึงอาจเกิดการชักได้
วิธีรักษา Jaundice
วิธีรักษา Jaundice โดยทั่วไปจะขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะนี้ ระดับบิลิรูบินในร่างกาย และอายุของทารก ในทารกที่มีอาการตัวเหลืองเล็กน้อย ร่างกายอาจกำจัดบิลิรูบินได้เองและอาจหายจากภาวะนี้ได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ สำหรับทารกแรกเกิดที่มีอาการตัวเหลืองเนื่องจากได้รับน้ำนมแม่ไม่เพียงพอ อาจรักษาได้ด้วยการให้ทารกกินน้ำนมแม่บ่อยขึ้นหรือให้ทารกกินนมผงเสริมเพื่อให้ขับบิลิรูบินออกจากร่างกายได้มากขึ้น
สำหรับภาวะ Jaundice ระดับรุนแรง อาจต้องรักษาด้วยวิธีต่อไปนี้
- การให้สารน้ำ (Fluid management) เพื่อป้องกันทารกเกิดภาวะขาดน้ำที่อาจทำให้ระดับบิลิรูบินสูงขึ้นได้
- การส่องไฟ (Phototherapy) ทารกที่เข้ารับการรักษาภาวะ Jaundice รุนแรงด้วยการส่องไฟจะต้องสวมที่ปิดตาเพื่อป้องกันดวงตาและสวมเพียงผ้าอ้อมเพื่อให้ผิวของทารกได้รับแสงมากที่สุด ซึ่งจะช่วยเร่งการขับบิลิรูบินออกจากร่างกายผ่านการถ่ายปัสสาวะและอุจจาระได้
- การให้อิมมูโนโกลบูลินทางหลอดเลือด (Intravenous immunoglobulin) เหมาะสำหรับทารกที่เกิดภาวะ Jaundice เนื่องจากมีกรุ๊ปเลือดไม่เข้ากับคุณแม่ เมื่อได้รับอิมมูโนโกลบูลินทางหลอดเลือดแล้วอาจช่วยให้ระดับบิลิรูบินในร่างกายลดลงได้อย่างรวดเร็ว
- การถ่ายเลือด (Exchange blood transfusion) คุณหมออาจรักษาภาวะ Jaundice โดยการเปลี่ยนถ่ายเลือด ในกรณีที่รักษาด้วยการส่องไฟแล้วไม่ได้ผล
Jaundice ป้องกันได้หรือไม่
ภาวะ Jaundice เป็นภาวะที่ไม่สามารถป้องกันได้ 100% แต่อาจป้องกันได้ในบางกรณี เช่น ในกรณีที่คุณแม่มีหมู่เลือดอาร์เอชลบ (Rh Negative หรือ Rh-) คุณหมออาจฉีดยาแอนตีดี (anti-D injection) ซึ่งเป็นยาที่มีแอนติบอดีชื่อว่าอิมมูโนโกลบูลิน (Immunoglobulin) ที่ผลิตจากพลาสมาในเลือด ซึ่งจะเข้าไปยึดติดกับโปรตีนในเลือดของคุณแม่ อาจช่วยป้องกันทารกในครรภ์เกิดปัญหาสุขภาพจากแอนติบอดีของคุณแม่ เช่น ภาวะ Jaundice ได้ในการตั้งครรภ์ครั้งต่อไป