ข้อบ่งใช้
ยา ซูมาทริปแทน ใช้สำหรับ
ยา ซูมาทริปแทน (Sumatriptan) ใช้เพื่อรักษาโรคปวดศีรษะไมเกรน โดยการช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะ และอาการไมเกรนอื่นๆ เช่น เวียนศีรษะ อาเจียน อาการตอบสนองต่อแสงและเสียงไว การรักษาอย่างทันท่วงทีจะช่วยให้คุณกลับคืนสู่กิจวัตรปกติ และอาจลดความต้องการใช้ยาแก้ปวดอื่นๆ ได้
ยาซูมาทริปแทน จัดอยู่ในตระกูลยาที่เรียกว่า “ทริปแทน’ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเซโรโทนิน (serotonin) ที่จะทำให้เส้นเลือดในสมองหดตัว ยาตัวนี้อาจบรรเทาอาการเจ็บ ด้วยการส่งผลกระทบต่อเส้นประสาทในสมองบางชนิด
ยาซูมาทริปแทนไม่ได้ป้องกันการเกิดไมเกรนล่วงหน้า หรือไม่ได้ช่วยลดความถี่ของการเกิดไมเกรน
วิธีใช้ยา ซูมาทริปแทน
รับประทานยาซูมาทริปแทนพร้อมอาหาร หรือแยกต่างหาก ตามที่แพทย์สั่ง เมื่อเกิดสัญญาณแรกของไมเกรน ขนาดยาขึ้นอยู่กับอาการทางการแพทย์ อายุ และการตอบสนองต่อการรักษา
หากอาการของคุณยังไม่ดีขึ้น อย่าเพิ่มขนาดยาเองโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากแพทย์ หากอาการบรรเทาเพียงบางส่วน หรือหากอาการปวดศีรษะกลับมา คุณอาจต้องรับประทานยารอบที่สองหลังผ่านไป 2 ชั่วโมง แต่ห้ามรับประทานยามากกว่า 200 มิลลิกรัมในช่วง 24 ชั่วโมง
ยาซูมาทริปแทนอาจถูกใช้เป็นตัวช่วยสำหรับการฉีดยาซูมาทริปแทน หากอาการของคุณบรรเทาเพียงบางส่วน หรือหากอาการปวดศีรษะของคุณกลับมา หลังฉีดยาซูมาทริปแทนได้ 2 ชั่วโมง คุณอาจต้องรับประทานยาซูมาทริปแทน ในระดับสูงสุดที่ 100 มิลลิกรัมในช่วง 24 ชั่วโมง
หากคุณมีความเสี่ยงสูงในการเป็นโรคหัวใจ แพทย์อาจตรวจหัวใจก่อนให้คุณรับประทานยาซูมาทริปแทน และอาจสั่งให้คุณรับประทานยาครั้งแรกในโรงพยาบาล เพื่อสังเกตผลข้างเคียงรุนแรง เช่น อาการเจ็บหน้าอก โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติม
หากในแต่ละเดือน คุณรับประทานยาแก้ปวดไมเกรนเกิน 10 วัน ตัวยาอาจทำให้อาการปวดศีรษะของคุณทรุดลง เนื่องจากใช้ยาเกินขนาด ดังนั้น อย่าใช้ยาในปริมาณสูงกว่า บ่อยกว่า หรือนานกว่าที่แพทย์กำหนด โปรดแจ้งให้แพทย์ทราบ หากคุณจำเป็นต้องใช้ยานี้บ่อยขึ้น หรือหากยาทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ หรืออาการปวดศีรษะของคุณแย่ลง
การเก็บรักษายาซูมาทริปแทน
ควรเก็บรักษายาซูมาทริปแทนที่อุณหภูมิห้อง ให้พ้นแสงและความชื้น เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวยาเสื่อมสภาพ ไม่ควรเก็บยานี้ในห้องน้ำหรือช่องแช่แข็ง ยาซูมาทริปแทนบางยี่ห้ออาจมีวิธีเก็บรักษาแตกต่างกัน จึงควรอ่านคำแนะนำบนบรรจุภัณฑ์หรือสอบถามเภสัชกรเสมอ และโปรดเก็บยาให้พ้นจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยงเพื่อความปลอดภัย
ไม่ควรทิ้งยาซูมาทริปแทนลงในชักโครก หรือเทยาลงในท่อระบายน้ำ เว้นแต่จะได้รับคำแนะนำให้ทำเช่นนั้น หากยาหมดอายุ หรือไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยา ควรกำจัดยาด้วยวิธีที่ถูกต้อง โดยสามารถสอบถามข้อมูลวิธีกำจัดยาที่ถูกต้องได้จากเภสัชกร
ข้อควรระวังและคำเตือน
ข้อควรรู้ก่อนใช้ยาซูมาทริปแทน
ก่อนใช้ยาซูมาทริปแทน โปรดแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบ หาก
- คุณแพ้ยาซูมาทริปแทน แพ้ต่อยาอื่น หรือมีอาการแพ้อื่นๆ รวมถึงการแพ้ส่วนผสมไม่ออกฤทธิ์ของยาซูมาทริปแทน โปรดสอบถามเภสัชกรสำหรับรายชื่อส่วนผสมที่ไม่ออกฤทธิ์ และข้อมูลเพิ่มเติม
- หากคุณกำลังใช้ยาอื่นอยู่ หรือมีแผนจะใช้ยาอื่น เช่น ยาคีโตโปรเฟนตามใบสั่งแพทย์หรือหาซื้อเอง วิตามิน อาหารเสริม สมุนไพร รวมถึงกัญชา
- หากคุณเป็นหรือเคยเป็นโรคใดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
- ปัญหาระบบไหลเวียนโลหิตที่ขา แขน มือ หรือท้อง
- อาการปวดศีรษะบางประเภท เช่น อัมพาตครึ่งซีก (hemiplegic) หรือไมเกรนท้ายทอย (basilar migraine)
- ปัญหาสุขภาพหัวใจ เช่น เจ็บหน้าอก อัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติ โรคหัวใจ
- โรคตับ
- อาการชัก
- โรคหลอดเลือดสมอง หรือเส้นเลือดสมองตีบชั่วคราว (transient ischemic attack)
อาการบางอย่างสามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจได้ โปรดแจ้งให้แพทย์ทราบ หากมีอาการความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง เบาหวาน ประวัติโรคหัวใจของครอบครัว น้ำหนักเกิน สูบบุหรี่ วัยทอง ผู้ชายที่อายุมากกว่า 40 ปี
ความเสี่ยงของโรคหัวใจ โรคตับและความดันโลหิตสูง เพิ่มขึ้นตามอายุ ผู้สูงอายุ อาจมีการตอบสนองต่อผลข้างเคียงไวต่อยาตัวนี้ โดยเฉพาะความดันโลหิตเพิ่มขึ้นและปัญหาหัวใจ
ยาตัวนี้อาจทำให้คุณเวียนหัวหรือง่วงซึมได้ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือกัญชา สามารถทำให้คุณเวียนหัวหรือง่วงซึมได้มากขึ้น อย่าขับรถ อย่าใช้เครื่องจักร หรืออย่าทำอะไรที่จำเป็นต้องตื่นตัวตลอดเวลา จนกว่าคุณจะทำสิ่งเหล่านี้ได้อย่างปลอดภัย และโปรดจำกัดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
หากอยู่ในช่วงตั้งครรภ์ ควรใช้ยานี้ตามแพทย์สั่งภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น และโปรดปรึกษาแพทย์ถึงประโยชน์และความเสี่ยงของใช้ยา
ยังไม่ทราบแน่ชัดว่ายาซูมาทริปแทนสามารถผ่านเข้าสู่น้ำนมหรือไม่ หากใช้ยานี้ โปรดปรึกษาแพทย์ก่อนให้นมบุตร
ความปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
ยังไม่มีงานวิจัยที่น่าเชื่อถือ เกี่ยวกับความเสี่ยงในสตรีที่ใช้ยานี้ ในช่วงการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อหาประโยชน์และความเสี่ยงก่อนการใช้ยานี้
ยาซูมาทริปแทนจัดอยู่ในประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อสตรีมีครรภ์ ประเภท C โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA)
การจัดประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อสตรีมีครรภ์โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกามีดังนี้
- A = ไม่มีความเสี่ยง
- B = ไม่พบความเสี่ยงในการวิจัยบางชิ้น
- C = อาจจะมีความเสี่ยง
- D = มีหลักฐานแสดงถึงความเสี่ยง
- X = ห้ามใช้
- N = ไม่ทราบแน่ชัด
ผลข้างเคียง
ผลข้างเคียงของการใช้ยาซูมาทริปแทน
อาจมีอาการทางผิวหนัง เช่น รอยแดง รู้สึกชา ไร้ความรู้สึก มีผดผื่น รู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนแรง ง่วงนอน และเวียนศีรษะ โปรดแจ้งให้แพทย์ทราบทันที หากอาการใดๆ เหล่านี้เกิดขึ้นต่อเนื่องหรือแย่ลง
โปรดจำไว้ว่า แพทย์สั่งจ่ายยาตัวนี้ให้คุณ เนื่องจากพิจารณาแล้วว่า มีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียง และคนส่วนใหญ่ที่ใช้ยาตัวนี้ไม่เกิดผลข้างเคียงรุนแรงใดๆ
ยาตัวนี้อาจเพิ่มความดันโลหิตของคุณได้ จึงตรวจความดันโลหิต และแจ้งให้แพทย์ทราบ หากมีค่าความดันโลหิตสูง
แจ้งให้แพทย์ทราบทันที หากคุณมีผลข้างเคียงรุนแรงอื่นๆ ได้แก่
- นิ้วมือ นิ้วเท้า หรือเล็บม่วง
- อาการเย็นที่มือและเท้า
- การได้ยินเปลี่ยนแปลง
- จิตใจและอารมณ์เปลี่ยนแปลง
ยาซูมาทริปแทนสามารถทำให้เกิดอาการเจ็บ ตึงหรือแน่นที่หน้าอก ขากรรไกร หรือคอได้ แต่ส่วนใหญ่มักไม่ร้ายแรง
อย่างไรก็ตาม ผลข้างเคียงเหล่านี้คล้ายกับอาการของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือที่เรียกกันว่าโรคหัวใจวาย ดังนั้นหากเจ็บหน้าอก เจ็บขากรรไกรหรือแขนซ้าย หายใจถี่ หรือเหงื่อออกผิดปกติ ควรเข้ารับการรักษาพยาบาลทันที
หากเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงมากเหล่านี้ ควรเข้ารับการรักษาพยาบาลทันที
- อัตราการเต้นของหัวใจเร็วและผิดปกติ
- เป็นลม
- เจ็บกระเพาะอาหาร หรือปวดท้องรุนแรง
- ท้องร่วงเป็นเลือด
- มีอาการชัก
- มีสัญญาณของเส้นเลือดในสมองแตก เช่น ร่างกายซีกใดซีกหนึ่งอ่อนแรง มีปัญหาการพูด การมองเห็นเปลี่ยนแปลงฉับพลัน มีอาการสับสน
ยาตัวนี้อาจเพิ่มระดับเซโรโทนิน และอาจทำให้เกิดอาการรุนแรงที่เรียกว่า กลุ่มอาการเซโรโทนิน หรือเซโรโทนิน ซินโดรม (serotonin syndrome) ความเสี่ยงของอาการนี้อาจเพิ่มขึ้น หากคุณรับประทานยาตัวอื่นที่เพิ่มระดับเซโรโทนิน ดังนั้น โปรดแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรของคุณด้วยว่าคุณรับประทานยาอะไรอยู่บ้าง และต้องเข้ารับความช่วยเหลือทางการแพทย์ทันที หากเกิดอาการใดๆ ต่อไปนี้
- อัตราการเต้นรัวของหัวใจผิดปกติ
- เห็นภาพหลอน
- ร่างกายสูญเสียการประสานงาน
- ง่วงนอนอย่างรุนแรง
- เวียนศีรษะ
- อาเจียนหรือท้องร่วงอย่างรุนแรง
- กล้ามเนื้อกระตุก
- เป็นไข้หวัดที่หาสาเหตุไม่ได้
- กระสับกระส่ายผิดปกติ
ปฏิกิริยาแพ้รุนแรงต่อยาชนิดนี้เป็นเรื่องที่พบได้ยาก อย่างไรก็ตาม ควรเข้ารับการดูแลทางการแพทย์ทันที หากมีอาการแพ้ขั้นรุนแรง ได้แก่ เวียนศีรษะอย่างรุนแรง ปัญหาการหายใจ ผื่น อาการคันหรือบวม โดยเฉพาะ หน้า ลิ้น คอ
ผลข้างเคียงที่กล่าวมาข้างต้น อาจไม่ได้เกิดกับทุกคน หรือบางคนอาจมีอาการอื่นนอกเหนือจากนี้ หากคุณมีข้อสงสัยใดๆ เกี่ยวกับผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกร
ปฏิกิริยาของยา
ปฏิกิริยากับยาอื่น
ยาซูมาทริปแทนอาจเกิดปฏิกิริยากับยาอื่นที่คุณกำลังใช้อยู่ ซึ่งอาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น คุณควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรด้วยว่า คุณกำลังใช้ยาอะไรอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่ซื้อได้เอง สมุนไพร เป็นต้น และเพื่อความปลอดภัย คุณไม่ควรเริ่ม หยุด หรือเปลี่ยนขนาดยาเองโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากแพทย์
การรับประทานยาตัวนี้ร่วมกับยาต้านซึมเศร้า (MAO inhibitors) อาจก่อให้เกิดการทำปฏิกิริยารุนแรงของยาที่อาจถึงแก่ชีวิต ฉะนั้น อย่ารับประทานยาต้านซึมเศร้าดังต่อไปนี้ ร่วมกับยาซูมาทริปแทน และควรหยุดใช้ยาซึมเศร้าอื่นๆ อย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนเริ่มการรักษาด้วยยาซูมาทริปแทน แต่ห้ามหยุดกินยาเอง ควรปรึกษาแพทย์ก่อน
- ยาไอโซคาร์บอกซาซิด (isocarboxazid) ยาไลเนโซลิด (linezolid) ยาเมทีลีน บลู (methylene blue)
- ยาโมโคลเบไมด์ (moclobemide) ยาฟีเนลไซน์ (phenelzine) ยาโพรคาร์บาไซน์ (procarbazine)
- ยาราซาจิไลน์ (rasagiline) ยาเซฟินาไมด์ (safinamide) ยาเซเรกลีไลน์ (selegiline) ยาทรานิลไซโพรไมน์ (tranylcypromine)
ความเสี่ยงของการเกิดกลุ่มอาการเซโรโทนินจะเพิ่มขึ้น หากคุณรับประทานยาตัวอื่นที่ไปเพิ่มเซโรโทนินด้วยเช่นกัน เช่น
- ยาเสพติด เช่น ยาอี (MDMA)
- สมุนไพรเซนต์จอห์นเวิร์ต (St. John’s wort)
- ยาต้านซึมเศร้ากลุ่ม SSRIs เช่น ยาฟลูออกเซติน (fluoxetine) ยาพารอกเซติน (paroxetine)
- ยาต้านซึมเศร้าที่ยายับยั้งเซโรโทนินและนอร์อิพิเนฟริน (norepinephrine) กลับเข้าสู่ร่างกาย (กลุ่ม SNRIs) เช่น ยาดูโลเซติน (duloxetine) ยาเวนลาฟาซีน (venlafaxine)
หากคุณรับประทานยาแก้ปวดไมเกรนเออร์โกตามีน (ergotamine) เช่น ยาไดไฮโดรเออร์โกตามีน (dihydroergotamine) หรือยาตระกูล “ทริปแทน’ อื่นๆ เช่น ยาโซลมิทริปแทน (zolmitriptan) ยาไรซาทริปแทน (rizatriptan) คุณจำเป็นต้องเว้นระยะในการรับประทานยายาซูมาทริปแทน ให้ห่างจากการรับประทานยาเหล่านี้ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงรุนแรง โปรดสอบถามแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
ปฎิกิริยาต่ออาหารหรือแอลกอฮอล์
ยาซูมาทริปแทนอาจมีปฏิกิริยากับอาหารหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
ปฏิกิริยาต่ออาการโรคอื่น
ยาซูมาทริปแทนอาจส่งผลให้อาการโรคของคุณแย่ลง หรือส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา โปรดแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบถึงสภาวะโรคของคุณก่อนใช้ยาเสมอ
ขนาดยา
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม
ขนาดยาซูมาทริปแทนสำหรับผู้ใหญ่
ขนาดยาโดยทั่วไปสำหรับผู้ใหญ่ที่เป็นไมเกรน
ใช้เมื่อถูกวินิจฉัยชัดเจนว่าเป็นไมเกรนแล้วเท่านั้น
ชนิดรับประทาน
ขนาดยาเริ่มต้น : รับประทานยา 1 ครั้ง ในขนาดยา 25 มก. หรือ 50 มก. หรือ 100 มก.
- หากมีการตอบสนองต่อยาแล้ว อาจรับประทานยาเพิ่มได้หากจำเป็น แต่ต้องหลังจากรับประทานยารอบแรกแล้วอย่างน้อย 2 ชั่วโมง
- ยารับประทานขนาด 50 มก. และ 100 มก. อาจบรรเทาอาการได้ดีกว่าขนาด 25 มก. อย่างไรก็ตาม ขนาดยา 100 มก. อาจไม่ได้ให้ผลการรักษาดีกว่าขนาดยา 50 มก.
ขนาดยาสูงสุด : 200 มก. ใน 24 ชั่วโมง
ทางผิวหนัง
ขนาดยาเริ่มต้น : ให้ยาทางผิวหนัง 1 ครั้ง ในขนาดยา 1- 6 มิลลิกรัม
- หากมีการตอบสนองต่อยาแล้ว อาจให้ยาเพิ่มได้หากจำเป็น แต่ต้องหลังจากให้ยารอบแรกแล้วอย่างน้อย 1 ชั่วโมง
ขนาดยาสูงสุด : 12 มก. ใน 24 ชั่วโมง
ให้ทางจมูก
ยาพ่นจมูก :
- ขนาดยาเริ่มต้น คือ พ่นยาเข้ารูจมูกข้างละ 1 ครั้ง ในขนาดยา 5 มก. หรือ 10 มก. หรือ 20 มก.
- หากมีการตอบสนองต่อยาแล้ว อาจให้ยาเพิ่มได้หากจำเป็น แต่ต้องหลังจากให้ยารอบแรกแล้วอย่างน้อย 2 ชั่วโมง
- ขนาดยาสูงสุด คือ 40 มก. ใน 24 ชั่วโมง
ยาพ่นจมูกในรูปแคปซูล หรือรูปแบบผง :
- ขนาดยาเริ่มต้น คือ พ่นยาเข้ารูจมูกข้างละ 1 ครั้ง ในขนาดยา 11 มก. ผ่านอุปกรณ์พ่นชนิดพิเศษ หรือ Xsail (R) breath-powered delivery device
- หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 ชั่วโมง หรือดีขึ้นเพียงชั่วคราวแล้วกลับมามีอาการอีกครั้ง สามารถให้ยารอบสองได้ แต่ต้องห่างจากการให้ยารอบแรกอย่างน้อย 2 ชั่วโมง
- ขนาดยาสูงสุด คือ 2 รอบ (44 มิลลิกรัม) ใน 24 ชั่วโมง
คำแนะนำ
- ควรเริ่มรักษาตั้งแต่เกิดสัญญาณแรกของโรคไมเกรน หรืออาการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน หรือโรคตาไม่สู้แสง (photophobia)
- ยาตัวนี้ไม่ควรนำมาใช้ป้องกันโรคไมเกรน
- ขนาดยาที่เพิ่มขึ้น อาจมอบผลลัพธ์ที่ดีขึ้น แต่ก็เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงมากขึ้นด้วย
- ยังไม่มีผลยืนยันที่ชัดเจนว่า การรักษาอาการปวดศีรษะไมเกรนที่เกิดมากกว่า 4 ครั้งขึ้นไปในระยะเวลา 30 วัน ด้วยยาซูมาทริปแทนนั้นปลอดภัย
ขนาดยาโดยทั่วไปสำหรับผู้ใหญ่ที่เป็นโรคปวดศีรษะเป็นชุดๆ หรือปปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ (Cluster Headache)
การฉีดยาใต้ผิวหนัง
- ขนาดยาเริ่มต้น : ฉีดยาเข้าใต้ผิวหนัง 1 ครั้ง ในขนาดยา 6 มก.
- หากอาการเกิดขึ้นซ้ำ อาจต้องให้ยารอบสอง แต่ควรรออย่างน้อย 1 ชั่วโมงหลังให้ยารอบแรก
- ขนาดยาสูงสุด : 12 มก. ใน 24 ชั่วโมง
คำแนะนำ
- ควรเริ่มการรักษาหากเกิดสัญญาณแรกของโรคปวดศีรษะเป็นชุดๆ หรืออาการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน หรือโรคตาไม่สู้แสง ยาตัวนี้ไม่ควรนำมาใช้ป้องกันโรคใดๆ
- ยังไม่มีผลยืนยันที่ชัดเจนว่า การรักษาอาการปวดศีรษะเป็นชุดๆ ที่เกิดมากกว่า 4 ครั้งขึ้นไปในระยะเวลา 30 วัน ด้วยยาซูมาทริปแทนนั้นปลอดภัย
การปรับขนาดยาสำหรับผู้ป่วยโรคตับ
ความผิดปกติทางตับระดับเบาจนถึงปานกลาง :
- ยาเม็ดสำหรับรับประทาน : ขนาดยาสูงสุดใน 1 เม็ด ไม่ควรเกิน 50 มก.
- สเปรย์พ่นจมูก : โปรดปรึกษาแพทย์
- การฉีดยาใต้ผิวหนัง : ไม่แนะนำ
ความผิดปกติทางตับอย่างรุนแรง :
- ห้ามใช้
การปรับขนาดยาสำหรับผู้สูงอายุ
- ควรระมัดระวังในการเลือกขนาดยาสำหรับผู้สูงอายุ ขนาดยาสำหรับผู้สูงอายุควรเริ่มในระดับต่ำสุด เนื่องจากความบกพร่องทางตับ ไต และหลอดเลือดอาจมีมากขึ้น
ความเห็นอื่นๆ
คำแนะนำในการจัดการยา
ยาเม็ดสำหรับรับประทาน: กลืนยาทั้งเม็ดตามด้วยน้ำหรือของเหลวอื่นๆ
สเปรย์พ่นจมูก : พ่นเข้าจมูก 10 มก. และอาจเพิ่มได้ข้างละ 5 มก.
ยาพ่นจมูกในรูปแคปซูล หรือผง : ให้ยาโดยใช้อุปกรณ์ส่งผงแป้งชนิดพิเศษ หรือ Xsail (R) breath-powered delivery device (ดูหัวข้อ การใช้อุปกรณ์พ่นจมูกชนิดพิเศษ หรือ Xsail (R) Breath-Powered Delivery)
การฉีดยาใต้ผิวหนัง : สำหรับใต้ผิวหนังเท่านั้น ไม่ฉีดในกล้ามเนื้อหรือหลอดเลือดดำ
บริเวณที่เหมาะสมแก่การให้ยา คือบริเวณเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังต้นขาด้านข้าง หรือเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังที่อยู่ใต้กล้ามเนื้อเดลทอยด์
ระบบฉีดยาอัตโนมัติ เป็นทางเลือกสำหรับการรักษาด้วยตัวเอง
การใช้ยาโดยไม่ใช้เข็ม (Sumavel DosePro[R]) ควรให้บริเวณช่องท้อง ห่างจากสะดือหรือต้นขาอย่างน้อย 2 นิ้ว อย่าให้ที่แขน
การใช้อุปกรณ์พ่นจมูกชนิดพิเศษ หรือ Xsail (R) Breath-Powered Delivery
- ถอดฝาครอบอุปกรณ์ออก ถอด nosepiece ออกจากบรรจุภัณฑ์ แล้วใส่ลงไปในอุปกรณ์จนกระทั่งได้ยินเสียงคลิก กดเต็มแรง และปล่อยปุ่มสีขาวเพื่อเจาะแคปซูล
- ใส่ nosepiece เข้าไปในรูจมูกข้างหนึ่งให้ลึกๆ พร้อมหมุนอุปกรณ์เพื่อใส่ mouthpiece ในปาก เป่าแรงๆ 2-3 วินาที เพื่อให้แป้งเข้าไปในโพรงจมูก คุณอาจรู้สึกถึงการสั่นสะเทือน เช่น เสียงรัว ซึ่งเป็นสัญญาณว่า ผู้ป่วยเป่าลมได้แรงพอตามที่หมอสั่ง
- เมื่อใช้ nosepiece ชิ้นแรกไปแล้ว ให้กดแท็บแรงๆ แล้วเอา nosepiece อันแรกออก ตรวจดูด้วยว่ายาออกจากแคปซูลหรือเปล่า (หากมีเศษสีขาวบางๆ ถือเป็นเรื่องปกติ) หากยาออกจากแคปซูลเรียบร้อย ให้ทิ้ง nosepiece ที่ใช้แล้ว
- ทำซ้ำกับจมูกอีกข้าง
ทั่วไป
- ผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด ที่มีผลตรวจเลือดและการไหลเวียนโลหิตไม่ดี ควรใช้ยานี้ครั้งแรก ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
- ไม่ควรใช้ยาตัวนี้เพื่อป้องกันโรค
- หากผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษา ควรพิจารณาการวินิจฉัยอาการใหม่
- ผู้ป่วยทุกคนควรได้รับคำแนะนำวิธีการใช้และการทิ้งยาอย่างเหมาะสม
การสังเกตอาการทั่วไป
- หลอดเลือดและหัวใจ : สัญญาณหรืออาการมีความเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจขาดเลือด
- ระบบทางเดินอาหาร : เจ็บท้องน้อยและท้องร่วงเป็นเลือด
- เฉพาะจุด : การตอบสนองของบริเวณที่ฉีดยา (การฉีดยาใต้ผิวหนัง)
- ระบบประสาท : โรคปวดศีรษะไมเกรน (Atypical headache) ปวดศีรษะจากการใช้ยาเกินขนาด สัญญาณหรืออาการของหลอดเลือดสมอง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง กลุ่มอาการเซโรโทนิน
คำแนะนำสำหรับผู้ป่วย
- รับประทานยาตัวนี้ให้เร็วที่สุด หากมีอาการไมเกรนก่อตัวขึ้นหรือโรคปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ หรือมีอาการที่เกี่ยวข้อง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน หรือตาไม่สู้แสง
- หากอาการของคุณไม่ดีขึ้นหลังจากได้รับยารอบแรก อย่าเพิ่งรับยารอบที่สอง โดยไม่ปรึกษาแพทย์
- การใช้ยาตัวนี้เป็นเวลา 10 วันขึ้นไปต่อเดือน อาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะรุนแรง แนะนำให้บันทึกอาการปวดศีรษะของคุณเพื่อดูว่าคุณมีอาการปวดศีรษะบ่อยแค่ไหน และเมื่อไหร่ที่คุณต้องรับประทานยา
- ปฏิบัติตามเอกสารแนะนำสำหรับการใช้สเปรย์พ่นจมูกอย่างถูกต้อง วิธีใช้ผงยาเป่าเข้าจมูกด้วยอุปกรณ์นำส่งยาชนิดพิเศษ การฉีดยาใต้ผิวหนังหรืออุปกรณ์ฉีดยาอัตโนมัติ และการทิ้งยาหลังการใช้อย่างปลอดภัย
- อาการง่วงซึมอาจเกิดขึ้นในระหว่างที่เกิดไมเกรนหรือระหว่างการรักษาด้วยยาตัวนี้ ฉะนั้น อย่าขับรถหรือใช้เครื่องจักรจนกว่าคุณจะรู้ว่ายาตัวนี้ส่งผลกับคุณอย่างไร
ขนาดยาซูมาทริปแทนสำหรับเด็ก
ยังไม่มีการพิสูจน์ความความปลอดภัยและประสิทธิภาพของขนาดยานี้สำหรับผู้ป่วยเด็ก ยานี้อาจเป็นอันตรายต่อเด็กได้ ดังนั้น จึงควรทำความเข้าใจกับความปลอดภัยของยาก่อนการใช้ยา สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมโปรดติดต่อกับแพทย์หรือเภสัชกร
รูปแบบยา
รูปแบบของยามีดังนี้
- ยาเม็ดสำหรับรับประทาน
- ยาฉีดใต้ผิวหนัง
- อุปกรณ์สำหรับฉีดใต้ผิวหนัง
- สเปรย์พ่นจมูก
- แผ่นแปะผิวหนังประเภทออกฤทธิ์นาน
- ยาพ่นจมูกในรูปแคปซูล (Nasal capsule)
กรณีฉุกเฉินหรือการใช้ยาเกินขนาด
หากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด ควรแจ้งเหตุฉุกเฉินหรือนำส่งห้องฉุกเฉินใกล้บ้านโดยทันที
กรณีลืมใช้ยา
หากคุณลืมใช้ยาควรรีบใช้ทันทีที่นึกได้ หรือถ้าหากใกล้ถึงเวลาใช้ยาครั้งต่อไป ให้ข้ามรอบไปใช้ยาตามตารางปกติ ไม่ควรเพิ่มขนาดยาเป็นสองเท่า
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำทางการแพทย์ การวินิจฉัยโรคหรือการรักษาโรคแต่อย่างใด
[embed-health-tool-bmi]