ข้อบ่งใช้
ยา เซเลกิลีน ใช้สำหรับ
ยา เซเลกิลีน (Selegiline) ใช้เพื่อรักษาอาการเคลื่อนไหวผิดปกติที่เกิดจากโรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease) ยานี้ไม่สามารถรักษาโรคพาร์กินสันได้ แต่สามารถช่วยทำให้อาการต่างๆ ดีขึ้น เช่น อาการสั่นเทา กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง สูญเสียการเคลื่อนไหวตามปกติ ขณะที่ยาอื่นที่ใช้รักษาโรคพาร์กินสันหมดฤทธิ์ (ขนาดยาไม่เพียงพอ) และมีการเปลี่ยนแปลงกะทันหันระหว่างการเคลื่อนไหวที่ปกติ และอาการแข็งเกร็ง (เดี๋ยวเป็นเดี๋ยวหาย) ยานี้อาจเพิ่มช่วงในการเคลื่อนไหว และความสามารถในการเดิน แต่งตัว และออกกำลังกาย ยาเซเลกิลีนมักใช้ร่วมกับยาอื่น เช่น เลโวโดพา (levodopa) หรือคาร์ไบโดพา (carbidopa)
ยาเซเลกิลีนเป็นยาในกลุ่ม MAO inhibitor ทำงานโดยการชะลอการสลายตัวของสารธรรมชาติบางอย่างในสมอง อย่าง สารสื่อประสาท (neurotransmitter) เช่น โดพามีน (dopamine) นอร์อิพิเนฟริน (norepinephrine) และเซโรโทนิน (serotonin)
วิธีการใช้ยา เซเลกิลีน
รับประทานยานี้โดยปกติคือวันละ 2 ครั้ง มื้อเช้าและมื้อกลางวัน การรับประทานยาเซเลกิลีนในช่วงบ่ายของวัน อาจทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ ขนาดยาขึ้นอยู่กับสภาวะทางการแพทย์ และการตอบสนองต่อการรักษา อย่าเพิ่มขนาดยาหรือรับประทานมากกว่าที่กำหนด
หลังจากรับประทานยาเซเลกิลีนเป็นเวลา 2 หรือ 3 วัน แพทย์อาจสั่งให้คุณลดขนาดยาลง ควรทำตามแนวทางของแพทย์อย่างเคร่งครัด อย่าหยุดหรือเปลี่ยนขนาดยาที่คุณใช้ โดยไม่ปรึกษากับแพทย์
อาจต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ กว่าจะได้ประโยชน์จากยาอย่างเต็มที่ อย่าหยุดใช้ยานี้โดยไม่ปรึกษากับแพทย์ ปรึกษากับแพทย์หากยาได้ผลไม่ดีดังเคย หรืออาการแย่ลง
การเก็บรักษายา เซเลกิลีน
ยาเซเลกิลีนควรเก็บที่อุณหภูมิห้อง หลีกเลี่ยงแสงหรือความชื้น เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวยาเกิดความเสียหาย ไม่ควรเก็บยานี้ในห้องน้ำหรือช่องแช่แข็ง ยาเซเลกิลีนบางยี่ห้ออาจจะต้องเก็บรักษาแตกต่างกัน จึงควรตรวจสอบฉลากยาหรือสอบถามเภสัชกรเสมอ เพื่อความปลอดภัยโปรดเก็บยาให้ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ไม่ควรทิ้งยาเซเลกิลีนลงในชักโครก หรือเทยาลงในท่อระบายน้ำ เว้นแต่ได้รับคำแนะนำให้ทำเช่นนั้น ควรกำจัดยาด้วยวิธีที่ถูกต้องเมื่อยาหมดอายุ หรือไม่มีความจำเป็นต้องใช้งาน โปรดสอบถามเภสัชกรเพิ่มเติม เกี่ยวกับวิธีการกำจัดยาที่ถูกต้อง
ข้อควรระวังและคำเตือน
ข้อควรรู้ก่อนใช้ยา เซเลกิลีน
ก่อนใช้ยาเซเลกิลีน แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบหากคุณแพ้ยานี้ หรือหากคุณเป็นโรคภูมิแพ้อื่นๆ ยานี้อาจมีสารไม่ออกฤทธิ์ที่ทำให้เกิดอาการแพ้หรือปัญหาอื่น โปรดปรึกษาเภสัชกรสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
ก่อนใช้ยานี้แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับประวัติทางการแพทย์ของคุณ โดยเฉพาะ เนื้องอกต่อมหมวกไตบางชนิด อย่างเนื้องอกต่อมหมวกไตชนิดฟีโอโครโมไซโตมา (pheochromocytoma) โรคหลอดเลือดสมอง (stroke) ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ เช่น หัวใจล้มเหลว (congestive heart failure) หัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (heart attack) ปัญหาเกี่ยวกับเลือดออก เคยมีอาการปวดหันที่รุนแรงหรือบ่อยครั้ง แผลในกระเพาะอาหาร โรคเบาหวาน ประวัติส่วนตัวหรือคนในครอบครัวเคยมีความผิดปกติทางจิตใจหรืออารมณ์ เช่น โรคจิตเภท (Schizophrenia) โรคอารมณ์สองขั้ว (bipolar disorder) ประวัติส่วนตัวหรือคนในครอบครัวเคยมีภาวะความดันโลหิตสูง โรคตับ หรือภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน
ยานี้อาจทำให้เกิดอาการวิงเวียนหรือง่วงซึม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือกัญชา อาจทำให้อาการวิงเวียนหรือง่วงซึมรุนแรงขึ้นได้ อย่าขับรถ ใช้เครื่องจักร หรือทำกิจกรรมที่ต้องการความตื่นตัว จนกว่าคุณจะสามารถทำได้อย่างปลอดภัย จำกัดปริมาณเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และปรึกษาแพทย์หากคุณใช้กัญชาเพื่อรักษาโรค เพื่อลดอาการวิงเวียนและความเสี่ยงในการหมดสติ ควรลุกขึ้นจากท่านั่งหรือท่านอนอย่างช้าๆ
ก่อนการผ่าตัด แจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบว่า คุณกำลังใช้ยานี้ คุณอาจต้องหยุดใช้ยาล่วงหน้า ควรทำตามแนวทางจากแพทย์อย่างเคร่งครัด
ในช่วงการตั้งครรภ์ควรใช้ยาเซเลกิลีนต่อเมื่อจำเป็นเท่านั้น โปรดปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับความเสี่ยงและประโยชน์ของการใช้ยา
ยังไม่ทราบแน่ชัดว่ายานี้สามารถผ่านเข้าสู่น้ำนมแม่ได้หรือไม่ โปรดปรึกษาแพทย์ก่อนให้นมุบตร
ความปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
ยังไม่มีงานวิจัยที่น่าเชื่อถือ เกี่ยวกับความเสี่ยงในสตรีที่ใช้ยานี้ ในช่วงการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร โปรดปรึกษาแพทย์ เพื่อหาประโยชน์และความเสี่ยงก่อนการใช้ยานี้
ยาเซเลกิลีนจัดอยู่ในประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อสตรีมีครรภ์ หมวด C โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA)
การจัดประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อสตรีมีครรภ์ โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา มีดังนี้
- A= ไม่มีความเสี่ยง
- B= ไม่พบความเสี่ยงในการวิจัยบางชิ้น
- C= อาจจะมีความเสี่ยง
- D= มีหลักฐานแสดงถึงความเสี่ยง
- X= ห้ามใช้
- N= ไม่มีข้อมูลเพียงพอ
ผลข้างเคียง
ผลข้างเคียงของการใช้ยาเซเลกิลีน
อาจเกิดอาการวิงเวียน ปวดท้อง ปากแห้ง คลื่นไส้ ท้องไส้ปั่นป่วน นอนไม่หลับ และปวดหัว หากอาการเหล่านี้ไม่หายไปหรือรุนแรงขึ้นโปรดแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรในทันที
หากคุณกำลังใช้ยาเลโวโดปา คุณอาจจะมีผลข้างเคียงเพิ่มขึ้นจากยาเลโวโดปาขณะที่กำลังใช้ยาเซเลกิลีน แจ้งให้แพทย์ทราบในทันทีหากเกิดผลข้างเคียงดังต่อไปนี้ คลื่นไส้ สั่นเทา กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง มีความเปลี่ยนแปลงทางจิตใจหรืออารมณ์ เช่น มองเห็นภาพหลอน มีความฝันที่ผิดปกติ แพทย์อาจจำเป็นต้องเปลี่ยนยาหรือปรับขนาดยา อย่าหยุดใช้ยาหรือเปลี่ยนขนาดของยาเลโวโดปาโดยไม่ปรึกษาแพทย์
โปรดจำไว้ว่าการที่แพทย์ให้คุณใช้ยาตัวนี้ เนื่องจากพิจารณาแล้วว่า ยามีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยง และคนที่ใช้ยานี้ส่วนใหญ่ไม่พบผลข้างเคียงที่ร้ายแรงใดๆ
บางคนที่ใช้ยาเซเลกิลีน อาจเผลอหลับในระหว่างการทำกิจกรรมตามปกติ (เช่น ระหว่างคุยโทรศัพท์หรือขับรถ) ในบางกรณีอาจหลับไปโดยไม่มีอาการง่วงซึมมาก่อน อาการนี้สามารถเกิดขึ้นในเวลาไหนก็ได้ระหว่างที่กำลังใช้ยาเซเลกิลีน แม้ว่าคุณจะใช้ยานี้มาเป็นเวลานานแล้วก็ตาม หากคุณรู้สึกง่วงนอนมากขึ้น หรือเผลอหลับไปในระหว่างวัน อย่าขับรถ หรือทำกิจกรรมที่อาจเป็นอันตราย จนกว่าจะปรึกษากับแพทย์ ความเสี่ยงในการเผลอหลับนี้จะเพิ่มขึ้น หากคุณดื่มสุรา หรือใช้ยาอื่นที่ทำให้เกิดอาการง่วงซึม อ่านเพิ่มเติมในส่วนของข้อควรระวัง
แจ้งให้แพทย์ทราบในทันที หากเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงดังนี้คือ หมดสติ สูญเสียสมดุล มีความเปลี่ยนแปลงทางจิตใจหรืออารมณ์ (เช่น กระวนกระวาย สับสน ซึมเศร้า มองเห็นภาพหลอน) มีแรงกระตุ้นอย่างรุนแรงผิดปกติ (มีความต้องการในการเล่นพนันเพิ่มขึ้น หรือมีแรงกระตุ้นทางเพศเพิ่มขึ้น) อาการกล้ามเนื้อแข็งเกร็งหรือกระตุกรุนแรงขึ้น มีความเปลี่ยนแปลงในสมรรถภาพทางเพศ หรือความสนใจทางเพศ อาการสั่นเทาเพิ่มขึ้น ข้อเท้าหรือเท้าบวม ปัสสาวะลำบาก น้ำหนักเพิ่มขึ้นผิดปกติ มีรอยช้ำหรือเลือดออกง่าย ปัสสาวะสีดำคล้ายยางมะตอย อาเจียนเหมือนกากกาแฟ
ในกรณีหายากยานี้อาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงวิกฤต (hypertensive crisis) ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต มีปฏิกิริยาต่อยาและอาหารมากมายที่สามารถเพิ่มความเสี่ยงนี้ รับการรักษาในทันที หากเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง เช่น ปวดหัวบ่อยครั้งหรือรุนแรง อาการหัวใจเต้นเร็ว ช้า หรือผิดปกติ ปวดหน้าอก คอแข็งเกร็งหรือเจ็บคอ คลื่นไส้อาเจียนอย่างรุนแรง เหงื่อออก ผิวหนังแตกลอก (บางครั้งอาจมีไข้) รูม่านตาขยาย การมองเห็นเปลี่ยนแปลง (เช่น มองเห็นภาพซ้อนหรือมองเห็นไม่ชัด) ตาแพ้แสง
ยานี้อาจเพิ่มระดับของสารเซโรโทนิน และในกรณีหายากอาจทำให้เกิดสภาวะที่รุนแรงมาก อย่างกลุ่มอาการเซโรโทนิน (serotonin syndrome) ความเสี่ยงนี้จะเพิ่มขึ้น หากคุณใช้ยาอื่นที่สามารถเพิ่มระดับของเซโรโทนินได้ แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบ เกี่ยวกับยาทั้งหมดที่คุณใช้ และรับการรักษาในทันที หากเกิดอาการดังต่อไปนี้ มองเห็นภาพหลอน กระสับกระส่ายผิดปกติ ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างสอดประสานกัน หัวใจเต้นเร็ว วิงเวียนอย่างรุนแรง เป็นไข้หาสาเหตุไม่ได้ คลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสียอย่างรุนแรง กล้ามเนื้อกระตุก
การแพ้ยาที่รุนแรงต่อยานี้ ค่อนข้างเกิดขึ้นได้ยาก แต่จำเป็นต้องได้รับการรักษาที่ทันท่วงที อาการของการแพ้รุนแรงมีดังนี้ ผดผื่น คันหรือบวม (โดยเฉพาะบริเวณใบหน้า ลิ้น และลำคอ) วิงเวียนขั้นรุนแรง หายใจติดขัด
ไม่ใช่ทุกคนจะเจอกับผลข้างเคียงเหล่านี้ อาจจะมีอาการอย่างอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ถ้าคุณมีข้อสงสัยใดๆ เกี่ยวกับผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกร
ปฏิกิริยาของยา
ปฏิกิริยากับยาอื่น
ยาที่อาจมีปฏิกิริยากับยานี้ ได้แก่ ยาต้านซึมเศร้า อย่าง บูโพรไพออน (bupropion) มาโพรทิลีน (maprotiline) หรือเมอร์เทซาปีน (mirtazapine) ยาในกลุ่มเอ็มเอโอไออื่นๆ อย่าง ไอโซคาร์โบซาซิด (isocarboxazid) ลีนโซลิด (linezolid) เมทีลีนบลู (methylene blue) โมคลอเบไมด์ (moclobemide) เฟเนลซีน (phenelzine) โพรคาร์เบซีน (procarbazine) ราซาจิลีน (rasagiline) ซาฟินาไมด์ (safinamide) หรือทรานีลไซโพรไมด์ (tranylcypromine) ยากดความอยากอาหาร อย่าง ไดเอทิลโพรไพออน (diethylpropion) ยารักษาโรคสมาธิสั้น (attention deficit disorder) อย่าง อะโทโมเซทีน (atomoxetine) เมทิลเฟนิเดต (methylphenidate) อะพราโคลนิดีน (apraclonidine) บูสพริโรน (buspirone) คาร์บามาเซพีน (carbamazepine) หรือออกซ์คาร์บาเซพีน (oxcarbazepine) ไซโคลเบนซาพรีน (cyclobenzaprine) เดยูเททราเบนาซีน (deutetrabenazine) สมุนไพรบางชนิด อย่างเอเฟดรา (ephedra) หรือมาฮวง (ma huang) ยาแก้หวัดหรือแก้คัดจมูก อย่างฟีนิลเอฟรีน (phenylephrine) ฟีนิลโพรพาโนลามีน (phenylpropanolamine) ซูโดเอฟีดรีน (pseudoephedrine) เฟนทานิล (fentanyl) ยาเสพติด เช่น แอลเอสดี (LSD) เม็สคาลิน (Mescaline) ยากระตุ้น เช่น แอมเฟตามีน (amphetamines) เอฟีดรีน (Ephedrine) อาหารเสริม เช่น ทริปโตเฟน (tryptophan) หรือไทรามีน (tyramine) เตตราเบนาซีน(Tetrabenazine) ยาทริปแทน (triptans) บางชนิดที่ใช้เพื่อรักษาโรคปวดหัวไมเกรน เช่น ไรซาทริปแทน (rizatriptan) ซูมาทริปแทน (sumatriptan) หรือโซลไมทริปแทน (zolmitriptan) วาลเบนาซีน (valbenazine)
ความเสี่ยงในการเกิดกลุ่มอาการเซโรโทนินนั้นจะเพิ่มขึ้น หากคุณใช้ยาที่อาจเพิ่มสารเซโรโทนิน ยกตัวอย่างเช่น ยาเมทิลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีน (MDMA) หรือยาอี (ecstasy) สมุนไพรเซนต์จอห์น (St. John’s wort) เดกซ์โทรเมทอร์แฟน (dextromethorphan) ยาต้านซึมเศร้าบางชนิด (antidepressants) เช่นยาในกลุ่มเอสเอสอาร์ไอ (SSRIs) อย่างฟลูออกซิทีน (fluoxetine) หรือพาร็อกซีทีน (paroxetine) ยาในกลุ่มเอสเอ็นอาร์ไอ (SNRIs) อย่างดูล็อกซีทีน (duloxetine) หรือเวนลาฟาซีน (venlafaxine) ยาในกลุ่มทีซีเอ (TCAs) เช่น อะมิทริปไทลีน (amitriptyline) หรือโดเซพิน (doxepin) ยาแก้ปวดแบบเสพติดบางชนิด (narcotic medications) เช่น เมเพอริดีน (Meperidine) เมทาโดน (Methadone) เพนตาโซซีน (Pentazocine) โพรพอกซิฟีน (propoxyphene) ทรามาดอล (tramadol) ทาเพนทาดอล (tapentadol) และอื่นๆ ความเสี่ยงในการเกิดกลุ่มอาการเซโรโทนินหรือเซโรโทนินเป็นพิษนั้น มักจะเพิ่มขึ้นเมื่อคุณเริ่มใช้ยาหรือเพิ่มขนาดยาเหล่านี้
แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบ หากคุณเคยใช้ยาดังต่อไปนี้ กำลังใช้ หรือใช้ภายใน 2 สัปดาห์ หลังจากการรักษาด้วยยาเซเลกิลีน แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบ หากคุณใช้ฟลูออกซิทีน (fluoxetine) อย่างน้อยภายใน 5 สัปดาห์ ก่อนเริ่มใช้ยาเซเลกิลีน โปรดปรึกษาแพทย์ถึงเวลาที่คุณควรรอก่อนเริ่มหรือหยุดใช้ยาใดๆ แล้วเริ่มใช้ยาเซเลกิลีน
ควรตวรสอบฉลากของยาทั้งหมด (เช่น ยาแก้แพ้ ยาแก้ไอแก้หวัด หรือยาลดความอ้วน) เนื่องจากอาจมีส่วนประกอบของเดกซ์โทรเมทอร์แฟน (dextromethorphan) ยาแก้คัดจมูก (decongestants) หรือยากระตุ้น สอบถามเภสัชกรถึงวิธีใช้ยาเหล่านี้อย่างปลอดภัย
เพื่อป้องกันอาการความดันโลหิตสูงระดับรุนแรงมาก ควรรับประทานอาหารพิเศษที่แพทย์หรือนักโภชนาการแนะนำ เพื่อจำกัดปริมาณการบริโภคสารไทรามีน (tyramine) ขณะที่กำลังใช้ยานี้ ควรหลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่มีสารไทรามีนสูงดังต่อไปนี้ ชีสบ่ม (เช่น บลูชีส เชดด้าชีส หรือพาเมซานชีส) เนื้อหรือไส้กรอกในรูปแบบแห้ง บ่ม หรือหมัก เช่น ซาลามิ หรือลีเวอร์วูสต์ (liverwurst) ปลาหมักดอง เช่น ปลาเฮอร์ริ่งดอง (Pickled herring) ผลิตภัณฑ์ที่ยีสต์ในปริมาณมาก ซุปใสชนิดก้อน (bouillon cubes) ซุปหรือเกรวี่แบบผง ขนมปังทำมือหรือขนมปังซอร์โด (sourdough bread) อาหารหมักดอง เช่น กะหล่ำปลีดอง หรือกิมจิ ผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองส่วนใหญ่ เช่น ซอสถั่วเหลืองหรือเต้าหู้ ถั่วปากอ้า ไวน์แดง เชอรี่ เบียร์สด เหล่าเวอร์มุธ ควรจำกัดปริมาณของอาหารที่มีปริมาณของสารไทรามีนในระดับปานกลาง เช่น อะโวคาโด กล้วย มะเขือม่วง ถั่วเขียว ลูกเกด ราสเบอรี่ พลัมแดง ปวยเล้ง มะเขือเทศ ช็อกโกแลต ผลิตภัณฑ์นมหมัก เช่น บัตเตอร์มิลค์ โยเกิร์ต ซาวด์ครีม ไข่ปลา ปาเต (pate) ถั่วลิสง กาแฟ โคล่า เบียร์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์ เบียร์ขวด สุรากลั่น เหล้าองุ่นแดง ไวน์ขาว โปรดปรึกษาแพทย์หรือนักโภชนาการ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม และรายชื่ออาหารทั้งหมดที่มีส่วนประกอบของสารไทรามีน ที่ควรจำกัดหรือหลีกเลี่ยง รับการรักษาในทันที หากสังเกตเห็นอาการของความดันโลหิตสูงมาก เช่น หัวใจเต้นเร็วหรือช้าผิดปกติ อาเจียน เหงื่อออกหาสาเหตุไม่ได้ ปวดหัว ปวดหน้าอก การมองเห็นเปลี่ยนแปลงกะทันหัน อ่อนแรงที่ด้านหนึ่งของร่างกาย พูดไม่ชัด
ยานี้อาจส่งผลกระทบกับผลการตรวจในห้องทดลองบางอย่าง (รวมถึงการสแกนสมองสำหรับโรคพาร์กินสัน) และอาจทำให้ผลการตรวจเป็นเท็จได้ ควรแจ้งให้บุคลากรในห้องทดลองและแพทย์ทุกคนทราบว่า คุณกำลังใช้ยานี้
ยาเซเลกิลีนอาจเกิดปฏิกิริยากับยาอื่นที่คุณกำลังใช้อยู่ ซึ่งอาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น คุณควรจะบอกแพทย์หรือเภสัชกรของคุณว่าคุณกำลังใช้ยาอะไรอยู่บ้าง (ทั้งยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่ซื้อได้เอง และสมุนไพรต่างๆ) เพื่อความปลอดภัย โปรดอย่าเริ่ม หยุด หรือเปลี่ยนขนาดยาโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากแพทย์
ปฏิกิริยากับอาหารหรือแอลกอฮอล์
ยาเซเลกิลีนอาจมีปฏิกิริยากับอาหารหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
ปฏิกิริยากับอาการโรคอื่น
ยาเซเลกิลีนอาจส่งผลให้อาการโรคของคุณแย่ลง หรือส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา โปรดแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบถึงสภาวะโรคของคุณก่อนใช้ยาเสมอ
ขนาดยา
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษากับแพทย์และเภสัชกรทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม
ขนาดยาเซเลกิลีนสำหรับผู้ใหญ่
ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาโรคพาร์กินสัน (Parkinson’s Disease)
ยาเม็ดสำหรับรับประทาน
- ขนาดยาที่แนะนำ : 5 มก. รับประทานวันละครั้ง
- ขนาดยาสูงสุด : 10 มก. รับประทานวันละครั้ง
ยาเม็ดแบบแตกตัว
- ขนาดยาเริ่มต้น : 1.25 มก. รับประทานหนึ่งครั้งเป็นเวลา 6 สัปดาห์ หลังจาก 6 สัปดาห์อาจเพิ่มขนาดยาไป 2.5 มก. รับประทานหนึ่งครั้งหากจำเป็น
- ขนาดยาปกติ : 1.25-2.5 มก. รับประทานวันละครั้ง
- ขนาดยาสูงสุด : 2.5 มก. รับประทานวันละครั้ง
คำแนะนำ
หลังจากการรักษาสองถึงสามวัน อาจลดขนาดยาที่ใช้ร่วมกันอย่างเลโวโดพา-คาร์ไบโดพาลงไป 10%-30% อาจลดขนาดยาเพิ่มขึ้นในช่วงที่กำลังใช้ยาเซเลกิลีน
การใช้งาน
ใช้เป็นยาเสริมเพื่อจัดการกับโรคพาร์กินสันที่รักษาด้วยเลโวโดพา-คาร์ไบโดพาที่มีการตอบสนองต่อการรักษาลดลง
ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาโรคซึมเศร้า (Depression)
- ขนาดยาเริ่มต้น : แปะยาหนึ่งแผ่นขนาด 6 มก./24 ชั่วโมงที่ผิวหนังบริเวณที่มีอาการหนึ่งครั้งทุกๆ 24 ชั่วโมง
- ขนาดยาปกติ : ยาหนึ่งแผ่นขนาด 6 มก./24 ชั่วโมง ถึง 12 มก./24 ชั่วโมงที่ผิวหนังบริเวณที่มีอาการวันละหนึ่งครั้ง
- ขนาดยาสูงสุด : 12 มก./24 ชั่วโมงที่ผิวหนังบริเวณที่มีอาการวันละหนึ่งครั้ง
คำแนะนำ
- ภาวะซึมเศร้าอาจต้องใช้เวลาในการรักษาด้วยยาอย่างต่อเนื่อง เป็นหลายเดือนขึ้นไป
- อาจจำเป็นต้องปรับขนาดยา ควรเพิ่มในขนาดยา 3 มก./24 ชั่วโมง โดยเว้นระยะอย่างน้อย 2 ชั่วโมง
- ผลในการต้านซึมเศร้าอย่างเต็มที่นั้นอาจล่าช้า
การใช้งาน
เพื่อรักษาโรคซึมเศร้า (major depressive disorder)
การปรับขนาดยาสำหรับไต
ยาเม็ดแบบแตกตัว
- ไตบกพร่องระดับเบาถึงปานกลาง (ค่าครีอะตินีนเคลียรานซ์ [CrCl] 30-89 มล./นาที) : ไม่มีการปรับขนาดยาที่แนะนำ
- ไตบกพร่องระดับรุนแรงและไตวายระยะสุดท้าย (ค่าครีอะตินีนเคลียรานซ์น้อยกว่า 30 มล./นาที) : ไม่แนะนำการใช้
แผ่นแปะยาซึมผ่านผิวหนัง
- ไตบกพร่องระดับเบาถึงรุนแรง (ค่าครีอะตินีนเคลียรานซ์ 15-89 มล./นาที/1.73 ลบ.ม.) : ไม่มีการปรับขนาดยาที่แนะนำ
- ไตวายระยะสุดท้าย (ค่าครีอะตินีนเคลียรานซ์น้อยกว่า 15 มล./นาที/1.73 ลบ.ม.) : ไม่มีข้อมูล
การปรับขนาดยาสำหรับตับ
ยาเม็ดแบบแตกตัว
- ตับบกพร่องระดับเบาถึงปานกลาง (ค่า Child-Pugh 5-9) : 1.25 มก. รับประทานวันละครั้ง
- ตับบกพร่องระดับรุนแรง (ค่าไชด์พิวมากกว่า 9) : ไม่แนะนำการใช้
แผ่นแปะยาซึมผ่านผิวหนัง
- ตับบกพร่องระดับเบาถึงปานกลาง (ค่าไชด์พิว 5 ถึง 9) : ไม่แนะนำการปรับขนาดยา
คำแนะนำ
คำแนะนำการใช้ยา
- ยาเม็ดแบบรับประทาน : ควรรับประทานยาพร้อมกับอาหารมื้อเช้าและมื้อกลางวัน
- ยาเม็ดแตกตัวแบบรับประทาน : ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหรือน้ำเป็นเวลา 5 นาทีก่อนและหลังจากรับประทานยา
- แผ่นแปะยาซึมผ่านผิวหนัง : ควรทำตามแนวทางการใช้ยา ควรแปะแผ่นยาลงบนผิวที่แห้งและไม่มีแผลที่บริเวณต้นแขน ต้นขา หรือส่วนนอกของแขน ควรเปลี่ยนพื้นที่แปะยาเรื่อยๆ และหลีกเลี่ยงการแปะยาลงบนตำแหน่งเดิมซ้ำติดต่อกัน
การเก็บรักษา
ยาเม็ดแตกตัวแบบรับประทาน : เมื่อแกะห่อแล้ว ยาเม็ดที่ยังไม่ได้ใช้ควรกำจัดภายใน 3 เดือน
ทั่วไป
- ควรมีการประเมินการรักษาเป็นระยะ
- ยานี้สามารถทำปฏิกิริยากับยาอื่นได้ ผู้สั่งยาควรระมัดระวังถึงโอกาสในการเกิดปฏิกิริยา ควรมีช่วงพักระหว่างการหยุดใช้ยาเซเลกิลีนแล้วเริ่มใช้ยาอื่นและหยุดใช้ยาอื่นแล้วเริ่มใช้ยาเซเลกิลีน
- ควรมีการปรับเปลี่ยนอาหารสำหรับผู้ป่วยที่ใช้ยาเซเลกิลีนทั้งแบบรับประทานหรือแผ่นแปะยา 9 มก./24 ชั่วโมง หรือ 12 มก./24 ชั่วโมง ควรหลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่อุดมด้วยสารไทรามีนใช่ร่วงแรกของการรักษาด้วย แผ่นแปะยา 9 มก./24 ชั่วโมง หรือ 12 มก./24 ชั่วโมง และ 2 สัปดาห์หลังจากลดขนาดยาลงมาที่ 6 มก./24 ชั่วโมง หรือหลังจากหยุดใช้แผ่นแปะยาที่ขนาดสูงกว่านั้น สามารถรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีสารไทรามีนอยุ่เล็กน้อยจนถึงไม่มีเลย ควรมีการศึกษาข้อมูลผลิตภัณฑ์จากผู้ผลิต
การเฝ้าระวัง
- หัวใจและหลอดเลือด : ความดันโลหิต ภาวะความดันโลหิตสูงวิกฤตเนื่องจากสารไทรามีน
- ระบบประสาท : อาการยึกยือ (dyskinesia) กำเริบ (หากใช้ร่วมกับยาเลโวโดพา)
- มะเร็ง : มะเร็งผิวหนังเมลาโนมา (Melanoma)
- จิตเวช : แรงกระตุ้นผิดปกติ (Impulse disorders) เผลอหลับระหว่างการทำกิจกรรมตามปกติ อาการง่วงนอนมากเกินไปในช่วงกลางวัน ภาวะซึมเศร้าฉุกเฉินหรือรุนแรงขึ้น มีความคิดหรือพฤติกรรมอยากฆ่าตัวตาย หรือ มีความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์หรือพฤติกรรมที่ผิดปกติ
คำแนะนำสำหรับผู้ป่วย
- แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาทั้งหมดที่คุณใช้ ทั้งยาตามใบสั่งยาและยาที่หาซื้อเอง
- ยานี้อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดความคิดหรือพฤติกรรมอยากฆ่าตัวตาย ควรตื่นตัวต่ออาการฉุกเฉินหรือรุนแรงขึ้นของภาวะซึมเศร้า ความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์หรือที่ผิดปกติ หรือความคิดหรือพฤติกรรมอยากฆ่าตัวตายอย่างฉุกเฉิน หรือความคิดอยากทำร้ายตัวเอง ควรแจ้งพฤติกรรมที่น่าเป็นห่วงให้แพทย์ทราบในทันที
- มีรายงานเกี่ยวกับผู้ป่วยที่มีแรกกระตุ้นในการพนันอย่างรุนแรง มีแรงกระตุ้นทางเพศเพิ่มขึ้น และแรงกระตุ้นที่รุนแรงอื่นๆ และการขาดความสามารถในการควบคุมแรงกระตุ้นขณะที่กำลังใช้ยาหนึ่งชนิดขึ้นไปเพื่อรักษาโรคพาร์กินสัน ควรมีการตื่นตัวถึงแรงกระตุ้นฉุกเฉินเหล่านี้และแจ้งพฤติกรรมที่น่าเป็นห่วงให้แพทย์ทราบในทันที
- ควรหลีกเลี่ยงอาหาร เครื่องดื่ม และอาหารเสริมที่อุดมไปด้วยสารไทรามีนเมื่อใช้แผ่นแปะยาขนาด 9 มก./24 ชั่วโมง หรือ 12 มก./24 ชั่วโมง
- ติดต่อแพทย์ในทันทีหากเกิดอาการปวดหัวอย่างรุนแรง คอแข็งเกร็ง หัวใจเต้นเร็วหรือรัว หรือมีอาการผิดปกติเฉียบพลันอื่นๆ
- ควรหลีกเลี่ยงการให้บริเวณที่แปะยาเซเลกิลีนไปสัมผัสกับแหล่งความร้อนภายนอก เช่น แผ่นทำความร้อน ผ้าห่มไฟฟ้า โคมไฟทำความร้อน ซาวน่า อ่างอาบน้ำร้อน เตียงน้ำอุ่น และการอยู่ใต้แสงแดดโดยตรงเป็นเวลานาน
- ยานี้อาจทำให้เกิดอาการง่วงซึม ลดความสามารถในการตัดสินใจ การคิด และการใช้เครื่องจักร อย่าขับรถหรือใช้เครื่องจักรจนกว่าจะทราบว่ายาส่งผลต่อคุณอย่างไร ติดต่อแพทย์หากมีอาการง่วงซึมในตอนกลางวันหรือเผลอหลับระหว่างกำลังทำกิจกรรมที่จำเป็นต้องมีส่วนร่วม (เช่นการรับประทานอาหาร)
- ไม่แนะนำให้ใช้ยาพร้อมกับการดื่มสุรา
ขนาดยาเซเลกิลีนสำหรับเด็ก
ยังไม่มีการพิสูจน์ความความปลอดภัยและประสิทธิภาพของขนาดยานี้สำหรับผู้ป่วยเด็ก ยานี้อาจเป็นอันตรายต่อเด็กได้ ดังนั้น จึงควรทำความเข้าใจกับความปลอดภัยของยาก่อนการใช้ยา สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมโปรดติดต่อกับแพทย์หรือเภสัชกร
รูปแบบของยา
ความแรงและรูปแบบของยามีดังนี้
- ยาเม็ดสำหรับรับประทาน
- ยาเม็ดสำหรับรับประทานแบบแตกตัว
- ยาแคปซูล
- ยาผงผสม
- แผ่นฟิล์มแปะผิวหนังแบบออกฤทธิ์นาน
กรณีฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด
หากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด ควรแจ้งเหตุฉุกเฉินหรือนำส่งห้องฉุกเฉินใกล้บ้านโดยทันที
กรณีลืมใช้ยา
หากคุณลืมใช้ยาควรรีบใช้ในทันทีที่นึกได้ หรือถ้าหากใกล้ถึงเวลาใช้ยาครั้งต่อไป ให้ข้ามรอบไปใช้ยาตามตารางปกติได้เลย ไม่ควรเพิ่มปริมาณยา
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำทางการแพทย์ การวินิจฉัยโรคหรือการรักษาโรคแต่อย่างใด
[embed-health-tool-bmi]