backup og meta

8 สัญญาณเตือนพ่อแม่ว่า ลูกมีปัญหาที่โรงเรียน

8 สัญญาณเตือนพ่อแม่ว่า ลูกมีปัญหาที่โรงเรียน

ปัญหาที่โรงเรียน เช่น การทะเลาะกับเพื่อน โดนเพื่อนแกล้ง คุณครูดุ ทำการบ้านไม่ทัน ไม่ได้อ่านหนังสือสอบ อาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อยสำหรับผู้ใหญ่ แต่สำหรับลูกอาจเป็นเรื่องใหญ่ที่ก่อให้เกิดความเครียด วิตกกังวล หรือความเสียใจกับสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ภาวะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นอาจส่งผลต่อสุขภาพได้ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่อาจต้องพยายามสังเกตว่า ลูกมีปัญหาที่โรงเรียน หรือไม่ เพื่อจะได้ให้คำปรึกษาและช่วยหาทางออกที่ถูกต้องให้แก่ลูก ทั้งยังอาจช่วยบรรเทาความเครียดที่เกิดขึ้น เพื่อสุขภาพที่ดีและแข็งแรง

สัญญาณที่บอกว่า ลูกมีปัญหาที่โรงเรียน

สำหรับสัญญาณเตือนที่อาจบ่งบอกว่า ลูกมีปัญหาที่โรงเรียน อาจมีดังนี้

1. อาจเริ่มหาข้ออ้าง เพราะไม่อยากไปโรงเรียน

เมื่อลูกเริ่มหาข้ออ้างเพราะไม่อยากไปโรงเรียน เช่น เหนื่อย หรือเริ่มตั้งคำถามว่าทำไมต้องไปโรงเรียนด้วย นั่นอาจเป็นสัญญาณที่บอกว่าเด็กกำลังมีปัญหาบางอย่างที่โรงเรียน

2. อาจแกล้งป่วย

การที่ลูกแกล้งป่วย โดยให้สาเหตุว่าปวดหัว ปวดท้อง ไม่ค่อยสบาย เพื่อขอหยุดเรียน 1 วัน อาจเป็นอีกสัญญาณหนึ่งที่กำลังบอกให้คุณพ่อคุณแม่รู้ว่า ลูกมีปัญหาที่โรงเรียน ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่อาจต้องทำความเข้าใจกับลูก สอบถามถึงปัญหา และช่วยหาวิธีการแก้ไขปัญหาให้กับพวกเขา

3. อาจมีอาการเศร้าซึม ไม่ร่าเริง

จากที่ลูกเคยหัวเราะ อารมณ์ดี แต่เปลี่ยนไปเป็นซึม ๆ นิ่ง ๆ ดูเศร้า ๆ อย่างแรกคือ ลูกอาจกำลังไม่สบาย แต่ถ้าไม่ได้เป็นไข้ ไม่ได้ป่วยทางกาย ก็อาจสันนิษฐานได้ว่า ลูกกำลังป่วยทางใจหรืออาจกำลังกังวลกับเรื่องอะไรบางอย่างอยู่

4. อาจมีอารมณ์รุนแรง

หากลูกเกรี้ยวกราด ก้าวร้าว โกรธง่าย หายไว อารมณ์รุนแรง นิดหน่อยก็หงุดหงิด ทั้งที่ไม่เคยเป็นมาก่อน อาจเป็นไปได้ว่า พวกเขาอาจกำลังมีปัญหาแต่เก็บเอาไว้ไม่บอกใคร จนส่งผลทำให้เกิดเครียดและแสดงความก้าวร้าวออกมา

5. เบื่ออาหาร หรือกินมากผิดปกติ

การกินที่ผิดปกติอาจเป็นสัญญาณที่บอกถึงอาการเศร้าของลูก หากพวกเขาเบื่ออาหาร ไม่ยอมกินข้าว ก็เป็นไปได้ว่า ลูกอาจจะไม่สบาย มีไข้ หรือไม่ก็กำลังไม่สบายใจ อีกสัญญาณหนึ่ง คือ หากลูกกินเยอะจนเกินไป กินไม่หยุด แล้วดูท่าทางไม่ได้มีความสุขกับการกิน นั่นอาจเป็นไปได้ว่าพวกเขากำลังเครียดกับเรื่องอะไรบางอย่าง

6. เชื่องช้า เซื่องซึม

ลูกไม่ค่อยร่วมทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ทำการบ้าน เล่นเกม กินข้าว เหมือนแต่ก่อน หรือทำทุกอย่างช้า ๆ หรือไม่มีพลัง นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนว่า ลูกมีปัญหาที่โรงเรียนจนเกิดความเครียด และความเครียดที่เกิดขึ้นกำลังส่งผลต่อสุขภาพ

7. ร้องไห้บ่อยขึ้น หนักขึ้น หรือกลับกันคือ ไม่แสดงความรู้สึกอะไรเลย

หากลูกมีอารมณ์อ่อนไหว ร้องไห้บ่อยขึ้น อาจเป็นสัญญาณเตือนว่า ลูกอาจมีปัญหาที่โรงเรียน แต่การที่ลูกไม่แสดงอารมณ์อะไรออกมาเลยก็ไม่ได้หมายความว่า ลูกไม่มีปัญหาอะไร ดังนั้น ถ้าลูกนิ่งไปจนผิดสังเกตอาจเป็นสัญญาณว่าลูกกำลังเครียดอยู่

8. เกิดอุบัติเหตุบ่อย

ลูกเกิดอุบัติเหตุบ่อยจนไม่น่าจะเป็นเรื่องบังเอิญ อาจเป็นสัญญาณที่บอกว่า พวกเขาอาจมีเรื่องที่ต้องคิด จนเหม่อลอย ไม่ระมัดระวังจนเกิดอุบัติเหตุ หรือในกรณีร้ายแรง คือ ลูกเป็นโรคซึมเศร้าโดยไม่รู้ตัวและพยายามทำให้ตัวเองเจ็บด้วยอุบัติเหตุ ซึ่งเป็นการทำร้ายตัวเองอย่างหนึ่ง

ลูกมีปัญหาที่โรงเรียน ควรทำอย่างไร

ความเครียด ความเศร้า ที่เกิดจากปัญหาที่โรงเรียนอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกเป็นโรคซึมเศร้าได้ และเมื่อพบว่าลูกมีปัญหาที่โรงเรียน คุณพ่อคุณแม่อาจลองทำดังนี้

  1. อย่าผลักปัญหาออกไป ลูกอาจมีปัญหา เช่น ทำการบ้านไม่ทัน ไม่ได้อ่านหนังสือสอบเลยคิดว่า ทำข้อสอบไม่ได้ จึงไม่อยากไปโรงเรียน ปัญหาเหล่านี้เป็นสิ่งที่พวกเขาอยากหลีกเลี่ยง การช่วยลูกหนีปัญหา ไม่ให้ลูกเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัวอาจเป็นการช่วยให้ลูกรู้สึกดีขึ้นชั่วคราวเท่านั้น แต่ในระยะยาวอาจไม่ใช่สิ่งที่ดี เพราะถ้าลูกเจอปัญหาเดิมก็อาจต้องหนีปัญหาด้วยวิธีการเดิม ๆ อีก
  2. ใช้เวลากับลูกให้มากขึ้น การมีปัญหากับเพื่อนที่โรงเรียน เช่น ทะเลาะกับเพื่อนในกลุ่ม อาจเป็นปัญหาที่มักเกิดขึ้นบ่อย และในระหว่างที่ลูกกำลังมีปัญหากับเพื่อนจนต้องอยู่คนเดียวตามลำพังที่โรงเรียน อาจทำให้รู้สึกโดดเดี่ยว เสียใจ หรือรู้สึกเครียดได้ แต่เพียงไม่นานลูกก็อาจมีเพื่อนใหม่ ในระหว่างที่พวกเขากำลังปรับตัวเพื่อให้เข้ากับเพื่อนใหม่ คุณพ่อคุณแม่อาจใช้เวลาอยู่เป็นเพื่อนลูกมากขึ้น เพื่อไม่ให้พวกเขารู้สึกโดดเดี่ยว
  3. ให้กำลังใจลูก ปัญหาบางอย่างคุณพ่อคุณแม่อาจช่วยแก้ปัญหาไม่ได้ พวกเขาอาจต้องผ่านปัญหานี้ไปได้ด้วยตัวเอง ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่อาจช่วยรับฟังและไม่ควรดูถูกปัญหาของลูกว่าเป็นเรื่องเล็กนอกจากนั้น ควรให้กำลังใจพวกเขา จนกว่าจะสามารแก้ไขปัญหาได้สำเร็จ

[embed-health-tool-vaccination-tool]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Kids Worry: Top 5 Kid Problems and How to Fix Them. https://fit.webmd.com/kids/mood/article/kids-worry?page=3.  Accessed on June 19, 2018.

Depression in Children. https://www.webmd.com/depression/guide/depression-children#1.  Accessed on June 19, 2018.

10 Tips for Parenting Anxious Children. https://www.webmd.com/parenting/features/10-tips-parenting-anxious-children. Accessed on June 19, 2018.

Tips for Parenting the Anxious Child. https://www.brightfutures.org/mentalhealth/pdf/families/mc/tips.pdf. Accessed May 13, 2022

What to Do (and Not Do) When Children Are Anxious. https://childmind.org/article/what-to-do-and-not-do-when-children-are-anxious/. Accessed May 13, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

13/05/2022

เขียนโดย Sopista Kongchon

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

ความเครียดในเด็ก สัญญาณที่พ่อแม่ควรสังเกต

เลือกกิน กินยาก เด็กเป็นแบบนี้เพราะสื่อโฆษณาหรือเปล่า


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย Sopista Kongchon · แก้ไขล่าสุด 13/05/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา