backup og meta

เคล็ดลับสำหรับพ่อแม่ ในการเลี้ยงลูกให้ได้ดี

เคล็ดลับสำหรับพ่อแม่ ในการเลี้ยงลูกให้ได้ดี

การเลี้ยงลูกให้ได้ดีนั้น เกิดขึ้นได้จากการวางแผนที่ดีของคุณพ่อคุณแม่ การเลี้ยงดูที่เอาใจใส่และให้ความสำคัญกับพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ของลูกเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ลูกเติบโตอย่างมีคุณภาพและใช้ชีวิตในวันข้างหน้าอย่างมีความสุข

วิธีการเลี้ยงลูกให้ได้ดี

เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก ลูกเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ จากสิ่งรอบตัว คุณพ่อคุณแม่ควรเป็นทั้งตัวอย่างที่ดีและเป็นครูที่ดีให้กับลูก การแสดงให้เห็นว่าการกระทำแบบไหนเป็นเรื่องที่ดีหรือควรยึดถือ จะเป็นตัวกำหนดทัศนคติและพฤติกรรมต่าง ๆ ของลูกได้ เช่น สอนเรื่องบริจาคเพื่อให้ลูกรู้จักการเป็นผู้ให้ สอนให้ลูกพูดคุยด้วยเหตุผล ไม่ใช้อารมณ์เพื่อฝึกให้ลูกเป็นคนที่รู้จักคิดก่อนพูด สอนให้ลูกยอมรับความผิดเพื่อให้เป็นคนที่มีความรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเองในอนาคต

เสริมสร้างนิสัยที่ดีให้กับลูก การส่งเสริมให้ลูกติดนิสัยในการทำกิจกรรมหรือกิจวัตรประจำวันที่ส่งผลดีต่อตัวลูกตั้งแต่เด็กจะช่วยให้ลูกเดินรอยตามทางที่คุณพ่อคุณแม่วางไว้ตั้งแต่เริ่มต้น เช่น การปลูกฝังเรื่องกินอาหารเพื่อสุขภาพ สอนให้มีความรับผิดชอบ เช่น การทำความสะอาดบ้าน การเก็บออมและการใช้เงินอย่างมีสติ การให้ลูกอ่านหนังสือทุกวันเพื่อฝึกนิสัยรักการอ่าน การให้ลูกได้ฝึกเล่นกีฬาหรือดนตรี

จัดตารางเวลาและตั้งกฎระเบียบเพื่อใช้ร่วมกันภายในบ้าน การจัดตารางเวลาประจำวันของกิจกรรมภายในบ้าน เช่น เวลาตื่นและนอน เวลากินอาหาร เวลาทำการบ้าน เวลาเล่นเกม จะทำให้ลูกเป็นคนที่มีระเบียบวินัย คุณพ่อคุณแม่ยังสามารถตั้งกฎเพื่อใช้ร่วมกันแล้วอธิบายเหตุผลว่าเพราะอะไรถึงต้องทำตามระเบียบ ก็จะช่วยให้ลูกสามารถรับมือเมื่อเกิดเหตุการณ์นั้น ๆ ได้ เช่น การให้ระวังตัวเมื่อคนแปลกหน้าเข้ามาคุยด้วย การใช้ของมีคมด้วยความระมัดระวัง หรือการให้ลูกต้องคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งเมื่อขึ้นรถ

การใช้เวลาร่วมกันในครอบครัว การกระชับความสัมพันธ์ภายในครอบครัวให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น จะทำให้ลูกรู้สึกใกล้ชิดกับคนในครอบครัว อาจจะจัดตารางเวลาและเลือกกิจกรรมที่ใช้เวลาด้วยกันทั้งภายในบ้านและนอกบ้าน เช่น การจัดเวรหรือร่วมกันทำความสะอาดบ้านในวันหยุด การเดินออกกำลังกายด้วยกันในตอนเช้าหรือก่อนมื้ออาหาร การออกไปเที่ยวพักผ่อนด้วยกันทั้งครอบครัว

ช่วยลูกวางแผนเป้าหมายของตัวเอง กระตุ้นให้ลูกคิดถึงทักษะที่ตัวเองมี และส่งเสริมให้ลูกพัฒนาตัวเองในเรื่องนั้นเพื่อบรรลุเป้าหมายและความสำเร็จที่ลูกต้องการ ให้ลูกมีอิสระในความคิด ทำสิ่งที่อยากทำ ในขณะเดียวกัน คุณพ่อคุณแม่ควรสนับสนุน ให้กำลังใจ และอธิบายข้อดีข้อเสียในสิ่งที่ลูกอยากทำ พูดคุยด้วยเหตุผล ไม่ใช่การสั่งหรือบังคับให้ทำตามที่คุณพ่อคุณแม่อยากให้เป็น

วิธีการเหล่านี้ อาจช่วยให้ลูกเติบโตอย่างมีสุขภาพที่ดี มีความปลอดภัย และประสบความสำเร็จได้ในหลายด้าน เช่น ด้านอารมณ์ ด้านสติปัญญา ด้านพฤติกรรม และด้านสังคม

วิธีการสนับสนุนลูกในด้านต่าง ๆ

การเลี้ยงลูกให้ได้ดีนั้นคุณพ่อคุณแม่สามารถสนับสนุนลูกในด้านต่าง ๆ  ดังต่อไปนี้

การสนับสนุนด้านร่างกาย การส่งเสริมด้านสุขภาพและอาหารการกินเป็นสิ่งสำคัญ ช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพ เช่น โรคอ้วน โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคหอบหืด ความดันโลหิตสูง ยิ่งส่งเสริมให้รักษาสุขภาพตั้งแต่อายุน้อย ๆ เร็วยิ่งส่งผลดีต่อลูกในระยะยาว โดยคุณพ่อคุณแม่ก็ควรเป็นตัวอย่างที่ดีและทำสิ่งเหล่านี้ไปพร้อม ๆ กับลูกด้วย เช่น

  • ให้ลูกเข้านอนและตื่นนอนตรงเวลาและพักผ่อนอย่างเพียงพอ โดยเด็ก ๆ ควรใช้เวลานอนหลับในตอนกลางคืนติดต่อกันประมาณ 8-12 ชั่วโมง
  • ไม่วางโทรทัศน์ในห้องนอนของลูก เพราะจะรบกวนการนอนหลับและเวลาอ่านหนังสือได้
  • เริ่มต้นวันใหม่ด้วยอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ฝึกให้ลูกกินอาหารที่มีประโยชน์ เตรียมอาหารที่มีความหลากหลายให้กับลูก กินผักและผลไม้เป็นประจำ ไม่กินอาหารขยะบ่อยจนเกินไป
  • กระตุ้นให้ลูกออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมเคลื่อนไหว เช่น การวิ่ง การกระโดดเชือก อย่างน้อยวันละ 30 นาที เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับลูก

การสนับสนุนด้านจิตใจ การมีสุขภาพจิตใจที่ดีเป็นเรื่องสำคัญ คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกมองเห็นคุณค่าในตัวเอง เพื่อให้ลูกสามารถที่จะรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ต้องเจอในชีวิต ตัวอย่างเช่น

  • แสดงให้เห็นว่าสนใจและเอาใจใส่เรื่องของลูก เช่น ถามเรื่องที่โรงเรียนหรือความสนใจทั่วไปสนับสนุนให้ลูกทำงานอดิเรกหรือกิจกรรมนอกห้องเรียนที่ลูกสนใจ เช่น กีฬา ดนตรี งานศิลปะ เป็นต้น
  • เคารพความเป็นส่วนตัวของลูก ไม่ก้าวก่ายเรื่องที่ลูกไม่ต้องการให้รู้
  • ชื่นชมความพยายามและความสำเร็จของลูกอยู่เสมอ
  • แสดงให้เห็นว่าคุณพ่อคุณแม่รักและให้ความสำคัญกับลูก ควรมีเวลาคุณภาพอย่างน้อยวันละ 10-15นาที เป็นช่วงเวลาที่ใช้ร่วมกัน และเป็นช่วงที่สร้างแต่ความสุข  
  • เคารพความคิดเห็นของลูก รับฟังด้วยความเข้าใจ และให้คำแนะนำที่ดีเมื่อลูกต้องการคำปรึกษา

การสนับสนุนด้านอารมณ์  แรงสนับสนุนจากคุณพ่อคุณแม่เมื่อลูกเจอปัญหาจะช่วยให้ลูกสามารถผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้ และช่วยลดความเสี่ยงที่จะทำให้ลูกเกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อตัวเอง ซึ่งอาจนำไปสู่โรควิตกกังวล หรือโรคซึมเศร้าได้ ความรักความเข้าใจในครอบครัวจะช่วยให้ลูกสามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเอง และนำไปแก้ไขปัญหาที่เจอได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น

  • การใช้เวลาพูดคุยกัน รับฟังปัญหาของลูกโดยไม่ตัดสิน แต่ให้คำแนะนำอย่างมีเหตุผล ให้ลูกรู้สึกว่ามีคนรับฟังอย่างตั้งใจ
  • สนับสนุนให้ลูกได้รู้จักการแสดงอารมณ์ที่เหมาะสม เช่น แสดงอารมณ์โกรธเมื่อรู้สึกไม่พอใจ ร้องไห้เมื่อรู้สึกเสียใจ
  • ทำกิจกรรมที่ช่วยลดความเครียดด้วยกัน เช่น ให้ฝึกหายใจเข้า-ออก ลึก ๆ เป็นเวลา 5 วินาที ออกไปเดินเล่นตามสวนสาธารณะ
  • หากต้องทำโทษเมื่อลูกไม่ทำตามข้อตกลงที่มีร่วมกัน ให้คุยกับลูกด้วยความเข้าใจและมีความเห็นใจ ใช้วิธีที่เหมาะสม ไม่ดุว่าหรือใช้ความรุนแรงที่ทำให้ลูกรู้สึกผิดกับตัวเอง เช่น ลูกออกไปเล่นที่สนามเด็กเล่นโดยที่ไม่ขออนุญาตก่อน คุณแม่จึงทำโทษด้วยการไม่ให้ลูกกินอาหารว่างในตอนเย็นวันนั้น โดยกำชับว่าในครั้งหน้าต้องมาบอกก่อน เพราะการหายไปโดยไม่ขออนุญาต ทำให้ที่บ้านไม่รู้ว่าลูกอยู่ที่ไหน ซึ่งอาจจะเกิดอันตรายกับลูกได้

[embed-health-tool-vaccination-tool]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Stressed out kids? Signs and strategies https://www.mayoclinichealthsystem.org/hometown-health/speaking-of-health/stressed-out-kids . Accessed February 21, 2022

2 Parenting Knowledge, Attitudes, and Practices. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK402020/ . Accessed February 21, 2022

Supporting Parents of Children Ages 0-8 https://www.cdc.gov/ncbddd/childdevelopment/features/parenting-matters.html

. Accessed February 21, 2022

General Parenting Tips https://www.aafp.org/afp/2018/0515/p642-s2.html . Accessed February 21, 2022

Developmental Milestones https://www.cdc.gov/ncbddd/childdevelopment/positiveparenting/middle2.html  . Accessed February 21, 2022

Tips for Healthy Children and Families https://familydoctor.org/tips-for-healthy-children-and-families/   . Accessed February 21, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

16/04/2022

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

วรรณกรรมเยาวชน แนะนำเล่มไหนดีที่จะช่วยปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน

8 เคล็ดลับเลี้ยงเด็กให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ

พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 16/04/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา