backup og meta

คลอร์ซอกซาโซน (Chlorzoxazone)

คลอร์ซอกซาโซน (Chlorzoxazone)

ข้อบ่งใช้

ยา คลอร์ซอกซาโซน ใช้สำหรับ

ยาคลอร์ซอกซาโซน (Chlorzoxazone) ใช้เพื่อรักษาอาการกล้ามเนื้อกระตุกและอาการปวดกล้ามเนื้อ โดยปกติมักจะใช้ยานี้ร่วมกับการพักผ่อน กายภาพบำบัด และการรักษาอื่นๆ ยานี้ทำงานโดยการช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ

วิธีการใช้ยา คลอร์ซอกซาโซน

รับประทานยานี้พร้อมกับอาหาร หรือรับประทานแยกต่างหากตามที่แพทย์กำหนด โดยปกติ คือ วันละ 3 หรือ 4 ครั้ง

ขนาดยาขึ้นอยู่กับสภาวะทางการแพทย์และการตอบสนองต่อการรักษา อย่าเพิ่มขนาดยาหรือใช้ยาบ่อยกว่าที่กำหนด อาการของคุณจะไม่หายเร็วขึ้นและความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงอาจจะเพิ่มขึ้น

โปรดแจ้งให้แพทย์ทราบหากอาการของคุณไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง

การเก็บรักษายา คลอร์ซอกซาโซน

ยาคลอร์ซอกซาโซนควรเก็บที่อุณหภูมิห้อง หลีกเลี่ยงแสงหรือความชื้น เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวยาเกิดความเสียหาย ไม่ควรเก็บยานี้ในห้องน้ำหรือช่องแช่แข็ง ยาคลอร์ซอกซาโซนบางยี่ห้ออาจจะต้องเก็บรักษาแตกต่างกัน จึงควรตรวจสอบฉลากยาหรือสอบถามเภสัชกรเสมอ เพื่อความปลอดภัยโปรดเก็บยาให้ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ไม่ควรทิ้งยาคลอร์ซอกซาโซนลงในชักโครก หรือเทลงในท่อระบายน้ำ เว้นแต่ได้รับคำแนะนำให้ทำเช่นนั้น ควรกำจัดยาด้วยวิธีที่ถูก สอบถามเภสัชกรเพิ่มเติม เกี่ยวกับวิธีการกำจัดยาที่ถูกต้อง

ข้อควรระวังและคำเตือน

ข้อควรรู้ก่อนใช้ยา คลอร์ซอกซาโซน

  • ก่อนใช้ยาคลอร์ซอกซาโซน แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบหากคุณแพ้ต่อยานี้ หรือหากคุณเป็นโรคภูมิแพ้อื่นๆ ยานี้อาจมีส่วนประกอบไม่ออกฤทธิ์ที่ทำให้เกิดอาการแพ้หรือปัญหาอื่น โปรดปรึกษาเภสัชกรสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
  • ก่อนใช้ยานี้ แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบเกี่ยวกับประวัติทางการแพทย์ของคุณ โดยเฉพาะโรคตับ
  • ยานี้อาจทำให้เกิดอาการวิงเวียนหรือง่วงซึม อย่าขับรถ ใช้เครื่องจักร หรือทำกิจกรรมที่ต้องการความตื่นตัวจนกว่าคุณจะสามารถทำได้อย่างปลอดภัย และควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • แจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบเกี่ยวกับยาทั้งหมดที่คุณใช้ ทั้งยาตามใบสั่งยา ยาที่หาซื้อเอง และสมุนไพรต่างๆ
  • ผู้สูงอายุอาจจะมีปฏิกิริยาไวต่อผลข้างเคียงของยานี้ได้มากกว่า โดยเฉพาะอาการง่วงซึมหรือสับสน อาการเหล่านี้จะเพิ่มความเสี่ยงในการหกล้ม
  • ในช่วงขณะการตั้งครรภ์ควรใช้ยานี้เมื่อจำเป็นเท่านั้น โปรดปรึกษาความเสี่ยงและประโยชน์กับแพทย์
  • ยังไม่ทราบแน่ชัดว่ายานี้สามารถส่งผ่านเข้าสู่น้ำนมแม่ได้หรือไม่ โปรดปรึกษาแพทย์ก่อนให้นมบุตร

ความปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

ยังไม่มีงานวิจัยที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับความเสี่ยงในสตรีที่ใช้ยานี้ในช่วงการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อหาประโยชน์และความเสี่ยงก่อนการใช้ยา

ยาคลอร์ซอกซาโซนจัดอยู่ในประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อผู้ตั้งครรภ์ หมวด N โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA)

การจัดประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อผู้ตั้งครรภ์โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกามีดังนี้

  • A= ไม่มีความเสี่ยง
  • B= ไม่พบความเสี่ยงในการวิจัยบางชิ้น
  • C= อาจจะมีความเสี่ยง
  • D= มีหลักฐานแสดงถึงความเสี่ยง
  • X= ห้ามใช้
  • N= ไม่ทราบแน่ชัด

ผลข้างเคียง

ผลข้างเคียงของการใช้ยา คลอร์ซอกซาโซน

อาจเกิดอาการง่วงซึม วิงเวียน หน้ามืด เหนื่อยล้า ท้องไส้ปั่นป่วน หรือปวดหัว หากอาการเหล่านี้ไม่หายไปหรือรุนแรงขึ้นโปรดแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรในทันที

ในนานๆ ครั้งยานี้อาจจะทำให้ปัสสาวะเปลี่ยนเป็นสีส้มหรือสีแดงอมม่วง อาการนี้ไม่เป็นอันตรายและจะหายไปเมื่อหยุดใช้ยา

โปรดจำไว้ว่าการที่แพทย์ให้คุณใช้ยาตัวนี้ เนื่องจากคำนวณแล้วว่ายามีประโยชน์มากกว่าเป็นโทษ และคนที่ใช้ยานี้ส่วนใหญ่ไม่พบผลข้างเคียงที่ร้ายแรงใดๆ

แจ้งให้แพทย์ทราบในทันทีหากเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงดังต่อไปนี้ สับสน อุจจาระเป็นสีดำหรือเลือด อาเจียนคล้ายกากกาแฟ มีรอยช้ำหรือเลือดออกง่าย สัญญาณของการติดเชื้อ (เช่น เป็นไข้ เจ็บคอบ่อยครั้ง)

ในนานๆ ครั้งยานี้อาจจะทำให้เกิดโรคตับที่รุนแรง (อาจถึงแก่ชีวิต) หากคุณสังเกตเห็นผลข้างเคียงที่ไม่ค่อยจะเกิดขึ้นแต่รุนแรงมากเหล่านี้ ควรหยุดใช้ยาและติดต่อแพทย์หรือเภสัชกรในทันที อาการดวงตาหรือผิวหนังเป็นสีเหลือง ปัสสาวะสีคล้ำ

การแพ้ยาที่รุนแรงต่อยานี้ ค่อนข้างเกิดขึ้นได้ยาก แต่จำเป็นต้องได้รับการรักษาที่ทันท่วงที อาการของการแพ้รุนแรงมีดังนี้ ผดผื่น คันหรือบวม โดยเฉพาะบริเวณใบหน้า ลิ้น และลำคอ วิงเวียนขั้นรุนแรง หายใจติดขัด

ไม่ใช่ทุกคนจะเจอกับผลข้างเคียงเหล่านี้อาจจะมีอาการอย่างอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ถ้าคุณมีข้อสงสัยใดๆ เกี่ยวกับผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกร

ปฏิกิริยาของยา

ปฏิกิริยากับยาอื่น

แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบหากคุณใช้ยาอื่นที่อาจทำให้เกิดอาการง่วงซึม เช่น

  • ยาบรรเทาอาการปวด หรือลดไข้โอปิออยด์ (opioid) เช่น โคเดอีน (codeine) หรือไฮโดรโคโดน (hydrocodone)
  • แอลกอฮอล์
  • กัญชา
  • ยานอนหลับหรือยาสำหรับอาการวิตกกังวล เช่น อัลปราโซแลม (alprazolam) โลราเซแพม (lorazepam) หรือโซลพิเดม (zolpidem)
  • ยาคลายกล้ามเนื้อ เช่น คาริโซโพรดอล (carisoprodol) ไซโคลเบนซาพรีน (cyclobenzaprine) 
  • ยาต้านฮีสตามีน (antihistamines) เช่น เซทิริซีน (cetirizine) หรือ ไดเฟนไฮดรามีน (diphenhydramine)

ควรอ่านฉลากยาของยาที่คุณใช้ทั้งหมด เช่น ยาแก้แพ้หรือยาแก้ไอ แก้หวัด เนื่องจากยาเหล่านี้อาจมีส่วนประกอบที่ทำให้เกิดอาการง่วงซึมได้ โปรดสอบถามเภสัชกรสำหรับวิธีการใช้ยาเหล่านี้อย่างปลอดภัย

ยาคลอร์ซอกซาโซนอาจเกิดปฏิกิริยากับยาอื่นที่คุณกำลังใช้อยู่ ซึ่งอาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น

คุณควรจะบอกแพทย์หรือเภสัชกรของคุณว่า คุณกำลังใช้ยาอะไรอยู่บ้าง ทั้งยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่ซื้อได้เอง และสมุนไพรต่างๆ เพื่อความปลอดภัย โปรดอย่าเริ่ม หยุด หรือเปลี่ยนขนาดยาใดๆโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากแพทย์

ปฏิกิริยากับอาหารหรือแอลกอฮอล์

ยาคลอร์ซอกซาโซน อาจมีปฏิกิริยากับอาหารหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

ปฏิกิริยากับอาการโรคอื่น

ยาคลอร์ซอกซาโซนอาจส่งผลให้อาการโรคของคุณแย่ลง หรือส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา โปรดแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบถึงสภาวะโรคของคุณก่อนใช้ยาเสมอ

ขนาดยา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

ขนาดยาคลอร์ซอกซาโซนสำหรับผู้ใหญ่

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาอาการกล้ามเนื้อกระตุก

250 ถึง 750 มก. รับประทานวันละ 3 ถึง 4 ครั้ง

อาจต้องลดขนาดยาลงมาเมื่อผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น

การปรับขนาดยาสำหรับไต

ไม่มีการปรับขนาดยาที่แนะนำ

การปรับขนาดยาสำหรับตับ

ห้ามใช้ยาคลอร์ซอกซาโซนในผู้ป่วยที่มีภาวะตับวาย

ข้อควรระวัง

หากพบสัญญาณหรืออาการของภาวะตับวาย ควรหยุดใช้ยา

ในนานๆ ครั้งจะมีรายงานพบความเป็นพิษต่อตับที่รุนแรงและถึงแก่ชีวิต ในผู้ป่วยที่ใช้ยาคลอร์ซอกซาโซน ผู้ป่วยควรได้รับคำแนะนำให้แจ้งแพทย์ทราบในทันทีหากมีสัญญาณ หรือ อาการของความเป็นพิษต่อตับ เช่น เป็นไข้ ผดผื่น โรคอะนอเร็กเซีย (anorexia) คลื่นไส้ อาเจียน เหนื่อยล้า ปวดท้องส่วนบนขวา ปัสสาวะสีคล้ำ หรือดีซ่าน

ขนาดยาคลอร์ซอกซาโซนสำหรับเด็ก

ขนาดยาสำหรับเด็กเพื่อรักษาอาการกล้ามเนื้อกระตุก

125 ถึง 500 มก. รับประทานวันละ 3 ถึง 4 ครั้ง

ขนาดยาอีกทางเลือกหนึ่งคือ 20 มก./กก./วัน แบ่งรับประทานวันละ 3 ถึง 4 ครั้ง

รูปแบบของยา

ขนาดและรูปแบบของยามีดังนี้

  • ยาเม็ด

กรณีฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด

หากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด ควรแจ้งเหตุฉุกเฉินหรือนำส่งห้องฉุกเฉินใกล้บ้านโดยทันที

กรณีลืมใช้ยา

หากคุณลืมใช้ยาควรรีบใช้ในทันทีที่นึกได้ หรือถ้าหากใกล้ถึงเวลาใช้ยาครั้งต่อไป ให้ข้ามรอบไปใช้ยาตามตารางปกติได้เลย ไม่ควรเพิ่มปริมาณยา

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำทางการแพทย์ การวินิจฉัยโรคหรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Chlorzoxazone. https://www.webmd.com/drugs/2/drug-10950/chlorzoxazone-oral/details. Accessed January 15, 2018.

Chlorzoxazone Dosage. https://www.drugs.com/dosage/chlorzoxazone.html. Accessed January 15, 2018.

Chlorzoxazone https://www.drugbank.ca/drugs/DB00356

 

เวอร์ชันปัจจุบัน

11/05/2020

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Nattavara Pasathan


บทความที่เกี่ยวข้อง

กล้ามเนื้อกระตุก อาการ สาเหตุ วิธีรักษาและป้องกัน

จัดการกับอาการ ปวดกล้ามเนื้อหลังออกกำลังกาย ให้ได้ผล


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา