backup og meta

กรดไอโคซาเพนตะอิโนอิก หรืออีพีเอ (Eicosapentaenoic Acid)

กรดไอโคซาเพนตะอิโนอิก หรืออีพีเอ (Eicosapentaenoic Acid)

ข้อบ่งใช้

กรดไอโคซาเพนตะอิโนอิก ใช้สำหรับ

กรดไอโคซาเพนตะอิโนอิก (Eicosapentaenoic Acid) หรืออีพีเอ (EPA) จัดอยู่ในกลุ่มกรดไขมันโอเมก้า 3ที่พบในปลาทะเลในเขตหนาวจัด (Cold-Water Fish) เช่น ปลาทูน่า ปลาฮาลิบัท ปลาแซลมอน ไขปลาวาฬ ตับปลาค็อด (Cod)

กรดไอโคซาเพนตะอิโนอิก หรืออีพีเอ นิยมนำมาใช้รักษาโรคและอาการทางการแพทย์ดังต่อไปนี้

  • อาการซึมเศร้า
  • แผลผ่าตัด – เพื่อลดระยะเวลาการฟื้นตัวเมื่อใช้ร่วมกับอาร์เอ็นเอ (RNA) และแอล-อาร์จินีน (L-arginine)
  • โรคสะเก็ดเงิน
  • ลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก
  • โรคจิตเภท
  • ประจำเดือนผิดปกติ
  • โรคอัลไซเมอร์
  • โรคปอด
  • โรคลูปัส
  • ความผิดปกติของบุคลิกภาพ
  • อาการของวัยหมดประจำเดือน
  • โรคเบาหวานชนิดที่ 2
  • โรคเรื้อรังที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม
  • โรคความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ (Eclampsia)
  • ภาวะความดันโลหิตสูง
  • โรคหอบหืด
  • อาการไข้ อาการหวัด อาการไอ และอาการคัดจมูก
  • ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (หลอดเลือดแดงอุดตัน) และโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
  • ป้องกันโรคกล้ามเนื้อตาเสื่อมอายุ
  • ลดการเจริญเติบโตของเนื้องอกในมดลูก

กรดไอโคซาเพนตะอิโนอิกอาจกำหนดให้ใช้สำหรับส่วนอื่นๆ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

การทำงานของกรดไอโคซาเพนตะอิโนอิก

ยังไม่มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการทำงานของกรดไอโคซาเพนตะอิโนอิกที่เพียงพอ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร อย่างไรก็ดี มีงานศึกษาวิจัยบางส่วนที่ชี้ให้เห็นว่า กรดไอโคซาเพนตะอิโนอิกสามารถป้องกันการแข็งตัวของเลือด ลดอาการปวดและอาการบวมได้

ข้อควรระวังและคำเตือน

ข้อควรรู้ก่อนใช้กรดไอโคซาเพนตะอิโนอิก

ปรึกษาแพทย์หรึอเภสัชกร หาก

  • คุณอยู่ในช่วงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร เนื่องจากในขณะที่คุณกำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร คุณควรจะได้รับยาตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • คุณได้รับยาชนิดอื่นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่ซื้อได้เอง สมุนไพร โดยเฉพาะยาแอสไพริน เพราะกรดไอโคซาเพนตะอิโนอิกอาจมีผลกับระบบการหายใจของคุณได้
  • คุณมีอาการแพ้สารจากกรดไอโคซาเพนตะอิโนอิก หรือแพ้ยาชนิดอื่น หรือแพ้สมุนไพรชนิดอื่น
  • คุณมีอาการเจ็บป่วย มีอาการผิดปกติ หรือภาวะทางการแพทย์อื่นๆ
  • คุณมีอาการแพ้ต่าง ๆ เช่น แพ้อาหาร สีผสมอาหาร สารกันบูด เนื้อสัตว์

โดยทั่วไป กรดไอโคซาเพนตะอิโนอิกปลอดภัยสำหรับคนส่วนใหญ่หากใช้ในปริมาณที่เหมาะสม แต่หากใช้ในปริมาณที่มากกว่า 3 กรัมต่อวัน อาจเป็นอันตรายต่อความเข้มข้นของเลือดและเสี่ยงต่อการเลือดออกได้

กฎระเบียบสำหรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้นมีความเข้มงวดน้อยกว่ายารักษาโรค คุณจึงควรศึกษาข้อมูลให้มากเพื่อความปลอดภัยในการใช้ และการบริโภคอาหารเสริมกรดไอโคซาเพนตะอิโนอิก ควรมีคุณประโยชน์มากกว่าความเสี่ยง สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

ความปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

ยังมีข้อมูลไม่เพียงพอเกี่ยวกับความปลอดภัย จากการใช้กรดไอโคซาเพนตะอิโนอิกระหว่างการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร เพื่อความปลอดภัยควรหลีกเลี่ยงการใช้งาน หรือสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนตัดสินใจใช้ทุกครั้ง

ความปลอดภัยต่อสภาวะทางการแพทย์อื่นๆ

ความดันเลือดสูง

กรดไอโคซาเพนตะอิโนอิกอาจทำให้ความดันโลหิตลดลง ในกรณีที่เคยใช้ยาลดความดันโลหิต การใช้กรดไอโคซาเพนตะอิโนอิก อาจทำให้ความดันโลหิตลดลงต่ำเกินไป จึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนตัดสินใจใช้กรดไอโคซาเพนตะอิโนอิก

ผลข้างเคียง

ผลข้างเคียงของการใช้กรดไอโคซาเพนตะอิโนอิก

กรดไอโคซาเพนตะอิโนอิกอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น

  • คลื่นไส้
  • ท้องเสีย
  • โรคกรดไหลย้อน
  • ผื่น
  • อาการคัน
  • เลือดกำเดา
  • ปวดข้อต่อ หลัง และกล้ามเนื้อ

น้ำมันปลาที่มีกรดไอโคซาเพนตะอิโนอิกอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อไปนี้

  • รสคาว
  • มีแก๊สในท้อง
  • เลือดกำเดาไหล
  • คลื่นไส้
  • ท้องเสีย

อย่างไรก็ตาม ผลข้างเคียงที่กล่าวมาข้างต้น อาจไม่ได้เกิดกับทุกคน หรือบางคนอาจมีผลข้างเคียงอื่นนอกเหนือจากนี้ หากคุณมีข้อสงสัยใดๆ เกี่ยวกับผลข้างเคียง โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

ปฏิกิริยาต่อยา

ปฏิกิริยากับยาอื่น

กรดไอโคซาเพนตะอิโนอิกอาจทำปฏิกิริยากับยาอื่นที่คุณกำลังใช้อยู่ และอาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงรุนแรง เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น คุณควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรด้วยว่า คุณกำลังใช้ยาอะไรอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่ซื้อได้เอง สมุนไพร

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากคุณกำลังใช้ยาเหล่านี้

  • ยาลดความดันโลหิต เนื่องจากกรดไอโคซาเพนตะอิโนอิกสามารถทำให้ความดันโลหิตลดลงได้ หากใช้กรดไอโคซาเพนตะอิโนอิกร่วมกับยาสำหรับความดันโลหิตสูงอาจทำให้คุณความดันเลือดต่ำเกินไป
  • ยาสำหรับอาการความดันโลหิตสูง เช่น แคปโตพริล (Captopril) เอนาลาพริล (Enalapril) หรือวาโซเทค (Vasotec) โลซาร์ทาน (Losartan) วัลซาร์ทาน (Valsartan) ดิลทิอาเซม (Diltiazem) คาร์ดิเซม (Cardizem) แอมโลดิไพน์ (Amlodipine) ไฮโดรคลอโรธิอาไซด์ (Hydrochlorothiazide) ฟูโรเซไมด์ (Furosemide)
  • ยาที่ช่วยชะลอการแข็งตัวของเลือด เช่น แอสไพริน คลอพิโดเกรล (Clopidogrel) คาตาแฟลม (Cataflam) นาพรอกเซน (Naproxen) เนื่องจากอาจทำให้การแข็งตัวของเลือดช้าลงจนถึงขั้นเป็นอันตรายได้

เพื่อความปลอดภัย คุณไม่ควรเริ่ม หยุด หรือเปลี่ยนขนาดยาเองโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากแพทย์

ขนาดยา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

ขนาดยาของกรดไอโคซาเพนตะอิโนอิก

สำหรับภาวะซึมเศร้า

กรดไอโคซาเพนตะอิโนอิก1 กรัม วันละสองครั้ง

สำหรับความผิดปกติของบุคลิกภาพ

กรดไอโคซาเพนตะอิโนอิก1 กรัม เป็นประจำทุกวัน นาน 8 สัปดาห์

สำหรับอาการของวัยหมดประจำเดือน

ใช้เอทิล-อีพีเอ (Ethyl-EPA) 500 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 8 สัปดาห์

ปริมาณในการใช้อาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับอายุ สุขภาพและปัจจัยอื่นๆ การใช้อาหารเสริมอาจไม่ได้มีความปลอดภัยเสมอ จึงควรปรึกษาเรื่องปริมาณที่เหมาะสม และวิธีการใช้งานอย่างปลอดภัยจากแพทย์หรือเภสัชกรเสมอ

รูปแบบของกรดไอโคซาเพนตะอิโนอิก

กรดไอโคซาเพนตะอิโนอิกอาจมีจำหน่ายในรูปแบบต่อไปนี้

  • แคปซูลร่วมกับส่วนผสมอื่นๆ
  • กรดโอเมก้า 3 และกรดไอโคซาเพนตะอิโนอิกจากปลาทะเลน้ำลึก
  • กรดไอโคซาเพนตะอิโนอิกสกัดเข้มข้น

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Eicosapentaenoic acid (EPA). https://www.mountsinai.org/health-library/supplement/eicosapentaenoic-acid-epa. Accessed Jan 28, 2020

EICOSAPENTAENOIC ACID (EPA). https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-994/eicosapentaenoic-acid-epa. Accessed Jan 28, 2020

EICOSAPENTAENOIC ACID. https://www.rxlist.com/eicosapentaenoic_acid/supplements.htm. Accessed Jan 28, 2020

Eicosapentaenoic Acid. https://www.sciencedirect.com/topics/biochemistry-genetics-and-molecular-biology/eicosapentaenoic-acid. Accessed Jan 28, 2020

Eicosapentaenoic Acid (EPA) and Docosahexaenoic Acid (DHA). https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK209320/. Accessed Jan 28, 2020

เวอร์ชันปัจจุบัน

10/08/2020

เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: ชลธิชา จันทร์วิบูลย์


บทความที่เกี่ยวข้อง

ไขมันทรานส์ อันตรายต่อสุขภาพจริงเหรอ

ไขมันดี คอเลสเตอรอล HDL สำคัญขนาดไหน และเราจะเพิ่มมันได้ยังไง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 10/08/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา