backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ

1

ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

Atenolol ยา ข้อบ่งใช้ และผลข้างเคียง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย เภสัชกรพิมพ์จิต วัฒนชโนบล


เขียนโดย ฤทธิศักดิ์ วงศ์วุฒิพงษ์ · แก้ไขล่าสุด 10/10/2023

Atenolol ยา ข้อบ่งใช้ และผลข้างเคียง

Atenolol ยา ที่ใช้รักษาความดันโลหิตสูง (hypertension) การลดความดันโลหิตสูงช่วยป้องกันเส้นเลือดในสมองแตก หัวใจวายและปัญหาเกี่ยวกับไต

ข้อบ่งใช้

Atenolol ยา ใช้สำหรับ

Atenolol มักใช้รักษาความดันโลหิตสูง (hypertension) การลดความดันโลหิตสูงช่วยป้องกันเส้นเลือดในสมองแตก หัวใจวายและปัญหาเกี่ยวกับไต ยาชนิดนี้ยังใช้สำหรับรักษาอาการเจ็บหน้าอก (angina) และเพิ่มการรอดชีวิตจากหัวใจวาย

ยาอะทีโนลอลจัดอยู่ในกลุ่มยาที่รู้จักในชื่อเบต้าบล็อคเกอร์ (beta blockers) ออกฤทธิ์โดยการยับยั้งการทำงานต่อหัวใจและหลอดเลือดของสารเคมีในร่างกาย เช่น เอพิเนฟริน โดยลดอัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต และความตึงเครียดจากการทำงานหนักของหัวใจ

ยาชนิดนี้ยังใช้ในรักษาอาการหัวใจเต้นผิดปกติ หัวใจล้มเหลว กลุ่มอาการถอนสุรา และป้องกันอาการปวดหัวไมเกรนอีกด้วย

วิธีการใช้ยาอะทีโนลอล

รับประทานยานี้ พร้อมมื้ออาหารหรือขณะท้องว่าง ตามคำแนะนำของแพทย์ วันละ 1-2 ครั้ง

น้ำแอปเปิ้ลและน้ำส้มอาจขัดขวางการดูดซึมยาเข้าสู่ร่างกาย ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำแอปเปิ้ลและน้ำส้มภายใน 4 ชั่วโมงของการใช้ยา

ขนาดยาที่ใช้ขึ้นอยู่กับสภาวะของสุขภาพและการตอบสนองการรักษา

ควรใช้ยานี้อย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุด เพื่อให้คุณไม่ลืมใช้ยา ควรใช้ยาเวลาเดียวกันทุกๆ วัน และควรใช้ยาต่อเนื่อง แม้ว่าคุณจะรู้สึกดีขึ้นแล้วก็ตาม หลายคนที่มีความดันโลหิตสูงแต่อาจไม่รู้สึกว่าเจ็บป่วย

หากใช้ยานี้สำหรับอาการเจ็บหน้าอก ควรใช้ยาอย่างสม่ำเสมอเพื่อการรักษาที่ได้ผล ไม่ควรใช้ยาเฉพาะเวลาที่อาการเจ็บหน้าอกเกิดขึ้นเท่านั้น ควรใช้ยาอื่น เช่น ไนโตรกลีเซอริน (nitroglycerin) อมใต้ลิ้น เพื่อบรรเทาอาการเจ็บหน้าอกตามคำแนะนำของแพทย์

อาจใช้เวลา 1 ถึง 2 สัปดาห์ จนกว่าจะเห็นผลเต็มที่จากการใช้ยา หากอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง (เช่น หากความดันโลหิตยังสูงหรือเพิ่มขึ้น หรือหากอาการเจ็บหน้าอกเกิดบ่อยขึ้น) ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบ

การเก็บรักษายาอะทีโนลอล

ควรเก็บรักษายาอะทีโนลอลในอุณหภูมิห้อง รวมถึงเก็บให้พ้นจากแสงและความชื้น เพื่อป้องกันยาเสื่อมสภาพ คุณไม่ควรเก็บไว้ในห้องน้ำหรือตู้เย็น ยาอะทีโนลอลมีหลายยี่ห้อ แต่ละยี่ห้ออาจมีวิธีเก็บแตกต่างกันไป สิ่งสำคัญคือการอ่านคำแนะนำการเก็บรักษายาบนบรรจุภัณฑ์หรือถามเภสัชกร เพื่อความปลอดภัย คุณควรเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

คุณไม่ควรทิ้งยาอะทีโนลอลลงในชักโครก หรือในท่อระบายน้ำ เว้นแต่คุณได้รับคำแนะนำให้ทำอย่างนั้น สิ่งสำคัญคือทิ้งยาเมื่อยาหมดอายุ หรือไม่จำเป็นต้องรับประทานอีกต่อไป ปรึกษาเภสัชกรเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม เกี่ยวกับวิธีทิ้งยาอย่างปลอดภัย

ข้อควรระวังและคำเตือน

ข้อควรรู้ก่อนใช้ยาอะทีโนลอล

ก่อนการใช้ยา คุณควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากคุณ

  • กำลังตั้งครรภ์หรืออยู่ระหว่างให้นมบุตร คุณควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น
  • กำลังใช้ยาอื่นหรือการรักษารูปแบบอื่น รวมถึงยาที่คุณซื้อเองโดยไม่มีใบสั่งยา เช่น ยาสมุนไพร และการรักษาโดยแพทย์ทางเลือก
  • มีอาการแพ้ต่อส่วนผสมที่ออกฤทธิ์หรือไม่ออกฤทธิ์ของยาอะทีโนลอล หรือส่วนผสมของยาชนิดอื่นๆ
  • เป็นโรค อาการผิดปกติหรือสภาพทางการแพทย์อื่นๆ

ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบหากคุณเป็นหรือเคยเป็นโรคหรืออาการต่างๆ ดังนี้

  • หอบหืดหรือโรคปอดอื่นๆ
  • โรคเบาหวาน
  • อาการแพ้อย่างรุนแรง
  • ไฮเปอร์ไทรอยด์
  • เนื้องอกต่อมหมวกไตชนิดฟีโอโครโมไซโตมา (pheochromocytoma)
  • หัวใจล้มเหลว อัตราการเต้นของหัวใจช้า
  • ปัญหาเกี่ยวกับระบบไหลเวียนโลหิต
  • โรคหัวใจ
  • โรคไต

หากคุณกำลังเข้ารับการผ่าตัด รวมถึงการผ่าตัดทางทันตกรรม ควรแจ้งแพทย์หรือทันตแพทย์ว่าคุณอยู่ระหว่างการใช้ยาอะทีโนลอล

คุณควรตระหนักว่าหากคุณมีอาการแพ้ต่อสารต่างๆ อาการแพ้อาจแย่ลงขณะใช้ยาอะทีโนลอล และอาการแพ้อาจไม่ตอบสนองต่อขนาดยาปกติของยาเอพิเนฟรีนที่ฉีดเข้าไป

ความปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

ยังไม่มีการศึกษาในผู้หญิงที่เพียงพอที่จะระบุความเสี่ยงต่อสตรีมีครรภ์หรือให้นมบุตรที่ใช้ยาอะทีโนลอล ควรปรึกษาแพทย์เป็นประจำ เพื่อชั่งน้ำหนักระหว่างข้อดีและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นก่อนรับประทานยาอ้างอิงจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) ยานี้จัดเป็นยาที่มีความเสี่ยงสำหรับสตรีมีครรภ์ประเภท D

ต่อไปนี้ คือประเภทความเสี่ยงต่อสตรีมีครรภ์โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา

  • A = ไม่เสี่ยง
  • B = ไม่เสี่ยง (อ้างอิงจากงานวิจัยบางงาน)
  • C = อาจมีความเสี่ยงบางอย่าง
  • D = มีหลักฐานแสดงถึงความเสี่ยง
  • X = ห้ามใช้
  • N = ไม่ทราบแน่ชัด

ผลข้างเคียง

ผลข้างเคียงจากการใช้ยาอะทีโนลอล

ผลข้างเคียงที่ไม่รุนแรงมีดังนี้

  • ความต้องการทางเพศลดลง เสื่อมสมรรถภาพหรือถึงจุดสุดยอดยาก
  • นอนไม่หลับ
  • รู้สึกเหนื่อย
  • วิตกกังวล

ควรพบแพทย์ทันทีหากคุณมีอาการรุนแรงดังต่อไปนี้

  • อัตราการเต้นของหัวใจช้าลงหรือไม่คงที่
  • รู้สึกวิงเวียนศีรษะ เหมือนจะเป็นลม
  • หายใจหอบถี่ แม้ว่าออกกำลังกายหรือออกแรงเล็กน้อย
  • ข้อเท้าหรือเท้าบวม
  • คลื่นไส้ ปวดท้อง มีไข้ต่ำ ไม่อยากอาหาร ปัสสาวะสีเข้ม อุจจาระสีโคลน อาการดีซ่าน (ตัวหรือตาเหลือง)
  • ซึมเศร้า
  • มือเท้าเย็น

ควรรีบเข้ารับการรักษาหากคุณพบว่าเกิดสัญญาณของการแพ้ เช่น ผื่นลมพิษ หายใจลำบาก หน้าบวม ปากบวม ลิ้นบวม หรือคอบวม

ไม่ใช่ทุกคนที่จะแสดงอาการอันเนื่องมาจากผลข้างเคียงเหล่านี้ และอาจมีผลข้างเคียงอื่นที่ไม่ได้ระบุไว้ข้างต้น หากคุณมีความกังวลเรื่องผลข้างเคียง โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

Interactions

ปฏิกิริยาของยาอะทีโนลอลกับยาชนิดอื่น

ยาอะทีโนลอลอาจทำปฏิกิริยาระหว่างยาตัวอื่นที่คุณกำลังรับประทานอยู่ และอาจส่งผลให้ยาที่คุณรับประทานออกฤทธิ์ต่างไปจากเดิม หรือเพิ่มความเสี่ยงของผลข้างเคียงที่รุนแรง เพื่อหลีกเลี่ยงการทำปฏิกิริยาระหว่างยาที่อาจเป็นไปได้ คุณควรเก็บรายชื่อยาทั้งหมดที่คุณใช้ (ทั้งยาที่จำหน่ายตามใบสั่งยา ยาที่จำหน่ายโดยไม่ต้องใช้ใบสั่งยา และสมุนไพร) และแจ้งให้แพทย์รวมถึงเภสัชกรทราบ เพื่อความปลอดภัย อย่าเริ่ม หรือหยุดรับประทาน รวมถึงเปลี่ยนปริมาณยา โดยไม่ได้รับอนุญาตจากแพทย์

ยาต่อไปนี้อาจทำปฏิกิริยากับยาอะทีโนลอล

  • การรักษาอาการแพ้ หรืออยู่ในระหว่างการทดสอบการแพ้ทางผิวหนัง
  • ยาอะมิโอดาโรน (Amiodarone) อย่างคอร์ดาโรน (Cordarone) พาเซโรน (Pacerone)
  • ยาโคลนิดีน (Clonidine) อย่างคาตาเพรส (Catapres)
  • ยาไดจอกซิน (Digoxin) อย่างดิจิทาลิส (digitalis) ลานอกซิน (Lanoxin)
  • ยาไดโซไพราไมด์ (Disopyramide) อย่างนอร์เพซ (Norpace)
  • ยากวานาเบนซ์ (Guanabenz) อย่างไวเทนซิน (Wytensin)
  • กลุ่มยา MAO inhibitior รักษาโรคซึมเศร้า เช่น ยาไอโซคาร์บอกซาซิด (isocarboxazid) อย่างมาร์แพลน (Marplan) ยาทรานิลซัยโปรมีน (tranylcypromine) อย่างพาร์เนท (Parnate) ยาฟีเนลซีน (phenelzine) อย่างนาร์ดิล (Nardil) หรือยาเซเลจิลีน (selegiline) อย่างเอลเดพริล (Eldepryl) หรือเอมแซม (Emsam)
  • ยารักษาโรคเบาหวาน เช่น อินซูลิน, ไกลบูไรด์ (glyburide) อย่างไดอะเบต้า (Diabeta) ไมโครเนส (Micronase) และไกลเนส (Glynase), ยาไกลพิไซด์ (glipizide) อย่างกลูโคโทรล (Glucotrol), ยาคลอร์โพรพาไมด์ (chlorpropamide) อย่างไดอะบีเนส (Diabinese) หรือยาเมทฟอร์มิน (metformin) อย่างกลูโคฟาจ(Glucophage)
  • ยารักษาโรคหัวใจ เช่น ยาไนเฟดิปีน (nifedipine) อย่างโพรคาร์เดีย (Procardia) หรืออะดาแลท (Adalat), ยารีเซอร์พีน (reserpine) อย่างเซอร์พาซิล( Serpasil), ยาเวอราปามิล (verapamil) อย่างคาแลน(Calan) เวเรแลน (Verelan) และไอซอปทิน (Isoptin), ยาดิลไทอะเซม (diltiazem) อย่างคาร์เทีย(Cartia) และคาร์ดิเซม (Cardizem)
  • ยารักษาอาการหอบหืด หรืออาการเกี่ยวกับการหายใจ เช่น ยาอะบูเทอรอล (albuterol) อย่างเวนโทลิน (Ventolin) และโพเวนทิล (Proventil), ยาไบโทลเทอรอล (bitolterol) อย่างทอร์นาเลท (Tornalate), ยาเมทาโพรเทเรนอล (metaproterenol) อย่างอะลูเพนท์ (Alupent), ยาเพอร์บูเทอรอล (pirbuterol) อย่างแมกซ์แอร์ (Maxair), ยาเทอร์บูทาลีน (terbutaline) อย่างเบรทแอร์ (Brethaire) เบรทไทน์ (Brethine) และบริคานิล (Bricanyl) และยาทีโอฟิลลีน (theophylline) อย่างธีโอเดอ (Theo-Dur) และธีโอแลร์ (Theolair)
  • ยาแก้หวัด ยากระตุ้น หรือยาลดน้ำหนัก

ปฏิกิริยาของยาอะทีโนลอลกับอาหารหรือแอลกอฮอล์

ยาอะทีโนลอลอาจทำปฏิกิริยากับอาหารหรือแอลกอฮอล์ โดยเปลี่ยนฤทธิ์ยา หรือเพิ่มความเสี่ยงให้ที่จะเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อถามถึงปฏิกิริยาที่อาจเกิดขึ้นระหว่างอาหารหรือแอลกอฮอล์กับยานี้ ก่อนรับประทานยา

ปฏิกิริยาของยาอะทีโนลอลกับอาการของโรคอื่น

ยาอะทีโนลอลอาจส่งผลต่อสุขภาพของคุณ ปฏิกิริยาของยาที่มีต่อร่างกายอาจทำให้สุขภาพของคุณแย่ลง หรือส่งผลต่อฤทธิ์ของยา โปรดแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทรา บเกี่ยวกับสุขภาพและโรคประจำตัวของคุณ

อาการโรคเหล่านี้อาจมีปฏิกิริยากับยานี้

  • หัวใจเต้นช้ากว่าปกติ (Bradycardia)
  • สัญญาณไฟฟ้าหัวใจถูกขัดขวาง หรือจังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ (Heart block)
  • หัวใจล้มเหลว (Heart failure)
  • เนื้องอกต่อมหมวกไตชนิดฟีโอโครโมไซโตมา (Pheochromocytoma)
  • โรคเบาหวาน
  • ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (Hyperthyroidism)
  • ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia)
  • โรคไต
  • โรคปอด (เช่น โรคหอบหืด โรคหลอดลมอักเสบ โรคถุงลมโป่งพอง)

ขนาดยา

ข้อมูลเหล่านี้ไม่สามารถใช้ทดแทนคำปรึกษาทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้เบนโซอิล เพอร์ออกไซด์

ขนาดยาอะทีโนลอลสำหรับผู้ใหญ่

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่สำหรับความดันโลหิตสูง

  • ขนาดเริ่มต้น รับประทาน 50 มิลลิกรัมวันละครั้ง
  • ขนาดยาประคับประคองการรักษา รับประทาน 50 ถึง 100 มิลลิกรัมวันละครั้ง
  • ขนาดยาสูงสุด 100 มิลลิกรัมต่อวัน

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่การป้องกันอาการหัวใจขาดเลือด

  • ขนาดเริ่มต้น รับประทาน 50 มิลลิกรัมวันละครั้ง
  • เพิ่มขนาดยาเป็น 100 มิลลิกรัมเพื่อรับประทานวันละครั้ง หลังจาก 1 สัปดาห์ หากอาการไม่ตอบสนองต่อการใช้ยาในขนาดเริ่มต้น
  • ขนาดประคับประคองการรักษา รับประทาน 50 ถึง 200 มิลลิกรัมวันละครั้ง
  • ขนาดยาสูงสุด 200 มิลลิกรัมต่อวัน

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่สำหรับอาการเจ็บหน้าอกเนื่องจากหัวใจขาดเลือด

  • ขนาดที่เริ่มต้น รับประทาน 50 มิลลิกรัมวันละครั้ง
  • เพิ่มขนาดยาเป็น 100 มิลลิกรัมเพื่อรับประทานวันละครั้ง หลังจาก 1 สัปดาห์ หากอาการไม่ตอบสนองต่อการใช้ยาในขนาดเริ่มต้น
  • ขนาดประคับประคองการรักษา รับประทาน 50 ถึง 200 มิลลิกรัมวันละครั้ง
  • ขนาดยาสูงสุด 200 มิลลิกรัมต่อวัน

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่สำหรับกล้ามเนื้อหัวใจตาย

  • รับประทานยาขนาด 50 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง หรือ ขนาด 100 มิลลิกรัม วันละครั้ง

ขนาดยาปกติสำหรับผู้สูงอายุที่มีความดันโลหิตสูง

  • ขนาดที่เริ่มต้น สามารถพิจารณาให้ลดขนาดเริ่มต้น ไปรับประทานยา ขนาด 25 มิลลิกรัม วันละครั้ง

ขนาดยาอะทีโนลอลสำหรับเด็ก

ขนาดยาที่ใช้สำหรับเด็กยังไม่มีการระบุแน่ชัด การใช้ยาชนิดนี้อาจไม่ปลอดภัยต่อเด็กได้ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจถึงความปลอดภัยก่อนการใช้ยา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

รูปแบบของอะทีโนลอล

ยาอะทีโนลอลอยู่ในรูปแบบและขนาดดังต่อไปนี้

  • ชนิดเม็ดสำหรับรับประทาน ขนาด 25 มิลลิกรัม 50 มิลลิกรัมและ 100 มิลลิกรัม

กรณีฉุกเฉินหรือการใช้ยาเกินขนาด

หากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด ควรแจ้งเหตุฉุกเฉินหรือนำส่งห้องฉุกเฉินใกล้บ้านโดยทันที

หากลืมใช้ยาควรทำอย่างไร

หากคุณลืมใช้ยาอะทีโนลอลควรรีบใช้ทันทีที่นึกได้ หรือถ้าหากใกล้ถึงเวลาใช้ยาครั้งต่อไป ให้ข้ามรอบไปใช้ยาตามตารางปกติ ไม่ควรเพิ่มขนาดยา

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำทางการแพทย์ การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคแต่อย่างใด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

เภสัชกรพิมพ์จิต วัฒนชโนบล


เขียนโดย ฤทธิศักดิ์ วงศ์วุฒิพงษ์ · แก้ไขล่าสุด 10/10/2023

advertisement iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

advertisement iconโฆษณา
advertisement iconโฆษณา