backup og meta

TTNB คือ ภาวะหายใจลำบากชั่วขณะในทารกแรกเกิด สาเหตุและการรักษา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 03/04/2023

    TTNB คือ ภาวะหายใจลำบากชั่วขณะในทารกแรกเกิด สาเหตุและการรักษา

    TTNB คือ ภาวะหายใจลำบากชั่วขณะในทารกแรกเกิด ทำให้ทารกหายใจเร็วกว่าปกติ หายใจเสียงดัง รูจมูกบาน หายใจลึกจนเห็นซี่โครง ภาวะนี้พบได้ไม่บ่อยนัก มักเกิดในเด็กที่คลอดตามกำหนดหรือช้ากว่ากำหนดเล็กน้อยด้วยวิธีผ่าคลอด ทำให้ขาดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่เกิดขึ้นในระหว่างการคลอดธรรมชาติ ส่งผลให้ของเหลวบางส่วนยังคั่งอยู่ในปอดและทารกต้องใช้เวลาในการดูดซึมของเหลวกลับเข้าสู่ร่างกายหลังคลอด นอกจากนี้ยังอาจพบได้เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์เป็นหอบหืดหรือเบาหวาน โดยทั่วไป ภาวะ TTNB มักเกิดขึ้นนานไม่เกิน 3 วัน และไม่ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพในระยะยาว

    TTNB คือ อะไร

    Transient Tachypnea of the Newborn หรือ TTNB คือภาวะกลุ่มอาการหายใจลำบากชั่วขณะในทารกแรกเกิด ทำให้ทารกหายใจเร็วชั่วขณะ ส่งผลให้มีปัญหาในการดูดหรือกลืนนม ทั้งยังอาจทำให้มีอาการกระสับกระส่าย หายใจเสียงดัง สีผิวเปลี่ยนเป็นสีคล้ำเนื่องจากขาดออกซิเจน TTNB เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว อาจพบได้ตั้งแต่คลอดหรือภายใน 6 ชั่วโมงหลังคลอด และจะมีอาการประมาณ 24-72 ชั่วโมง ส่วนใหญ่เมื่อได้รับการรักษาแบบประคับประคอง ทารกก็จะมีอาการดีขึ้นจนสามารถกลับบ้านได้และกินนมได้ตามปกติ และไม่กระทบต่อการเจริญเติบโตหรือพัฒนาการของทารก

    สาเหตุของ TTNB คืออะไร

    สาเหตุหลักของภาวะ TTNB คือ ทารกมีของเหลวหลงเหลืออยู่ในปอดมากกว่าปกติหลังคลอด ซึ่งเป็นของเหลวหรือน้ำคร่ำที่อยู่ในครรภ์กับทารกมาตลอดการตั้งครรภ์ ขณะอยู่ในครรภ์ทารกไม่จำเป็นต้องใช้ปอดในการหายใจเนื่องจากรับออกซิเจนผ่านทางรก ปอดจึงเต็มไปด้วยของเหลวที่จำเป็นต่อการพัฒนาอวัยวะให้สมบูรณ์ แต่ในช่วงใกล้คลอดปอดจะเริ่มดูดซับของเหลวและขับของเหลวบางส่วนออกเมื่อทารกเคลื่อนตัวผ่านช่องคลอด จากนั้นเมื่อทารกแรกเกิดเริ่มร้องไห้และหายใจด้วยตัวเอง ปอดจะถูกเติมเต็มด้วยอากาศ ของเหลวที่เหลือในปอดจะถูกขับออกมาทางหลอดเลือด ท่อน้ำเหลือง และเซลล์เยื่อบุผิวปอด หรือทารกอาจไอเอาของเหลวออกมา ทั้งนี้ หากมีของเหลวคั่งในปอด จะทำให้ออกซิเจนในอากาศที่ร่างกายหายใจเข้าไปไม่สามารถเข้าสู่กระแสเลือดได้ จึงอาจทำให้ทารกมีอาการหายใจลำบากและหายใจเร็วชั่วคราว

    อาการของ TTNB

    อาการของ TTNB อาจมีดังนี้

    • หายใจเร็วหรือมากกว่า 60 ครั้ง/นาที
    • หายใจออกเสียงดังผิดปกติ
    • โยกศีรษะไปมา จมูกบาน
    • นอนกระสับกระส่าย
    • หายใจหอบเหนื่อยจนเห็นกระดูกซี่โครงขณะหายใจเข้า
    • ผิวหนังเป็นสีเขียวหรือฟ้ารอบปากและจมูก (Cyanosis)

    การวินิจฉัย TTNB

    คุณหมออาจวินิจฉัยพบ TTNB ตั้งแต่ไม่กี่ชั่วโมงหลังคลอด และสั่งทำการทดสอบทางการแพทย์ดังต่อไปนี้

    • เอกซเรย์ทรวงอก (Chest X-ray) เป็นการถ่ายภาพหน้าอกของทารกโดยใช้รังสีเอ็กซ์เพื่อช่วยวินิจฉัยและยืนยันโรค ภาพถ่ายรังสีจะแสดงให้เห็นว่ามีของเหลวคั่งอยู่ในปอดและเยื่อหุ้มปอดหรือไม่
    • การวัดความอิ่มตัวออกซิเจนของฮีโมโกลบินจากชีพจร (Pulse oximetry) เป็นการตรวจวัดปริมาณออกซิเจนในเลือดของทารกด้วยเครื่องวัดออกซิเจน โดยการแปะแผ่นแปะเซนเซอร์ตรวจวัดออกซิเจนที่รอบมือหรือเท้าของทารกและเชื่อมต่อกับมอนิเตอร์เพื่ออ่านค่า
    • การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count หรือ CBC) ทั้งเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด ระบบการไหลเวียนเลือด เพื่อวิเคราะห์สุขภาพโดยรวมของทารกและหาสัญญาณของการติดเชื้อ หากปริมาณจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวสูงผิดปกติ อาจหมายถึงทารกติดเชื้อ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่สำคัญของภาวะหายใจเร็วหลังคลอด

    TTNB รักษาได้อย่างไร

    การช่วยหายใจ

    ทารกที่มีภาวะหายใจลำบากจะถูกติดตามอาการอย่างใกล้ชิดในแผนกบำบัดพิเศษทารกแรกเกิด (NICU) โดยเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์จะตรวจวัดอัตราการเต้นของหัวใจ อัตราการหายใจ ระดับออกซิเจน และเฝ้าระวังจนกว่าอัตราการหายใจและระดับออกซิเจนในร่างกายของทารกจะเป็นปกติ

    สำหรับทารกที่ควรให้ออกซิเจนเพิ่ม คุณหมออาจเริ่มให้ออกซิเจนแรงดันต่ำผ่านทางจมูกหากทารกยังมีภาวะหายใจลำบาก อาจต้องใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก หรือซีแพ็บ (CPAP) หรือ เครื่องช่วยหายใจแรงดันบวกผ่านทางจมูกชนิดอื่น ๆ เพื่อส่งแรงดันอากาศผ่านท่อไปยังหน้ากากครอบจมูกและปาก ช่วยไม่ให้ปอดยุบตัวและช่วยเปิดช่องอากาศขณะหายใจ

    การให้สารอาหาร

    ภาวะ TTNB ทำให้ทารกหายใจเร็วจนไม่สามารถดูดหรือกลืนนมได้ตามปกติ คุณหมออาจให้ของเหลวผ่านหลอดเลือดดำ (Intravenous Fluids) เพื่อช่วยป้องกันทารกเกิดภาวะขาดน้ำและควบคุมไม่ให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำเกินไป นอกจากนี้ยังอาจให้ทารกกินนมแม่ผ่านทางสายยางทางจมูกหรือปาก เพื่อส่งอาหารตรงไปยังกระเพาะอาหาร และช่วยให้ทารกได้รับสารอาหารเพียงพอ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 03/04/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา