backup og meta

แชมพูเด็ก ควรเลือกอย่างไร และข้อควรระวังในการใช้

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 02/03/2023

    แชมพูเด็ก ควรเลือกอย่างไร และข้อควรระวังในการใช้

    เนื่องจากเส้นผมและผิวบริเวณศีรษะของเด็กมีความบอบบางจึงควรเลือก แชมพูเด็ก ที่มีส่วนประกอบที่มาจากธรรมชาติ ไม่ก่อให้เกิดความระคายเคือง ให้ความชุ่มชื้น และเป็นสารอาหารผิวที่ดี นอกจากนี้ ยังควรหลีกเลี่ยงแชมพูเด็กที่มีส่วนผสมของสารเคมีที่ช่วยลดแรงตึงผิว เพราะทำให้เกิดความระคายเคืองต่อผิวและดวงตาของเด็กได้

    เด็กควรสระผมบ่อยแค่ไหน

    ไม่ควรสระผสมให้เด็กทุกวันหลังอาบน้ำ แต่ควรสระผมเพียงสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เพราะผมของเด็กอาจไม่สกปรกมากเท่ากับผมผู้ใหญ่ และการสระผมบ่อยเกินไปอาจกำจัดน้ำมันตามธรรมชาติบนผิวหนังออกทำให้หนังศีรษะแห้ง หรืออาจทำให้หนังศีรษะมันมากเนื่องจากต่อมน้ำมันเร่งการผลิตน้ำมันมากขึ้นเพื่อทดแทนน้ำมันที่สูญเสียไป ซึ่งอาจส่งผลให้เด็กเสี่ยงมีปัญหารังแคในอนาคตได้

    นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจเลือกใช้สบู่ในการสระผมเด็กเนื่องจากสะดวกสบายกว่า แต่การใช้แชมพูเด็กอาจมีข้อดีกว่าสบู่ ดังนี้

    • สบู่เด็กอาจผลิตมาจากสารธรรมชาติ ปราศจากสารเติมแต่งที่ช่วยให้ผมอ่อนนุ่ม ซึ่งอาจทำให้ผมกระด้างและหวียาก การเปลี่ยนมาใช้แชมพูเด็กที่ประกอบไปด้วยสารลดแรงตึงผิว อาจช่วยให้ผมของเด็กนุ่มสลวยและไม่ชี้ฟู
    • แม้สบู่เด็กจะผลิตมาจากสารธรรมชาติสูตรอ่อนโยน แต่ยังอาจทำให้ตาของเด็กเกิดความระคายเคืองได้ ดังนั้น การเลือกใช้แชมพูเด็กที่มีส่วนประกอบที่อ่อนโยนกว่าจึงอาจช่วยป้องกันความระคายเคืองตาได้มากกว่า ทั้งยังมีฟองน้อยกว่า และมีกลิ่มหอม
    • แชมพูมักมีค่าความเป็นกรดด่างที่อ่อนกว่าสบู่ และอาจมีความใกล้เคียงกับกรดบนผิวหนังของเด็กมากกว่า จึงอาจช่วยลดความแห้งตึงของผิวหนัง และยังอาจช่วยบำรุงผิวบริเวณหนังศีรษะได้ดีอีกด้วย

    แชมพูเด็ก ควรเลือกอย่างไร

    ผิวบริเวณหนังศีรษะและเส้นผมของเด็กยังมีความอ่อนโยนมาก จึงควรเลือกแชมพูที่มีส่วนประกอบแบบออร์แกนิก (Organic) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจากธรรมชาติและปราศจากสารเคมีลดแรงตึงผิว เช่น โซเดียม ลอริล ซัลเฟต (Sodium Lauryl Sulfate หรือ SLS) ที่อาจทำให้เกิดความระคายเคืองตา โดยควรเลือกแชมพูเด็กที่อุดมไปด้วยโปรตีนนมและวิตามินอีที่ช่วยให้ความชุ่มชื้นกับผิวและเส้นผม เช่น

    • น้ำข้าว
    • ว่านหางจระเข้
    • น้ำมันมะพร้าว
    • น้ำมันอะโวคาโด
    • มะละกอ
    • สารสกัดจากแอปเปิ้ลเขียว
    • ชาเขียว
    • สาหร่ายทะเล

    นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงแชมพูเด็กที่มีสารสร้างฟองและเติมแต่งกลิ่นหอม รวมทั้งสารเคมีบางชนิดเพื่อป้องกันความระคายเคืองต่อผิวเด็ก เช่น

  • กลุ่มซัลเฟต เช่น โซเดียม ลอริล ซัลเฟต แอมโมเนียมลอริลซัลเฟต (Ammonium Lauryl Sulfate หรือ ALS) โซเดียมสเตียริลซัลเฟต (Sodium Stearyl Sulfate) โซเดียมลอริลซัลโฟอะซีเตต (Sodium Lauryl Sulfoacetate) โซเดียมโคโคซัลเฟต (Sodium Coco Sulfate)
  • กลุ่มพาราเบน (Paraben) เช่น เมทิลพาราเบน (Methylparaben) เอทิลพาราเบน (Ethylparaben) โพรพิลพาราเบน (Propylparaben) บิวทิลพาราเบน โพลิเอทิลีน (Polyethylene)
  • โพลิเอธิลีนไกลคอล (Polyethylene Glycol)
  • โพลิออกซีเอทิลีน (Polyoxyethylene)
  • บิวทิลพาราเบน (Butylparaben)
  • พาทาเลท (Phthalate)
  • ออกซินอล (Oxynol)
  • ฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde)
  • ข้อควรระวังในการใช้ แชมพูเด็ก

    แชมพูเด็กถึงแม้ว่าจะผลิตมาเป็นสูตรอ่อนโยนต่อสภาพผิวของเด็ก แต่ยังอาจมีข้อควรระวังบางประการ ดังนี้

    • หากเด็กมีปัญหาสุขภาพผิว เช่น โรคผื่นผิวหนังอักเสบ ผิวหนังลอกเป็นขุย ผดผื่น แผลพุพอง ซึ่งส่งผลให้สุขภาพผิวอ่อนแอ บอบบางและแพ้ง่าย จนไม่สามารถทนต่อสารเคมีในแชมพูบางชนิดได้ จึงควรปรึกษาคุณหมอก่อนใช้แชมพูเด็กทุกชนิด
    • ไม่ควรสระผมให้เด็กมากเกินไปหรือใช้แชมพูเด็กบ่อย ๆ เพราะอาจทำให้เด็กใช้เวลาแช่น้ำนานมากขึ้น ซึ่งอาจเสี่ยงติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้ โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง
    • อ่านฉลากก่อนซื้อแชมพูเด็กทุกครั้ง หลีกเลี่ยงแชมพูเด็กที่มีสารอันตรายตามที่กล่าวมาข้างต้น และระหว่างการสระผมควรป้องกันไม่ให้แชมพูไหลเข้าตาเด็ก เพราะอาจก่อให้เกิดความระคายเคืองได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 02/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา