backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

อะเซตาโซลาไมด์ (Acetazolamide)

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย เภสัชกรวิสสุตา ชั้นประเสริฐ · ยาและอาหารเสริม · Hello Health Group


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

อะเซตาโซลาไมด์ (Acetazolamide)

ข้อบ่งใช้

ยา อะเซตาโซลาไมด์ ใช้สำหรับ

ยาอะเซตาโซลาไมด์ (Acetazolamide) ใช้เพื่อป้องกันและลดอาการแพ้ที่สูง (altitude sickness) ยานี้สามารถลดอาการปวดหัว เหนื่อยล้า คลื่นไส้ วิงเวียน และหายใจไม่ทั่วท้อง ที่อาจเกิดขึ้นเมื่อคุณปีนขึ้นที่สูงอย่างรวดเร็ว (โดยทั่วไปแล้วประมาณ 10,000 ฟุต/3,048 เมตร) ยานี้จะใช้ในสถานการณ์ที่คุณ ไม่สามารถขึ้นที่สูงอย่างช้าๆ ได้

ยานี้ยังสามารถร่วมกับยาอื่นเพื่อรักษาโรคตาบางชนิด เช่น ต้อหินมุมเปิด ยาอะเซตาโซลาไมด์ คือ ยาขับปัสสาวะ (diuretic) ช่วยลดปริมาณของน้ำที่สะสมที่ดวงตา และยังช่วยลดการสะสมของน้ำในร่างกายที่มีสาเหตุมาจากโรคหัวใจล้มเหลว หรือยาบางชนิด ยาอะเซตาโซลาไมด์อาจจะมีประสิทธิภาพน้อยลงเมื่อเวลาผ่านไป ดังนั้น จึงมักจะใช้แค่ในช่วงเวลาสั้นๆ

นอกจากนี้ยังมีการใช้ร่วมกับยาอื่นเพื่อรักษาอาการชักบางชนิด เช่น ลมชัก petit mal และอาการชัก unlocalized seizures

ยาอะเซตาโซลาไมด์อาจสามารถใช้เพื่อรักษา อาการอัมพฤกษ์

วิธีการใช้ยา อะเซตาโซลาไมด์

หากคุณใช้ยาเม็ด ตามปกติแล้วคือรับประทานยานี้ 1 ถึง 4 ครั้ง ต่อวันหรือตามที่แพทย์กำหนด หากคุณใช้ยาแคปซูลแบบออกฤทธิ์นาน ให้รับประทาน 1 หรือ 2 ครั้งต่อวัน หรือตามที่แพทย์กำหนด กลืนยาแคปซูลแบบออกฤทธิ์นานไปทั้งเม็ด ห้ามเปิด หัก หรือเคี้ยวยาแคปซูล การทำแบบนั้นจะทำลายการออกฤทธิ์นานของยา และอาจเพิ่มผลข้างเคียงได้

ยาอะเซตาโซลาไมด์สามารถรับประทานได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงอาหาร ดื่มน้ำให้มาก หรือทำตามที่แพทย์กำหนด ขนาดยาขึ้นอยู่กับอาการ และการตอบสนองต่อการรักษา

เพื่อป้องกันอาการแพ้ที่สูง เริ่มใช้ยาอะเซตาโซลาไมด์ 1 ถึง 2 วันล่วงหน้าก่อนที่ขึ้นที่สูง ใช้ยาอย่างต่อเนื่องขณะปีน จนถึงอย่างน้อย 48 ชั่วโมงหลังจากที่ปีนถึงที่หมายแล้ว อาจจะต้องใช้ยานี้ต่อไปขณะที่ยังอยู่บนพื้นที่สูงเพื่อควบคุมอาการ

หากคุณมีอาการแพ้ที่สูงรุนแรง ควรจะลงจากที่สูงให้เร็วที่สุด ยาอะเซตาโซลาไมด์ไม่สามารถป้องกันคุณ จากผลข้างเคียงที่รุนแรงของอาการแพ้ที่สูงได้ (ดูเพิ่มเติมส่วนข้อควรระวัง)

หากคุณใช้ยานี้สำหรับโรคอื่นๆ เช่น ต้อหิน อาการชัก ใช้ยานี้เป็นประจำตามที่กำหนด เพื่อรับประโยชน์สูงสุดจากยา เพื่อให้ง่ายต่อการจำควรรับประทานในเวลาเดียวกันทุกวัน การรับประทานยาครั้งสุดท้ายของวันในช่วงเย็น จะป้องกันไม่ให้คุณต้องลุกขึ้นมากลางดึกเพื่อปัสสาวะ ปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกร หากคุณมีข้อสงสัยเกี่ยวกับตารางการรับประทานยา

อย่าเพิ่มหรือลดขนาดยา หรือหยุดใช้ยาโดยไม่ได้ปรึกษากับแพทย์ อาการบางอย่างอาจจะแย่ลงหากหยุดยานี้โดยกะทันหัน ขนาดยาของคุณอาจจำเป็นต้องค่อยๆ ลดลง

หากใช้ในระยะยาว ยานี้อาจจะมีประสิทธิภาพลดลง และจำเป็นต้องใช้ยาขนาดอื่น แพทย์จะคอยเฝ้าสังเกตอาการของคุณ แจ้งให้แพทย์ทราบ หากอาการของคุณไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง (เช่น มีอาการชักบ่อยขึ้น)

ยานี้อาจจะลดระดับของโพแทสเซียมในเลือด แพทย์อาจจะแนะนำให้คุณรับประทานอาหารที่มีโพแทสเซียมสูง (เช่น กล้วย หรือน้ำส้ม) ขณะที่คุณกำลังใช้ยานี้ แพทย์ยังอาจจะสั่งให้คุณรับประทานอาหารเสริมโพแทสเซียมขณะใช้ยานี้ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมโปรดปรึกษาแพทย์

การเก็บรักษายาอะเซตาโซลาไมด์

ยาอะเซตาโซลาไมด์ควรเก็บที่อุณหภูมิห้อง หลีกเลี่ยงแสงหรือความชื้น เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวยาเกิดความเสียหาย ไม่ควรเก็บยานี้ในห้องน้ำหรือช่องแช่แข็ง ยาอะเซตาโซลาไมด์บางยี่ห้ออาจจะต้องเก็บรักษาแตกต่างกัน จึงควรตรวจสอบฉลากยาหรือสอบถามเภสัชกรเสมอ เพื่อความปลอดภัยโปรดเก็บยาให้ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ไม่ควรทิ้งยาอะเซตาโซลาไมด์ลงในชักโครก หรือเทยาลงในท่อระบายน้ำ เว้นเสียแต่จะได้รับคำแนะนำให้ทำเช่นนั้น ควรกำจัดยาด้วยวิธีที่ถูกต้องเมื่อหมดอายุ หรือไม่มีความจำเป็นต้องใช้งาน โปรดสอบถามเภสัชกรเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการกำจัดยาที่ถูกต้อง

ข้อควรระวังและคำเตือน

ข้อควรรู้ก่อนใช้ยาอะเซตาโซลาไมด์

สภาวะบางอย่างอาจเกิดปฏิกิริยากับยาอะเซตาโซลาไมด์ แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบหากคุณมีสภาวะใดๆ โดยเฉพาะสภาวะต่อไปนี้

  • คุณกำลังตั้งครรภ์ มีแผนที่จะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร
  • คุณกำลังใช้ยาอื่น ทั้งยาตามใบสั่งยา หรือยาที่หาซื้อได้เอง สมุนไพร หรืออาหารเสริม
  • หากคุณมีอาการแพ้ยา อาหาร หรือสารอื่นๆ
  • หากคุณเป็นโรคนิ่วในไต โรคปอด โรคต้อหิน โรคเบาหวาน หรือหายใจติดขัด
  • หากคุณมีอาการแพ้รุนแรง (เช่น ผดผื่นอย่างรุนแรง ลมพิษ หายใจติดขัด หรือวิงเวียน) กับกลุ่มยาซัลฟาอื่นๆ เช่น ยาอะเซตาโซลาไมด์ เซเลโคซิบ (celecoxib) ยาขับปัสสาวะบางชนิด เช่น ไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ (hydrochlorothiazide) ไกลบิวไรด์ (glyburide) โพรเบเนซิด (probenecid) ซัลฟาเมทอกซาโซน (sulfamethoxazole) วัลเดคอกซ์ซิบ (valdecoxib) หรือโซนิซาไมด์ (zonisamide)

ยาบางชนิดอาจจะมีปฏิกิริยากับยาอะเซตาโซลาไมด์ แจ้งผู้ดูแลสุขภาพหากคุณกำลังใช้ยาดังต่อไปนี้

  • ยาซาลิไซเลต (Salicylates) เช่น แอสไพริน เนื่องจากยานี้อาจจะไปเพิ่มผลข้างเคียงของยาอะเซตาโซลาไมด์
  • ยาคาร์บอนิก แอนไฮเดรส อินฮิบิเตอร์อื่นๆ (carbonic anhydrase inhibitors) เช่น ยาเมทาโซลาไมด์ (methazolamide), ไซโคลสปอริน (cyclosporine), ควินิดีน (quinidine), เฟนิโทอิน (phenytoin), แอมเฟตามีน (amphetamine) หรือโซเดียมไบคาร์บอเนต (sodium bicarbonate) เนื่องจากความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงของยาเหล่านี้อาจะเพิ่มเพราะยาอะเซตาโซลาไมด์
  • ไพรมิโดน (Primidone) ซาลิไซเลต (salicylates) เช่น แอสไพริน ลิเทียม (lithium) หรือเมทีนามีน (methenamine) เนื่องจากประสิทธิภาพของยาเหล่านี้อาจลดลง เพราะยาอะเซตาโซลาไมด์

อาจมีปฏิกิริยาอื่นนอกเหนือจากนี้ สอบถามแพทย์เกี่ยวกับยาที่คุณใช้อยู่ว่า อาจจะมีปฏิกิริยากับยาอะเซตาโซลาไมด์หรือไม่ ตรวจสอบข้อมูลกับแพทย์ก่อนเริ่ม หยุด หรือเปลี่ยนขนาดยาใดๆ

ความปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

ยังไม่มีงานวิจัยที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับความเสี่ยงในสตรีที่ใช้ยานี้ในช่วงการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์และความเสี่ยงก่อนการใช้ยานี้ ยาอะเซตาโซลาไมด์จัดอยู่ในประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อผู้ตั้งครรภ์ หมวด C โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA)

การจัดประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อผู้ตั้งครรภ์โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกามีดังนี้

  • A= ไม่มีความเสี่ยง
  • B= ไม่พบความเสี่ยงในการวิจัยบางชิ้น
  • C= อาจจะมีความเสี่ยง
  • D= มีหลักฐานแสดงถึงความเสี่ยง
  • X= ห้ามใช้
  • N= ไม่ทราบแน่ชัด

ผลข้างเคียง

ผลข้างเคียงของการใช้ยาอะเซตาโซลาไมด์

ยาทุกชนิดอาจมีผลข้างเคียง แต่คนจำนวนมากนั้นอาจจะไม่มีผลข้างเคียง หรือเป็นเล็กน้อย ไปหาแพทย์หากผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไปเหล่านี้ ไม่ยอมหายไป หรือรบกวนคุณ

รับการรักษาในทันทีหากคุณมีผลข้างเคียงที่รุนแรงได้แก่

  • อาการแพ้อย่างรุนแรง ได้แก่ ผดผื่น ลมพิษ หายใจติดขัด แน่นหน้าอก บวมที่ปาก ใบหน้า ริมฝีปาก หรือลิ้น
  • มีเลือดในปัสสาวะ
  • การได้ยินเปลี่ยนไป
  • มีอาการชักกระตุก
  • อุจจาระสีเข้มหรือมีเลือด
  • ปัสสาวะสีเข้ม
  • หายใจเร็ว
  • เป็นไข้
  • ไม่มีเรี่ยวแรง
  • ปวดหลังส่วนล่าง
  • ผิวเป็นสีแดง บวม หรือมีแผลพุพอง
  • มีเสียงในหู
  • เจ็บคอ
  • เป็นเหน็บที่แขนหรือขา
  • มีเลือดออกหรือรอยช้ำที่ผิดปกติ
  • การมองเห็นเปลี่ยนไป
  • ดวงตาและผิวหนังเป็นสีเหลือง

ไม่ใช่ทุกคนจะเจอกับผลข้างเคียงเหล่านี้ และอาจจะมีอาการอย่างอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ถ้าคุณมีข้อสงสัยใดๆ โปรดปรึกษาหมอของคุณ

ปฏิกิริยาของยา

ปฏิกิริยากับยาอื่น

ยาอะเซตาโซลาไมด์อาจเกิดปฏิกิริยากับยาอื่นที่คุณกำลังใช้อยู่ ซึ่งอาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น คุณควรจะบอกแพทย์หรือเภสัชกรของคุณว่า คุณกำลังใช้ยาอะไรอยู่บ้าง (ทั้งยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่ซื้อได้เอง และสมุนไพรต่างๆ) เพื่อความปลอดภัย โปรดอย่าเริ่ม หยุด หรือเปลี่ยนขนาดยา โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากแพทย์

แม้ว่ายาบางชนิดจะไม่ควรใช้ร่วมกันเลยก็ตาม แต่อาจมีกรณีบางอย่างที่ต้องใช้ยาสองชนิดที่แตกต่างกัน แม้ว่ายานั้นอาจจะมีปฏิกิริยาต่อกัน ในกรณีนี้ แพทย์อาจจะต้องเปลี่ยนขนาดยา หรือมีข้อระมัดระวังอื่นๆ ที่จำเป็น แจ้งให้แพทย์ทราบ หากคุณกำลังใช้ยาใดๆ ทั้งยาตามใบสั่งยาแและยาที่ซื้อเองได้

ไม่แนะนำให้ใช้ยากลุ่มนี้กับยาดังต่อไปนี้ แพทย์อาจจะตัดสินใจไม่ใช้ยาในกลุ่มนี้เพื่อรักษาคุณ หรือเปลี่ยนยาบางตัวที่คุณกำลังใช้อยู่

โดยปกติแล้วไม่แนะนำให้ใช้ยากลุ่มนี้กับยาดังต่อไปนี้ แต่อาจจำเป็นในบางกรณี หากคุณได้รับใบสั่งยาทั้งคู่ร่วมกัน แแพทย์อาจจะต้องเปลี่ยนขนาดยาหรือความถี่ในการใช้ยาตัวหนึ่งหรือทั้งคู่

  • อาร์เซนิกไตรออกไซด์ (Arsenic Trioxide), คาร์บามาเซพีน (Carbamazepine), เซริทินิบ (Ceritinib), ดาบราเฟนิบ (Dabrafenib), ดิจิทาลิส (Digitalis), ดรอเพอริดอล (Droperidol), เอสลิคาร์เบเซพีนแอซิเตต (Eslicarbazepine Acetate), ไอเดลาลิซิบ (Idelalisib), เลโวเมทาดิล (Levomethadyl), เมทฟอร์มิน (Metformin), ไมโทเทน (Mitotane), นิโลตินิบ (Nilotinib), ไพเพอราควิน (Piperaquine), โพรชิลลาริดิน (Proscillaridin), ควินิดีน (Quinidine), ซิลทูซิแมบ (Siltuximab), โซทาลอล (Sotalol)

ปฏิกิริยากับอาหารหรือแอลกอฮอล์

ยาอะเซตาโซลาไมด์อาจมีปฏิกิริยากับอาหารหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

ปฏิกิริยากับอาการโรคอื่น

ยาอะเซตาโซลาไมด์อาจส่งผลให้อาการโรคของคุณแย่ลง หรือส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา โปรดแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบถึงสภาวะโรคของคุณก่อนใช้ยาเสมอ โดยเฉพาะ

  • โรคเบาหวานชนิดที่ 2 การใช้คาร์บอนิก แอนไฮเดรส อินฮิบิเตอร์ (carbonic anhydrase inhibitors) อาจเพิ่มระดับของน้ำตาลในเลือดและปัสสาวะได้
  • โรคถุงลมโป่งพอง (Emphysema) หรือโรคปอดเรื้อรังอื่นๆ การใช้คาร์บอนิก แอนไฮเดรส อินฮิบิเตอร์อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะเลือดเป็นกรด (Acidosis) เช่น หายใจไม่ทั่วท้อง หรือหายใจติดขัด
  • ระดับของโพแทสเซียมหรือโซเดียมในเลือดต่ำ การใช้คาร์บอนิก แอนไฮเดรส อินฮิบิเตอร์อาจทำให้อาการนี้แย่ลง
  • โรคไตหรือนิ่วในไต ระดับของคาร์บอนิก แอนไฮเดรส อินฮิบิเตอร์ในเลือดสูง อาจทำให้เพิ่มโอกาสในการเกิดผลข้างเคียง และอาจทำให้อาการเหล่านี้แย่ลง
  • โรคตับ การใช้คาร์บอนิก แอนไฮเดรส อินฮิบิเตอร์ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะอิเล็กโทรไลต์ไม่สมดุล (electrolyte imbalance) และอาจทำให้อาการแย่ลง
  • ต่อมหมวกไตทำงานไม่เพียงพอ หรือโรคโรคแอดดิสัน (Addison’s disease) การใช้คาร์บอนิก แอนไฮเดรส อินฮิบิเตอร์ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะอิเล็กโทรไลต์ไม่สมดุล

ขนาดยา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษากับแพทย์และเภสัชกรทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

ขนาดยาอะเซตาโซลาไมด์สำหรับผู้ใหญ่

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาภาวะบวมน้ำ (Edema)

  • 250 ถึง 375 มก. รับประทานหรือฉีดเข้าหลอดเลือดดำ วันละครั้ง
  • หากจำเป็นต้องทำการรักษาภาวะบวมน้ำด้วยยาอะเซตาโซลาไมด์อย่างต่อเนื่อง แนะนำให้ข้ามการใช้ยาทุกๆ สองถึงสามครั้ง เพื่อให้เวลาตับได้ฟื้นฟู

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาอาการแพ้ความสูงฉับพลัน 

  • ยาเม็ดสำหรับรับประทาน: 125 ถึง 250 มก. รับประทานทุกๆ6 ถึง 12 ชั่วโมง
  • ยาแคปซูลออกฤทธิ์ช้า: 500 มก. รับประทานทุกๆ 12 ถึง 24 ชั่วโม
  • ขนาดยาสูงสุด 1 กรัม/วัน
  • สำหรับการขึ้นที่สูงอย่างฉับพลัน การใช้ยาขนาดสูงนั้นจะมีประโยชน์สำหรับการป้องกันอาการแพ้ความสูงฉับพลัน เริ่มตั้งแต่ 24 ถึง 48 ชั่วโมงก่อนขึ้นที่สูงและใช้ยาอย่างต่อเนื่อง 48 ชั่วโมงขณะที่อยู่บนพื้นที่สูง

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาต้อหิน 

ต้อหินมุมเปิด

  • ยาเม็ดหรือฉีดเข้าหลอดเลือดดำ: 250 มก. 1 ถึง 4 ครั้งต่อวัน
  • ยาแคปซูลออกฤทธิ์ช้า: 500 มก. วันละ 1 หรือ 2 ครั้ง

ต้อหินมุมปิด

  • 250 ถึง 500 มก. ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ อาจฉีดซ้ำได้ภายใน 2 ถึง 4 ชั่วโมง มากสูงสุดถึง 1 กรัม/วัน

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อป้องกันอาการชัก 

  • 8 ถึง 30 มก./กก./วัน แบ่งเป็น 1 ถึง 4 ครั้ง ห้ามเกิน 1 กรัมต่อวัน
  • หากผู้ป่วยได้ใช้ยาต้านชัก (Anticonvulsant drugs) ตัวอื่นอยู่ก่อนแล้ว แนะนำให้เริ่มต้นใช้ยาที่ขนาด 250 มก. วันละครั้ง หากใช้ยาอะเซตาโซลาไมด์เพียงอย่างเดียว ขนาดยาของผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มีการทำงานของไตที่ดีเริ่มตั้งแต่ 375 ถึง 1000 มก.
  • ขนาดยาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตที่ผิดปกตินั้นยังไม่ทราบแน่ชัด และจะขึ้นอยู่กับการตอบสนองทางการรักษา และความทนต่อยาของผู้ป่วย

ยาอะเซตาโซลาไมด์นั้นส่วนมากจะใช้เพื่อรักษาโรคลมชักที่ดื้อยา (refractory epilepsy) โดยใช้ร่วมกับยาอื่น แม้อาจจะเป็นประโยชน์ต่ออาการชักเป็นบางส่วน (partial) ชักสะดุ้ง (Myoclonic) ชักแบบเหม่อลอย (absence) และชักกระตุกและเกร็งแบบทั่วไปเบื้องต้น (primary generalized tonic-clonic seizures) ที่ไม่สามารถควบคุมได้ด้วยยายี่ห้ออื่น แต่งานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับมาตฐานของอาการเหล่านี้นั้นยังไม่เพียงพอ

ขนาดยาอะเซตาโซลาไมด์สำหรับเด็ก

ขนาดยาสำหรับเด็กเพื่อรักษาต้อหิน อายุมากกว่า 1 ปี

  • รับประทาน: 8 ถึง 30 มก./กก./วัน หรือ 300 ถึง 900 มก./ตารางเมตร/ วัน แบ่งรับประทานทุกๆ 8 ชั่วโมง
  • ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ: 20 ถึง 40 มก./ กก./ วัน แบ่งฉีดทุกๆ 6 ชั่วโมง ขนาดยาสูงสุด: 1 กรัม/วัน

ขนาดยาสำหรับเด็กเพื่อรักษา ภาวะบวมน้ำ อายุมากกว่า 1 ปี

  • รับประทานหรือฉีดเข้าหลอดเลือดดำ: 5 มก./กก. หรือ 150 มก./ตารางเมตร วันละครั้ง

ขนาดยาสำหรับเด็กเพื่อรักษาโรคลมชัก อายุมากกว่า 1 ปี

  • รับประทาน: 8 ถึง 30 มก./ กก./วัน แบ่งเป็น 1 ถึง 4 ครั้ง ขนาดยาสูงสุดคือ 1 กรัม/วัน

ขนาดยาสำหรับเด็กเพื่อรักษาภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ (Hydrocephalus) อายุต่ำกว่า 1 ปี

  • รับประทานหรือฉีดเข้าหลอดเลือดดำ: 20 ถึง 100 มก./กก./วัน แบ่งเป็นทุกๆ 6 ถึง 8 ชั่วโมง ขนาดยาสูงสุดคือ 2 กรัม/วัน

รูปแบบของยา

ความแรงและรูปแบบของยามีดังนี้

  • ยาแคปซูลรับประทานแบบออกฤทธิ์นาน: 500 มก.
  • ยาเม็ดแบบรับประทาน: 125 มก. 250 มก.

กรณีฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด

หากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด ควรแจ้งเหตุฉุกเฉินหรือนำส่งห้องฉุกเฉินใกล้บ้านโดยทันที

อาการของการใช้ยาเกินขนาดมีดังนี้

  • ความรู้สึกผิดปกติที่ผิวหนัง เช่น เหน็บ จักจี้ คัน ปวดแสบปวดร้อน
  • ได้ยินเสียงพึมพำ เสียงกังวาน หรือเสียงผิวปากในหู
  • ง่วงซึม
  • เบื่ออาหาร
  • สูญเสียความสมดุล
  • คลื่นไส้
  • ร่างกายสั่นเทา
  • การเคลื่อนไหวที่ไม่คงตัว

กรณีลืมใช้ยา

หากคุณลืมรับประทานยาควรรีบรับประทานทันทีที่นึกได้ หรือถ้าหากใกล้ถึงเวลารับประทานยาครั้งต่อไป ให้ข้ามรอบไปรับประทานยาตามตารางปกติได้เลย ไม่ควรเพิ่มปริมาณยา

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำทางการแพทย์ การวินิจฉัยโรคหรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

เภสัชกรวิสสุตา ชั้นประเสริฐ

ยาและอาหารเสริม · Hello Health Group


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

advertisement iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

advertisement iconโฆษณา
advertisement iconโฆษณา