Neonatal sepsis คือ ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดที่พบในทารกแรกเกิดในช่วง 0-30 วันแรกหลังคลอด ทำให้เกิดการอักเสบภายในร่างกายซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะอวัยวะล้มเหลว พิการ หรือเสียชีวิต ทั้งนี้ การวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้คุณหมอวางแผนการรักษาได้รวดเร็วและลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรงหรือการเสียชีวิตได้ คุณพ่อคุณแม่จึงควรดูแลสอดส่องอาการของทารกแรกเกิดอยู่เสมอ โดยเฉพาะทารกที่คลอดก่อนกำหนดหรือมีภาวะสุขภาพบางประการที่ทำให้ต้องใช้สายสวนในการรักษา หากพบว่าทารกแรกเกิดมีอาการผิดปกติ เช่น มีไข้ ตัวเย็น ง่วงซึม ไม่กินนม หายใจลำบาก ถ่ายเหลว ควรรีบพาไปคุณหมอโดยเร็วที่สุด
[embed-health-tool-vaccination-tool]
Neonatal sepsis คือ อะไร
Neonatal sepsis คือ ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดในทารกในแรกเกิดอายุตั้งแต่ 0-30 วัน แบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่
- ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดในทารกระยะต้น (Early Neonatal Sepsis) เป็นการติดเชื้อภายใน 24-48 ชั่วโมงหลังคลอด ส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อในขณะอยู่ในครรภ์ แต่ก็อาจเกิดจากการติดเชื้อขณะคลอดได้เช่นกัน
- ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดในทารกระยะหลัง (Late Neonatal Sepsis) เป็นการติดเชื้อในช่วง 72 ชั่วโมงหลังคลอด ส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อหลังคลอด มักพบในทารกแรกเกิดที่ต้องดูแลอาการนานกว่าปกติ และทารกที่จำเป็นต้องเจาะสายสวนค้างอยู่ในเส้นเลือดเป็นเวลานาน
การติดเชื้อในกระแสเลือดอาจกระทบต่อระบบอื่น ๆ ภายในร่างกาย และส่งผลให้เกิดภาวะสุขภาพ เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ปอดอักเสบ ไตและกรวยไตอักเสบ กระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ ภาวะนี้มักมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แต่ก็อาจเกิดจากเชื้อรา ปรสิต หรือไวรัสได้เช่นกัน ทารกอาจติดเชื้อตั้งแต่อยู่ในครรภ์หากหญิงตั้งครรภ์มีภาวะติดเชื้อในถุงน้ำคร่ำ หรือติดเชื้อจากช่องคลอดขณะเคลื่อนตัวผ่านช่องคลอดขณะคลอด นอกจากนี้ ทารกแรกเกิดยังอาจติดเชื้อขณะอยู่ในโรงพยาบาลช่วงหลังคลอด หรือติดเชื้อตอนกลับไปอยู่บ้านแล้วก็ได้
การติดเชื้อในกระแสเลือดมักทำให้ทารกแรกเกิดมีอาการอ่อนเพลีย ง่วงซึม ไม่ยอมตื่น ไม่กินนม ถ่ายเหลว เป็นไข้ เป็นต้น อาการที่พบจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการติดเชื้อและบริเวณที่ติดเชื้อ ส่วนใหญ่จะคล้ายคลึงกับภาวะสุขภาพอื่น ๆ คุณหมอจึงต้องวินิจฉัยแยกโรคโดยการตรวจหาเชื้อด้วยการตรวจเลือดและปัสสาวะ การเพาะเชื้อจากเลือดและปัสสาวะ การตรวจบาดแผล การสวอบผิวหนัง (Skin swabs) การเจาะน้ำไขสันหลัง การเอกซเรย์ เป็นต้น
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดในทารกแรกเกิด อาจมีดังนี้
- ทารกคลอดก่อนกำหนด หรือคลอดก่อนสัปดาห์ที่ 37 ของการตั้งครรภ์
- ทารกน้ำหนักตัวน้อย
- ถุงน้ำคร่ำแตกนานกว่า 18 ชั่วโมงก่อนคลอด
- หญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอกคัส (Streptococcus spp.) หรือมีภาวะถุงน้ำคร่ำอักเสบ (Chorioamnionitis) ที่เกิดจากแบคทีเรียบริเวณช่องคลอดลุกลามไปยังมดลูก ทำให้หญิงตั้งครรภ์มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส ช่องคลอดมีกลิ่น เจ็บมดลูก
- ทารกในครรภ์ได้รับการรักษาทางการแพทย์ เช่น ใช้สายสวนปัสสาวะ ใช้สายสวนทางหลอดเลือดดำ จนอาจทำให้ติดเชื้อ
อาการของ Neonatal sepsis เป็นอย่างไร
Neonatal sepsis หรือ การติดเชื้อในกระแสเลือดในทารกแรกเกิด อาจทำให้มีอาการดังต่อไปนี้
ทารกที่ติดเชื้อในระยะต้น
- เซื่องซึม ง่วงนอนตลอดเวลา
- ร้องไห้งอแง ไม่สบายตัว
- มีความดันโลหิตต่ำ
- หายใจเร็วกว่าปกติ หรือหยุดหายใจ (Apnea)
- อาเจียน
- ท้องเสีย ถ่ายเหลว
- มีไข้ หรือมีอุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 38 องศาเซลเซียส
- ผิวซีดเซียว
- ไม่กินนมตามปกติ
ทารกที่ติดเชื้อในระยะหลัง
- มีความดันโลหิตต่ำ
- ผิวหนังซีดเซียว หรือมีสีอมเทา
- มีอุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติ
- ไม่สามารถหายใจได้ตามปกติ
วิธีรักษา Neonatal sepsis
การรักษา Neonatal sepsis หรือภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดในทารกแรกเกิดจะขึ้นอยู่กับภาวะสุขภาพของทารก อาการ อายุ รวมไปถึงระดับความรุนแรงของการติดเชื้อ วิธีรักษาโดยทั่วไปมีดังนี้
- การฉีดยาปฏิชีวนะเข้าทางหลอดเลือดดำ เช่น แอมพิซิลลิน (Ampicillin) ฟลูคลอกซาซิลลิน (Flucloxacillin) เป็นวิธีรักษาที่ใช้เป็นทางเลือกแรก ๆ ในการรักษาภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดในทารกแรกเกิดทั้งในระยะเริ่มต้นและระยะหลัง
- การให้ออกซิเจนเพื่อช่วยในการหายใจ ในกรณีที่ทารกไม่สามารถหายใจได้ด้วยตัวเอง
- การถ่ายเลือดในทารก (ในบางกรณี)
ทารกแรกเกิดที่มีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดอาจจำเป็นต้องได้รับการดูแลและติดตามอาการอย่างใกล้ชิดจากทีมแพทย์และพยาบาล และอาจต้องอยู่ในแผนกบำบัดพิเศษทารกแรกเกิด (NICU) จนกว่าอาการจะดีขึ้นเป็นปกติ
การป้องกัน Neonatal sepsis
ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดในทารกแรกเกิดอาจไม่สามารถป้องกันได้ 100% แต่หญิงตั้งครรภ์ก็สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะนี้ได้ด้วยการเข้ารับการตรวจครรภ์ตามกำหนดทุกครั้ง ล้างมือบ่อย ๆ รับการรักษาภาวะสุขภาพที่อาจทำให้ทารกเสี่ยงติดเชื้อในกระแสเลือด และหากต้องเข้ารับการรักษาที่ทำให้เกิดบาดแผลหรือสอดอุปกรณ์ใด ๆ ในร่างกายควรปรึกษาคุณหมอเพื่อเลื่อนการรักษาไปก่อนหากทำได้ เพื่อป้องกันเชื้อโรคต่าง ๆ เข้าสู่ร่างกาย
เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ
หากพบว่าทารกแรกเกิดมีอาการต่อไปนี้ ควรรีบพาไปพบคุณหมอโดยเร็วเพื่อวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ
- มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส
- มีไข้เกิน 1 วัน
- หายใจลำบากหรือหยุดหายใจ
- มีพฤติกรรมแปลกไป เช่น ร้องไห้งอแงเนื่องเกิดจากไม่สบายตัว ง่วงซึม ตื่นได้ไม่นาน ไม่ยอมกินนมหรือกินนมได้น้อยกว่าปกติ