backup og meta

แมกนีเซียม ไฮดรอกไซด์ (Magnesium hydroxide)

แมกนีเซียม ไฮดรอกไซด์ (Magnesium hydroxide)

ข้อบ่งใช้

ยาแมกนีเซียม ไฮดรอกไซด์ ใช้สำหรับ

ยา แมกนีเซียม ไฮดรอกไซด์ (Magnesium hydroxide) เป็นยาลดกรด มักจะใช้เพื่อรักษาอาการอาหารไม่ย่อยเนื่องจากกรด (acid indigestion) อาการแสบร้อนกลางอก (heartburn) เรอเปรี้ยว (sour stomach) และท้องผูก ยานี้ยังอาจใช้เพื่อรักษาโรคอื่นตามที่แพทย์กำหนดได้อีกด้วย

วิธีการใช้ยา แมกนีเซียม ไฮดรอกไซด์

รับประทานยาแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์พร้อมกับอาหารหรือรับประทานแยกต่างหาก ควรดื่มน้ำเปล่าหรือน้ำอื่นๆ ตามหนึ่งแก้ว (8 ออนซ์หรือ 240 มล.)

โปรดสอบถามแพทย์หากคุณมีข้อสงสัยเกี่ยวกับวิธีการใช้ยาแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์

การเก็บรักษายา แมกนีเซียม ไฮดรอกไซด์

ยาแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ควรเก็บที่อุณหภูมิห้อง หลีกเลี่ยงแสงหรือความชื้น เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวยาเกิดความเสียหาย ไม่ควรเก็บยานี้ในห้องน้ำหรือช่องแช่แข็ง ยาแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์บางยี่ห้ออาจจะต้องเก็บรักษาแตกต่างกัน จึงควรตรวจสอบฉลากยาหรือสอบถามเภสัชกรเสมอ เพื่อความปลอดภัยโปรดเก็บยาให้ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ไม่ควรทิ้งยาแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ลงในชักโครก หรือเทลงในท่อระบายน้ำ เว้นแต่ได้รับคำแนะนำให้ทำเช่นนั้น ควรกำจัดยาด้วยวิธีที่ถูก สอบถามเภสัชกรเพิ่มเติม เกี่ยวกับวิธีการกำจัดยาที่ถูกต้อง

ข้อควรระวังและคำเตือน

ข้อควรรู้ก่อนใช้ยา แมกนีเซียม ไฮดรอกไซด์

ก่อนใช้ยานี้ แจ้งให้แพทย์ทราบหาก

  • คุณกำลังตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร เนื่องจากในช่วงที่คุณกำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ควรใช้ยาตามที่แพทย์แนะนำเท่านั้น
  • หากคุณกำลังใช้ยาอื่นอยู่ รวมทั้งยาที่หาซื้อได้เอง เช่น สมุนไพรหรือยาทางเลือกอื่นๆ
  • หากคุณแพ้สารออกฤทธิ์หรือไม่ออกฤทธิ์ของยาแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ หรือยาอื่นๆ
  • หากคุณมีอาการป่วย มีความผิดปกติ หรือมีสภาวะทางการแพทย์อื่นๆ

ยาแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ มักจะทำให้อุจจาระภายใน 30 นาที ถึง 60 นาทีหลังจากใช้ยา หากคุณไม่อุจจาระหลังจากที่ใช้ยาแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์โปรดติดต่อแพทย์

อย่าใช้ยามากกว่าขนาดที่แนะนำหรือใช้ยาในขนาดสูงสุดนานเกินกว่า 1 สัปดาห์โดยไม่ปรึกษากับแพทย์

หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ หรือหากอาการแย่ลง โปรดติดต่อแพทย์

ไม่ควรใช้ยาแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์กับเด็กที่อายุน้อยกว่า 12 ปี ยังไม่มีการยืนยันความปลอดภัยและประสิทธิภาพของยาในผู้ป่วยกลุ่มนี้

ความปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

ยังไม่มีงานวิจัยที่น่าเชื่อถือ เกี่ยวกับความเสี่ยงในสตรีที่ใช้ยานี้ในช่วงการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อหาประโยชน์และความเสี่ยงก่อนการใช้ยา

ยาแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์จัดอยู่ในประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อผู้ตั้งครรภ์ หมวด N โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA)

การจัดประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อผู้ตั้งครรภ์โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกามีดังนี้

  • A= ไม่มีความเสี่ยง
  • B= ไม่พบความเสี่ยงในการวิจัยบางชิ้น
  • C= อาจจะมีความเสี่ยง
  • D= มีหลักฐานแสดงถึงความเสี่ยง
  • X= ห้ามใช้
  • N= ไม่ทราบแน่ชัด

ผลข้างเคียง

ผลข้างเคียงของการใช้ยา แมกนีเซียม ไฮดรอกไซด์

โปรดติดต่อแพทย์หากผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไปเหล่านี้ไม่หายไปหรือรบกวนคุณ

รับการรักษาในทันที หากคุณมีผลข้างเคียงที่รุนแรงของยาดังนี้

  • ผดผื่น
  • ลมพิษ
  • คัน
  • หายใจติดขัด
  • แน่นหน้าอก
  • อาการบวมที่ปาก ใบหน้า ริมฝีปาก หรือลิ้น
  • เบื่ออาหาร
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • คลื่นไส้
  • ปฏิกิริยาตอบสนองช้า
  • อาเจียน

ไม่ใช่ทุกคนจะเจอกับผลข้างเคียงเหล่านี้อาจจะมีอาการอย่างอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ถ้าคุณมีข้อสงสัยใดๆ เกี่ยวกับผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกร

ปฏิกิริยาของยา

ปฏิกิริยากับยาอื่น

ยาแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์อาจเกิดปฏิกิริยากับยาอื่นที่คุณกำลังใช้อยู่ ซึ่งอาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง

เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น คุณควรจะบอกแพทย์หรือเภสัชกรของคุณว่า คุณกำลังใช้ยาอะไรอยู่บ้าง ทั้งยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่ซื้อได้เอง และสมุนไพรต่างๆ เพื่อความปลอดภัย โปรดอย่าเริ่ม หยุด หรือเปลี่ยนขนาดยาใดๆ โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากแพทย์

ยาที่อาจมีปฏิกิริยากับยานี้ ได้แก่

  • ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulants) เช่นยาวาฟาริน (warfarin) เนื่องจากความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงอาจจะเพิ่มขึ้นเพราะยาแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์
  • ยาต้านเชื้อรากลุ่มเอโซล (Azole antifungals) เช่น คีโตโคนาโซล (ketoconazole) ยากลุ่มไบฟอสโฟเนตส์ (bisphosphonates) เช่นยาอะเลนโดรเนต (alendronate) สารกรองเรซินประจุบวก (cation exchange resins) เช่นโซเดียมพอลิสไตรีนซัลโฟเนต (sodium polystyrene sulfonate) ยาเซฟาโลสปอริน (cephalosporins) เช่นเซฟาเลซิน (cephalexin) ยาไมโคฟีโนเลต (mycophenolate) ยาเพนิซิลลามีน (penicillamine) ยาปฏิชีวนะควิโนโลน (quinolone) เช่นไซโปรฟรอกซาซิน (ciprofloxacin) หรือยาเตตราไซคลีน (tetracyclines) เช่นดอกซีไซคลีน (doxycycline) เนื่องจากประสิทธิภาพของยาเหล่านี้อาจจะลดลงเพราะยาแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์

ปฏิกิริยากับอาหารหรือแอลกอฮอล์

ยาแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์อาจมีปฏิกิริยากับอาหารหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

ปฏิกิริยากับอาการโรคอื่น

ยาแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์อาจส่งผลให้อาการโรคของคุณแย่ลง หรือส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา โปรดแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบถึงสภาวะโรคของคุณก่อนใช้ยาเสมอ

โรคที่อาจมีปฏิกิริยากับยานี้ ได้แก่

  • ไส้ติ่งอักเสบ (Appendicitis)
  • ปวดท้อง
  • ลำไส้อุดตัน
  • คลื่นไส้
  • อาเจียน
  • ท้องร่วง
  • ปัญหาเกี่ยวกับไต
  • มีเลือดออกทางทวารหนัก ไม่ทราบสาเหตุ
  • การผ่าตัดลำไส้

ขนาดยา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

ขนาดยาแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์สำหรับผู้ใหญ่

ยาเม็ดสำหรับเคี้ยว รับประทาน 2-4 เม็ด ทุกๆ 4 ชั่วโมง ไม่ควรเกิน 4 ครั้งภายใน 24 ชั่วโมง

ขนาดยาแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์สำหรับเด็ก

อายุน้อยกว่า 12 ปี ไม่แนะนำให้ใช้ยา

อายุมากกว่าหรือเท่ากับ 12 ปีขึ้นไป รับประทาน 2-4 เม็ด ทุกๆ 4 ชั่วโมง ไม่ควรเกิน 4 ครั้งภายใน 24 ชั่วโมง

รูปแบบของยา

ขนาดและรูปแบบของยามีดังนี้

  • ยาเม็ด 311 มก. หรือ 400 มก.

กรณีฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด

หากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด ควรแจ้งเหตุฉุกเฉินหรือนำส่งห้องฉุกเฉินใกล้บ้านโดยทันที

กรณีลืมใช้ยา

หากคุณลืมใช้ยาควรรีบใช้ในทันทีที่นึกได้ หรือถ้าหากใกล้ถึงเวลาใช้ยาครั้งต่อไป ให้ข้ามรอบไปใช้ยาตามตารางปกติได้เลย ไม่ควรเพิ่มปริมาณยา

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำทางการแพทย์ การวินิจฉัยโรคหรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Magnesium hydroxide. https://www.drugs.com/cdi/magnesium-hydroxide.html. Accessed December 27, 2016

Magnesium hydroxide (OTC). http://reference.medscape.com/drug/milk-of-magnesia-magnesium-hydroxide-342018#6. Accessed December 27, 2016.

Magnesium Hydroxide. https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a601073.html

 

เวอร์ชันปัจจุบัน

11/05/2020

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Nattavara Pasathan


บทความที่เกี่ยวข้อง

แสบร้อนกลางอก สาเหตุ วิธีรักษาและป้องกัน

เรอบ่อย หลังกินอาหาร เพราะไม่ย่อยหรือเป็นกรดไหลย้อน


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา