backup og meta

โบรโมคริปทีน (Bromocriptine)

ข้อบ่งใช้

ยา โบรโมคริปทีน ใช้สำหรับ

ยา โบรโมคริปทีน (Bromocriptine) ใช้เพียงอย่างเดียว หรือใช้ร่วมกับยาอื่น เช่น ยาลีโวโดพา (levodopa) เพื่อรักษาโรคพาร์กินสัน ยานี้ทำให้ความสามารถของคุณ ในการเคลื่อนไหวร่างกายดีขึ้น และลดอาการสั่น ความเมื่อยล้า การเคลื่อนไหวที่ช้าลง และการทรงตัวไม่ได้ นอกจากนี้ยังช่วยลดจำนวนระยะเวลาที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้

นอกจากนี้ ยา โบรโมคริปทีน ยังใช้เพื่อรักษาอาการผิดปกติเกี่ยวกับฮอร์โมน ที่เกิดจากปริมาณสารเคมีชนิดหนึ่งในระดับสูงที่ร่างกายสังเคราะห์ขึ้น (โพรแล็กติน) อาการผิดปกติดังกล่าว ได้แก่ มีน้ำนมในปริมาณมากเกินไป ประจำเดือนเว้นระยะ/หยุด ตั้งครรภ์ได้ยาก การผลิตเชื้ออสุจิลดลง และสมรรถภาพทางเพศลดลง เนื่องจากผลข้างเคียงรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ (เช่น ความดันโลหิตสูง อาการชัก ภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน โรคหลอดเลือดสมอง) ไม่แนะนำให้ใช้ยาโบรโมคริปทีนสำหรับหยุดการสร้างน้ำนม หลังจากตั้งครรภ์หรือการแท้ง

นอกจากนี้ ยาโบรโมคริปทีนยังใช้เพียงตัวเดียว หรือใช้ร่วมกับยาอื่น เพื่อลดระดับฮอร์โมน ที่ทำให้กระดูกในร่างกายเติบโตเกินปกติ (acromegaly) นอกจากนี้ยังใช้เพื่อรักษาเนื้องอกที่หลั่งโพรแล็กติน ยาโบรโมคริปทีนอาจใช้เพื่อลดขนาดเนื้องอก ก่อนการผ่าตัด หรือใช้เพื่อควบคุมอาการจนกว่ายาอื่นๆ จะเริ่มออกฤทธิ์

ยาโบรโมคริปทีนเป็นยาในกลุ่มเออร์กอต (ergot) ที่ออกฤทธิ์โดยการช่วยฟื้นฟูความสมดุลของสารตามธรรมชาติประเภทหนึ่ง (โดพามีน) ในสมอง อีกทั้งยังช่วยป้องกันการหลั่งของฮอร์โมนบางชนิด (โกรทฮอร์โมน โพรแล็กติน) โบรโมคริปทีนสามารถช่วยลดระดับฮอร์โมนเหล่านี้ได้ แต่ไม่สามารถจัดการที่ต้นเหตุของระดับฮอร์โมนที่สูงขึ้นได้

การใช้อื่นๆ มีดังนี้

โบรโมคริปทีนเป็นยากลุ่มเออร์กอต ที่เชื่อกันว่าทำให้การทำงานของอินซูลินในร่างกายดีขึ้น ซึ่งช่วยให้การควบคุมน้ำตาลในเลือดดีขึ้น

การควบคุมน้ำตาลที่สูงในเลือด ช่วยป้องกันความเสียหายที่เกิดกับไต อาการตาบอด อาการทางประสาท การสูญเสียแขนขา และปัญหาสุขภาวะทางเพศ การควบคุมโรคเบาหวานที่เหมาะสม ยังอาจช่วยลดความเสี่ยงของภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือโรคหลอดเลือดสมองได้อีกด้วย

วิธีการใช้

ใช้ยา โบรโมคริปทีน โดยการรับประทานพร้อมอาหาร ตามปกติ 1-2 ครั้งต่อวัน หรือตามที่แพทย์สั่ง แพทย์อาจเริ่มการรักษาในขนาดยาที่ต่ำ แล้วจึงค่อยๆ เพิ่มขนาดยาขึ้น เพื่อหาขนาดยาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ โบรโมคริปทีนมักทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ โดยเฉยาะอย่างยิ่งหลังจากใช้ยาครั้งแรก ให้นอนลงทันทีหลังจากใช้ยาครั้งแรก เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอันตรายจากการหกล้ม

ขนาดยาขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของคุณ อาการที่กำลังรักษา และการตอบสนองต่อยา

ให้ใช้ยาโบรโมคริปทีนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อได้รับประโยชน์สูงสุด เพื่อช่วยให้สามารถจดจำการใช้ยา ให้ใช้ในเวลาเดิมทุกวัน

สำหรับการรักษาโรคพาร์กินสัน แพทย์จะปรับขนาดยาตามอาการ และผลข้างเคียง แพทย์อาจสั่งให้คุณลดขนาดยาเลโวโดพา (levodopa) ลงหลังจากใช้ยาโบรโมคริปทีน ห้ามเปลี่ยนหรือหยุดยาโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน

สำหรับโพรแล็กตินในระดับที่สูง อาจใช้เวลา 6-8 สัปดาห์เพื่อให้ผลของโพรแล็กตินในปริมาณที่สูงลดลง อาจใช้เวลาถึง 12 เดือน ก่อนได้รับประโยชน์ที่เต็มที่จากการใช้ยานี้

สำหรับภาวะที่กระดูกมีการเจริญเติบโตมากเกินไป จนทำให้ร่างกายใหญ่โตกว่าปกติ แพทย์จะเฝ้าดูระดับโกรทฮอร์โมนของคุณ และปรับขนาดยา

ห้ามหยุดใช้ยานี้โดยที่แพทย์ไม่อนุญาต หากคุณหยุดใช้ยานี้ทันที ปฏิกิริยาจากการหยุดยาอาจเกิดขึ้น ปฏิกิริยาดังกล่าวได้แก่ อาการไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และสับสน มึนงง ให้แจ้งอาการดังกล่าวให้แพทย์ทราบทันที เมื่อหยุดการรักษาที่ขยายเวลา หรือการรักษาโดยใช้ยานี้ตามปกติ การลดขนาดยาทีละน้อยตามที่แพทย์สั่ง จะช่วยป้องกันการเกิดปฏิกิริยาจากการหยุดยา ให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

ให้แจ้งแพทย์หากอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง

การเก็บรักษา

การเก็บรักษายาโบรโมคริปทีนที่ดีที่สุด ควรเก็บไว้ในอุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากแสงโดยตรงและความชื้น เพื่อป้องกันการเสื่อมสภาพของยา ไม่ควรเก็บยาโบรโมคริปทีนไว้ในห้องน้ำหรือช่องแช่แข็ง ยาโบรโมคริปทีนมีหลากหลายยี่ห้อ ซึ่งมีวิธีการเก็บรักษาที่แตกต่างกัน เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องตรวจสอบวิธีการเก็บรักษาที่ระบุไว้ในบรรจุภัณฑ์ หรือสอบถามจากเภสัชกร เพื่อความปลอดภัย คุณควรเก็บยาทั้งหมดให้ห่างจากเด็กหรือสัตว์เลี้ยง

คุณไม่ควรทิ้งยาโบรโมคริปทีนลงในโถส้วม หรือในท่อระบายน้ำ เว้นแต่จะได้รับคำแนะนำให้ทำเช่นนั้น สิ่งสำคัญคือต้องกำจัดยาอย่างเหมาะสม เมื่อหมดอายุหรือไม่ใช้งานแล้ว ให้ปรึกษาเภสัชกรสำหรับรายละเอียดเพิ่มเติม เกี่ยวกับวิธีการกำจัดยาอย่างปลอดภัย

ข้อควรระวังและคำเตือน

ข้อควรรู้ก่อนใช้

ก่อนใช้ยา โบรโมคริปทีน

  • ให้แจ้งแพทย์หรือเภสัชกรหากคุณแพ้ยาโบรโมคริปทีน ยากลุ่มเออร์กอตแอลคาลอยด์ (ergot alkaloids) เช่น ยาเคเบอร์โกลีน (cabergoline) อย่าง เดอสทิเนกซ์ (Dostinex), ยาไดไฮโดรเออร์โกทามีน (dihydroergotamine) อย่าง ยาดีเอชอี 45 (D.H.E. 45), ไมเกรนอล (Migranal), ยาเออร์กาลอยด์เมไซเลท (ergoloid mesylates) อย่าง เจอร์มินอล (Germinal) หรือ ไอเดอร์จีน (Hydergine), ยาเออร์โกโนวีน (ergonovine) อย่าง เออร์โกเทรท (Ergotrate), ยาเออร์โกทามีน (ergotamine) อย่าง เบลเลอร์กอล-เอส (Bellergal-S), เคเฟอร์กอท (Cafergot), เออร์โกมาร์ (Ergomar) หรือไวเกรน (Wigraine), ยาเมทิลเออร์โกโนวีน (methylergonovine) อย่าง เมเทอร์จีน (Methergine), ยาเมไทเซอร์ไจด์ (methysergide) อย่าง แซนเซิร์ท (Sansert) และยาเพอร์โกไลด์ (pergolide) อย่างเพอร์แม็กซ์ (Permax) ยาอื่นๆ หรือส่วนประกอบใดๆ ในยาโบรโมคริปทีนในรูปแบบยาเม็ดหรือแคปซูล ให้ปรึกษาเภสัชกรสำหรับรายการส่วนประกอบดังกล่าว
  • ให้แจ้งแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับยาชนิดอื่นๆ ที่แพทย์สั่ง หรือยาที่ซื้อมาใช้เอง วิตามิน อาหารเสริม และยาสมุนไพรที่คุณกำลังใช้หรือวางแผนจะใช้ ให้มั่นใจว่าได้แจ้งเกี่ยวกับยาดังต่อไปนี้ ได้แก่ ยาอะมิทริปไทลีน (amitriptyline) อย่าง เอลาวิล (Elavil), ยาต้านเชื้อรา เช่น ยาไอทราโคนาโซล (itraconazole) อย่าง สปอราน็อกซ์ (Sporanox) และยาคีโตโคนาโซล (ketoconazole) อย่างเช่น ไนโซรัล (Nizoral) ยาแก้แพ้ (antihistamines), ยาคลอแรมเฟนิคอล (chloramphenicol), ยาเดกซาเมทาโซน (dexamethasone) อย่างเดคาดรอน (Decadron) หรือเดกซ์แพค (Dexpak), ยากลุ่มโดพามีนอะโกนิสต์ (dopamine agonists) เช่น ยาเคเบอร์โกลีน (cabergoline) อย่าง ดอสทิเนกซ์ (Dostinex), ยาเลโวโดพา (levodopa) อย่างโดพาร์ (Dopar) หรือลาโรโดพา (Larodopa), ยาเพอร์โกไลด์ (pergolide) อย่างเพอร์แมกซ์ (Permax), และยาโรพินิโรล (ropinirole) อย่าง รีควิป (Requip) กลุ่มยาเออร์กอต เช่น ยาไดไฮโดรเออร์โกทามีน (dihydroergotamine) อย่างดีเอชอี 45 (D.H.E. 45) หรือไมเกรนอล (Migranal), ยาเออร์โกลอยด์เมไซเลท (ergoloid mesylates) อย่าง เจอร์มินอล (Germinal) หรือไฮเดอร์จีน (Hydergine), ยาเออร์โกโนวีน (ergonovine) อย่าง เออร์โกเทรท (Ergotrate), ยาเออร์โกทามีน (ergotamine) อย่าง เบลเลอร์กอล-เอส (Bellergal-S) หรือเคเฟอร์กอท (Cafergot), ออร์โกมาร์ (Ergomar) หรือไวเกรน (Wigraine), ยาเมทิลเออร์โกโนวีน (methylergonovine) อย่าง เมเทอร์จีน (Methergine), และยาเมไทเซอร์ไจด์ (methysergide) อย่าง แซนเซิร์ท (Sansert), ยาฮาโลเพริดอล (haloperidol) อย่างฮาลดอล (Haldol), ยาอิมิพรามีน (imipramine) อย่าง โทฟรานิล (Tofranil), อินซูลิน, กลุ่มยาปฏิชีวนะแมคโครไลด์ (macrolide antibiotics) เช่น ยาคลาริโทรไมซิน (clarithromycin) อย่าง ไบแอ็กซิน (Biaxin) และยาเพรฟแพค (in PrevPac) และยาอีรีโทรไมซิน (erythromycin) อย่าง อีอีเอส (E.E.S.), อีไมซิน (E-Mycin) หรือ อีรีโทรซิน (Erythrocin), ยาบางชนิดสำหรับการรักษาการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) หรือโรคเอดส์ (AIDS) เช่น ยาอินดิเนเวียร์ (indinavir) อย่าง คริซิแวน (Crixivan), ยาเนลฟิเนเวียร์ (nelfinavir) อย่าง ไวราเซปต์ (Viracept), และยาไรโทเนเวียร์ (ritonavir) อย่าง นอร์เวียร์ (Norvir) หรือ คาเลทรา (Kaletra), ยารับประทานสำหรับรักษาเบาหวาน, ยาสำหรับรักษาหอบหืด, หวัด, ความดันโลหิตสูง, ปวดศีรษะไมเกรน และอาการคลื่นไส้ ยาสำหรับรักษาอาการทางจิต เช่น ยาโคลซาพีน (clozapine) อย่าง โคลซาริล (Clozaril) หรือฟาซาโคล (FazaClo), ยาโอลันเซพีน (olanzapine) อย่าง ไซเพรซา (Zyprexa), หรืออิซิมไบแอกซ์ (in Symbyax), ยาไทโอทิซีน (thiothixene) อย่าง เนเวน (Navane) และยาไซพราซิโดน (ziprasidone) อย่าง เจโอดอน (Geodon), ยาเมทิลโดพา (methyldopa) อย่าง แอลโดริล (in Aldoril), ยาเมโทโคลพาไมด์ (metoclopramide) อย่าง เรกลัน (Reglan), ยาเนฟาโซโดน (nefazodone), ยาอ็อกทรีโอไทด์ (octreotide) อย่าง แซนโดสเตติน (Sandostatin), ยาไพโมไซด์ (pimozide) อย่าง โอแร็ป (Orap), ยาโพรเบเนซิด (probenecid) อย่าง คอล-โพรเบเนซิด (Col-Probenecid) หรือโพรบาลัน (Probalan), ยาเรเซอร์พีน (reserpine), ยาไรแฟมพิน (rifampin) อย่างไรฟาดิน (Rifadin), ไรฟาเมท (Rifamate), ไรฟาเทอร์ (Rifater), หรือ ไรแมคเทน (Rimactane), และยาซูเมทริปแทน (sumatriptan) อย่าง อิมิเทรกซ์ (Imitrex) แพทย์อาจจำเป็นต้องเปลี่ยนขนาดยาหรือเฝ้าระวังผลข้างเคียงอย่างระมัดระวัง ยาอื่นจำนวนมากอาจมีปฏิกิริยากับยาโบรโมคริปทีนด้วยเช่นกัน ดังนั้น ให้มั่นใจว่าได้แจ้งแพทย์ให้ทราบเกี่ยวกับยาทั้งหมดที่คุณกำลังใช้อยู่ รวมถึงยาที่ไม่ได้อยู่ในรายการข้างต้นนี้ด้วย
  • ให้แจ้งแพทย์หากคุณมีความดันเลือดสูง หรือปวดศีรษะไมเกรน ที่ทำให้เกิดอาการหน้ามืด แพทย์อาจสั่งไม่ให้ใช้ยาโบรโมคริปทีน
  • ให้แจ้งแพทย์หากคุณคลอดบุตรเมื่อไม่นานมานี้ หากเคยมีอาการหน้ามืด และมีหรือเคยมีภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หัวใจเต้นเร็วหรือช้า หรือผิดจังหวะ อาการป่วยทางจิต ความดันเลือดต่ำ แผลเปื่อย มีเลือดออกในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ กลุ่มอาการเรเนาด์ (Raynaud’s syndrome) หรือภาวะที่มือและเท้ามีอาการชาและเย็นเมื่อสัมผัสกับอุณหภูมิต่ำ โรคเกี่ยวกับหัวใจ ไต หรือตับ หรืออาการใดๆ ที่ส่งผลต่อการย่อยอาหารที่ประกอบด้วยน้ำตาล แป้ง หรือผลิตภัณฑ์จากนม
  • ให้แจ้งแพทย์ หากคุณตั้งครรภ์ หรือวางแผนที่จะตั้งครรภ์ หากคุณใช้ยาโบรโมคริปทีน อย่างพาร์โรเดล (Parlodel) เพื่อรักษาภาวะขาดประจำเดือน และภาวะมีบุตรยากที่เกิดจากภาวะระดับโปรแลคตินสูง (hyperprolactinemia) ให้ใช้วิธีการคุมกำเนิดอื่น แทนการใช้ยาคุมกำเนิดที่มีส่วนผสมของฮอร์โมน (ยาเม็ดคุมกำเนิด แผ่นแปะคุมกำเนิด ห่วงคุมกำเนิด หรือยาฉีดคุมกำเนิด) จนกว่าคุณมีรอบเดือนเป็นปกติ แล้วหยุดการใช้วิธีการคุมกำเนิด คุณควรเข้ารับการตรวจการตั้งครรภ์หนึ่งครั้งทุกๆ 4 สัปดาห์ ตราบเท่าที่คุณยังไม่มีรอบเดือนตามปกติ ทันทีรอบเดือนกลับคืนมา คุณควรเข้ารับการตรวจการตั้งครรภ์ เมื่อใดก็ตามที่รอบเดือนของคุณล่าช้าไป 3 วัน หากคุณไม่ต้องการตั้งครรภ์ ให้ใช้วิธีการคุมกำเนิดอื่น แทนการใช้ยาคุมกำเนิดที่มีส่วนผสมของฮอร์โมน ในขณะที่ใช้ยาโบรโมคริปทีน หากคุณตั้งครรภ์ในระหว่างที่ใช้ยาโบรโมคริปทีน ให้หยุดใช้ยาและติดต่อแพทย์
  • ห้ามให้นมบุตรในขณะที่ใช้ยาโบรโมคริปทีน
  • หากคุณเข้ารับการผ่าตัด รวมถึงการผ่าตัดทางทันตกรรม ให้แจ้งแพทย์หรือทันตแพทย์ว่าคุณกำลังใช้ยาโบรโมคริปทีน อย่างยาไซโคลเซท (Cycloset)
  • คุณควรตระหนักว่า ยาโบรโมคริปทีนอาจทำให้คุณมีอาการง่วงซึม และทำให้คุณหลับได้ทันที ห้ามขับรถ หรือใช้งานเครื่องจักร จนกว่าจะได้ทราบว่ายานี้มีผลอย่างไรต่อคุณ
  • ให้ปรึกษาแพทย์ เกี่ยวกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างปลอดภัย ในระหว่างใช้ยาโบรโมคริปทีน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจทำให้ผลข้างเคียงจากการใช้ยาโบรโมคริปทีนมีอาการแย่ลง
  • คุณควรตระหนักว่า ยาโบรโมคริปทีนอาจทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ คลื่นไส้ เหงื่อออก และหน้ามืด เมื่อคุณลุกขึ้นยืนจากท่านอนอย่างรวดเร็ว อาการดังกล่าวมักพบได้บ่อยเมื่อคุณเริ่มใช้ยาโบรโมคริปทีนเป็นครั้งแรก หรือเมื่อเพิ่มขนาดยา เพื่อหลีกเลี่ยงอาการดังกล่าว ให้ลุกจากเตียงนอนอย่างช้าๆ โดยวางเท้าลงบนพื้นสักครู่ก่อนลุกขึ้นยืน
  • ให้ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับข้อควรปฏิบัติหากคุณมีอาการป่วย มีอาการติดเชื้อหรืออาการไข้ มีความเครียดผิดปกติ หรือได้รับบาดเจ็บ อาการเหล่านี้อาจส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด และปริมาณยาโบรโมคริปทีนที่คุณต้องใช้

ความปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

ยังไม่มีงานวิจัยที่น่าเชื่อถือเพียงพอ เกี่ยวกับความเสี่ยงในสตรีที่ใช้ยาโบรโมคริปทีน ในช่วงการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อเปรียบเทียบประโยชน์และความเสี่ยงของการใช้ยาก่อนการใช้ยานี้ ยาโบรโมคริปทีนจัดอยู่ในประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อสตรีมีครรภ์ ประเภท B โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA)

การจัดประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อสตรีมีครรภ์โดย FDA มีดังนี้

  • A=ไม่มีความเสี่ยง
  • B=ไม่พบความเสี่ยงในการวิจัยบางชิ้น
  • C=อาจจะมีความเสี่ยง
  • D=มีหลักฐานแสดงถึงความเสี่ยง
  • X=ห้ามใช้
  • N=ไม่ทราบแน่ชัด

ผลข้างเคียง

ผลข้างเคียง

ผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไป ได้แก่ ปวดศีรษะเล็กน้อย เวียนศีรษะ รู้สึกเหนื่อย ง่วงซึมเล็กน้อย คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ไม่อยากอาหาร ท้องเสีย ท้องผูก รู้สึกเย็นหรือชาที่นิ้วมือ ปากแห้ง หรือคัดจมูก

ให้เข้ารับการรักษาฉุกเฉิน หากคุณมีอาการแพ้ยา ได้แก่ ลมพิษ หายใจลำบาก อาการบวมที่ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น หรือคอ

ให้หยุดใช้ยานี้และติดต่อแพทย์ทันที หากคุณมีอาการข้างเคียงที่รุนแรง ได้แก่

  • ปัญหาด้านการมองเห็น มีน้ำมูกไหลไม่หยุด
  • เจ็บหน้าอก อาการเจ็บในขณะหายใจ หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว รู้สึกหายใจลำบาก (โดยเฉพาะเวลานอน)
  • ปวดหลัง อาการบวมที่ข้อเท้าหรือเท้า ปัสสาวะน้อยกว่าปกติ หรือไม่ปัสสาวะ
  • มึนงง ประสาทหลอน รู้สึกเหมือนจะหมดสติ
  • ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ (ปวดศีรษะ หิว อ่อนเพลีย เหงื่อออก สั่น กระสับกระส่าย ไม่มีสมาธิ)
  • ไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อได้ สูญเสียสมดุลหรือการทำงานประสานกันของร่างกาย
  • อุจจาระมีเลือดปนหรือมีสีคล้ำ ไอเป็นเลือด หรืออาเจียนคล้ายผงกาแฟ หรือ
  • ความดันโลหิตสูงอย่างเป็นอันตราย (ปวดศีรษะอย่างรุนแรง มองเห็นไม่ชัด ได้ยินเสียงในหู วิตกกังวล สับสนมึนงง เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ มีอาการชัก)

อาการข้างเคียงที่รุนแรงน้อยกว่า ได้แก่

  • เวียนศีรษะ รู้สึกโลกหมุน ง่วงซึมเล็กน้อย รู้สึกเหนื่อย
  • ปวดศีรษะเล็กน้อย อารมณ์ซึมเศร้า มีปัญหาเกี่ยวกับการนอน (นอนไม่หลับ)
  • ปากแห้ง คัดจมูก
  • ท้องไส้ปั่นป่วน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ขาดความอยากอาหาร ท้องร่วง ท้องผูก หรือ
  • รู้สึกเย็นหรือชาที่นิ้วมือ

ไม่ใช่ทุกคนจะเจอกับผลข้างเคียงเหล่านี้ และอาจจะมีอาการอย่างอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น หากคุณมีข้อสงสัยใดๆ โปรดปรึกษากับแพทย์

ปฏิกิริยาของยา

ปฏิกิริยากับยาอื่น

ยา โบรโมคริปทีน อาจเกิดอันตรกิริยากับยาชนิดอื่นที่คุณใช้อยู่ ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงสำหรับอาการข้างเคียงที่รุนแรงขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงปฏิกิริยาของยาที่อาจเกิดขึ้น คุณควรทำรายการยาที่ใช้อยู่ทั้งหมด (ยาที่สั่งโดยแพทย์ ยาที่ไม่ได้สั่งโดยแพทย์ และยาสมุนไพร) และแจ้งแก่แพทย์หรือเภสัชกร เพื่อความปลอดภัยของคุณ ห้ามเริ่ม หยุด หรือเปลี่ยนขนาดยาใดๆ โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากแพทย์

ถึงแม้ว่ายาบางชนิดไม่ควรมีการใช้ร่วมกัน แต่ในผู้ป่วยรายอื่น การใช้ยาต่างชนิดกันสองชนิดอาจถูกใช้ร่วมกันได้ ถึงแม้ว่าอาจมีปฏิกิริยาเกิดขึ้น ในกรณีนี้ แพทย์อาจเปลี่ยนขนาดยา หรืออาจต้องคำนึงถึงข้อควรระวังที่สำคัญอื่นๆ ในการใช้ยา เมื่อคุณใช้ยานี้ เป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่แพทย์ต้องทราบ ถ้าคุณกำลังใช้ยาตามที่ระบุข้างล่างนี้ ปฏิกิริยาระหว่างยาดังกล่าวได้ถูกเลือกบนพื้นฐานของศักยภาพที่มีนัยสำคัญของยา และไม่ใช่ว่าจะหลีกเลี่ยงไม่ได้

ไม่แนะนำให้ใช้ยานี้พร้อมกับยาดังต่อไปนี้ แพทย์อาจตัดสินใจไม่รักษาคุณด้วยยานี้หรือเปลี่ยนการใช้ยาชนิดอื่นๆ

  • ยาเอเลทริปแทน (Eletriptan), ยาโฟรวาทริปแทน (Frovatriptan), ยานาราทริปแทน (Naratriptan), ยาเฟเนลซีน (Phenelzine), ยาไรซาทริปแทน (Rizatriptan), ยาซูมาทริปแทน (Sumatriptan)

ไม่แนะนำให้ใช้ยานี้พร้อมกับยาดังต่อไปนี้ แต่อาจจำเป็นในผู้ป่วยบางราย หากสั่งยาทั้งสองชนิดพร้อมกัน แพทย์อาจเปลี่ยนขนาดยา หรือความถี่ในการใช้ยาชนิดเดียว หรือทั้งสองชนิด

  • ยาแอลโมทริปแทน (Almotriptan), ยาอะม็อกซาพีน (Amoxapine), ยาคาร์บาเมเซพีน (Carbamazepine), ยาเซริทินิบ (Ceritinib), ยาโคลมิเพรมีน (Clomipramine), ยาโคบิซิสแทท (Cobicistat), ยาไครโซทินิบ (Crizotinib), ยาเดบราเฟนิบ (Dabrafenib), ยาไดไฮโดรเออร์โกทามีน (Dihydroergotamine), ยาซลิคาร์บาเซพีนอะซีเตท (slicarbazepine Acetate), ยาไอเดลาลิซิบ (Idelalisib), ยาอินดิเนเวียร์ (Indinavir), ยาไอโซคาร์บ็อกซาซิด (Isocarboxazid), ยาไอโซเมเทปทีน (Isometheptene), ยาไอทราโคนาโซล (Itraconazole), ยาคีโตโคนาโซล (Ketoconazole), ยาไลเนโซลิด (Linezolid), ยาเมโทโคลพาไมด์ (Metoclopramide), ยาไมโทเทน (Mitotane), ยาเนฟาโซโดน (Nefazodone), ยาเนลฟิเนเวียร์ (Nelfinavir), ยาไนโลทินิบ (Nilotinib), ยาฟีนิลโพรพาโนลามีน (Phenylpropanolamine), ยาไพเพราควีน (Piperaquine), ยาไพรมิโดน (Primidone), ยาโพรคาร์เบซีน (Procarbazine), ยาราซาจิลีน (Rasagiline), ยาไรโทเนเวียร์ (Ritonavir), ยาเซเลจิลีน (Selegiline), ยาซิลทูซิแม็บ (Siltuximab)

การใช้ยานี้กับยาดังต่อไปนี้ อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของผลข้างเคียงบางประการ แต่การใช้ยาทั้งสองชนิด อาจเป็นการรักษาที่ดีสำหรับคุณ หากสั่งยาทั้งสองชนิดพร้อมกัน แพทย์อาจเปลี่ยนขนาดยา หรือความถี่ในการใช้ยา ชนิดเดียวหรือทั้งสองชนิด

  • ยาบรอมเพริดอล (Bromperidol), ยาคลาริดทรไมซิน (Clarithromycin), ยาไซโคลสปอรีน (Cyclosporine), ยาอีรีโทรไมซิน (Erythromycin), ยาคาวา (Kava), ยาไทโอริเดซีน (Thioridazine)

ปฏิกิริยากับอาหารหรือแอลกอฮอล์

ยาโบรโมคริปทีนอาจทำปฏิกิริยากับอาหารหรือแอลกอฮอล์ได้ โดยการเปลี่ยนแปลงการออกฤทธิ์ยา หรือเพิ่มความเสี่ยงสำหรับอาการข้างเคียงที่รุนแรงขึ้น โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เกี่ยวกับปฏิกิริยาที่อาจเกิดขึ้นกับอาหารหรือแอลกอฮอล์ ก่อนการใช้

ปฏิกิริยากับอาการโรคอื่น

ยาโบรโมคริปทีนอาจทำปฏิกิริยากับสภาวะทางสุขภาพของคุณ ปฏิกิริยาดังกล่าวอาจทำให้สภาวะทางสุขภาพเสื่อมลง หรือเปลี่ยนแปลงการออกฤทธิ์ของยา เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบเสมอ เกี่ยวกับสภาวะทางสุขภาพทั้งหมดของคุณในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง

  • เป็นหรือมีประวัติเคยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease) หรือความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดอื่น ๆ ที่รุนแรง
  • ความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้
  • ความดันโลหิตสูงจากการตั้งครรภ์ ไม่ควรใช้ยาพาโรเดล (Parlodel®) กับผู้ป่วยที่มีสภาวะเหล่านี้ หากไม่มีความจำเป็นในการรักษา
  • ภาวะเลือดเป็นกรดจากเบาหวาน (Diabetic ketoacidosis) หรือมีคีโตนอยู่ในกระแสเลือด
  • ปวดศีรษะไมเกรนแบบหมดสติชั่วคราว (หน้ามืด) (Syncopal migraine headaches)
  • เบาหวานประเภท 1 ใม่ควรใช้ยาไซโคลเซท (Cycloset®) กับผู้ป่วยที่มีภาวะดังกล่าว
  • ไข้
  • ติดเชื้อ
  • เข้ารับการผ่าตัด
  • มีอาการบาดเจ็บ (Trauma) ภาวะเหล่านี้ อาจส่งผลให้เกิดอาการชั่วคราวเกี่ยวกับการควบคุมน้ำตาลในเลือด และแพทย์อาจทำการรักษาคุณชั่วคราวโดยใช้อินซูลิน
  • ภาวะที่ไม่สามารถย่อยน้ำตาลกาแลคโตส (Galactose intolerance) ซึ่งเป็นอาการผิดปกติทางพันธุกรรมที่พบได้น้อยมาก
  • ภาวะดูดซึมกลูโคส-กาแลคโตสที่ผิดปกติ (Glucose-galactose malabsorption) เป็นอาการผิดปกติทางพันธุกรรมที่พบได้น้อยมาก
  • ภาวะขาดเอนไซม์แลคเตส (Lactase deficiency) อย่างรุนแรง เป็นอาการผิดปกติทางพันธุกรรมที่พบได้น้อยมาก การใช้ยาพาร์โลเดล (Parlodel®) ไม่แนะนำสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะดังกล่าว
  • เป็นหรือมีประวัติภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
  • โรคเกี่ยวกับหัวใจหรือหลอดเลือด เช่น โรคน้ำให้ห้องหัวใจเกิน (pericardial effusion)
  • ความดันโลหิตสูง
  • โรคเกี่ยวกับปอด เช่น ภาวะน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด (pleural effusion) พังผืดในปอด (pulmonary fibrosis))
  • เป็นหรือมีประวัติเคยเป็นอาการป่วยทางจิต เช่น โรคจิต (psychosis)
  • พังผืดบริเวณหลังเยื่อบุช่องท้อง (Retroperitoneal fibrosis)
  • มีหรือมีประวัติเคยมีอาการชัก
  • มีหรือมีประวัติเคยมีแผลหรือเลือดออกในกระเพาะอาหาร
  • เป็นหรือมีประวัติเคยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ให้ใช้ด้วยความระมัดระวัง อาจทำให้สภาวะนี้รุนแรงขึ้น
  • โรคตับ ให้ใช้อย่างระมัดระวัง ฤทธิ์ยาอาจเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการขับยาออกจากร่างกายอย่างช้าๆ

ขนาดยา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ คุณควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยานี้เสมอ

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่

ขนาดยาปกติในผู้ใหญ่สำหรับรักษาภาวะระดับโปรแลคตินในเลือดสูง (Hyperprolactinemia)

  • ขนาดยาเริ่มต้น : 1.25 มก.-2.5 มก. รับประทานทุกวัน
  • การไทเทรตขนาดยา : เมื่อถึงระดับที่ร่างกายทนยาแล้ว รับประทานยาเพิ่มขึ้นครั้งละ 2.5 มก.ทุก 2-7 วัน จนกว่าจะถึงขนาดที่ทำให้เกิดการรักษา
  • ขนาดยาประคับประคองการรักษา : 2.5 มก.-15 มก. รับประทานทุกวัน

ขนาดยาปกติในผู้ใหญ่สำหรับรักษาภาวะที่กระดูกเจริญเติบโตเกินปกติจนทำให้ร่างกายใหญ่โตกว่าปกติ (Acromegaly)

  • ขนาดยาเริ่มต้น : 1.25 มก.-2.5 มก. รับประทานวันละ 1 ครั้ง พร้อมอาหาร ตอนก่อนนอน เป็นเวลา 3 วัน
  • การไทเทรตขนาดยา : เมื่อถึงระดับที่ร่างกายทนยาแล้ว รับประทานยาเพิ่มขึ้นครั้งละ 1.25 มก.-2.5 มก.ทุก 3-7 วัน จนกว่าจะถึงขนาดที่ทำให้เกิดการรักษา
  • ขนาดยาประคับประคองการรักษา : 20 มก.-130มก. รับประทานทุกวัน
  • ขนาดยาสูงสุดไม่ควรเกิน 100 มก./วัน

ขนาดยาปกติในผู้ใหญ่สำหรับรักษาโรคพาร์กินสัน (Parkinson’s Disease)

  • ขนาดยาเริ่มต้น : 1.25 มก. วันละ 2 ครั้ง พร้อมอาหาร
  • การไทเทรตขนาดยา : รับประทานพิ่มครั้งละ 2.5 มก./วัน พร้อมอาหาร ทุก 14-28 วัน จนถึงขนาดยาและการใช้ยาที่ทำให้เกิดการรักษา
  • ขนาดยาสูงสุด : 100 มก./วัน

ขนาดยาปกติในผู้ใหญ่สำหรับรักษาโรคเบาหวาน ประเภท 2 (Diabetes Type 2)

สำหรับยาโบรโมคริปทีนในชื่อการค้า Cycloset (R) เท่านั้น

  • ขนาดยาเริ่มต้น : 0.8 มก. รับประทานทุกวันภายใน 2 ชั่วโมงหลังจากตื่นนอน รับประทานในตอนเช้าพร้อมอาหาร

    ขนาดยาไทเทรต : เมื่อถึงระดับที่ร่างกายทนยาแล้ว เพิ่ม 0.8 มก. ต่อสัปดาห์

  • ขนาดยาประคับประคองการรักษา : 1.6-4.8 มก. รับประทานทุกวันภายในสองชั่วโมงหลังจากตื่นนอน รับประทานในตอนเช้าพร้อมอาหาร
  • ขนาดยาสูงสุด ไม่ควรเกิน 4.8 มก./วัน

ขนาดยาสำหรับเด็ก

ขนาดยาปกติในเด็กสำหรับรักษาภาวะระดับโปรแลคตินสูง (Hyperprolactinemia)

อายุ 11-15 ปี

  • ขนาดยาเริ่มต้น : 1.25 มก.-2.5 มก. รับประทานทุกวัน
  • ขนาดยาประคับประคองการรักษา : 2.5 มก.-10 มก. รับประทานทุกวัน

รูปแบบยา

ยาโบรโมคริปทีนมีรูปแบบการใช้และปริมาณตัวยา ดังต่อไปนี้

แคปซูล สำหรับรับประทาน

  • ยาพาร์โดเรล (Pardolel) : 5 มก.
  • ยาในชื่อการค้าอื่นทั่วไป (Generic):  5 มก.

ยาเม็ด สำหรับรับประทาน

  • ยาไซโคลเซท (Cycloset) : 0.8 มก.
  • ยาพาร์โดเรล (Pardolel) : 2.5 มก.
  • ยาในชื่อการค้าอื่นทั่วไป (Generic) : 2.5 มก.

กรณีฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด

ในกรณีฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด ให้โทรแจ้งบริการฉุกเฉิน หรือไปยังห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาลใกล้บ้านคุณ

กรณีลืมใช้ยา

หากลืมใช้ยาโบรโมคริปทีน ให้ใช้ยาโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่างไรก็ดี หากใกล้เวลาใช้รอบถัดไป ให้ข้ามรอบที่ลืมใช้ไปแล้วใช้ยาในรอบถัดไปตามปกติที่กำหนดไว้ ห้ามใช้เพิ่มเป็นสองเท่า

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคแต่อย่างใด

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Bromocriptine https://www.drugs.com/cdi/bromocriptine.html. Accessed July 7, 2016.

Bromocriptine http://www.webmd.com/drugs/2/drug-5565-7/bromocriptine-oral/bromocriptine—oral/details. Accessed July 7, 2016.

Bromocriptine (Oral Route) http://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/bromocriptine-oral-route/description/drg-20062385. Accessed July 7, 2016.

เวอร์ชันปัจจุบัน

11/05/2020

เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย เภสัชกรพิมพ์จิต วัฒนชโนบล

อัปเดตโดย: Nattrakamol Chotevichean


บทความที่เกี่ยวข้อง

ผู้สูงอายุ จำเป็นต้องกินวิตามิน หรืออาหารเสริม หรือไม่

ผู้สูงอายุ เดินออกกำลังกาย ได้ประโยชน์สุขภาพเพียบ


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

เภสัชกรพิมพ์จิต วัฒนชโนบล


เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา