backup og meta

ลูกไม่ยอมกินข้าว 3 ขวบ ควรทำอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 03/11/2022

    ลูกไม่ยอมกินข้าว 3 ขวบ ควรทำอย่างไร

    ลูกไม่ยอมกินข้าว ในวัย 3 ขวบ เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยและอาจทำให้คุณพ่อคุณแม่กังวล เพราะบางครั้งลูกสามารถที่จะกินข้าวได้ติดต่อกันหลายวัน แต่ในบางวันก็กินได้น้อยลง ไม่มีความต้องการกินเลย หรือบางครั้งก็เลือกกินเฉพาะอาหารที่ชอบเท่านั้น สาเหตุที่ลูกไม่ยอมกินข้าวเกิดได้จากหลายอย่าง เช่น เบื่ออาหาร โดนบังคับ ลูกต้องการความสนใจจากคนรอบข้าง คุณพ่อคุณแม่ควรศึกษาวิธีที่อาจจะช่วยให้ลูกกินข้าวได้ตามปกติ เช่น การวางแผนเมนูให้หลากหลายสีสันสวยงาม การให้ลูกกินข้าวในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้กระทบกับพัฒนาการและสุขภาพของลูกน้อย

    ปัญหาลูกไม่ยอมกินข้าวที่พบได้บ่อย

    • ไม่กินอาหาร หรือกินน้อยลง
    • พ่นและคายอาหารทิ้ง ไม่ยอมกลืนข้าว
    • เลือกกินอาหารแค่บางอย่างเท่านั้น และไม่ยอมกินอาหารอื่น ๆ นอกจากเมนูที่คุ้นเคย หรือกินเป็นประจำ

    สาเหตุที่ลูกไม่ยอมกินข้าว 3 ขวบ

    สาเหตุของปัญหาลูกไม่ยอมกินข้าว โดยเฉพาะลูกวัย 3 ขวบอาจจะมีได้ ดังนี้

    • เบื่ออาหาร เด็กในวัย 3 ขวบอาจจะยังไม่มีวิธีสื่อสารที่ชัดเจนว่าไม่ชอบหรือรู้สึกเบื่อเมนูอาหารเดิม ๆ จึงแสดงออกด้วยการไม่ยอมกินข้าว
    • โดนบังคับเรื่องกิน เนื่องจากอยู่ในช่วงวัยที่ลูกเริ่มเป็นตัวของตัวเอง การบังคับหรือกดดันให้ลูกกินข้าว อาจทำให้ลูกต่อต้านและไม่ทำตาม
    • ลูกต้องการความสนใจ การเรียกร้องความสนใจเป็นเรื่องปกติของเด็กในวัยนี้ การไม่ยอมกินอาจเป็นการแสดงออกเพื่อต่อต้านสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องการ
    • อิ่มจากของกินเล่น หากลูกกินนม น้ำหวาน ขนมก่อนอาหารมื้อหลัก อาจทำให้ยังอิ่มอยู่และไม่ยอมกินอาหารมื้อหลัก หรือกินได้น้อยกว่าที่ควร
    • เลียนแบบคนที่อยู่ด้วย เมื่อลูกเห็นว่าคนรอบข้างเลือกกินหรือไม่กินอาหารชนิดใด เช่น เห็นคุณพ่อเขี่ยผักหรือพืชใบเขียวทิ้ง ก็อาจจะเกิดพฤติกรรมเลียนแบบและเลือกที่จะไม่กินตามบ้าง

    วิธีรับมือลูกไม่ยอมกินข้าว 3 ขวบ

  • ลูกไม่ยอมกินข้าวเป็นเรื่องปกติของเด็กในวัย 2-5 ขวบ คุณพ่อคุณแม่ควรใช้ความอดทนในการช่วยลูกให้กินข้าว ไม่ใช้วิธีว่ากล่าวหรือตำหนิ ซึ่งจะสร้างความรู้สึกที่ไม่ดีให้กับลูก
  • ให้ลูกรับประทานอาหารแต่ละมื้อให้ตรงเวลาในทุกวัน ทั้งอาหารมื้อหลักและขนมระหว่างวันจะทำให้ลูกคุ้นชินกับช่วงเวลาที่ต้องใช้กินอาหารในแต่ละครั้ง
  • คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรใช้วิธีการบังคับหรือบีบเค้นให้ลูกกินข้าว เพราะจะทำให้ลูกเกิดความรู้สึกต่อต้านและทำให้ไม่ยอมกินมากกว่าเดิม
  • หากลูกไม่ยอมกิน อาจจะเริ่มจากการให้อาหารในปริมาณน้อย หากลูกยอมกินแล้วไม่อิ่ม ก็อาจจะขอเพิ่มได้อีกด้วยตัวเอง
  • ควรสลับเมนูอาหารของลูกไม่ให้จำเจมากเกินไป วางแผนเมนูอาหารให้มีความหลากหลายและมีคุณค่าทางอาหารที่ครบถ้วนสำหรับลูก
  • สังเกตว่าลูกชอบอาหารชนิดใดเป็นพิเศษ เมื่อต้องการให้ลองอาหารชนิดใหม่ ให้ลองใส่อาหารที่ลูกชอบไปด้วย อาจจะช่วยทำให้ลูกกินได้ง่ายขึ้น
  • ให้โอกาสลูกทดลองชิมอาหารใหม่ ๆ ในช่วงแรกลูกอาจจะนำอาหารเข้าปาก หรือดมเล่นโดยที่ยังไม่ยอมกิน ให้ลูกทำความคุ้นเคยไปเรื่อย ๆ บางครั้งอาจจะทดลองมากกว่า 10 ครั้งถึงจะยอมกินด้วยตัวเอง
  • ขณะกินข้าวควรสร้างบรรยากาศที่ดีให้ลูกรู้สึกผ่อนคลายและมีความสุข ด้วยการใช้เวลารับประทานร่วมกันทั้งครอบครัว
  • เป็นตัวอย่างให้กับลูก ด้วยการกินอาหารที่ต้องการให้ลูกลองกิน เนื่องจากลูกมักจะเลียนแบบพฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่
  • ทำให้การกินข้าวเป็นเรื่องสนุก เช่น การตกแต่งเมนูอาหารให้ดูน่ารัก ทำเมนูสีสดใส ให้มีความแปลกใหม่ กระตุ้นให้ลูกอยากกินอาหารมากขึ้น
  • เลี่ยงไม่ให้มีสิ่งรบกวนในตอนที่ลูกกินอาหาร ไม่เปิดโทรทัศน์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือวางของเล่นบนโต๊ะอาหาร ที่ดึงความสนใจของลูกไปจากอาหาร
  • หากลูกไม่ยอมกินข้าว ควรไปหาคุณหมอเมื่อไหร่

    ในวัยที่อาหารเป็นสิ่งสำคัญต่อพัฒนาการและการเจริญเติบโตของลูก การที่ลูกไม่ยอมกินข้าว 3 ขวบนั้น อาจทำให้ลูกขาดสารอาหารที่จำเป็น หากลูกไม่ยอมกินข้าวติดต่อกันหลายวัน หรือน้ำหนักของลูกเริ่มลดลง คุณพ่อคุณแม่อาจจะปรึกษาคุณหมอเพื่อหาทางแก้ไขต่อไป

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 03/11/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา