backup og meta

การละเล่น แบบไหน ถึงจะเหมาะสมสำหรับวัยเด็ก

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย pimruethai · แก้ไขล่าสุด 31/12/2022

    การละเล่น แบบไหน ถึงจะเหมาะสมสำหรับวัยเด็ก

    การละเล่น ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ความสนุกสนานสำหรับเด็กเท่านั้น แต่ การเล่นสำหรับเด็ก ยังเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในการเจริญเติบโตของเด็กและพัฒนาการด้านต่างๆ ซึ่งการเล่นที่เหมาะสมกับวัยแต่ละช่วงอายุของเด็ก จะช่วยในการพัฒนาทักษะของเด็กในหลายๆด้าน และนี่คือรายละเอียดที่พ่อแม่ควรรู้เกี่ยวกับ การละเล่น สำหรับวัยเด็ก

    การละเล่น สำคัญอย่างไร

    การเล่นเป็นกิจกรรมที่คู่กับเด็กทุกคน เพราะลักษณะนิสัยของเด็กส่วนใหญ่จะสนใจสิ่งรอบข้าง อยากรู้อยากเห็น และอยากเรียนรู้สิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบข้างตลอดเวลา การเล่นจึงช่วยพัฒนาทักษะของเด็กในหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมจินตนาการ ความคิด การเคลื่อนไหวร่างกาย ความคล่องแคล่ว และสติปัญญาในการแก้ปัญหา หรือแม้กระทั่งการฝึกเรื่องทักษะทางด้านอารมณ์ เช่น การเล่นบางชนิดสามารถฝึกเรื่องความอดทนได้อีกด้วย

    ดังนั้นเพื่อให้การเล่นของเด็ก ช่วยในการพัฒนาเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น พ่อแม่ก็ควรเลือกวิธีการเล่นหรือของเล่น ให้เหมาะสมกับอายุของลูกด้วย เพราะจะสามารถช่วยพัฒนาการเจริญเติบโตทั้งทางด้านร่างกายและทักษะอื่นๆ ไปพร้อมกัน

    การละเล่น ที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละช่วงอายุ

    อายุ 1-3 เดือน

    เด็กวัยนี้เริ่มเคลื่อนไหวร่างกายได้ เช่น การเคลื่อนไหวของแขนและขา สองข้างเริ่มเคลื่อนไหวได้เท่ากัน เริ่มจ้องมอง และเคลื่อนสายตาตามวัตถุนั้นๆ เริ่มคว้าสิ่งของต่างๆ ซึ่งอาจจะคว้าได้บ้างไม่ได้บ้าง เพราะการประสานงานระหว่างกล้ามเนื้อตาและมือยังไม่สมบูรณ์ดี

    ดังนั้น เด็กในช่วงอายุ 1- 3 เดือน จึงเหมาะกับของเล่นจำพวก โมบายหมุนได้สีสันสดใส เพื่อพัฒนาสายตาและการมองเห็น นอกจากนี้พ่อแม่ควรอุ้ม สัมผัสและพูดคุย เพราะเป็นการพัฒนาการตอบสนองไปในตัว เนื่องจากเด็กวัยนี้จะเริ่มตอบสนองต่อสิ่งที่เห็นและได้ยิน

    อายุ 4-5 เดือน

    เด็กวัยนี้เริ่มจำวัตถุและบุคคลใกล้ชิดได้ คอแข็ง พลิกตัวหมุนตัวได้ เริ่มหยิบจับสิ่งของแกว่งฟาดไปมา ชอบเอาสิ่งของต่างๆ เข้าปาก จับให้นั่งได้ แต่ยังนั่งเองไม่ได้

    ดังนั้น เด็กอายุ 4-5 เดือนจึงเหมาะกับของเล่นที่ใช้มือจับ เขย่ามีเสียง และสามารถเข้าปากได้อย่างปลอดภัย เพื่อป้องกันเด็กนำสิ่งของอันตรายเข้าปาก

    อายุ 5-6 เดือน

    เด็กในช่วงวัยนี้จะเริ่มเคลื่อนไหวได้คล่องขึ้น อยากรู้อยากเห็น หยิบจับทุกสิ่งที่อยู่ตรงหน้า เริ่มนั่งเองได้ และร้องเมื่อเห็นคนแปลกหน้า การเล่นที่เหมาะกับเด็กวัยนี้คือ ของเล่นที่สามารถกัดได้ เช่น ยางกัดนิ่มๆ ของเล่นที่มีเสียง หรือการเล่นกับเงาตัวเองในกระจก

    อายุ 6-7 เดือน

    เด็กช่วงนี้จะมีพัฒนาการเกี่ยวกับการนั่งได้ดีขึ้นกว่าเดิม สามารถนั่งได้ตามลำพัง ไม่ต้องมีพ่อแม่ช่วยพยุง และสามารถนั่งเก้าอี้ได้ เริ่มมีพัฒนาการเรื่องการมองสิ่งต่างๆ และพิจารณาสิ่งที่อยู่ตรงหน้ามากขึ้น เด็กวัยนี้เหมาะกับของเล่นประเภทตุ๊กตา เช่น ตุ๊กตาล้มลุก หรือของเล่นมีเสียง เช่น กล่องดนตรี

    อายุ 7-8 เดือน

    เด็กวัยนี้เริ่มมีพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวมากขึ้น เริ่มคลานได้ พ่อแม่ควรดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันการเกิดอันตรายจากการเล่นซน เด็กเริ่มสนใจสิ่งของภายในบ้าน ชอบเล่นของเล่นชิ้นใหญ่ เช่น ไม้ขนไก่ ที่ตักผงขยะ โทรศัพท์

    อายุ 8-9 เดือน

    เด็กเริ่มมีพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวมากกว่าเดิม คลานได้เร็วขึ้น เริ่มมีการปีนป่าย เด็กวัยนี้เหมาะกับการเล่นจ๊ะเอ๋มากที่สุด เพราะเป็นการเสริมพัฒนาการเรื่องการจดจำข้อมูล เนื่องจากเด็กวัยนี้เริ่มมีพัฒนาการเรื่องภาษา

    อายุ 9-10 เดือน

    เริ่มมีพัฒนาการเรื่องการทรงตัว เด็กเริ่มเกาะยืนเองได้ อยู่ไม่นิ่ง สามารถเลียนแบบท่าทางและพฤติกรรมบางอย่างจากผู้ใหญ่ได้ เริ่มเข้าใจคำสั่งต่างๆ เช่น การสั่งห้าม เด็กวัยนี้เริ่มสนใจสิ่งแวดล้อมต่างๆ ภายในบ้าน

    นอกจากนี้เด็กช่วงอายุ 9-10 เดือน ยังชอบสิ่งของที่สามารถทำให้เกิดเสียงได้ ดังนั้น ของเล่นที่เหมาะคือ ของเล่นจำพวกที่มีเสียงเพลง หรือการเล่นเคาะช้อน ถ้วย ชามที่สามารถทำให้เกิดเสียงได้ แต่พ่อแม่ควรดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะเด็กวัยนี้เป็นช่วงวัยที่ขยับตลอดเวลา และสนใจสิ่งต่างๆ รอบตัว ดังนั้นจึงควรดูแลเด็กให้พ้นจากปลั๊กไฟ หรือเต้าเสียบ ที่อาจเกิดอันตรายจาการเล่นซนได้

    อายุ 10 -11 เดือน

    เป็นช่วงตั้งไข่ เด็กเริ่มยืนและเดินเองได้บ้าง อยากรู้อยากเห็นอยากลองทำสิ่งต่างๆ เริ่มใช้ทักษะการจับและการบิดได้ดีขึ้น เด็กวัยนี้เริ่มเปิดประตู และดึงลิ้นชักได้ ซึ่งการเล่นที่เหมาะกับเด็กวัยนี้คือ ของเล่นจำพวกไม้ต่อ หรือบล็อกต่างๆ เพื่อเสริมพัฒนาการด้านการใช้ทักษะในการจับและการสังเกต

    อายุ 11-12 เดือน  

    เป็นวัยที่เด็กสามารถเดินได้คล่องมากขึ้น โดยไม่ต้องเกาะสิ่งต่างๆ เพื่อช่วยทรงตัว สามารถพูดและสื่อสารได้มากขึ้นกว่าเดิม แต่ยังคงพูดได้เป็นคำๆ อยากรู้อยากเห็นมากขึ้น ชอบเที่ยวนอกบ้าน ดังนั้นเด็กวัยนี้เหมาะกับการเล่นนอกบ้านเพื่อสำรวจสิ่งต่างๆ มากขึ้น เช่น ชิงช้า เล่นที่สนามหญ้า สัมผัสกับบรรยากาศธรรมชาติ และเรียนรู้สิ่งแวดล้อมรอบๆตัว

    อายุ 1-2 ปี  

    เด็กวัยนี้สามารถทำอะไรหลายอย่างได้มากขึ้น เช่น ถือชามข้าว ตักข้าวใส่ปากกินเองได้ สามารถสื่อสารได้มากขึ้น คือสามารถพูดได้มากกว่าหนึ่งคำ และจำชื่อบุคคลใกล้ชิดได้ การเล่นหรือของเล่นที่เหมาะกับเด็กวัยนี้คือ สมุดภาพต่างๆ หนังสือมีเสียง หรือการฟังนิทาน

    อายุ 2-3 ปี

    เด็กวัยนี้เริ่มโตขึ้น และทำกิจกรรมต่างๆ ได้มากกว่าเดิม เช่น เริ่มกินข้าวได้เอง แต่งตัวได้บ้าง วิ่งเร็วและคล่องแคล่วขึ้น ซึ่งเด็กช่วงอายุประมาณนี้สมควรออกไปเล่นกิจกรรมต่างๆ นอกบ้านมากที่สุด เพราะอยู่ในวัยที่เริ่มมีจินตนาการมากขึ้น เหมาะที่จะเริ่มสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนวัยเดียวกัน เพื่อฝึกทักษะทางด้านการเข้าสังคม

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย pimruethai · แก้ไขล่าสุด 31/12/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา